โควิด-19: ไทยกลับมาใช้ RT-PCR ตรวจต่างชาติเข้าประเทศ หลังโอไมครอนระบาด สิงคโปร์ ญี่ปุ่น พบผู้ติดเชื้อ

สนามบิน

ที่มาของภาพ, EPA

คำบรรยายภาพ, ญี่ปุ่นประกาศห้ามชาวต่างชาติเข้าประเทศตั้งแต่คืนวันที่ 29 พ.ย.

คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบให้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กลับไปใช้มาตรการตรวจหาเชื้อโควิดด้วยวิธี RT-PCR แก่บุคคลต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยเช่นเดิม หลังจากประกาศผ่อนคลายมาตรการไปเมื่อวันที่ 26 พ.ย. ที่ผ่านมา ขณะที่มีรายงานพบผู้ติดเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ชนิดนี้ในอย่างน้อย 16 ประเทศ ล่าสุด คือ สิงคโปร์และญี่ปุ่น

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าววันนี้ (30 พ.ย.) ถึงกรณีที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) กลับมติของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กรณีให้ผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศมาเป็นการตรวจแบบ RT-PCR เช่นเดิม ว่า "ใช่" เนื่องจากต้องให้ความระมัดระวัง จึงต้องแก้ไขเล็กน้อยเพราะสถานการณ์ของโควิดสายพันธุ์โอไมครอนที่ระบาดอยู่ในขณะนี้ จากเดิมที่จะให้ตรวจ ATK ตอนนี้ก็ให้กลับมาตรวจแบบ RT-PCR ใหม่อีกครั้ง โดย พล.อ.ประยุทธ์ บอกว่า ต้องเข้าใจ และระมัดระวัง ทั้งนี้ให้เริ่มทันทีตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

สำหรับมาตรการของ ศบค. ที่เห็นชอบให้ผ่อนคลายการเดินทางเข้าประเทศเพิ่มเติมเพื่อให้การเดินทางเข้ามาในประเทศสะดวกขึ้น ได้มีการปรับให้ผู้เดินทางที่มีผลตรวจ RT-PCR เป็นลบภายใน 72 ชั่วโมง เมื่อเดินทางถึงไทยให้ตรวจด้วยชุดตรวจ ATK เท่านั้น หากผลเป็นลบก็เข้าประเทศได้เลย ต่างจากเดิมที่ต้องรอผลตรวจ RT-PCR ก่อน โดยจะเริ่มต้นใช้ในวันที่ 16 ธ.ค. แต่มาตรการดังกล่าวประกาศได้เพียง 1 วัน ก่อนที่องค์การอนามัยโลก จะระบุถึงสายพันธ์โอไมครอนอย่างเป็นทางการ

ความเคลื่อนไหวในวันที่ 30 พ.ย. สิงคโปร์ และญี่ปุ่น เป็นประเทศล่าสุดที่พบผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอน ทำให้ขณะนี้มีอย่างน้อย ประเทศที่พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ดังกล่าว

เมื่อต้นเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของประเทศแอฟริกาใต้ ตรวจพบการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ชนิดใหม่ ซึ่งมีการกลายพันธุ์อย่างรุนแรงในยีนหลายสิบตำแหน่ง ทำให้หวั่นเกรงกันว่าเชื้อกลายพันธุ์ชนิดนี้อาจแพร่ระบาดได้ง่าย และเป็นอันตรายยิ่งกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ ที่ทั่วโลกเคยพบมา

ต่อมาเมื่อวันที่ 26 พ.ย. องค์การอนามัยโลก (WHO) จัดให้อยู่ในกลุ่ม "สายพันธุ์ที่น่ากังวล" นับเป็นเชื้อไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ชนิดที่ 5 ที่ถูกจัดเป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล ต่อจากสายพันธุ์อัลฟา เบตา แกมมา และเดลตา ส่งผลให้นานาประเทศ รวมถึงไทยออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อชนิดนี้ โดยเฉพาะการห้ามบุคคลที่เดินทางมาจากประเทศในแอฟริกาเข้าประเทศ

ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา หลายประเทศรายงานการพบผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอน โดยกลุ่มก้อนใหญ่ที่สุด คือ ผู้โดยสารสายการบินเคแอลเอ็ม ที่เดินทางจากนครโจฮันเนสเบิร์ก ประเทศแอฟริกาใต้มาถึงนครอัมสเตอร์ดัมของเนเธอร์แลนด์เมื่อวานนี้ (28 พ.ย.) โดยเที่ยวบินนี้มีผู้โดยสารตรวจพบว่าติดโควิด-19 ทั้งหมด 61 คน ในจำนวนนี้ 13 คนพบว่าติดเชื้อโอไมครอน

กี่ประเทศที่พบผู้ติดเชื้อโอไมครอน

ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานเมื่อวันที่ 1 ธ.ค. ว่าจำนวนประเทศที่พบผู้ติดเชื้อโอไมครอนเพิ่มเป็น 27 ประเทศ โดย 13 ประเทศอยู่ในยุโรป 8 ประเทศอยู่ในแอฟริกา ส่วนที่เหลือ ได้แก่ แคนาดา ฮ่องกง อิสราเอล สิงคโปร์ ญี่ปุ่นและออสเตรเลีย ขณะที่สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่าจำนวนผู้ติดเชื้อโอไมครอนทั่วโลกขณะนี้มีอยู่ประมาณ 200 คน

สิงคโปร์ เปิดเผยว่าตรวจพบผู้โดยสาร 2 ราย ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน โดยเป็นผู้โดยสารที่เดินทางจากนครโจฮันเนสเบิร์ก ประเทศแอฟริกาใต้ มาเปลี่ยนเครื่องที่สนามบินชางงีของสิงคโปร์ เพื่อไปยังปลายทางนครซิดนีย์ของออสเตรเลีย ขณะที่ญี่ปุ่น ยืนยันการตรวจพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์นี้รายแรกหลังจากประกาศปิดพรมแดนรับคนต่างชาติเข้าประเทศเมื่อวันที่ 29 พ.ย.

โฆษกรัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยว่า สถาบันโรคติดเชื้อแห่งชาติได้ตรวจวิเคราะห์และยืนยันได้ว่าพบผู้เดินทางจากประเทศนามิเบียมายังญี่ปุ่น ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน ซึ่งเป็นรายแรกของประเทศ โดยเป็นชายในวัย 30 ปี ขณะนี้ถูกแยกกักตัวไว้ในสถานกักทางการแพทย์

ก่อนหน้านี้ นายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นแถลงเมื่อ 29 พ.ย. ว่าการปิดพรมแดนจะเริ่มตั้งแต่คืนนี้เป็นต้นไปจนกว่าจะมีความชัดเจนเกี่ยวกับการระบาดและความรุนแรงของเชื้อก่อโรคโควิดสายพันธุ์โอไมครอน

ญี่ปุ่นห้ามนักท่องเที่ยว นักธุรกิจและนักศึกษาต่างชาติเข้าประเทศเกือบตลอดทั้งปีนี้ จนกระทั่งเมื่อต้นเดือน พ.ย. ที่ผ่านมาที่สถานการณ์การติดเชื้อในประเทศลดลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเป็นผลจากการฉีดวัคซีนอย่างครอบคลุมและมาตรการจำกัดการเดินทาง รัฐบาลจึงได้ผ่อนคลายมาตรการห้ามเข้าประเทศ

แต่จำนวนผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนในประเทศต่าง ๆ ทำให้ญี่ปุ่นตัดสินใจปิดพรมแดนอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม พลเมืองญี่ปุ่น ชาวต่างชาติที่มีที่พำนักถาวรในญี่ปุ่น และชาวต่างชาติที่มีวีซ่าประเภท re-entry จะไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการนี้

โอไมครอน

ที่มาของภาพ, Reuters

WHO บอกว่าโอไมครอนมีโอกาสสูงที่จะแพร่ระบาดไปทั่วโลกและมีความเสี่ยงที่จะทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นและจะส่งผลกระทบอย่างหนักในบางพื้นที่ พร้อมกับเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกทั้ง 194 ประเทศเร่งฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ให้ประชากรอย่างทั่วถึงโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เพื่อช่วยลดความรุนแรงของสถานการณ์และประคองระบบสาธารณสุขไว้ได้

"ประเมินว่าความเสี่ยงที่เกิดจากเชื้อกลายพันธุ์ชนิดนี้ในระดับโลกมีสูงมาก" WHO ระบุในแถลงการณ์

"ผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะมีอาการหนักหรือไม่ ย่อมเป็นการเพิ่มภาระต่อระบบบริการสาธารณสุข ซึ่งอาจจะส่งทำให้อัตราการป่วยและตายเพิ่มขึ้น ประชากรกลุ่มเปราะบางจะได้รับผลกระทบมาก โดยเฉพาะในประเทศที่ปริมาณการฉีดวัคซีนอยู่ในระดับต่ำ" WHO ระบุ

ไทยทำอะไรแล้วบ้าง

ขณะนี้ไทยยังไม่มีพบผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนหรือผู้ต้องสงสัย

กรมควบคุมโรคให้ข้อมูลว่านับตั้งแต่เปิดประเทศเมื่อวันที่ 1 พ.ย. มีผู้เดินทางมาจากแอฟริกาตอนใต้ 12 ประเทศ รวม 1,007 คน ในรูปแบบแซนด์บ็อกซ์ที่ จ.ภูเก็ต ทั้งหมดตรวจไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 และขณะนี้ได้สั่งให้ผู้ที่มาจากประเทศเหล่านี้กักตัว 14 วัน

นอกจากนี้ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยได้แจ้งสายการบินห้ามผู้โดยสารจาก 8 ประเทศเข้าไทย ประกอบด้วย บอตสวานา เอสวาตินี เลโซโท มาลาวี โมซัมบิก นามีเบีย แอฟริกาใต้ และซิมบับเว ส่วนผู้โดยสารที่เดินทางมาถึงไทยระหว่างวันที่ 28-30 พ.ย. จะต้องเข้ากระบวนการกักตัว 14 วันทันที

สำหรับข้อกังวลเรื่องประสิทธิภาพของชุดตรวจหาเชื้อโควิดแบบรู้ผลเร็วหรือเอทีเคว่าจะสามารถตรวจพบเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนได้หรือไม่นั้น นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมการแพทย์ ระบุว่าการวิเคราะห์ไวรัสกลายพันธุ์เบื้องต้นยังไม่พบการเปลี่ยนแปลงของลักษณะโปรตีนที่จะส่งผลกระทบต่อการตรวจด้วยชุดตรวจเอทีเค

แต่เขายอมรับว่าชุดตรวจเอทีเคที่ผ่านการรับรองโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นั้นยังไม่ได้มีการศึกษาประสิทธิภาพในการตรวจการติดเชื้อไวรัสกลายพันธุ์อย่างละเอียด ดังนั้นจึงต้องมีการศึกษาต่อไปว่าเอทีเคบางยี่ห้ออาจมีขีดความสามารถลดลงในการตรวจจับเชื้อโควิดกลายพันธุ์

"แต่ในเบื้องต้นถือว่ายังใช้ได้อยู่ และขอเวลาให้กรมวิทย์ฯ ร่วมกับ อย. ดำเนินการเรื่องพวกนี้ต่อไปสักระยะหนึ่ง" นพ.ศุภกิจกล่าว

ผู้โดยสารเครื่องบินสวมชุดป้องกันการติดเชื้อ

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, ผู้โดยสารเครื่องบินสวมชุดป้องกันการติดเชื้อที่สนามบินซิดนีย์ของออสเตรเลีย ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่พบผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอน

สำหรับการตรวจด้วยวิธีการ RT-PCR โดยห้องปฏิบัติการนั้น โอกาสที่จะตรวจไม่พบเชื้อกลายพันธุ์เป็นไปได้ต่ำ แต่มีโอกาสที่จะสรุปไม่ได้ว่าเป็นเชื้อกลายพันธุ์ชนิดใด ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็จำเป็นต้องมีการตรวจเพิ่มเติมต่อไป

อย่างไรก็ตาม มีการตรวจสอบพบว่าน้ำยาของชุดตรวจที่ผ่าน อย. ทั้งหมด 104 ยี่ห้อ มี 2 ยี่ห้อที่ไม่สามารถตรวจจับยีนเป้าหมาย N และ S ทำให้มีโอกาสที่จะตรวจหาเชื้อไม่พบ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะติดต่อผู้นำเข้าเพื่อสอบถามข้อมูลต่อไป

นพ.ศุภกิจกล่าวว่าข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับสายพันธุ์โอไมครอนยังมีจำกัด แม้จะมีหลายประเทศที่พบผู้ติดเชื้อแต่ก็ยังอยู่ในหลักร้อยราย ขณะนี้ทางวิทยาศาสตร์จึงยังไม่สามารถสรุปได้ชัดว่าเชื้อกลายพันธุ์ชนิดนี้ทำให้อาการรุนแรงมากขึ้น หลบภูมิได้แค่ไหน หรือแพร่เชื้อเร็วขึ้นกี่เท่า ซึ่งต้องรอข้อมูลเพิ่มเติมอีกระยะหนึ่ง

ทางด้านศูนย์จีโนมทางการแพทย์ (Center for Medical Genomics) คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยวานนี้ (27 พ.ย.) ว่าชุดตรวจโควิดสายพันธุ์โอไมครอน คาดว่าจะแล้วเสร็จใช้งานได้ในอีก 2 สัปดาห์ ซึ่งจะสามารถตรวจหาเชื้อได้ 1,000 ตัวอย่างต่อสัปดาห์

การรับมือของประเทศต่าง ๆ

  • อิสราเอล ประกาศห้ามชาวต่างชาติเข้าประเทศ 2 สัปดาห์ นับตั้งแต่เที่ยงคืนของวันที่ 29 พ.ย. ส่วนชาวอิสราเอลที่เดินทางเข้าประเทศต้องถูกกักตัว
  • อังกฤษ ปรับเกณฑ์รับผู้เข้าประเทศอีกครั้งหลังพบโอไมครอน เชื้อโควิดกลายพันธุ์ชนิดใหม่ในผู้เดินทางกลับจากตอนใต้ของทวีปแอฟริกา 2 ราย โดยผู้ที่จะเดินทางเข้าอังกฤษต้องเข้ารับการตรวจหาโควิดด้วยวิธี RT-PCR ภายใน 2 วันหลังจากมาถึง และต้องกักตัวจนกว่าผลจะออกมาว่าเป็นลบ ขณะที่ทางการได้บังคับให้ประชาชนใส่หน้ากากอนามัยในระบบขนส่งสาธารณะและในร้านค้า รวมทั้งเร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ประชาชน แม้ว่าคริส วิตตี หัวหน้าเจ้าหน้าที่การแพทย์ของอังกฤษจะยอมรับว่ามีความไม่แน่นอนอยู่มากถึงฤทธิ์ของเชื้อกลายพันธุ์นี้ และ "มีโอกาสพอสมควรที่สายพันธุ์นี้อาจหลุดรอดความสามารถของวัคซีนไปได้ในระดับหนึ่ง"
  • ออสเตรเลีย ห้ามชาวต่างชาติที่เดินทางมาจาก 9 ประเทศในภูมิภาคแอฟริกาตอนใต้ในช่วง 14 วันที่ผ่านมาเข้าประเทศ
A healthcare worker administers the Johnson and Johnson coronavirus disease (COVID-19) vaccination to a woman in Houghton, Johannesburg, South Africa, August 20, 2021.

ที่มาของภาพ, Reuters

  • สหภาพยุโรป ระงับการเดินทางจาก 7 ประเทศในแอฟริการตอนใต้
  • สหรัฐอเมริกา ระงับเที่ยวบินจาก 8 ประเทศในแอฟริกาตอนใต้
  • แคนาดา ห้ามชาวต่างชาติที่เดินทางมาจาก 7 ประเทศในแอฟริกาในช่วง 14 วันที่ผ่านมาเข้าประเทศ
  • สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดิอาระเบียและบาห์เรน ห้ามนักท่องเที่ยวจาก 7 ประเทศในแอฟริกาตอนใต้เข้าประเทศ
  • ญี่ปุ่น ห้ามชาวต่างชาติเข้าประเทศ
  • อิหร่าน, บราซิล ห้ามนักเดินทางจาก 6 ประเทศแอฟริกาตอนใต้เข้าประเทศ
  • สิงคโปร์ เพิ่มรายชื่อ 7 ประเทศในแอฟริกาตอนใต้ในบัญชีแดง