ผู้รายงานพิเศษของยูเอ็นชี้รัฐไทยใช้ ม. 112 และมาตรการโควิดลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการชุมนุม

ภาพการชุมนุมเมื่อวันที่ 12 พ.ย. เพื่อคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 เป็นการกระทำที่เป็นการล้มล้างการปกครองฯ

ที่มาของภาพ, EPA

คำบรรยายภาพ, ภาพการชุมนุมเมื่อวันที่ 12 พ.ย. เพื่อคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อ 10 พ.ย. ให้การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 เป็นการกระทำที่เป็นการล้มล้างการปกครองฯ
  • Author, วัชชิรานนท์ ทองเทพ
  • Role, บีบีซีไทย

นับตั้งแต่การรัฐประหารสองครั้งที่ผ่านมา เสรีภาพในการชุมนุมโดยสันติของคนไทยถูกลดทอนลงอย่างต่อเนื่อง เพราะรัฐบาลทหารได้ออกกฎระเบียบข้อบังคับเพิ่มเติมที่มีความรุนแรงมากขึ้น

ส่วนสถานการณ์ในปัจจุบันก็ยังคงน่ากังวลมากขึ้น เมื่อมีการใช้กฎหมายอาญา มาตรา 112 รวมทั้งมาตรการเข้มงวดภายใต้ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก. ฉุกเฉิน) เพื่อควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 เข้ามาจำกัดสิทธิเสรีภาพการชุมนุมโดยสันติ และกำลังจะนำสู่การปิดช่องทางและพื้นที่การแลกเปลี่ยนความเห็นต่างในสังคม

นี่คือส่วนหนึ่งของความกังวลของ เคลมองต์ วูเล ผู้รายงานพิเศษขององค์การสหประชาชาติ หรือ UN special rapporteur ว่าด้วยเรื่องเสรีภาพในการชุมนุมและรวมกลุ่มโดยสันติ ที่ให้สัมภาษณ์พิเศษผ่านอีเมลกับบีบีซีไทย

นอกจากความกังวลต่อสถานการณ์ด้านสิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมแล้ว นายวูเลยังได้ให้ความเห็นถึงพัฒนาทางการเมืองของไทยที่ยูเอ็นกำลังเฝ้าจับตาและสังเกตการณ์ บีบีซีไทยเรียบเรียงเป็นบทถาม-ตอบดังนี้

บทบาทและหน้าที่ผู้รายงานพิเศษของยูเอ็นเป็นอย่างไร และจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับประเทศและนานาชาติอย่างไร

หน้าที่หลัก ๆ ของตำแหน่งนี้ คือการติดตามเฝ้าสังเกตว่าแต่ละชาติส่งเสริมและปกป้องสิทธิในการชุมนุมและการรวมตัวกันโดยสันติอย่างไร ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ พวกเราจะทำหน้าที่ติดตามแนวโน้มที่กำลังเกิดขึ้น ตามมาด้วยการเรียกร้องให้รัฐบาลแต่ละประเทศดำเนินการให้เป็นไปตามหลักการที่ถูกต้อง สำหรับการชุมนุมประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในไทยที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ปี 2020 จนถึงวันนี้ยังคงพบเห็นภาคประชาสังคมและกลุ่มเคลื่อนไหวที่เรียกร้องเรื่องนี้ถูกระงับสิทธิอันชอบธรรม โดยปราศจากการตอบสนองที่เหมาะสมจากรัฐบาล

บ่อยครั้งที่ผมและผู้รายงานพิเศษของยูเอ็นคนอื่น ๆ ได้ติดต่อสื่อสารกับรัฐบาลไทยเพื่อแสดงความกังวลเรื่องนี้ ขณะเดียวกันก็ต้องมั่นใจว่าคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council) รับรู้เรื่องนี้เช่นกัน นอกจากนี้แล้วผมทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียง เพื่อให้สาธารณะรับทราบเกี่ยวกับประเด็นนี้ด้วย และยังให้ความคิดเห็นในเชิงความร่วมมือทางเทคนิคต่าง ๆ กันประเทศต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องและองค์กรนานาชาติ

เคลมองต์ วูเล ผู้รายงานพิเศษขององค์การสหประชาชาติ

ที่มาของภาพ, Anteia Win/OHCHR

คำบรรยายภาพ, เคลมองต์ วูเล ผู้รายงานพิเศษขององค์การสหประชาชาติ

หน้าที่อีกประการคือ การส่งเสริมให้แต่ละประเทศยังคงรักษาความน่าเชื่อถือ การปรับมาตรการต่าง ๆ กฎระเบียบ และการปฏิบัติให้สอดคล้องกับบรรทัดฐานและมาตรฐานสากล

ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลไทยจะต้องเปิดบทสนทนากับผู้ชุมนุม และถกเถียงประเด็นที่ห่วงกังวลด้านกฎหมายประชาชน

จากที่คุณเฝ้าสังเกตการณ์สถานการณ์เสรีภาพและสิทธิมนุษยชนในไทย ประเด็นใดบ้างที่คุณกำลังให้ความสำคัญ

ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยและหลายประเทศทั่วโลกต่างต้องเผชิญกับความท้าทายในหลายแง่มุม ตั้งแต่การเปลี่ยนผ่านไปสู่โลกดิจิทัล มาจนถึงโรคระบาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม แทนที่รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการรับฟังเสียงของประชาชนและตอบสนองต่อความต้องการของพวกเขาไปพร้อมกับการเพิ่มขีดความสามารถให้กับภาคประชาชนและการเคลื่อนไหวเชิงสังคมในการจัดการกับความท้าทายต่าง ๆ แต่กลับเลือกที่จะใช้วิกฤตเหล่านั้นในการปิดปากประชาชนและขยายอำนาจของตัวเอง

ตำรวจควบคุมฝูงชน

ที่มาของภาพ, EPA

คำบรรยายภาพ, กระสุนยางถูกนำมาใช้ในการควบคุมฝูงชนเมื่อวันที่ 20 มี.ค.

ประเทศไทยก็มีความเป็นไปในทิศทางที่น่ากังวลนี้เช่นกัน แม้ว่าไทยเป็นชาติแรก ๆ ที่ได้ลงนามในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หรือ Universal Declaration of Human Rights (UDHR) ในปี 1948 รวมทั้งพันธกรณีเบื้องต้นในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนไปแล้ว แต่ในทางปฏิบัติการละเมิดเสรีภาพขั้นพื้นฐานยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกันกับการออกกฎข้อบังคับเข้มงวดเพื่อควบคุมการจัดการเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคม

จากการรัฐประหาร 2 ครั้งเมื่อปี 2549 และ 2557 เราได้พบเห็นว่ามีกฎระเบียบที่เข้มงวดต่อเสรีภาพในการชุมนุมและการรวมตัวเพิ่มมากขึ้น ขณะที่รัฐบาลทหารก็ได้ออกคำสั่งห้ามการจัดกิจกรรมทางการเมืองหลายรูปแบบ โดยรัฐบาลได้ออกบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 เป็นเงื่อนไขสำหรับกลุ่มผู้ชุมนุม เช่น หากประสงค์ที่จะจัดการชุมนุม ผู้จัดงานจำเป็นต้องแจ้งต่อหัวหน้าสถานีตำรวจล่วงหน้า 24 ชั่วโมง และการกำหนดให้ผู้จัดงานและผู้ร่วมชุมนุมต้องรับผิดชอบ หากมีการกระทำผิดกฎหมาย นี่เท่ากับว่าเป็นการขัดขวางการใช้สิทธิพื้นฐานอย่างเสรี และกฎหมายนี้ยังทำให้ทางการใช้เป็นเหตุผลที่จะปราบปรามการชุมนุมโดยสันติและชอบธรรมได้อีกด้วย

ในฐานะผู้รายงานพิเศษของยูเอ็น คุณได้สื่อสารหรือสะท้อนข้อกังวลต่าง ๆ มายังรัฐบาลไทยหรือไม่

ผมติดตามสถานการณ์ในเมืองไทยอย่างใกล้ชิด นับตั้งแต่การประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยและการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งแรก นำโดยกลุ่มเยาวชนในช่วงต้นปี 2563 ซึ่งถูกจุดชนวนโดยเหตุการณ์ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่

คนร้องไห้

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, ปฏิกิริยาของสนับสนุนพรรคอนาคตใหม่ หลังฟังคำวินิจฉัยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มีคำสั่งให้ยุบพรรคและตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 10 ปี

ผมได้ติดต่อกับรัฐบาลไทยเพื่อแสดงความกังวลในการดำเนินมาตรการต่อพรรคการเมืองพรรคนี้ว่า อาจจะเป็นการคุกคามและขัดขวางบุคคลอื่น ๆ ซึ่งรวมทั้งนักการเมือง องค์กรภาคประชาสังคม และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในการพูดถึงบทบาทของกองทัพและสถาบันพระมหากษัตริย์ในทางการเมืองหรือประเด็นอื่น ๆ เพื่อประโยชน์สาธารณะของประชาชนทั่วไป ภายใต้บริบทดังกล่าว ผมจึงมีความกังวลอย่างมากว่า คดีความต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการประท้วงที่ไม่ได้แจ้งล่วงหน้าที่ฟ้องต่อสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ ดูเหมือนว่าเกี่ยวพันกับความเห็นของพวกเขาที่มองถึงอิทธิพลของกองทัพในทางการเมือง

protest

ที่มาของภาพ, EPA

ในขณะนี้ สิ่งที่เราเห็นก็คือ การจับกุมผู้นำการชุมนุมอย่างต่อเนื่อง ด้วยข้อหายุยงปลุกปั่น ชุมนุมโดยมีเจตนาสร้างสถานการณ์ความรุนแรง ฝ่าฝืนข้อห้ามการชุมนุมในที่สาธารณะ ร่วมด้วยข้อหาคดีอาญาอื่น ๆ รวมถึงการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภา ผมได้รับมอบหมายให้เฝ้าติดตามพัฒนาการเหล่านี้ด้วยความกังวล

ตั้งแต่รับตำแหน่งผู้รายงานพิเศษของยูเอ็น คุณคิดว่าเหตุการณ์ไหนที่มีผลกระทบต่อเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบมากที่สุด

การชุมนุมประท้วงหลายครั้งที่ผ่านมาได้สะท้อนให้เห็นว่า คนจำนวนมากในสังคมไทยไม่พึงพอใจในสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลและสถาบันกษัตริย์

รัฐบาลไทยควรจะให้ความสำคัญต่อผู้ประท้วงเหล่านี้อย่างจริงจัง พยายามเข้าไปมีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างจริงใจ พร้อมกับตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของพวกเขาอย่างมีนัยสำคัญ

กลุ่มไม่เอาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, นานาชาติเป็นห่วงเรื่องที่ทางการใช้มาตรการรุนแรงจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกของพลเมือง

ผมเฝ้าติดตามเรื่องนี้ด้วยความกังวลอย่างยิ่งที่เห็นการใช้กำลังของตำรวจและฝ่ายความมั่นคงมากขึ้นต่อกลุ่มผู้ชุมนุมบางครั้ง ทั้ง ๆ ที่การใช้กำลังของตำรวจเป็นสิ่งที่ควรทำให้น้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เท่าที่จำเป็นตามหลักเกณฑ์ สมควรแก่เหตุ และตามกฎหมาย

สิ่งที่ผมเป็นกังวลมากที่สุดคือ ฝ่ายรัฐได้นำกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือ มาตรา 112 กลับมาใช้อีกครั้งต่อกลุ่มผู้ชุมนุมโดยสันติ ซึ่งไม่เคยใช้มาตั้งแต่ปี 2561 เป็นที่ปรากฏชัดว่าทางการต้องการใช้การดำเนินคดีดังกล่าวเพื่อขัดขวางกลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยและผู้ชุมนุม และผู้เห็นต่างทางการเมือง

หากยังมีการใช้กำลังเกินความจำเป็น รวมทั้งการใช้ข้อหามาตรา 112 และข้อหายุยงปลุกปั่นต่อกลุ่มผู้ชุมนุมแล้ว ยิ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ทางการมีความพยายามที่จะคุกคามผู้ชุมนุมรวมทั้งปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมของประชาสังคมและพื้นที่ในการสนทนา ซึ่งนี่คือการละเมิดสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของคนไทยโดยตรง

ที่ผ่านมาผมและผู้ถืออาณัติของวิธีพิจารณาวิสามัญ (Special Procedures mandate holders) ของสหประชาชาติจำนวนหนึ่งได้ยกประเด็นข้อกังวลเกี่ยวกับมาตรา 112 และการบังคับใช้ในไทยอยู่หลายครั้ง โดยครั้งล่าสุดเมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา พวกเราได้พิจารณาว่ากฎหมายดังกล่าวขัดกับเสรีภาพขั้นพื้นฐานและสิทธิมนุษยชน รวมไปจนถึงสิทธิการชุมนุมการรวมตัวกัน และการแสดงออกทางความคิด

แม่เพนกวิน

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, นางสุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ แม่ของนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ "เพนกวิน" ออกมาร่วมเรียกร้องสิทธิให้ลูกชาย ซึ่งตกเป็นผู้ต้องหาและจำเลยคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหลายคดี

ขณะเดียวกัน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติก็ได้หยิบยกประเด็นนี้ในประชุมทบทวนการบังคับใช้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ของประเทศไทยด้วย

ผู้ปกครองให้กำลังใจเยาวชน 16 ปี ก่อนเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.ยานนาวา

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, ผู้ปกครองให้กำลังใจบุตรชายวัย 16 ปี ก่อนเข้ารับทราบข้อหาคดีหมิ่นสถาบันกษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 สน.ยานนาวา

สิ่งที่น่าเป็นกังวลอย่างยิ่งในขณะนี้ก็คือ การพบว่ามีนักเรียนระดับมัธยมศึกษาและผู้เยาว์ถูกดำเนินคดีข้อหามาตรา 112 และข้อหาร้ายแรงอื่น ๆ เช่น ข้อหายุยงปลุกปั่นด้วย

ผมขอย้ำว่าไม่ควรมีผู้ใดถูกตั้งข้อหาและดำเนินคดีอาญา เพียงเพราะพวกเขาใช้สิทธิในการชุมนุมโดยสันติหรือจัดกิจกรรมใด ๆ

การออกมาตรการคุมเข้มเพื่อควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 กลายเป็นหนึ่งในข้อกังวลต่อสิทธิการชุมนุมและแสดงออกทางการเมือง คุณประเมินสถานการณ์นี้ในประเทศไทยอย่างไร

ระหว่างการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 หลายประเทศรวมทั้งไทยได้ประกาศใช้ระเบียบข้อบังคับเพิ่มเติมผ่านมาตรการฉุกเฉินต่าง ๆ และข้อห้ามการชุมนุมโดยสันติอย่างกว้างขวาง ผมขอตั้งข้อสังเกตว่าสิ่งเหล่านี้กลายเป็นตัวเร่งสำคัญที่นำไปสู่การควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จและการปราบปรามการชุมนุม แม้ว่าจะเป็นไปโดยสันติ

นักศึกษาปราศรัยหน้าพระบรมฉายาลักษณ์

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, นักศึกษาและนักกิจกรรมจำนวนมากถูกดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินจากการชุมนุมทางการเมืองในปี 2563-2564 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่มีการระบาดของโควิด-19

นั่นจึงเป็นที่มาที่ผมได้เผยแพร่ 10 หลักการสำหรับประเทศต่าง ๆ เพื่อการเคารพสิทธิในการชุมนุมในระหว่างการบริหารจัดการวิกฤตโควิด โดยเนื้อหาหลัก ๆ จะเน้นย้ำว่า แต่ละประเทศไม่ควรใช้วิกฤตทางสุขภาพเป็นข้ออ้างในการใช้กำลังเกินความจำเป็นและไม่เหมาะสม เพื่อปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุม หรือการประกาศลงโทษผู้ชุมนุมอย่างไม่เหมาะสม

ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่แต่ละประเทศจะต้องมีมาตรการตอบสนองต่อวิกฤตดังกล่าวนี้ด้วยการพิจารณาความต้องการของประชาชน และบังคับใช้มาตรการส่งเสริมให้เกิดโครงสร้างการปกครองเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และพัฒนาการป้องกันและปฏิบัติตามสิทธิ

line

ผู้รายงานพิเศษของยูเอ็นรายนี้ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนและผู้ติดตามสถานการณ์การเมืองในไทยหลายครั้ง โดยครั้งล่าสุดเกิดขึ้นหลังจากที่เขาโพสต์ข้อความเมื่อวันที่ 19 พ.ย. ที่ผ่านมาแสดง "ความผิดหวังอย่างยิ่ง" ต่อคำวินิจัยของศาลรัฐธรรมนูญไทยที่มีคำสั่งในวันที่ 10 พ.ย. ว่าการชุมนุมเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เข้าข่ายพฤติกรรมการล้มล้างการปกครอง

นอกจากเคลมองต์ วูเลแล้ว ผู้แทนนานาชาติเคยเรียกร้องให้ไทยดำเนินการแก้ไขหรือทบทวนประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยชี้ว่ากฎหมายมาตรานี้เป็นเครื่องมือในการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก

ข้าม Twitter โพสต์
ยินยอมรับเนื้อหาจาก Twitter

บทความนี้ประกอบด้วยเนื้อหาจาก Twitter เราขอความยินยอมจากคุณก่อนใช้คุกกี้ หรือเทคโนโลยีอื่น ๆ บันทึกอะไรลงไป คุณอาจต้องอ่านนโยบายคุกกี้ของ Twitter และนโยบายความเป็นส่วนตัวของ Twitter ก่อนให้ความยินยอม หากต้องการอ่านเนื้อหานี้ โปรดเลือก "ยินยอมและไปต่อ"

คำเตือน:เนื้อหาภายนอกอาจมีโฆษณา

สิ้นสุด Twitter โพสต์

อย่างเหตุการณ์เมื่อวันที่ 10 พ.ย. ที่ผ่านมา ในการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนตามระยะ (Universal Periodic Review หรือ UPR) ครั้งที่ 3 ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ผู้แทนชาติประชาธิปไตยตะวันตก ได้แก่ เบลเยียม แคนาดา ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี นอร์เวย์ สวีเดน และสวิตเซอร์แลนด์ ได้เรียกร้องในที่ประชุมให้ไทยดำเนินการแก้ไขหรือทบทวนกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรือ ม. 112 ขณะที่สหรัฐฯ แสดงความกังวลต่อ "การขยายขอบเขต" การใช้กฎหมายนี้ และผลกระทบที่มีต่อเสรีภาพในการแสดงออก

อย่างไรก็ตาม นายณัฐวัฒน์ กฤษณามระ อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ ในฐานะผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศได้ชี้แจงว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 "สะท้อนถึงวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของไทย ซึ่งสถาบันกษัตริย์เป็นหนึ่งในเสาหลักของชาติ ที่ได้รับความเคารพนับถืออย่างสูงจากคนไทยส่วนใหญ่"

tnp

ที่มาของภาพ, Thai news pix

คำบรรยายภาพ, ในการชุมนุมใหญ่ของกลุ่ม "ราษฎร" เมื่อวันที่ 31 ต.ค. ได้ชูข้อเสนอยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112

"การดำรงอยู่ของมัน (กฎหมายนี้) มีความเกี่ยวโยงอย่างใกล้ชิดกับการพิทักษ์สถาบันสำคัญต่าง ๆ ของชาติ และความมั่นคงของชาติ" เขากล่าว

รายงานของรัฐบาลไทยที่นำเสนอต่อที่ประชุม UPR ครั้งนี้ระบุว่า ไทยให้ความสำคัญกับการปกป้องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ไทยเป็นประเทศที่พระมหากษัตริย์ได้รับความเคารพเป็นอย่างสูง โดยมาตรา 112 มีเป้าหมายเพื่อปกป้องความมั่นคงแห่งชาติ ไม่ใช่เพื่อขัดขวางการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพสื่อ ส่วนในคดีมาตรา 112 ที่มีความกังวลจากหลายฝ่ายนั้น ก็มีการดำเนินคดีถูกต้องตามกระบวนการอันสมควรแก่กฎหมาย (due process of law) และมีการใช้กลไกหลาย ๆ อย่างเพื่อกลั่นกรองคดีรวมถึงยังมีช่องทางในการขอพระราชทางอภัยโทษอีกด้วย

ในการแถลงด้วยวาจาโดยนายธานี ทองภักดี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้กล่าวถึงสถานการณ์การใช้สิทธิเสรีภาพทางการเมืองว่า รัฐบาลไทยให้ความเคารพสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก แต่การใช้เสรีภาพต้องเป็นการใช้อย่างสร้างสรรค์ ภายใต้กรอบของกฎหมาย ที่ผ่านมา รัฐบาลได้พยายามแก้กฎหมายต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างเสรีภาพในการแสดงออก รัฐบาลไทยยังตระหนักถึงความสำคัญของคนรุ่นใหม่ และได้มีความพยายามสร้างเวทีพูดคุยอย่างสร้างสรรค์ระหว่างวัย