ไวรัสโคโรนา : เตรียมบังคับใช้กฎหมายโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย ปกปิดข้อมูลมีโทษปรับ 20,000 บาท

เอเอฟพี

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

นพ.ณรงค์ สายวงศ์ โฆษกและรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงความคืบหน้าของการประกาศยกระดับให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นโรคติดต่ออันตรายว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามในประกาศดังกล่าวแล้ว ซึ่งจะมีผลบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผอ.กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค อธิบายถึงประกาศฉบับดังกล่าวว่า หากมีผลบังคับใช้ ทั้งประชาชน ผู้ประกอบการ เช่น โรงแรม มีหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องรายงานและแจ้ง เมื่อสงสัยหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าจะเป็นโรคติดต่ออันตราย ในกรณีเดินทางกลับมาจากพื้นที่ที่มีการระบาด หรือมีโอกาสใกล้ชิดกับผู้ป่วย เมื่อมีอาการไข้ หรืออาการเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ต้องให้ข้อมูลที่เป็นจริงกับแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ตั้งแต่ขั้นตอนของการซักประวัติ เพื่อช่วยในการรักษาและป้องกันตนเองด้วย

"ถ้ากฎหมายมีผลแล้ว การไม่แจ้งจะมีโทษปรับ เป็นมูลค่า 20,000 บาท"

ส่วนการติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงกับกลุ่มผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่เป็นครอบครัวปู่ย่าที่เดินทางกลับจากญี่ปุ่น และหลานอีกหนึ่งคน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยว่าได้มีการติดตามครบทุกคนแล้ว ทั้งคนในครอบครัว เพื่อนร่วมกรุ๊ปทัวร์ บุคลากรทางการแพทย์ เพื่อนร่วมชั้นเรียน จำนวน 101 คน ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการเป็นลบ ไม่ติดเชื้อ 97 คน อีก 4 คน เพิ่งมีการเก็บตัวอย่างไปตรวจ สำหรับอาการของครอบครัวนี้ อาการปลอดภัยดี และยังคงมีการติดตามอาการเป็นระยะ

ในส่วนของประชาชนที่เดินทางในเที่ยวบินเดียวกันกับผู้ป่วยทั้ง 2 คนที่เดินทางกลับจากญี่ปุ่น หรือประชาชนในพื้นที่เขตดอนเมืองนั้น นพ.โสภณอธิบายว่าไม่ควรกังวลมาก เพราะธรรมชาติของโรคนี้ยังเป็นการติดต่อจากฝอยละอองขนาดใหญ่ในระยะ 1 เมตร การติดเชื้อต้องมีการอยู่ใกล้ชิด 5 นาทีขึ้นไป

สำหรับผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ หลังจากเดินทางขอความร่วมมือในการคัดกรองที่ด่าน ถ้าไม่มีอาการป่วยขอความร่วมมือให้สังเกตอาการที่บ้านให้ครบ 14 วัน แต่ถ้ามีอาการไอ ไข้ ถึงไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล ส่วนการที่มีบางบริษัทให้พนักงานที่กลับจากต่างประเทศไปตรวจห้องปฏิบัติการในระยะ 2-3 วัน นพ.โสภณ บอกว่า ไม่มีความจำเป็นให้เดินทางไปตรวจ แต่แนะนำให้สังเกตอาการก่อนเป็นคำแนะนำแรก หากมีอาการป่วยจึงไปพบแพทย์ อย่างไรก็ตาม กรณีที่ต้องมีการตรวจเร่งด่วนคือต้องเป็นผู้อยู่ใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ

ปฏิบัติการฆ่าเชื้อโรคที่รัฐสภา

การประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 เริ่มต้นด้วยการหารือของ ส.ส. ต่อปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือเชื้อไวรัสโควิด-19 หลัง ส.ส.หญิงสังกัดพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) มีอาการป่วยเป็นไข้ภายหลังกลับจากประเทศญี่ปุ่น แต่ยังมาร่วมประชุมสภา ทำให้เกิดความตื่นตระหนกในหมู่สมาชิกสภาล่าง

ทำความสะอาด

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, เจ้าหน้าที่ทำความสะอาดบริเวณที่นั่งนายกฯ ในห้องประชุมจันทรา สัปปายะสภาสถาน

นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภา ปฏิบัติหน้าที่ประธานที่ประชุม ได้แจ้งต่อสภาว่า ทางสภาได้ส่งตัว ส.ส.หญิงคนดังกล่าวไปตรวจที่สถาบันบำราศนราดูรแล้ว และจะมีการแจ้งผลอย่างเป็นทางการต่อไป

ต่อมานายอรรถกร ศิริลัทธยากร ส.ส.ฉะเชิงเทรา พปชร. ระบุว่า ผลตรวจเชื้อโควิด-19 ของ น.ส.พัชรินทร์ ขำศิริพงษ์ ส.ส.กทม.พปชร. เป็นลบหรือไม่พบเชื้อนั่นเอง

อย่างไรก็ตามบรรดา ส.ส. ฝ่ายค้านต่างแสดงความกังวลในเรื่องนี้ โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ระบุว่ามีรัฐมนตรีอย่างน้อย 3 คนที่ไปประเทศเสี่ยงแล้วกลับมา โดย รมว.สาธารณสุข ได้ลงนามประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย และมีสภาพบังคับใช้ตามกฎหมายแล้ว จึงอยากให้ตรวจสอบรัฐมตรีที่มาจากประเทศเสี่ยง ให้ไปตรวจคัดกรองเพื่อตวามมั่นใจ

ส่วนนายจุลพันธ์ โนนศรีชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ อดีตพรรคอนาคตใหม่ เสนอให้ประธานใช้อำนาจสั่ง ส.ส. ที่เดินทางกลับจากประเทศเสี่ยง งดมาร่วมประชุมสภา 30 วัน พร้อมตั้งคำถามว่า "เราจะเอาชีวิตไปเสี่ยงกับเขาเพื่อไร ผมฟังข่าว คนเป็นแล้ว ยังกลับมาเป็นได้อีก"

ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้ชี้แจงว่า กรณีของรัฐมนตรีและข้าราชการที่พูดถึง ได้เข้าไปตรวจร่างกายที่สถาบันบำราศฯ แล้ว ไม่พบอาการใด ๆ แต่ได้ให้ระวังตัวเอง และหมอนัดเป็นระยะ ๆ ในช่วงที่มีการฟักตัวก็ต้องระวัง ทุกคนทราบหน้าที่ของตัวเอง แต่ปัญหาคือบางคนไม่แจ้ง นอกจากนี้ได้ให้แนวทางไปแล้วว่าการดูงานต่างประเทศในพื้นที่เสี่ยงและประเทศอื่น ๆ ให้เปลี่ยนมาดูงานในประเทศไทยเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจด้วย

ทำความสะอาด

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, ปฏิบัติการทำความสะอาดในห้องประชุมสภา เน้นที่ไมโครโฟน โต๊ะและเก้าอี้ที่ ส.ส.และรัฐมนตรีนั่ง

ภายหลังหารือกันพอหอมปากหอมคอ นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร ได้ลุกขึ้นกล่าวยืนยันว่า ส.ส.หญิง พปชร. ไม่ได้มีปัญหา ถ้าติดก็ติดกันหมดสภาแล้ว และยังเปิดเผยว่ามีภรรยา ส.ส. ฝ่ายค้าน เดินทางไปเที่ยวกับ ส.ส.หญิงรายดังกล่าว

แต่ที่สุดแล้ว ประธานในที่ประชุมได้ตัดบทว่านายวิรัชไม่ต้องยืนยัน รอให้หมอสถาบันบำราศฯ วินิจฉัย "ถ้าหมอบอกมาไม่ได้ เราไม่ต้องฝืนหรอกครับ คะแนนเดียวเท่านั้นเอง"

ก่อนการประชุมสภาวันนี้ (27 ก.พ.) เจ้าหน้าที่ได้ระดมกำลังทำความสะอาดห้องประชุมจันทราและโซนแถลงข่าวเพื่อฆ่าเชื้อโรค