สมรสเท่าเทียม : ครอบครัวหลากหลายทางเพศ กับความหวังถึง กม.แต่งงานเพศเดียวกันในไทย

คำบรรยายวิดีโอ, ครอบครัวหลากหลายทางเพศ ความหวังถึง กม.แต่งงานเพศเดียวกันในไทย
  • Author, ธันยพร บัวทอง
  • Role, ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

วันแห่งความรักของทุกปี คือวันที่คู่รักหลายคู่เลือกใช้เป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นชีวิตคู่โดยมีผลผูกพันทางกฎหมาย แต่ไม่ใช่กับ รุ่งทิวา ตังคโนภาส และภัลลวี จังตั้งสัจธรรม คู่รักหญิงรักหญิงที่ต้องการจดทะเบียนสมรสเมื่อปี 2553 แต่ถูกปฏิเสธด้วยกฎหมาย

ปลายเดือน พ.ค. 2560 ศาลฎีกาไต้หวัน มีคำวินิจฉัยว่า กฎหมายในปัจจุบันที่ขัดขวางการสมรสของคนเพศเดียวกัน ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และละเมิดต่อสิทธิของพลเมืองในเรื่องความเท่าเทียม และสั่งให้รัฐสภาใช้เวลาร่างกฎหมายใหม่ภายใน 2 ปี แต่ ในไทย กฎหมายที่อนุญาตให้คนเพศเดียวกันแต่งงาน หรือที่เรียกว่า "กฎหมายคู่ชีวิต" ยังอยู่เพียงขั้น "ยกร่าง" คาดว่าต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปีกว่าจะเห็นรูปธรรม และยังมีข้อถกเถียงถึงสิทธิและความเสมอภาคของกลุ่มหลากหลายทางเพศที่อาจยังไม่ครอบคลุมในหลายมิติ

รุ่งทิวา ตังคโนภาส และภัลลวี จังตั้งสัจธรรม คู่รักหญิงรักหญิงที่ตกเป็นข่าวใหญ่เมื่อปี 2553 หลังถูกปฏิเสธการจดทะเบียนสมรสที่เขตบางรัก

ที่มาของภาพ, JIRAPORN KUHAKAN/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, รุ่งทิวา ตังคโนภาส และภัลลวี จังตั้งสัจธรรม คู่รักหญิงรักหญิงที่ตกเป็นข่าวใหญ่เมื่อปี 2553 หลังถูกปฏิเสธการจดทะเบียนสมรสที่เขตบางรัก

ก่อนใช้ชีวิตคู่กับภัลลวี รุ่งทิวาเคยแต่งงานกับชายที่เป็นเพื่อนสนิท ตามความต้องการของแม่ที่ป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ในระยะสุดท้าย ที่อยากให้เธอสร้างครอบครัวตามกรอบที่สังคมคาดหวัง

เธอกับสามีมีลูกสาวด้วยกัน 1 คน โดยวิธีการทำกิฟต์ ชีวิตคู่ในฐานะสามีภรรยาดูเหมือนว่าจะดำเนินไปตามครรลองของครอบครัวชายหญิง แต่เมื่อแม่ของเธอรู้ความจริงว่าสามีของลูกเป็นชายรักชาย นั่นเป็นจุดพลิกผันให้รุ่งทิวากลับมาใช้ชีวิตในแบบผู้หญิงรักเพศเดียวกันอีกครั้ง ถึงวันนี้เธอมีครอบครัวที่ไม่จำกัดว่าต้องเป็นเพศใดเป็นเวลากว่า 12 ปีแล้ว

หากการสร้างหลักประกันเพื่อความมั่นคงในชีวิตแก่ลูกเป็นสิ่งที่คนทั่วไปปรารถนา ก็ไม่ต่างกันกับครอบครัวของพวกเธอ ทั้งคู่หาทางยื่นขอจดทะเบียนให้ลูกสาววัย 16 ปี เป็นบุตรบุญธรรมของภัลลวี เพื่อให้ลูกสาวได้รับสิทธิในทรัพย์สินที่ทั้งคู่ทำธุรกิจประเมินราคาอสังหาริมทรัพย์ร่วมกัน

"คนอื่นก็มีพ่อแม่ หนูก็มี แต่ถึงจะไม่เหมือนคนอื่น ก็มีความสุขที่กลับมาเจอ ครอบครัวของหนูก็คือสองคนนี้" น.ส.ชมชนก ตังคโนภาส ลูกสาว

ที่มาของภาพ, JIRAPORN KUHAKAN/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, "คนอื่นก็มีพ่อแม่ หนูก็มี แต่ถึงจะไม่เหมือนคนอื่น ก็มีความสุขที่กลับมาเจอ ครอบครัวของหนูก็คือสองคนนี้" น.ส.ชมชนก ตังคโนภาส ลูกสาว (คนกลาง)

"ทำอย่างไรได้ ฝ้าย (ภัลลวี) ไม่ได้มีข้อผูกพันทางกฎหมายกับเรา หากวันหนึ่งเราเกิดอุบัติเหตุตายขึ้นมาทำอย่างไร เลยบอกว่างั้นเราไปจดทะเบียนรับโอโซน (ลูกสาว) เป็นบุตรบุญธรรม แต่พอไปถึงเจ้าหน้าที่บอกว่าถ้ายกโอโซนให้เป็นลูกบุญธรรม เราจะเสียสิทธิการเป็นแม่ไปเลยทันที ต้องรอให้ลูกอายุ 20 ก่อน" รุ่งทิวา กล่าวกับ บีบีซีไทย

อุปสรรคของการเป็นครอบครัวหลากหลายทางเพศยังต้องเผชิญกับเรื่องอื่นที่เกิดได้กับชีวิตคนทุกคน "ตอนแม่ (ของรุ่งทิวา) ป่วยมาก อุ้มไป โรงพยาบาลจุฬา เขาบอกว่าเราไม่มีสิทธิเซ็นเรื่องการรักษา เลยสะท้อนว่าถ้าเกิดกับคนที่เรารัก แล้วเราไม่มีสิทธิจะทำอย่างไร" ภัลลวีเล่า

ทั้งคู่ยังมีความหวังว่า การจดทะเบียนสมรสระหว่างเพศเดียวกัน จะสามารถทำได้ถูกต้องในสายตาของกฎหมายในเร็ววัน "ถ้าสิ่งนี้เกิดกับคุณหรือคนที่คุณรัก แล้วคุณจะเข้าใจว่าทำไมถึงเป็นแบบนี้ แล้วถึงจะรู้ว่าความรักที่มันเกิดขึ้นโดยไม่ได้แบ่งเป็นเพศไหนหรือเพศไหน" รุ่งทิวา ทิ้งท้าย

เมื่อกฎหมายแต่งงาน 2 บรรทัด มีผลต่อชีวิตคน เรื่องอะไรบ้างที่กลุ่ม LGBTQ ไร้สิทธิ

"คนจำนวนหนึ่งไม่ได้รับการรับรองสิทธิ ทำให้เกิดอุปสรรคในการดำเนินชีวิต แม้พวกเขาจะใช้ชีวิตคู่ที่เสมือนคู่สมรส" อัญชนา สุวรรณานนท์ นักกิจกรรมอิสระด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศ สะท้อนให้บีบีซีไทยเห็นถึงข้อจำกัดของกฎหมายสมรสและครอบครัว ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448

อัญชนา สุวรรณานนท์ นักกิจกรรมอิสระด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศ ชี้ว่า แนวโน้มในต่างประเทศจะออกเป็นกฎหมายแต่งงานเพศเดียวกัน

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

คำบรรยายภาพ, อัญชนา สุวรรณานนท์ นักกิจกรรมอิสระด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศ ชี้ว่า แนวโน้มในต่างประเทศจะออกเป็นกฎหมายแต่งงานเพศเดียวกัน หรือไม่ก็แก้ไขกฎหมายสมรสให้เปิดรับได้ทุกเพศ

ปัญหาที่คู่รัก LGBTQ (Lesbian, Gay, Bisexual, Trans and Queer) ต้องเผชิญ อัญชนาบอกว่า หากต้องอธิบายทั้งหมดคงไม่สามารถพูดให้ครอบคลุมได้ เพราะนี่คือเรื่องชีวิตคนตั้งแต่เกิด สิทธิหลายอย่างในฐานะผู้ที่ใช้ชีวิตร่วมกัน กลับไม่ได้รับการรับรองในคู่รักกลุ่มหลากหลายทางเพศ

เช่น สิทธิผูกพันทางราชการและลูกจ้างเกี่ยวกับสวัสดิการ สิทธิการให้ความยินยอมแก่แพทย์รักษาพยาบาลคู่ชีวิตยามฉุกเฉิน สิทธิการมีบุตรร่วมกันหรือบุตรบุญธรรม สิทธิการทำนิติกรรมหรือธุรกรรมทางการเงิน เช่น การยื่นกู้ร่วม สิทธิในการจัดการทรัพย์สินร่วมกัน การรับมรดก และสินสมรสที่ร่วมสร้างกันมา

กฎหมายแต่งงานเพศเดียวกันของไทยอยู่จุดไหน -บริบทโลก

ปัจจุบัน มีประเทศที่เปิดให้จดทะเบียนสมรสระหว่างเพศเดียวกัน 22 ประเทศ ล่าสุด คือ ไต้หวัน และเยอรมนี ที่สภาฯ เพิ่งผ่านกฎหมายรับรองสิทธิการแต่งงานคนเพศเดียวกัน ส่วนการทะเบียนคู่ชีวิตมี 27 ประเทศ ความพยายามของไทยอยู่ในประเภทหลัง

ชายกอดกัน

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, ไต้หวัน เปิดทางให้มีการสมรสระหว่างคู่รักเพศเดียวกันเป็นที่แรกในเอเชีย โดยหลังจากนี้ รัฐสภาไต้หวันมีเวลา 2 ปี ในการแก้กฎหมายสมรสเดิมหรือออกเป็นกฎหมายใหม่

อัญชนา บอกว่า แนวโน้มในต่างประเทศจะออกเป็นกฎหมายแต่งงานเพศเดียวกัน หรือไม่ก็แก้ไขกฎหมายสมรสให้เปิดรับได้ทุกเพศ เช่น อังกฤษ เสนอกฎหมายคู่ชีวิตในปี 2003 พอระยะหนึ่งก็เห็นความพร้อมของสังคม ความต้องการที่กฎหมายคู่ชีวิต ยังไม่ตอบโจทย์ 100 เปอร์เซ็นต์ ก็ผลักดันต่อไปจนเป็นกฎหมายแต่งงานเพศเดียวกันในที่สุด

ส่วนความคืบหน้าของไทย นรีลักษณ์ แพไชยภูมิ ผอ.กองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม กล่าวกับบีบีซีไทยว่า ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต อยู่ในขั้นปรับแก้ ศึกษาเปรียบเทียบกับต่างประเทศ ออกแบบระบบการจดทะเบียนและการปรึกษาผู้นำทางศาสนา

ปัจจุบัน มีประเทศที่เปิดให้จดทะเบียนสมรสระหว่างเพศเดียวกัน 22 ประเทศ ล่าสุด คือ ไต้หวัน และเยอรมนี ที่สภาฯ เพิ่งผ่านกฎหมายรับรองสิทธิการแต่งงานคนเพศเดียวกัน ส่วนการทะเบียนคู่ชีวิตมี 27 ประเทศ ความพยายามของไทยอยู่ในประเภทหลัง

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, ปัจจุบัน มีประเทศที่เปิดให้จดทะเบียนสมรสระหว่างเพศเดียวกัน 22 ประเทศ ล่าสุด คือ ไต้หวัน และเยอรมนี ที่สภาฯ เพิ่งผ่านกฎหมายรับรองสิทธิการแต่งงานคนเพศเดียวกัน ส่วนการทะเบียนคู่ชีวิตมี 27 ประเทศ ความพยายามของไทยอยู่ในประเภทหลัง

กรอบเบื้องต้นคือ สิทธิจัดการทรัพย์สินมรดก ลดหย่อนภาษี แต่ยังไปไม่ถึงการให้สิทธิรับบุตรบุญธรรม การเปลี่ยนคำนำหน้านาม หรือการเปลี่ยนนามสกุล แต่ยืนยันว่า พยายามจะรับรองสิทธิของคู่ชีวิตที่ควรจะได้ให้ใกล้เคียงกับสิทธิที่คู่สมรสได้มากที่สุด

นรีลักษณ์ กล่าวว่า ความยากของการร่างกฎหมายคือ การทำความเข้าใจกับหน่วยราชการกันเอง พร้อมยอมรับว่าจะยังไม่ได้เห็นกฎหมายคู่ชีวิตในรัฐบาลนี้ และคาดว่าจะใช้เวลาถึง 2 ปี ทั้งนี้ หากกฎหมายบังคับใช้จะได้การรับรองทางกฎหมายด้วยทะเบียนคู่ชีวิต แยกจากทะเบียนสมรสของคู่ชายหญิง

อะไรคือข้อถกเถียงใน พ.ร.บ.คู่ชีวิต ฉบับที่รัฐร่าง

ในฐานะนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวเรื่องการเลือกปฏิบัติต่อการเข้าถึงการจัดตั้งครอบครัว ชุมาพร แต่งเกลี้ยง จาก "กลุ่มโรงน้ำชา" กลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิความหลากหลายทางเพศ มองว่า หากจะขจัดความไม่เสมอภาคระหว่างเพศ ต้องแก้ที่กรอบใหญ่ของกฎหมาย เพื่อให้คู่สมรสของบุคคลหลากหลายทางเพศถูกนับรวมเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันสมรสที่ไม่ต่างจากคู่ชายหญิง

ตัวแทนนักกิจกรรมเพื่อสิทธิความหลากหลายทางเพศ ยื่น 60,000 รายชื่อ สนับสนุนร่างกฎหมายคู่ชีวิต ต่ออธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เมื่อวันที่ 17 พ.ค.ที่ผ่านมา

ที่มาของภาพ, World Bank Thailand/facebook

คำบรรยายภาพ, ตัวแทนนักกิจกรรมเพื่อสิทธิความหลากหลายทางเพศ ยื่น 60,000 รายชื่อ สนับสนุนร่างกฎหมายคู่ชีวิต ต่ออธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เมื่อวันที่ 17 พ.ค.ที่ผ่านมา

เนื้อหาในร่างกฎหมายที่ ชุมาพร มองว่าเป็นปัญหา คือ

  • การรับรองบุตร ไม่ว่าจะเป็นบุตรบุญธรรม หรือบุตรคู่สมรสเดิม หรือบุตรที่เกิดจากการอาศัยเทคโนโลยีทางการแพทย์ ยังไม่สามารถทำได้
  • หน่วยงานรับจดทะเบียนคู่ชีวิต ที่ยังไม่แน่ชัดว่าจะขึ้นกับกระทรวงมหาดไทยหรือหน่วยงานใด หากเป็น กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ การจดทะเบียนจะไม่ถูกมองว่าเป็นสิทธิในฐานะพลเมือง หากแต่อยู่ในสถานะกลุ่มคนชายขอบ
  • เน้นแต่จัดการทรัพย์สิน แต่กฎหมายที่เกี่ยวพันกับสิทธิคู่สมรสอื่นๆ อาจไม่ล้อไปกับ พ.ร.บ.คู่ชีวิต แม้ว่าจะเขียนให้โยงกับกฎหมายสมรสแล้วก็ตาม
  • คำที่ใช้ในกฎหมายคู่ชีวิต มูลนิธิเพื่อสิทธิความหลากหลายทางเพศที่ร่างกฎหมายคู่ชีวิตฉบับภาคประชาชน ชี้ว่า หากใช้คำว่าเพศเดียวกัน อาจเกิดปัญหากับกลุ่มนิยามตัวเองว่าเป็นคนข้ามเพศ หรือคนที่มีเพศวิถีที่แตกต่างจากคนรักเพศเดียวกันหรือคนรักต่างเพศ

"ถ้าพูดถึงการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐานที่สุดที่บอกว่าใครก็ได้สามารถมีลูกได้นั้น การที่ออกมาบอกว่าคนกลุ่มนี้ห้ามมีลูก เพราะการที่เค้าเป็นเกย์ กระเทย ทอม ดี้ เป็นการเลือกปฏิบัติอย่างชัดเจน แต่พอกฎหมายออกมาก็เลือกปฏิบัติอีก สังคมไทยมีบทเรียนการเลือกปฏิบัติและความไม่เท่าเทียมมามากพอแล้ว" ชุมาพรกล่าว และ ย้ำจุดยืนของกลุ่มที่ต้องการเห็นการแก้ไขกฎหมายสมรสเพื่อกลับมาสู่การนับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งเธอเชื่อว่าน่าจะมีประสิทธิภาพสูงกว่าการออกเป็น พ.ร.บ.คู่ชีวิต

จับมือกัน

ที่มาของภาพ, JIRAPORN KUHAKAN/BBC Thai

อัตลักษณ์ทางเพศที่มากกว่าความเป็นหญิงชาย เริ่มปรากฏให้เห็นในหลายพื้นที่ ค่อยๆ ทำลายอคติของสังคม ให้ยอมรับตัวตนที่หลากหลายของมนุษย์มากขึ้น ความเปลี่ยนแปลงนี้ เป็นสิ่งที่ท้าทายกฎหมายล้าหลังที่ครอบผู้คนไว้ตามเพศกำเนิด นี่อาจเป็นช่วงเวลาที่พวกเขาและพวกเธอควรมีสิทธิที่จะสร้างครอบครัว อันเป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ได้อย่างสมบูรณ์ โดยรัฐยอมรับ

บีบีซีไทยปรับปรุงจากบทความที่เผยแพร่เมื่อเดือน ก.ค.2560