ยุบ ศบค. ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คุมโควิด-19 ตั้งแต่ 1 ต.ค.

เรียกร้องเลิก พ.ร.ก.

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) มีมติให้ยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทั่วประเทศ และยุบ ศบค. ตั้งแต่ 1 ต.ค. เป็นต้นไป

ประเทศไทยอยู่ภายใต้กฎหมายพิเศษมานาน 2 ปี 6 เดือน ก่อนเตรียมกลับคืนสู่การบังคับใช้กฎหมายปกติในอีก 1 สัปดาห์ข้างหน้า

รัฐบาลภายใต้การนำ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร เพื่อควบคุมและป้องกันโรคโควิด-19 เมื่อ 25 มี.ค. 2563 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 26 มี.ค. 2563 ต่อมา ศบค. และคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รวม 19 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดจะไปสิ้นสุดในวันที่ 30 ก.ย. 2565 นี้

วันนี้ (23 ก.ย.) ที่ประชุม ศบค. ที่มี พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติให้ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร รวมทั้งบรรดาข้อกำหนด ประกาศ และคำสั่ง ที่นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี (ครม.) ใช้อำนาจตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 โดยให้มีผล 30 ก.ย. 2565 เป็นต้นไป

“หมายความว่าเราไม่ได้ขยายเวลากันอีกแล้ว ก็จะสิ้นสุด 30 ก.ย. และถือเป็นการสิ้นสุดของ ศบค.” นพ. ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงภายหลังประชุม ศบค. เมื่อ 23 ก.ย.

โฆษก ศบค. ชี้แจงเหตุผลว่า ปัจจุบันสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในภาพรวมทั่วโลกมีแนวโน้มดีขึ้น สอดคล้องกับสถานการณ์ในประเทศไทยที่มีแนวโน้มดีขึ้น โดยมีจำนวนผู้ป่วยรายใหม่และแนวโน้มของผู้เสียชีวิตลดลง อีกทั้งประชาชนและผู้ประกอบการสามารถดำเนินชีวิตและขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจและกิจกรรมทางสังคมให้เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว เหตุของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจึงได้คลี่คลายลง หน่วยงานของรัฐสามารถนำมาตรการทางกฎหมายเข้ามาแก้ไขปัญหาได้ตามปกติแล้ว

ก่อนมีบทสรุปแน่ชัดจาก ศบค. แอมเนสตี้ ประเทศไทย พร้อมด้วยตัวแทนนักวิชาการ และนักกิจกรรมการเมือง ได้เดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทย ให้ยุติการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และยุติข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่เกิดจากการแสดงออกและการชุมนุมประท้วง หลังพบว่ามีประชาชนอย่างน้อย 1,467 คน ถูกดำเนินคดีฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในช่วงที่ผ่านมา

เลิก พ.ร.ก.

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

มอบอนุทินคุมโรค-จัดความรุนแรง 4 ระดับ

หลังจากไม่มี ศบค. แล้ว นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข จะเป็นผู้กำกับดูแลตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ มีแผนปฏิบัติการควบคุมโรครองรับการเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ควบคุมโรคให้อยู่ในสถานการณ์เฝ้าระวังหรือรุนแรงน้อย ซึ่งโฆษก ศบค. แจกแจงเอาไว้ 4 ระดับ ดังนี้

  • ระดับเฝ้าระวัง : เป็นสถานการณ์ปัจจุบันซึ่งอัตราป่วยเสียชีวิตน้อยกว่า 0.1% อัตราครองเตียงอยู่ระหว่างที่ 11-24% กำหนดให้หน่วยปฏิบัติการควบคุมโรคเป็นระดับอำเภอ
  • ระดับรุนแรงน้อย : อัตราการป่วยเสียชีวิตขยับไปที่ 0.1-0.5% อัตราครองเตียง 25-40% กำหนดให้ศูนย์ปฏิบัติการเป็นระดับจังหวัด และเปิดศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคขึ้นมา
  • ระดับรุนแรงปานกลาง : อัตราป่วยเสียชีวิตมากกว่า 0.5% อัตราครองเตียง 41-75% จะเปิดศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงสาธารณสุข
  • ระดับรุนแรงมาก : อัตราป่วยเสียชีวิตมากกว่า 1% อัตราครองเตียงมากกว่า 75% จะเปิดศูนย์ปฏิบัติการสถานการณ์ฉุกเฉินระดับประเทศ
ประวิตร

ที่มาของภาพ, สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

คำบรรยายภาพ, พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธานการประชุม ศบค. 23 ก.ย. โดยได้กล่าวขอบคุณประชาชนที่ร่วมมือ ขอบคุณผู้ประกอบการที่ร่วมใจ ขอบคุณภาครัฐที่ทำงานกันอย่างเข้มแข็งจนผ่านพ้นและเปลี่ยนผ่านมาถึงปัจจุบัน

เข้าประเทศไม่ต้องโชว์เอกสารวัคซีน-ผลตรวจ ATK

ขณะเดียวกัน ศบค. ยังรับทราบแผนปฏิบัติการควบคุมโรคโควิด-19 รองรับการเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอมา ภายหลังไทยประกาศปรับลดระดับสถานการณ์โรคโควิด-19 จาก โรคติดต่ออันตราย เป็น โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง โดยให้มีผลตั้งแต่ 1 ต.ค. นี้

หนึ่งในมาตรการที่จะเปลี่ยนไปตามการเปิดเผยของนายอนุทิน ในฐานะประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เมื่อ 22 ก.ย. คือ การยกเลิกแสดงเอกสารวัคซีน หรือผลตรวจ ATK ก่อนเข้าประเทศ และยกเลิกการสุ่มตรวจสอบบันทึกการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ โดยยังคงเฝ้าระวังผู้เดินทางที่มีอาการป่วยของโรคติดต่ออันตราย หรือโรคติดต่ออุบัติใหม่

นอกจากนี้จะมีการปรับมาตรการแยกกักสำหรับผู้ป่วยอาการน้อย/ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่แสดงอาการ โดยให้ปฏิบัติตาม DMHT อย่างเคร่งครัด 5 วันคือ เว้นระยะห่าง สวมหน้ากาก ล้างมือ และตรวจ ATK เมื่อมีอาการ

นพ. อุดม คชินทร ที่ปรึกษา ศบค. กล่าวก่อนเข้าร่วมประชุม ศบค. ว่า ถ้าดูตัวเลขวันนี้มีผู้ป่วยและเฝ้าระวัง 800-1,000 ราย หากรวมยอดจาก ATK ทั้งที่รายงานและไม่รายงานเข้าระบบ มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ราว 30,000-40,000 รายต่อวัน ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง ทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมถึงเปลี่ยนผ่านจาก โรคติดต่อร้ายแรง เป็น โรคติดต่อเฝ้าระวัง แต่ยังไม่ใช่โรคประจำถิ่น

นพ. อุดมยังเตือนให้ประชาชนดูแลตนเอง เพราะโควิด-19 ยังอยู่กับเราไม่ต่ำกว่า 1 ปีถึงจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น และเน้นย้ำให้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นอย่างน้อยควรเข็ม 3 ซึ่งวันนี้มีผู้ฉีดวัคซีนเข็ม 3 เพียง 46-47% จากเป้าหมาย 70%

ทวีศิลป์

ที่มาของภาพ, สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

คำบรรยายภาพ, นพ. ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ทำหน้าที่แถลงข่าวนัดสุดท้าย พร้อมกล่าวขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมมือกับรัฐในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในไทยในรอบ 24 ชม. จากการรายงานของ ศบค. พบว่า มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 752 ราย รวมมีผู้ติดเชื้อสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 4,677,090 ราย หายป่วยแล้ว 4,636,163 ราย และมีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 9 ราย รวมผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 32,692 ราย

ขณะที่การฉีดวัคซีนโควิด-19 มีประชาชน 82.4% ได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้ว และ 77.4% ได้รัยวัคซัน 2 เข็ม และ 46.1% ได้รับวัคซีนเข็ม 3 ขึ้นไป