โควิด-19 : ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาในไทยใกล้ถึง 2,000 ราย "วิษณุ" เผยเตรียมออกมาตรการอื่นเพิ่มหลังเคอร์ฟิวมีผลวันนี้

ภาพประกอบ

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

จำนวนผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในไทยเพิ่มเป็น 19 ราย โดยผู้เสียชีวิต 4 รายล่าสุดประกอบด้วยพนักงานการรถไฟและผู้ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มสนามมวย ขณะที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 103 ราย ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ยืนยันไทยยังไม่ได้ปิดประเทศเพราะยังให้เครื่องบินขึ้น-ลงได้ แต่ขอให้ชาวต่างชาติชะลอการเดินทางมาไทย

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงข่าววันนี้ (3 เม.ย.) ว่า 3 ใน 4 ของผู้เสียชีวิตที่ยืนยันล่าสุดเป็นผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัว จึงขอย้ำว่าประชากรกลุ่มนี้เป็นกลุ่มเสี่ยงและมีอัตราการเสียชีวิตสูง ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ

"เดือนนี้เข้าสู่เทศกาลสงกรานต์ ถ้าท่านเป็นลูกกตัญญู สิ่งที่ท่านควรจะทำคือไม่ควรเข้าใกล้พ่อแม่ คนที่สูงอายุ ปู่ย่าตายายที่สูงอายุ เพราะเขามีความเสี่ยงสูงมาก ปีนี้หลายคนบอกว่ารดน้ำสงกรานต์ก็ไม่ควรจะมี ถ้าจะมีก็ใช้แอลกอฮอล์เจลรดขอพรท่านก็น่าจะดี" นพ. ทวีศิลป์กล่าว พร้อมกับแนะนำให้ประชาชนใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อออกจากบ้านหรือถ้าที่บ้านมีคนอยู่ร่วมกันหลายคนก็ควรใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา

ผู้เสียชีวิต 4 รายล่าสุด ซึ่งเป็นรายที่ 16-19 ได้แก่

1.ชายไทย อายุ 59 ปี อาชีพพนักงานการรถไฟ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 2 เม.ย.

2.ชายไทย อายุ 72 ปี มีประวัติสัมผัสกับลูกชายที่ป่วยเป็นโควิด-19 หลังจากเดินทางไปดูมวยที่สนามมวยในกรุงเทพฯ

3.ชายไทย อายุ 84 ปี ทำงานที่สนามมวยราชดำเนิน มีโรคประจำตัวคือโรคไตและความดันโลหิตสูง

4.ชายไทย อายุ 84 ปี ป่วยและได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่หลังจากเดินทางไปดูมวยที่สนามมวยราชดำเนิน

สถานการณ์การระบาดโรคโควิด-19. ติดเชื้อ: 4,026 เสียชีวิต: 60 หายแล้ว: 3,822.  .

สำหรับผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่ยืนยันวันนี้มีทั้งหมด 103 ราย ทำให้ไทยมีผู้ติดเชื้อสะสม 1,978 ราย แบ่งเป็นกลุ่มดังนี้

กลุ่ม 1 ผู้ที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยหรือเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วยก่อนหน้า 48 ราย

  • สนามมวย 1 ราย
  • สถานบันเทิงในกรุงเทพฯ 2 ราย
  • เข้าร่วมพิธีทางศาสนาที่ประเทศมาเลเซีย 6 ราย
  • สัมผัสผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันก่อนหน้านี้ 39 ราย

กลุ่ม 2 ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 44 ราย

  • ผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ 15 ราย เป็นคนไทย 7 ราย และชาวต่างชาติ 8 ราย
  • สัมผัสผู้ป่วยที่เดินทางจากต่างประเทศ 2 ราย
  • ผู้ที่อาศัยอยู่ในย่านชุมชนที่มีคนหนาแน่นหรือทำงานใกล้ชิดชาวต่างชาติ 13 ราย
  • บุคลากรทางการแพทย์ 5 ราย
  • เดินทางไปสถานที่แออัด 4 ราย
  • อื่น ๆ 5 ราย

กลุ่ม 3 ยืนยันการพบเชื้อแล้ว แต่รอสอบสวนโรค 11 ราย

จับตาภูเก็ต จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุดในประเทศ

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า กรุงเทพฯ ยังเป็นจังหวัดที่พบผู้ป่วยสูงสุด แต่เมื่อคิดอัตราป่วยต่อประชากรทั้งหมดแล้ว จ.ภูเก็ตซึ่งมีผู้ป่วยสะสม 88 คน นับว่ามีอัตราป่วยต่อประชากรสูงสุดคือ 21.67 ต่อแสนประชากร จึงเป็นจังหวัดที่ต้องจับตาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะใน 3 อำเภอหลัก คือ อ.กะทู้ อ.เมืองภูเก็ต และ อ.ถลาง

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า เหตุที่ จ.ภูเก็ต มีผู้ติดเชื้อสะสมมากเพราะมีชาวต่างชาติที่เดินทางมาท่องเที่ยวและพำนักอยู่ และมีผู้ที่ทำงานใกล้ชิดกับชาวต่างชาติทำให้มีความเสี่ยงติดเชื้อสูง

โฆษก ศบค.กล่าวเพิ่มเติมว่าเร็ว ๆ นี้จะมีกลุ่มคนไทยที่เดินทางกลับจากต่างประเทศหลายกลุ่ม เช่น ผู้ที่เดินทางกลับจากการประกอบพิธีทางศาสนาที่อินโดนีเซียและมาเลเซีย และกลุ่มนักเรียนแลกเปลี่ยนที่เดินทางกลับจากสหรัฐฯ และอิตาลี ซึ่งทั้งหมดจะต้องเข้าสู่กระบวนการกักกันโรค จึงขอกำชับให้คนเหล่านี้ปฏิบัติตามมาตรการของรัฐอย่างเคร่งครัด

"วิษณุ" เผยอาจขยายเวลาเคอร์ฟิว

ด้านรองนายกฯ นายวิษณุ ได้ร่วมแถลงข่าวประจำวันนี้ด้วยเพื่ออธิบายและทำความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการควบคุมโรคระบาดที่ออกเพิ่มเติม ได้แก่ การประกาศเคอร์ฟิวหรือการห้ามออกนอกเคหสถานเป็นเวลา 6 ชั่วโมง ระหว่างเวลา 22.00-04.00 น. ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันนี้เป็นวันแรก และการควบคุมผู้ที่เดินทางเข้าประเทศไทย โดยนายวิษณุยืนยันว่าขณะนี้ไทยยังไม่ได้ "ปิดประเทศ" เพราะยังอนุญาตให้เครื่องบินขึ้นลงได้ แต่ขอความร่วมมือชาวต่างชาติให้ชะลอการเดินทางมาประเทศไทย

แถลงข่าว

ที่มาของภาพ, สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

คำบรรยายภาพ, นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าถ้าเคอร์ฟิว "ใช้ได้ผลดี" ในการควบคุมโรคก็อาจจะขยายเวลา

ส่วนการประกาศเคอร์ฟิวนั้น นายวิษณุกล่าวว่าหากประเมินแล้วเห็นว่าสามารถช่วยควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 หรือทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงได้จริง รัฐบาลก็อาจจะขยายเวลาจาก 6 ชั่วโมงในขณะนี้เป็น 8 หรือ 10 ชั่วโมง ซึ่งจะมีการแจ้งให้ประชาชนทราบล่วงหน้า

นายวิษณุได้อธิบายเพิ่มเติมถึงการยกเว้นให้เดินทางออกนอกบ้านในช่วงเคอร์ฟิวได้ว่าแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ

- การยกเว้นให้แก่บุคคลเป็นการทั่วไป เช่น บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วย ผู้ขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภค ผู้ทำงานเป็นช่วงเวลา (ผลัด) โดยบุคคลกลุ่มนี้จะต้องมีเอกสารติดตัว คือ บัตรประชาชนหรือบัตรยืนยันตัวตนในการทำงาน หรือเอกสารยืนยันการทำกิจกรรม

- บุคคลที่ได้รับการยกเว้นเป็นการเฉพาะ เช่น ผู้ที่ประกอบอาชีพกรีดยางหรือประมง ซึ่งจะได้มีการออกประกาศเป็นการเฉพาะต่อไป

นายวิษณุย้ำว่า การประกาศห้ามออกนอกพื้นที่ในช่วงเวลากลางคืนนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อลดกิจกรรมที่ไม่จำเป็นจริง ๆ เพราะการห้ามออกนอกพื้นที่หรือลดกิจกรรมในช่วงกลางวันนั้นทำได้ยากและอาจจะกระทบประชาชนในวงกว้าง แต่หากประเมินแล้วว่ามีความจำเป็นรัฐบาลก็อาจจะขยายเวลาให้นานกว่า 6 ชม.ได้

"ยังไม่ปิดประเทศ"

นายวิษณุยืนยันว่าขณะนี้ประเทศไทยยังไม่ได้มีการปิดประเทศ เพราะเครื่องบินยังสามารถขึ้น-ลงได้ การขนส่งสินค้าเข้าและนำสินค้าออกยังทำได้ตามปกติ และคนไทยยังสามารถเดินทางกลับประเทศได้ แต่ต้องปฏิบัติตามระเบียบที่กำหนด เช่น ต้องแสดงใบรับรองแพทย์และการเข้าสู่กระบวนการกักกันโรค

ส่วนชาวต่างชาตินั้น นายวิษณุยอมรับว่า รัฐบาลไทยออกมาตรการที่ "เข้มงวด" เพราะมีข้อมูลว่ามีชาวต่างชาติที่ยังคงต้องการเดินทางมาท่องเที่ยวหรือเดินทางมาเพื่อ "หนีร้อนมาพึ่งเย็น" ดังนั้นทางการไทยจึงขอร้องให้ชาวต่างชาติชะลอการเดินทางมาประเทศไทยอย่างน้อยจนถึงวันที่ 15 เม.ย.

"สถานการณ์ค่อนข้างคงที่"

นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 โดยระบุว่าสถานการณ์ค่อนข้างคงที่คือมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยวันละ 100 ราย ซึ่ง "ถือเป็นทิศทางที่ดี" อย่างไรก็ตามประเทศไทยยังต้องให้ความสำคัญกับมาตรการควบคุมโรคระบาดทั้ง 2 มาตรการต่อไปอย่างเข้มข้น ได้แก่ หนึ่ง-มาตรการทางสาธารณสุข คือ ผู้ป่วยต้องเข้าสู่การรักษาให้เร็วและค้นหาผู้สัมผัสให้ได้มากที่สุดเพื่อตัดวงจรการแพร่เชื้อ และสอง-มาตรการทางสังคม คือ การเพิ่มระยะห่างระหว่างบุคคล

ตลาดสด

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, ชาวจังหวัดนราธิวาสสวมหน้ากากอนามัยและที่ป้องกันใบหน้ามาตลาดสดเพื่อป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

โรงแรม 100 แห่งสนใจปรับเป็น "hospitel"

ด้าน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวิค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวถึงบทบาทของโรงพยาบาลเอกชนในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ว่า มีส่วนสำคัญในการรักษาผู้ป่วยและจัดหาเตียงรองรับผู้ป่วย โดยขณะนี้มีผู้ป่วยที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเอกชนเกือบ 400 ราย ซึ่งโรงพยาบาลเอกชนเหล่านี้มีความพร้อมในการรักษาและมีหอผู้ป่วยวิกฤตที่พร้อม

ล่าสุด สธ.ได้ออกประกาศเรื่องการจัดตั้งสถานพยาบาลที่ได้รับการยกเว้นหรือ "โรงพยาบาลสนาม" เพื่ออำนวยความสะดวกให้โรงพยาบาลเอกชนที่มีความพร้อมในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเพื่อดูแลผู้ป่วยโควิด-19 โดยเฉพาะ เบื้องต้นมีโรงพยาบาล 2 แห่งที่ยื่นขอเปิดโรงพยาบาลสนาม รองรับผู้ป่วยแห่งละ 60 เตียง

นอกจากนี้ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพกำลังดำเนินการเปิด hospitel ซึ่งหมายถึงโรงแรมที่ปรับเป็นโรงพยาบาลเพื่อรองรับผู้ป่วยที่อาการไม่หนักซึ่งมีอยู่กว่า 80% ของผู้ป่วยทั้งหมด ผู้ป่วยที่จะเข้าพักฟื้นใน hospitel นี้จะต้องเป็นผู้ที่ผ่านระยะเฝ้าระวังจากโรงพยาบาลมาแล้ว โดยจะมีเจ้าหน้าทางการแพทย์ดูแล ขณะนี้ทั่วประเทศมีโรงแรมที่เสนอตัวประมาณ 100 แห่ง ซึ่งจะเพิ่มเตียงรองรับผู้ป่วยได้กว่า 16,000 เตียง