ไขปริศนาแม่น้ำไนล์ เหตุใดยังไหลไม่เปลี่ยนทิศทางมา 30 ล้านปี

A general view of The Nile River, houses and agricultural land from the window of an airplane in Luxor, Egypt October 9, 2019

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, แม่น้ำไนล์เป็นอู่อารยธรรมและเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของทวีปแอฟริกา

แม่น้ำไนล์ซึ่งเป็นทั้งอู่อารยธรรมและเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของทวีปแอฟริกา มีความลึกลับชวนพิศวงหลายข้อที่นักภูมิศาสตร์หรือนักธรณีวิทยายังไม่สามารถหาคำตอบได้ โดยหนึ่งในนั้นคือปริศนาที่ว่า เหตุใด "แม่น้ำอันเป็นนิรันดร์" สายนี้ ไม่เคยเปลี่ยนทิศทางการไหลไปแม้แต่น้อย ตลอดระยะเวลาหลายสิบล้านปีที่ผ่านมา

โดยทั่วไปแล้ว แม่น้ำที่มีอายุเก่าแก่มักจะต้องเปลี่ยนทิศทางการไหลไปบ้างตามกาลเวลา เนื่องจากเกิดความเปลี่ยนแปลงของภูมิประเทศโดยรอบหรือภูมิอากาศ แต่แม่น้ำไนล์นั้นกลับไหลอย่างคงที่ในเส้นทางเดิมได้ยาวนาน จากพื้นที่เขาสูงในเอธิโอเปีย ลงสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนที่ปากแม่น้ำในอียิปต์ คิดเป็นระยะทาง 6,650 กิโลเมตร

ล่าสุดรายงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Geoscience ระบุว่าพบหลักฐานที่ชี้ถึงสาเหตุของปรากฏการณ์ดังกล่าวแล้ว โดยทีมนักธรณีวิทยาจากมหาวิทยาลัยเท็กซัส วิทยาเขตออสตินของสหรัฐฯ ค้นพบว่า ธรณีสัณฐานข้างใต้แม่น้ำไนล์ ซึ่งมีลักษณะลาดเอียงลงเรื่อย ๆ จากทางทิศใต้ไปสู่ทิศเหนือของทวีปนั้น สามารถจะคงตัวอยู่ได้ด้วยระบบการไหลเวียนของเนื้อโลกหรือแมนเทิล (Mantle) แบบพิเศษ

ชั้นของเนื้อโลกซึ่งอยู่ระหว่างเปลือกโลกและแก่นโลก ประกอบด้วยหินแข็งและโลหะซึ่งเคลื่อนที่ได้อย่างช้า ๆ เพราะขับเคลื่อนด้วยกระบวนการพาความร้อน (Convection) จากแก่นโลกขึ้นมายังพื้นผิวด้านบน

ในแต่ละพื้นที่ของโลกจะมีระบบไหลเวียนย่อย ๆ ของเนื้อโลกแตกต่างกัน โดยการสำรวจทางธรณีวิทยาและการใช้แบบจำลองคอมพิวเตอร์พบว่า ส่วนของเนื้อโลกข้างใต้แม่น้ำไนล์มีระบบการไหลเวียนที่แยกจากส่วนอื่น ๆ โดยรอบ ทั้งรูปแบบการไหลเวียนก็คงที่ไม่เปลี่ยนแปลงมานานหลายสิบล้านปีแล้ว

ภาพถ่ายจากสถานีอวกาศนานาชาติ เผยให้เห็นแม่น้ำไนล์ไหลคู่ขนานไปกับชายฝั่งทะเลแดง ก่อนลงสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

ที่มาของภาพ, NASA

คำบรรยายภาพ, ภาพถ่ายจากสถานีอวกาศนานาชาติ เผยให้เห็นแม่น้ำไนล์ไหลคู่ขนานไปกับชายฝั่งทะเลแดง ก่อนลงสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

การไหลเวียนชนิดนี้เป็นแบบสายพาน ซึ่งดันให้พื้นที่ต้นน้ำในเอธิโอเปียยกตัวสูงขึ้น และดึงให้แผ่นดินที่รองรับสายธารช่วงต่อมาค่อย ๆ ลาดต่ำลงไปทางสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนล์ในอียิปต์ จนทำให้ความแตกต่างระหว่างความสูงของพื้นที่ต้นน้ำกับปลายน้ำมีมากถึง 1.5 กิโลเมตร

นอกจากนี้ ทีมผู้วิจัยยังพบหินภูเขาไฟชนิดเดียวกับที่พบบริเวณต้นน้ำในแถบเขาสูงของเอธิโอเปีย กระจายตัวอยู่ในชั้นดินตะกอนก้นแม่น้ำตลอดสายด้วย ซึ่งบ่งชี้ว่าแม่น้ำไนล์มีอายุเก่าแก่เท่ากับพื้นที่ต้นน้ำคือ 30 ล้านปี นับว่ามากกว่าอายุของแม่น้ำที่เคยมีผู้สันนิษฐานไว้ก่อนหน้านี้ถึง 6 เท่า

ศาสตราจารย์ คลอดิโอ ฟาซเซนนา ผู้นำทีมวิจัยกล่าวว่า "ถ้าไม่มีโครงสร้างทางธรณีวิทยาและระบบไหลเวียนของเนื้อโลกที่คงทนอยู่หลายสิบล้านปีเช่นนี้ แม่น้ำไนล์คงจะเปลี่ยนเส้นทางของกระแสน้ำไปยังทิศตะวันตกของแอฟริกานานแล้ว ซึ่งก็จะทำให้ประวัติศาสตร์โลกและพัฒนาการของอารยธรรมมนุษย์เปลี่ยนแปลงไปด้วย"