โควิด-19 : กรมควบคุมมลพิษเสนอ "ทำงานที่บ้าน" ระยะยาว หลังพบคุณภาพอากาศกรุงเทพฯ ดีขึ้น

ถนนในกรุงเทพฯ ว่างเปล่า

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, ภาพมุมสูงของกรุงเทพฯ ในเวลา 22.00 น. ของวันที่ 22 เม.ย. 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่ประกาศห้ามออกนอกเคหสถานหรือเคอร์ฟิวมีผลบังคับใช้ รัฐบาลประกาศเคอร์ฟิวตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย.
  • Author, กุลธิดา สามะพุทธิ และ ราชพล เหรียญศิริ
  • Role, ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

หากไม่เกิดการระบาดของโควิด-19 ปี 2563 จะเป็นอีกปีที่คนกรุงเทพฯ ต้องเสี่ยงชีวิตกับฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนหรือ PM2.5 ที่ไต่ระดับสูงเกินค่ามาตรฐานมาตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงขั้นมีรายงานว่ากรุงเทพมหานครเตรียมสั่งปิดโรงเรียนในสังกัด กทม.แล้ว

แต่การพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เมื่อวันที่ 13 ม.ค. การสั่งปิดสถาบันการศึกษาทั่วประเทศตั้งแต่ 17 มี.ค. ตามด้วยการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อ 26 มี.ค. แล้วต่อด้วยการประกาศเคอร์ฟิวเมื่อ 3 เม.ย. ได้ทำให้ฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯ ลดฮวบลง และส่งผลให้คุณภาพอากาศดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) บอกกับบีบีซีไทยว่า โดยปกติแล้ว ช่วงต้นปีอย่างนี้ คุณภาพอากาศในกรุงเทพฯ มักเกินค่ามาตรฐานในระดับส่งผลกระทบต่อสุขภาพเกือบทุกวัน เพราะอากาศปิดและเป็นช่วงที่มีการสัญจรมาก ถ้าไม่มีการระบาดของโควิด-19 ที่นำมาสู่การปิดเมือง การกักตัวอยู่บ้าน สถานการณ์ PM2.5 ปีนี้รุนแรงแน่

สิ่งที่เกิดขึ้นนี้จะเรียกว่าเป็นเรื่องน่ายินดีก็คงไม่ได้ เพราะโรคระบาดทำให้ผู้คนจำนวนมากเจ็บป่วย เสียชีวิต ขาดรายได้และสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจมหาศาล แต่เห็นได้ชัดว่ามาตรการควบคุมและป้องกันโรคระบาดนั้น "ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมในแทบทุกด้าน ทั้งน้ำ อากาศ แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและปริมาณขยะ" รองอธิบดี คพ.กล่าว

ไม่เจอโควิด-19 ก็ต้องเจอวิกฤต PM2.5

PM2.5 กลายเป็น "วิกฤตประจำปี" ที่สถานการณ์มักจะรุนแรงในช่วงหน้าหนาว ตั้งแต่ปลายปีถึงต้นปี ซึ่งนายเถลิงศักดิ์บอกว่าในปีนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมรับมือกับสถานการณ์ไว้แล้ว

"ก่อนที่โควิด-19 จะมา กทม. มีแผนจะปิดโรงเรียนในสังกัด กทม.แล้ว เนื่องจากสถานการณ์ปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 สูงมากจนถึงระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพ แต่พอเกิดการระบาด รัฐบาลประกาศปิดสถานศึกษา ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ปริมาณฝุ่นและมลพิษทางอากาศก็ลดลงทันที ซึ่งเมืองใหญ่ในหลายประเทศก็เป็นเหมือนกัน"

สะพานข้ามแยกพระราม 4

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, การจราจรบริเวณสะพานข้ามแยกพระราม 4 ณ วันที่ 3 พ.ค. 2563 ไม่หนาแน่นเหมือนช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19

นายเถลิงศักดิ์อธิบายว่าแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศในกรุงเทพฯ หลัก ๆ คือยานพาหนะ เมื่อการใช้ยานพาหนะลดลง เพราะการเดินทางลดลง การใช้เชื้อเพลิงก็ลดลง คุณภาพอากาศก็ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

แผนที่มลพิษในกรุงเทพฯ

จากข้อมูลของกองบัญชาการตำรวจนครบาล ช่วงปลายเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนพฤษภาคม ปริมาณการใช้รถในกรุงเทพฯ เหลือเพียง 20-30% ของสภาวะปกติก่อนจะมีการระบาดของโควิด-19 หลังจากที่เริ่มมีการผ่อนปรนมาตรการควบคุมโรคเมื่อวันที่ 3 พ.ค. มีรถกลับมาวิ่งบนถนนเพิ่มขึ้นเป็น 50% ซึ่งถือว่ายังไม่มากนักเพราะโรงเรียนยังปิดอยู่

บีบีซีไทยสืบค้นข้อมูลค่าเฉลี่ยในรอบ 24 ชม.ของฝุ่นละออง PM2.5 ใน 12 พื้นที่ของกรุงเทพฯ ระหว่างเดือนมกราคม-เมษายน พบว่าจำนวนวันที่ PM2.5 เกินค่ามาตรฐานที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในเดือนมีนาคมและเมษายน ลดน้อยลงกว่าในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์มาก กล่าวคือในเดือนมีนาคม มีเพียง 1 วันใน 1 พื้นที่ที่ค่า PM2.5 เกินมาตรฐาน ส่วนในเดือนเมษายนไม่มีวันใดที่เกินค่ามาตรฐานเลย

ที่มา: บีบีซีไทยประมวลข้อมูลจากเว็บไซต์กรมควบคุมมลพิษ

"นับตั้งแต่มีการปิดสถานศึกษา สถานประกอบการต่าง ๆ และการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19 ดัชนีคุณภาพอากาศในกรุงเทพฯ อยู่ในระดับดีมากเกือบทุกวัน เราได้เห็นคุณภาพอากาศอยู่ในระดับสีฟ้า ซึ่งเป็นระดับที่ค่ามลพิษต่ำที่สุด ทั้งที่ปกติช่วงต้นปีแบบนี้ คุณภาพอากาศในกรุงเทพฯ แทบไม่เห็นสีฟ้าเลย" รองอธิบดี คพ.กล่าว

ดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index : AQI) เป็นการรายงานข้อมูลคุณภาพอากาศที่รวมความเข้มข้นของสารมลพิษทางอากาศ 6 ชนิด ได้แก่ ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) ก๊าซโอโซน (O3) ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) และก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2)

คพ. แบ่งดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศเป็น 5 ระดับ ตั้งแต่ 0 ถึง 201 ขึ้นไป มาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศโดยทั่วไปคือ 100 หากสูงกว่า 100 แสดงว่าค่าความเข้มข้นของมลพิษอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยใช้สีต่าง ๆ เป็นสัญลักษณ์แสดงระดับคุณภาพอากาศ ได้แก่ ฟ้า (คุณภาพอากาศดีมาก) เขียว (ดี) เหลือง (ปานกลาง) ส้ม (เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ) แดง (มีผลกระทบต่อสุขภาพ)

ดัชนีคุณภาพอากาศ

ที่มาของภาพ, กรมควบคุมมลพิษ

รองอธิบดี คพ. สรุปว่า สำหรับคนกรุงเทพฯ ในปีนี้ แม้จะต้องเสี่ยงกับโควิด-19 แต่อย่างน้อยก็ปลอดภัยจากมลพิษทางอากาศ เพราะมลพิษภายนอกลดลง และการกักตัวอยู่ในบ้าน ลดการเดินทางไปไหนมาไหน ก็ลดโอกาสในการรับมลพิษลงด้วย

สถานการณ์ในเชียงใหม่

นอกจากกรุงเทพฯ แล้ว จังหวัดที่มีปัญหาเรื่องฝุ่นละออง PM2.5 หนักหนาที่สุด คือ เชียงใหม่ แต่ดูเหมือนว่าเชียงใหม่จะไม่ได้รับ "อานิสงส์" จากโควิด-19 และมาตรการล็อกดาวน์-ปิดเมือง ซึ่งนายเถลิงศักดิ์อธิบายว่า ที่เป็นเช่นนี้เพราะแหล่งกำเนิด PM2.5 ในเชียงใหม่มาจากการเผาไหม้ ทั้งไฟป่าและการเผาเพื่อเตรียมพื้นที่ทำการเกษตร มากกว่ามาจากการจราจร

"ดังนั้น แม้การจราจรและกิจกรรมต่าง ๆ จะลดลง แต่เชียงใหม่ก็ยังเผชิญกับวิกฤตมลพิษทางอากาศตลอดต้นปีนี้เนื่องจากมีไฟป่าและการเผาไหม้เกิดขึ้นหลายจุด สถานการณ์เพิ่งจะมาดีขึ้นในช่วงนี้ที่เริ่มมีฝนตกมากขึ้นช่วงเดือนนี้" นายเถลิงศักดิ์กล่าว

สอดคล้องกับ รศ.ดร.เศรษฐ์ สัมภัตตะกุล หัวหน้าศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หน่วยวิจัยเพื่อการจัดการพลังงานและเศรษฐนิเวศ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งให้ข้อมูลกับบีบีซีไทยว่า สาเหตุหลักของปัญหาฝุ่นควันในเชียงใหม่นั้นมาจากการเผาเพื่อเตรียมพื้นที่ทำการเกษตร

รศ.ดร.เศรษฐ์กล่าวว่าปริมาณรถยนต์ส่วนตัว รถสองแถว หรือรถทัวร์ของนักท่องเที่ยวที่ลดน้อยลงมากจากมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ทำให้มลพิษทางอากาศในตัวเมืองเชียงใหม่ลดลง แต่ปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพอากาศของเชียงใหม่มากที่สุดยังคงเป็นเรื่องของ "การเผา" เมื่อพ้นช่วงการเผาเพื่อเตรียมพื้นที่การเกษตรไปแล้ว คุณภาพอากาศของเชียงใหม่จะอยู่เกณฑ์ดี ถึงดีมาก คือ อยู่ในโซนสีเขียวและสีฟ้า

ไฟป่า

ที่มาของภาพ, โดรนอาสา

คำบรรยายภาพ, ทีมโดรนอาสาบินสำรวจแนวไฟป่าบ้านปง อ. หางดง จ. เชียงใหม่ และถ่ายภาพนี้ไว้เมื่อเวลา 19.40 น. ของวันที่ 27 มี.ค.

เขากล่าวว่าแม้ภาครัฐจะบังคับใช้กฎหมายห้ามเผาป่าหรือพื้นที่การเกษตร แต่ก็ยังมีการลักลอบเผาอยู่ตลอด ยิ่งไปกว่านั้นด้วยวิถีการทำเกษตรที่เปลี่ยนไปสู่อุตสาหกรรมเกษตรที่มีการปลูกพืชในพื้นที่ใหญ่ขึ้นมาก การเผาก็ขยายจากจุดเล็ก ๆ กลายมาเป็นแสน ๆ ไร่ เพราะการเผาเป็นวิธีการเตรียมพื้นที่เพาะปลูกที่ง่ายที่สุดสำหรับพื้นที่สูงที่ไม่สามารถใช้แรงงานคนหรือรถไถขึ้นไปทำงานได้ อีกทั้งช่วงของการเผายังขยายเวลานานขึ้น จาก 1-2 เดือน กลายเป็น 4 เดือน

แผนที่มลพิษในลำปาง
แผนที่มลพิษในระยอง

นอกจากกรุงเทพฯ และจังหวัดภาคเหนือแล้ว นายเถลิงศักดิ์ รองอธิบดี คพ. บอกว่าจังหวัดอื่น ๆ ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะภาคใต้ที่คุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์ดีเกือบตลอดปี มีเพียงช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน ที่อาจได้รับผลกระทบจากควันไฟป่าจากประเทศเพื่อนบ้านบ้าง

"ทำงานที่บ้าน" พิชิตโควิด-ลดมลพิษ

ในกลุ่มคนทำงานด้านมลพิษทางอากาศ มีความพยายามผลักดันให้ work from home หรือการทำงานที่บ้านมาระยะหนึ่งแล้ว เพราะการใช้ยานพาหนะลดลงจะทำให้ปริมาณฝุ่น PM2.5 ลดลงด้วย และยังลดความเสี่ยงด้านสุขภาพของผู้คนที่ต้องออกจากบ้านมาเผชิญกับมลพิษในอากาศอีกด้วย

"แต่เราไม่เคยทำได้สำเร็จ และหลายคนก็คิดว่าการทำงานที่บ้านหรือการประชุมทางออนไลน์จะเกิดขึ้นไม่ได้จริง โควิด-19 ทำให้เรารู้ว่าเมื่อเกิดวิกฤต อะไรที่เราคิดว่าทำไม่ได้ จริง ๆ แล้วเราก็ทำได้ และยังมีอีกหลายอย่างที่ทำได้เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม เช่น การจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวเพื่อรักษาระบบนิเวศทางธรรมชาติ หรือการให้นักเรียนเรียนออนไลน์" นายเถลิงศักดิ์กล่าว

"อะไรที่มันเป็น new normal แล้วมันดีก็ควรจะยืดขยายต่อไป โดยเฉพาะการทำงานที่บ้าน เข้าใจว่าเอกชนทำได้หมดแล้ว แต่ภาครัฐยังต้องพยายามอีก เช่น กำหนดองค์ประชุมขั้นต่ำในการประชุม แล้วให้กรรมการที่เหลือประชุมออนไลน์จากที่บ้านได้"

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นคนหนึ่งที่สนับสนุนการทำงานที่บ้านเพื่อแก้ปัญหาทั้งโควิด-19 และเพื่อลดมลพิษ เขาบอกกับบีบีซีไทยว่า ได้เสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไปแล้วว่าอยากให้หน่วยราชการมีนโยบายให้ทำงานที่บ้านต่อไปในระยะยาว

"เราเก็บข้อมูลทุกวัน แต่ถึงไม่ดูตัวเลข ใครที่อยู่ตึกสูง ๆ มองไปก็จะเห็นเลยว่าอากาศมันเคลียร์ แสดงให้เห็นชัดว่าพอรถยนต์หายไป PM2.5 ก็หายไปด้วย คำถามก็คือ เมื่อเรารู้อย่างนี้แล้ว เราอยากจะอยู่กันอย่างไรในยุคหลังโควิด ถ้าทุกอย่างกลับมาเหมือนเดิม การจราจรติดขัดเหมือนเดิม คนกรุงเทพฯ อยากจะกลับไปอยู่กับอากาศแบบเดิมอีกมั้ย เราจะเอาอย่างไรกับอากาศของพวกเรากันดี" รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมตั้งคำถาม

"ผมเรียนนายกฯ ว่า ขณะนี้หน่วยงานราชการให้เจ้าหน้าที่ทำงานที่บ้านกันมากขึ้น ถ้าประสิทธิภาพการทำงานไม่ลดลง นี่ก็อาจจะเป็น new normal ของระบบราชการไทย" นายวราวุธกล่าว

ปัจจุบันราว 60 เปอร์เซ็นต์ของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ ทส. ทำงานที่บ้าน ซึ่งทางผู้บริหารกำลังประเมินว่าถ้าประสิทธิภาพในการทำงานไม่ลดลง ก็อาจจะใช้นโยบายนี้ต่อไปแม้สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 จะคลี่คลาย