โควิด : ผลศึกษาเบื้องต้นชี้โอมิครอนไม่รุนแรงเท่าเดลตา แต่ยังน่ากังวล

เชื้อไวรัส

ที่มาของภาพ, Getty Images

ผลการศึกษาเบื้องต้นในสหราชอาณาจักรและแอฟริกาใต้ ชี้ว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสกลายพันธุ์โอมิครอนส่อเค้าว่าไม่รุนแรง มีผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลน้อยกว่าเชื้อกลายพันธุ์ชนิดอื่น โดยประเมินว่าน้อยกว่าโดยเฉลี่ยราว 30-70%

อย่างไรก็ดี แม้การระบาดของโอมิครอนจะรุนแรงน้อยกว่า แต่หากจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น ก็อาจทำให้โรงพยาบาลรับมือไม่ไหว เฉพาะในสหราชอาณาจักรขณะนี้มีรายงานว่าตัวเลขผู้ป่วยโควิดในวันเดียวพุ่งขึ้นไปถึง 1 แสนคนเป็นครั้งแรก

ผลการศึกษาเบื้องต้นชิ้นนี้ซึ่งจัดทำในสกอตแลนด์ ได้ติดตามการระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัส และจำนวนผู้ป่วยที่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล ซึ่งพบว่าหากเชื้อกลายพันธุ์โอมิครอนมีพฤติกรรมเดียวกันกับเชื้อกลายพันธุ์เดลตาแล้ว ก็น่าจะมีผู้ป่วยที่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลแล้วราว 47 คน แต่ขณะนี้มีผู้ป่วยอยู่ในโรงพยาบาลเพียง 15 คน

นักวิจัยบอกว่า จำนวนผู้ป่วยที่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลลดลงประมาณสองในสาม แต่ว่าการศึกษาชิ้นนี้ติดตามจากผู้ป่วยที่ยังมีจำนวนน้อย และผู้ป่วยสูงอายุซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงเพียงไม่กี่คน

ดร.จิม แมคเมนามิน ผู้อำนวยการหน่วยงานบริหารสาธารณสุของสกอตแลนด์ บอกว่าผลที่ได้ถือว่าเป็นข่าวดี และข้อมูลที่พบช่วยให้รู้ได้ว่าจะป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยต้องเข้าโรงพยาบาลได้อย่างไร แต่ก็เตือนด้วยว่าอย่าเพิ่งด่วนสรุปจนเกินไป

ผู้หญิงจาม

ที่มาของภาพ, Getty Images

ความที่เชื้อกลายพันธุ์โอมิครอนแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วมาก และจำนวนผู้ป่วยที่อาจเพิ่มมากขึ้น แม้เชื้อนี้มีความรุนแรงน้อยกว่าก็อาจช่วยอะไรไม่ได้มาก

ศ.มาร์ค วูลเฮาส์ แห่งมหาวิทยาลัยเอดินเบอระ กล่าวว่า "ผู้ติดเชื้อแต่ละคนน่าจะมีอาการไม่หนักเป็นส่วนใหญ่ แต่มีความเป็นไปได้ว่าจะมีผู้ป่วยติดเชื้อหลากหลายชนิดพร้อม ๆ กัน และอาจทำให้ระบบสาธารณสุขต้องรับมือกับสถานการณ์อย่างหนัก"

นอกจากผลการศึกษาในสกอตแลนด์แล้ว การศึกษาอีกชิ้นหนึ่งในแอฟริกาใต้ก็พบเช่นกันว่าเชื้อกลายพันธุ์โอมิครอน มีความรุนแรงน้อยกว่า โดยนักวิจัยพบว่าผู้ติดเชื้อต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลน้อยกว่าราว 70-80% เมื่อเทียบกับการระบาดของโควิดในช่วงก่อนหน้านี้ หรือแม้แต่เชื้อกลายพันธุ์ชนิดอื่นที่ยังระบาดอยู่ก็ตาม

ทำไมรุนแรงน้อยกว่า

นักวิจัยเชื่อว่าน่าจะเป็นเพราะตัวเชื้อกลายพันธุ์เอง และระดับภูมิคุ้มกันสูงที่ประชาชนได้รับจากการฉีดวัคซีน รวมทั้งจากการติดเชื้อก่อนหน้านี้ โดยผลการวิเคราะเรื่องนี้ของมหาวิทยาลัยอิมพีเรียลลอนดอนชี้ว่าการกลายพันธุ์ของโอมิครอนทำให้ไวรัสมีความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์เดลตา

นักวิจัยยังระบุด้วยว่าโอกาสที่ผู้ป่วยจะต้องเข้ารักษาตัวในห้องฉุกเฉินเพราะติดเชื้อโอมิครอนนั้นน้อยกว่าการติดเชื้อเดลตาราว 11% หากว่าผู้ป่วยไม่เคยมีภูมิคุ้มกันใด ๆ เลย

แต่ปัจจุบันคนส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนแล้ว หรือไม่ก็เคยติดเชื้อโควิดมาบ้างแล้ว ซึ่งงานวิเคราะห์ชิ้นเดียวกันให้ข้อมูลอีกว่าหากพิจารณาจากภูมิคุ้มกันในหมู่ประชากร แสดงให้เห็นว่าความเสี่ยงที่จะต้องเข้ารักษาตัวในห้องฉุกเฉินจากโอมิครอนลดลงราว 25-30% และลดความจำเป็นที่จะต้องนอนโรงพยาบาลลงมากกว่าหนึ่งวัน ได้ราว 40%

นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาจากอีกหลายสถาบันที่ชี้ว่าโอมิครอนน่าจะรุนแรงน้อยกว่าเชื้อกลายพันธุ์ชนิดอื่น

มหาวิทยาลัยฮ่องกงพบว่าเชื้อโอมิครอนนั้นทำให้ทางเดินหายใจติดเชื้อได้ แต่ไม่สามารถทำลายเข้าไปถึงเนื้อเยื่อภายในปอดได้มากนัก ส่วนงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์พบว่าโอมิครอนไม่มีขีดความสามารถทำลายเซลล์ในปอดได้มากนัก ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่มีอาการหนักเซลล์ปอดจะถูกทำลายไปด้วย

อาการเป็นอย่างไร

สำนักงานบริการสุขภาพของสหราชอาณาจักร หรือเอ็นเอชเอส แนะนำให้ประชาชนเฝ้าจับตาอาการที่พบได้ทั่วไปก่อนหน้านี้คือ

  • ไอ
  • มีไข้สูง
  • สูญเสียการรับรู้กลิ่นและรสชาติ

แต่นักวิจัยหลายคนบอกว่าสำหรับคนไข้บางคนแล้ว การป่วยด้วยโรคโควิดจะมีอาการ "เหมือนเป็นหวัดรุนแรง" ซึ่งจะมีอาการปวดหัว เจ็บคอ และน้ำมูกไหล

โครงการศึกษาที่ชื่อ "โซอี โควิด ซิมป์เทิม" (Zoe Covid Symptom) ระบุว่า ผู้ติดเชื้อโรคโควิดสายพันธุ์โอมิครอนและเดลตา มีอาการหลัก ๆ ที่พบในปัจจุบัน 5 อย่างคือ

  • น้ำมูกไหล
  • ปวดศีรษะ
  • อ่อนเพลีย (น้อยหรือมาก)
  • จาม
  • เจ็บคอ