โควิด-19 : นายกฯยังไม่ประกาศปลดล็อก บอก "ขอให้ทุกคนอย่าเพิ่งเรียกร้องมากนักเลย"

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีขอผู้ประกอบการให้ "ใจเย็น ๆ" เรื่องการผ่อนคลายมาตรการปิดพื้นที่

คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบขยายเวลา พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน คงระยะเวลาเคอร์ฟิวและขยายปิดน่านฟ้าต่ออีก 1 เดือน ตามข้อเสนอของศูนย์บริหารสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (ศบค.) ด้านมาตรการผ่อนปรนแบ่งออกเป็น 4 ระยะโดยจะประเมินทุก ๆ 14 วัน หากยอดติดเชื้อพุ่ง อาจจะพิจารณาสั่งปิดอีกครั้ง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ (28 เม.ย.) ว่า มีวาระสำคัญประกอบด้วย การพิจารณาขยาย พ.ร.ก. ฉุกเฉินไปอีก 1 เดือน โดยให้สิ้นสุดในวันที่ 31 พ.ค. นี้ เพื่อควบคุมสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่หรือโรคโควิด-19 ในขณะเดียวกัน ครม.ยังเห็นชอบในการคงระยะเวลาเคอร์ฟิวต่อไป โดยระยะเวลายังคงเป็นระหว่าง 22.00 น. - 04.00 น.

ด้านการปิดการสัญจรทางบก ทางน้ำ ทางอากาศยังคงให้ขยายต่อไปยังสิ้นเดือน พ.ค. นี้ แต่ยังเปิดให้การขนส่งสินค้ายังเป็นไปตามปกติ

รับทราบมาตรการผ่อนปรน 4 ระยะ

นายกรัฐมนตรีกล่าวอีกว่า ครม.ยังได้รับทราบมาตรการผ่อนคลายมาตรการปิดพื้นที่และสถานประกอบการบางประเภท ซึ่งจะมีคณะกรรมการจากหน่วยงานต่าง ๆ พิจารณาศึกษารายละเอียด และจะประกาศเรื่องการปลดล็อกให้ทราบภายในสัปดาห์นี้

เบื้องต้น การผ่อนปรนมาตรการแบ่งเป็น 4 ระยะและมีการประเมินทุก 14 วัน โดยเริ่มจากสถานที่-สถานประกอบการที่มีความจำเป็นและมีความเสี่ยงน้อยก่อน และผู้ประกอบการจะต้องมีมาตรการรองรับให้พร้อม เพื่อให้สถานประกอบการของตนปลอดจากโควิด หรือ Covid-free

"ขอให้ (ผู้ประกอบการ) ใจเย็น ๆ นิดนึง ไหน ๆ ท่านก็อดทนกับผมมาแล้ว ผมก็เจ็บปวดเหมือนกับท่านนั่นแหละ" พล.อ.ประยุทธ์กล่าวและย้ำว่าเมื่อผ่อนคลายมาตรการแล้วขอให้ประชาชนมีความระมัดระวังในการเข้าพื้นที่ที่มีกิจกรรมของคนหมู่มากและพื้นที่แออัด

"เมื่อถึงเวลาปลดล็อกก็จะประกาศให้ทราบ วันนี้ก็ขอให้ทุกคนอย่าเพิ่งเรียกร้องมากนักเลย" นายกฯ กล่าวพร้อมกับย้ำว่าการผ่อนปรนมาตรการต้องไม่ส่งผลให้การแพร่ระบาดกลับมารุนแรงขึ้นเพราะจะทำให้ทุกอย่างสูญเปล่า

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

นอกจากนี้ ครม. มีมติให้ยังคงวันหยุดประจำเดือน พ.ค. ประกอบด้วย วันแรงงาน (1 พ.ค.) วันฉัตรมงคล (4 พ.ค.) วันวิสาขบูชา (6 พ.ค.) และวันพืชมงคล (11 พ.ค.) เป็นไปตามเดิม แต่ย้ำให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมอย่างเคร่งครัด และอยู่กับบ้านในช่วงวันหยุดเพื่อลดความเสี่ยงในการรับและแพร่เชื้อ

ขยายจำนวนผู้ได้รับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาท จาก 14 ล้าน เป็น 16 ล้านคน

นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม.ในประเด็นเรื่องการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ว่า ครม.เห็นชอบให้เพิ่มจำนวนประชาชนที่จะได้รับเงินช่วยเหลือเดือนละ 5,000 บาทเป็นระยะเวลา 3 เดือน จากเดิม 14 ล้านคนเป็น 16 ล้านคน วงเงินของโครงการฯ ไม่เกิน 240,000 ล้านบาท โดยแหล่งที่มาของเงินจะมาจากงบประมาณปี 2563 จำนวน 70,000 ล้านบาท อีก170,000 ล้านบาทมาจาก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563

สำหรับโครงการจ่ายเงิน 5,000 บาทนี้เริ่มตั้งแต่วันที่ 24 มี.ค. เดือน มิ.ย.

หน้าจอคอมพิวเตอร์

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

อีกโครงการหนึ่งที่ ครม.อนุมัติ คือ โครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรตามกลุ่มเป้าหมายของโครงการฯ จำนวนไม่เกิน 10 ล้านราย วงเงินของโครงการฯ ไม่เกิน 150,000 ล้านบาท โดยใช้เงินกู้ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563

พบผู้ติดเชื้อต่ำกว่า 10 เป็นวันที่ 2

จากการแถลงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ของ ศบค. วันนี้ (28 เม.ย.) พบว่าพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 7 ราย ยอดรวมผู้ติดเชื้อสะสม 2,938 ราย และมีผู้ที่ยังรักษาตัวในโรงพยาบาล 232 ราย มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 2 ราย รวมผู้เสียชีวิตจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ในไทย 54 คน

การตรวจโรค

ที่มาของภาพ, EPA

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. กล่าวว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่ลดลงเป็นผลจากการปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคของประชาชนในช่วง 14 วันที่ผ่านมา และการปฏิบัติตัวในวันนี้ก็จะส่งผลต่อจำนวนผู้ติดเชื้อในอีก 14 วันข้างหน้า

ในกรุงเทพฯ ซึ่งเคยเป็นพบผู้ติดเชื้อรายใหม่จำนวนมากนั้น ในสัปดาห์นี้ก็พบน้อยลงเช่นกัน ซึ่ง นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่าเป็นเพราะความร่วมมือของประชาชน แต่ย้ำว่าสถานการณ์ในขณะนี้ "วางใจได้ เบาใจไม่ได้" เพราะแม้ว่าจะมีช่วงเวลาที่ไม่พบผู้ป่วย แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่มีผู้ติดเชื้อเลย และยังมีความจำเป็นต้องหากลุ่มเสี่ยงเข้ามารับการตรวจเพิ่มขึ้น ดังนั้นการจะใช้ชีวิตเหมือนปกติยังคงไม่สามารถทำได้ในช่วงใกล้ ๆ นี้ ยังคงต้องใช้มาตรการดูแลอย่างเคร่งครัด

ทั้งนี้กลุ่มคนอายุ 20-29 ปียังคงเป็นกลุ่มที่มีผู้ป่วยสะสมสูงสุด

โฆษก ศบค. ย้ำว่าแม้จะมีการผ่อนคลายมาตรการรัฐ แต่ประชาชนต้องมี "ชีวิตวิถีใหม่" นั้นคือการสวมหน้ากากอนามัยให้เป็นปกติต่อไป

"อยากได้อย่างไรก็ต้องลงทุนชีวิตที่ต้องปรับสมดุลใหม่ วิถีใหม่ ให้มันพอ ๆ กัน เพื่อให้เราสามารถควบคุมและป้องกันโรคได้" นพ.ทวีศิลป์กล่าว

สำหรับผู้เสียชีวิตที่รายงานในวันนี้นั้น ผู้เสียชีวิตรายที่ 53 เป็นชายไทย อายุ 52 ปี มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันจากการไปสัมมนา ต่อมามีอาการไข้ ปวดเมื่อย เข้ารักษาและได้รับการตรวจยืนยันว่าติดเชื้อ ระหว่างการรักษามีอาการไข้ ท้องเสีย มีภาวะปอดรั่ว ไตวายเฉียบพลันและเสียชีวิต

สถานการณ์การระบาดโรคโควิด-19. ติดเชื้อ: 4,026 เสียชีวิต: 60 หายแล้ว: 3,822.  .

ส่วนผู้เสียชีวิตรายที่ 54 เป็นผู้ป่วยหญิงชาวไทย อายุ 63 ปี อาชีพค้าขาย มีภาวะอ้วน มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้าคือสามีและหลานสาว ก่อนจะเริ่มป่วยด้วยอาการไข้ มึนศีรษะ และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน จ.ภูเก็ต ยืนยันพบการติดเชื้อ ก่อนที่อาการแย่ลงจนเกิดภาวะปอดอักเสบติดเชื้อ และการหายใจล้มเหลว

"ผู้เสียชีวิตทั้ง 2 รายมีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยที่ยืนยันก่อนหน้าทั้งคู่ เราจึงต้องให้ความสำคัญกับการรักษาระยะห่างทางสังคม แม้แต่คนในครอบครัวของเราเอง พยายามทำให้เป็นชีวิตวิถีใหม่" นพ.ทวีศิลป์กล่าว

ผู้ป่วยใหม่ 7 คน นั้นจำแนกดังนี้

  • สัมผัสผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า 5 คน ใน จ.ภูเก็ต กรุงเทพฯ และนครราชสีมา
  • ไปสถานที่ชุมนุมชน 1 คน
  • อยู่ระหว่างการสอบสวนโรค 1 คน

ถอดบทเรียนผู้ป่วยสูงอายุ

นพ.ทวีศิลป์ชี้ว่านับตั้งแต่เดือน ม.ค.- 26 เม.ย. พบผู้ป่วยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปทั้งหมด 328 ราย หรือคิดเป็น 11 % ของผู้ป่วยทั้งหมด โดยในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 21 ราย ซึ่งเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง

โดยปัจจัยการติดเชื้อส่วนใหญ่มาจากการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา 24% ซึ่งเป็นการทำกิจกรรมในที่ชุมนุมชน รวมถึงการสัมผัสผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า การเดินทางจากต่างประเทศและการไปในพื้นที่เสี่ยง

ภาพประกอบ

ที่มาของภาพ, Getty Images

นพ.ทวีศิลป์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า 3 จังหวัดที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ ยะลา ปัตตานีและภูเก็ต โดยใน จ.ยะลาและปัตตานีนั้น ผู้ป่วยส่วนใหญ่ติดเชื้อจากการเข้าร่วมพิธีทางศาสนา

โดยสถานการณ์ทั่วโลกวันนี้มีผู้ป่วยสะสมกว่า 3 ล้านรายแล้ว และมีผู้เสียชีวิต 211,606 ราย

โฆษก ศบค.กล่าวว่าวันนี้จะมีคนไทยที่ตกค้างเดินทางกลับจากต่างประเทศ ใน 3 เที่ยวบิน คือ จากสเปน 12 คน และอินเดีย 189 คน และวันพรุ่งนี้ (29 เม.ย) จะมีอีก 189 คนเดินทางกลับมาจากอินเดีย รวมแล้วนับตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย. มีคนไทยที่เดินทางกลับผ่านด่านทางอากาศแล้วจาก 21 ประเทศ จำนวน 2,769 คน

แพทย์ใส่ชุดป้องกันการติดเชื้อ

ที่มาของภาพ, Getty Images

ส่วนด่านทางบกนั้นข้อมูลวันนี้มีผู้ลงทะเบียนขอเดินทางกลับเพิ่มเติม ทั้งจากเมียนมา มาเลเซีย ลาว และกัมพูชา ซึ่งทั้งหมดจะเข้าสู่การกักกันตัวในพื้นที่ที่รัฐจัดให้