โควิด-19 : รัฐบาลออกมาตรการเยียวยาเพิ่มเติม ลดค่าไฟฟ้า 3 เดือน ให้ผู้ใช้ไฟฟ้า 22 ล้านราย

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukhurang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการใช้งบประมาณตามกรอบวงเงิน 23,688 ล้านบาท (โดยไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เพื่อใช้ในมาตรการลดค่าไฟฟ้า 3 เดือน บรรเทาภาระครัวเรือน 22 ล้านราย ตามที่กระทรวงพลังงานได้เสนอมา

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า มาตรการช่วยเหลือดังกล่าวมีระยะครอบคลุมตั้งแต่ มี.ค.- พ.ค. 2563 และดูแลผู้ใช้ไฟฟ้า 2 กลุ่ม ประกอบด้วย

กลุ่มแรก : ผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีมิเตอร์ไฟขนาดไม่เกิน 5 แอมป์ จะได้ใช้ฟรี 150 หน่วยแรก หากใช้ไฟเกินหน่วยดังกล่าวก็จะได้รับการดูแลให้ใช้ฟรีเช่นกัน เนื่องจากกลุ่มนี้จะใช้ไม่เกินปริมาณ 150 หน่วยเป็นปกติ และถือว่าใช้ไฟน้อย

กลุ่มที่ 2 : กลุ่มมิเตอร์ไฟขนาดเกิน 5 แอมป์ จะมีข้อกำหนดเพิ่มเติม คือ หากใช้มากกว่าเดือน ก.พ. แต่ไม่เกิน 800 หน่วย ให้จ่ายค่าไฟฟ้าเท่าเดือน ก.พ. แต่หากใช้เกิน 800 หน่วย แต่ไม่เกิน 3,000 หน่วย ให้จ่ายค่าไฟฟ้าเท่าเดือน ก.พ. เมื่อบวกกับส่วนที่เกิน 800 หน่วย จะได้รับส่วนลด 50%

แต่หากใช้เกิน 3,000 หน่วย จะให้จ่ายค่าไฟฟ้าเท่าเดือน ก.พ. เมื่อบวกกับส่วนเกิน 3,000 หน่วย จะได้รับส่วนลด 30% โดยการลดหย่อนดังกล่าวจะมีการคืนค่าใช้จ่ายให้ในรอบบิลถัดไป

โคว้ตพิกประยุทธ์

ในส่วนการดูแลในกลุ่มภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการ โรงงานอุตสาหกรรม ที่ได้รับผลกระทบ ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล ศึกษาปัญหาและอุปสรรค ก่อนจะนำมาพิจารณาอีกครั้ง

ทั้งนี้มติครม. ดังกล่าวมีขึ้นสืบเนื่องจาก รมว.พลังงานหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านไฟฟ้าเมื่อวานนี้ (20 เม.ย.) หลังจากมีผู้ใช้ไฟฟ้าจำนวนมากร้องเรียนว่าค่าไฟฟ้าพุ่งสูงเกินไปจากการที่พวกเขาทำงานจากบ้านมากขึ้น

มิเตอร์ไฟฟ้า

ที่มาของภาพ, Watchiranon Thongtep/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, ตัวเลขบนมิเตอร์ไฟฟ้ารอบเดือนที่ผ่านมาทำเอาผู้ใช้ไฟฟ้าหลายคนต้องเดือดร้อนกับค่าไฟที่เพิ่มขึ้นในช่วงกักตัว-ทำงานที่บ้าน

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 17 มี.ค. คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบ 2 มาตรการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนด้วยการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน คือ

1) การลดค่าไฟฟ้า 3% สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภทเป็นเวลา 3 เดือน ระหว่างเดือนเม.ย. - มิ.ย. 2563 โดยมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ดำเนินการลดค่าไฟฟ้าในอัตรา 3 % และพิจารณาใช้เงินคืนรายได้ เพื่อให้การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) มีฐานะการเงินตามเกณฑ์ที่กำหนดมาเป็นแหล่งเงินในการสนับสนุนการลดค่าไฟฟ้า คาดว่าจะใช้งบประมาณรวม 5,160 ล้านบาท แบ่งเป็น กฟน.รับผิดชอบงบประมาณ 1,600 ล้านบาท และ กฟภ. รับผิดชอบงบประมาณ 3,560 ล้านบาท

2) ขยายระยะเวลาการชำระค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทกิจการเฉพาะอย่าง เช่น ธุรกิจโรงแรมและกิจการให้เช่าพักอาศัย โดยไม่คิดดอกเบี้ยตลอดระยะเวลาการผ่อนผันโดยไม่มีการงดจ่ายไฟฟ้าเป็นการชั่วคราว และผ่อนผันได้ไม่เกิน 6 เดือนของแต่ละรอบบิล สำหรับใบแจ้งค่าไฟฟ้า ประจำเดือนเม.ย. - พ.ค. 2563

เหตุใดค่าไฟแพง

หลังจากประชาชนจำนวนมากออกมาร้องเรียนว่าค่าไฟในรอบบิลที่ผ่านมาสูงแพงขึ้นกว่าเดิม 2-3 เท่าตัว นายจาตุรงค์ สุริยาศศิน ผู้ช่วยผู้ว่าการ กฟน. ออกมาอธิบายผ่านสื่อมวลชนหลายสำนักในวันที่ 20 เม.ย. ที่ผ่านมา ว่าเกิดจาก 2 ประเด็นหลัก

ประเด็นแรก เกิดจากราคาค่าไฟฟ้าผันแปร (FT) หรือ ค่าของต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่ กฟน.ไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งตามกฎหมายระบุให้มีการประกาศใช้ล่วงหน้าประมาณ 4 - 5 เดือน ซึ่งล่าสุดเพิ่งประกาศอัตรา FT ใช้เมื่อเดือนมีนาคม 2563 เป็นราคาที่ตึงอยู่ประมาณ 11 สตางค์ โดยจะใช้ค่าดังกล่าวคำนวณค่าไฟในเดือนเมษายน - สิงหาคม 2563 ดังนั้นแม้ช่วงนี้ราคาค่าน้ำมันจะถูกลง แต่อัตราค่า FT ไม่ได้ลดลงตามราคาน้ำมันที่ลดลง

ประเด็นที่ 2ระบบการคิดค่าไฟของ กฟน. นั้นคิดแบบ "อัตราก้าวหน้า" คือถ้าผู้ใช้ไฟฟ้าใช้ไฟจำนวนมาก ราคาค่าไฟจะแพงขึ้น เนื่องจากอัตราค่าจัดเก็บแบบก้าวหน้า ดังนี้

  • 35 หน่วยแรก เหมารวมทั้งสิ้นเป็นจำนวนเงิน 85.21 บาท
  • 115 หน่วยต่อไป หน่วยละ 1.1236 บาท
  • 250 หน่วยต่อไป หน่วยละ 2.1329 บาท
  • ส่วนที่เกินกว่า 400 หน่วย หน่วยละ 2.4226 บาท

ขณะที่เฟซบุ๊กเพจของ กฟภ. อธิบายการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าดังนี้

  • หน่วยที่ 0-150 จ่ายราคาหน่วยละ 3.2484 บาท
  • หน่วยที่ 151 - 400 จ่ายราคาหน่วยละ 4.2218 บาท
  • หน่วยที่ 400 ขึ้นไป จ่ายราคาหน่วยนะ 4.4217 บาท

โดยค่าใช้จ่ายดังกล่าวยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7 % ค่าบริการ 38.22 และหักส่วนลดค่าไฟฟ้าผันแปร (FT) สำหรับตัวแปรที่ทำให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้นคือ หน่วยการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น

พฤติกรรมผู้ใช้ไฟฟ้าเปลี่ยนไป ?

การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จ.ภูเก็ต ตั้งข้อสังเกตผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจถึงพฤติกรรมผู้ใช้ไฟฟ้าที่เปลี่ยนไปหลังจากคนอยู่บ้านมากขึ้นรวมทั้งนโยบายทำงานจากที่บ้าน โดยอธิบายว่าบ้านที่ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นสูงส่วนมากจะมีเครื่องใช้ไฟฟ้าดังนี้

  • แอร์พร้อมคอมเพรสเซอร์
  • เครื่องฟอกอากาศ
  • พัดลมไอน้ำ
  • ตู้เย็น โดยเฉพาะถ้ามีของในตู้เย็นจำนวนมาก คอมเพรสเซอร์ตู้เย็นจะทำงานหนักและกินไฟมากขึ้น
ข้าม Facebook โพสต์ , 2

ไม่มีเนื้อหานี้

ดูเพิ่มเติมที่ Facebookบีบีซี. บีบีซีไม่มีส่วนรับผิดชอบต่อเนื้อหาของเว็บไซต์ภายนอก. นโยบายของเราเรื่องการเชื่อมต่อไปยังลิงก์ภายนอก.

สิ้นสุด Facebook โพสต์, 2

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเสนอลดค่าไฟ-งดเก็บค่าบริการ

ด้านมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมองว่ามาตรการบรรเทาความเดือดร้อนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยการลดค่าไฟฟ้า 3% ก่อนหน้านี้ ไม่สามารถช่วยเยียวยาผลกระทบได้ทั้งหมด เพราะว่าหลายคนต้องทำงานที่บ้าน จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่บ้านจะเพิ่มขึ้นด้วย

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค บอกกับบีบีซีไทยเมื่อวันที่ 20 เม.ย.ที่ผ่านมาว่า ในระยะสั้น ทางภาครัฐคือ กระทรวงพลังงานและ กกพ. ควรปรับลดการจัดเก็บค่าไฟฟ้าลง โดยเฉพาะในช่วงหน่วยที่ประชาชนทั่วไปใช้งานกันคือช่วงหน่วยที่ 150-400 ซึ่งเดิมจัดเก็บค่าไฟฟ้าต่อหน่วยอยู่ที่ 4.2218 บาท ควรปรับลดลงมากกว่านี้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเป็นการชั่วคราว 3 เดือน พร้อมกับพักการจัดเก็บค่าบริการมูลค่า 38.22 บาท เป็นการชั่วคราว

สำหรับมาตรการระยะกลาง เธอเสนอว่า ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงงาน และ กกพ. ไปทบทวนดูข้อสัญญารับซื้อไฟฟ้าในส่วนที่ไม่ได้ใช้ แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายหรือข้อสัญญาเสียเปรียบ

ส่วนระยะยาว คือ ภาครัฐต้องมีนโยบายเปิดกว้างให้ประชาชนสามารถมีสิทธิในการผลิตกระแสไฟฟ้าได้เอง เช่น ผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ โดยรัฐเป็นผู้ลงทุนแล้วหักลบกลบหนี้กันกับระหว่างไฟฟ้าที่ผลิตได้กับค่าไฟฟ้าที่ประชาชนต้องจ่ายให้กับรัฐ