ปัญหา #dek63 สะเทือนคณบดีคณะวารสารศาสตร์ฯ ธรรมศาสตร์ ต้องลาออกเซ่นปมประกาศ TCAS รอบ 3 ผิดพลาด

JC

ที่มาของภาพ, Paris Jitpentom

ผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ไม่ตอบรับข้อเสนอของคณาจารย์คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชนที่ให้ลดจำนวนผู้ได้สิทธิเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา TCAS รอบ 3 เหลือ 60 คน จากยอดผู้ขอรับเยียวยาเกือบ 200 คน หลังเกิดความผิดพลาดในการประกาศผลสอบเมื่อสัปดาห์ก่อน กังวลถูกฟ้องศาลปกครอง

รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มธ. กล่าวกับบีบีซีไทยว่า มธ. ได้แจ้งต่อที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ว่าจะให้สิทธินักเรียนเข้าศึกษาในคณะวารสารศาสตร์ฯ เพิ่มเติม 197 คน ซึ่งเป็นไปตามแนวทางการเยียวยาผู้สอบที่มหาวิทยาลัยเคยออกแถลงการณ์ไว้เมื่อ 8 พ.ค. ทั้งนี้ได้ปรึกษากับ ทปอ. และฝ่ายกฎหมายของ มธ. แล้ว ได้ข้อสรุปตรงกันว่าการลดยอด "รับเพิ่ม" เหลือ 60 คนตามที่อาจารย์คณะวารสารศาสตร์ฯ เรียกร้องเป็นเรื่องที่มหาวิทยาลัย "ทำไม่ได้"

  • ทปอ. : อาจารย์อย่าทำเลย เพราะออกประกาศไปแล้วว่าจะเยียวยาพวกเขา และเขารับรู้ว่าตัวเองติดคณะวารสารศาสตร์ฯ แล้ว ถ้าไปยกเลิกตอนนี้ก็เหมือนกับไปแกล้งให้ดีใจ เขาอาจรู้สึกว่าได้สิทธิแล้วถูกยึดไป อย่าทำ ไม่เช่นนั้น มธ. จะเสียหายและรับผิดชอบไม่ไหว
  • ฝ่ายกฎหมาย มธ. : การออกแถลงการณ์ของมหาวิทยาลัยคือการให้สิทธิพวกเขาไปแล้ว ทางเดียวที่เป็นไปได้คือนักเรียนต้องสละสิทธิเอง แต่จะไปตัดสิทธิเขาไม่ได้ เพราะจะกลายเป็นเรื่องที่ทำให้มหาวิทยาลัยถูกฟ้องศาลปกครอง สุดท้ายศาลก็ต้องสั่งให้คืนสิทธิให้นักเรียน มหาวิทยาลัยก็แพ้อยู่ดี และเสียความรู้สึกทั้งขึ้นทั้งล่องระหว่างมหาวิทยาลัย นักศึกษา และผู้ปกครอง ปวดหัวเปล่า ๆ สู้ไปทำความเข้าใจภายในกับอาจารย์ของเราจะดีกว่า
รศ.ดร.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดี มธ. และฝ่ายบริหารของเธอ

ที่มาของภาพ, Chalie Charoenlarpnopparut

คำบรรยายภาพ, รศ.ดร.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดี มธ. และฝ่ายบริหารของเธอ

รศ.ดร.ชาลีกล่าวว่า คณะวารสารศาสตร์ฯ ก็คือมหาวิทยาลัย สิ่งที่ทำไป ถ้าเรากลับคำพูด ทั้งทำผิดกฎหมาย และทำการละเมิดสิทธิคนอื่น

"นี่ไม่ใช่เรื่องเสียหน้า แต่เป็นการเสียชื่อเสียงทั้งหมดที่สั่งสมมา เราเปรียบเปรยตัวเองว่า 'มหาวิทยาลัยย่อมอุปมาประดุจบ่อน้ำบำบัดความกระหายของราษฎรผู้สมัครแสวงหาความรู้' ไม่ใช่หรือ การผลักไสให้กลุ่มคนที่เราอนุญาตให้เขามาเรียนกลับออกไปใหม่ ด้วยการบอกว่าเราทำไม่ได้ คุณภาพการศึกษาจะตก จะส่งผลกระทบกับคนข้างใน โดยเราไม่พยายามบริหารจัดการภายใน มันก็ไม่ใช่" รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มธ. กล่าว

แถลงการณ์ 34 อาจารย์วารสารศาสตร์ฯ หวั่น นศ. ล้นกระทบคุณภาพสอน

ปัญหาการคำนวณคะแนนผิดพลาดในวันประกาศผลการสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา TCAS รอบ 3 ซึ่งเป็นรอบ Admission 1 ทำให้ มธ. กำหนดแนวทางแก้ปัญหาด้วยการให้ "รับเพิ่ม" ผู้สมัครที่มีคะแนนรวมสูงกว่าคะแนนรวมต่ำสุดของผู้ได้รับสิทธิเข้าศึกษาในคณะ

ผลคือ มีผู้สมัครสอบถึง 257 คนได้รับการประสานงานจาก มธ. ผ่านทางโทรศัพท์และจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (อีเมล) เพื่อให้ได้รับสิทธิเยียวยา แต่มี 207 คนแจ้งความประสงค์ขอรับการเยียวยา และมีบางส่วนทยอยถอนสิทธิ์ไป จนสุดท้ายเหลือยอด 197 คนที่ มธ. แจ้งต่อ ทปอ. ในช่วงเช้าวันที่ 17 พ.ค. หากนำไปรวมกับยอดที่คณะประกาศผู้มีสิทธิจำนวน 87 คน และยอดผู้สมัคร TCAS รอบ 4 อีก 120 คนที่กำลังจะเกิดขึ้น ย่อมทำให้จำนวนนักศึกษาใหม่ของปีนี้สูงกว่าจำนวนที่คณะวารสารศาสตร์ฯ กำหนดไว้เกือบเท่าตัว หรือจากปีละไม่เกิน 220 คน เป็น 404 คน

ขณะที่อาจารย์ของคณะมีเพียง 37 คน ต้องรับผิดชอบสอนนักศึกษาราว 1,400 คน แบ่งเป็น ระดับปริญญาตรีราว 800 คน, หลักสูตรภาษาอังกฤษ 100 คน และระดับปริญญาโทและเอกราว 200-300 คน

แถลงการณ์ มธ.

แม้ รศ.ดร.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดี มธ. จะให้คำมั่นต่อผู้บริหารคณะวารสารศาสตร์ฯ เมื่อวันที่ 15 พ.ค. ว่าทางมหาวิทยาลัยพร้อมสนับสนุนด้วยการจ้างอาจารย์พิเศษมาสอนเพิ่มเติม และจัดหาทรัพยากรให้ตามความจำเป็น แต่ไม่ทำให้ความกังวลใจของคณาจารย์ลดลง

ประชาคมคณะวารสารศาสตร์ฯ จึงออกแถลงการณ์เมื่อ 15 พ.ค. เรียกร้องให้รับนักศึกษาเพิ่ม 60 คน ไม่ใช่เกือบ 200 คนตามแนวทางของมหาวิทยาลัย และคงโควต้า TCAS รอบ 4 เอาไว้ตามเดิม เพื่อรักษาสิทธิผู้สอบ และรักษามาตรฐานทางการศึกษา พร้อมชี้ว่าแนวทางการแก้ปัญหาของผู้บริหาร มธ. เป็นการตัดสินใจที่ไม่ได้พิจารณาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของประชาคมคณะวารสารศาสตร์ฯ เพราะจำนวนนักศึกษาที่มากขึ้น จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อการรักษาคุณภาพการศึกษาของคณะ

คณบดีลาออก เซ่นปมประกาศ TCAS รอบ 3 ผิดพลาด

แถลงการณ์ดังกล่าวมีอาจารย์คณะวารสารศาสตร์ฯ จำนวน 34 คนร่วมลงชื่อ รวมถึง ผศ.ดร. อัจฉรา ปัณฑรานุวงศ์ คณบดีคณะวารสารศาสตร์ฯ ที่เพิ่งลาออกจากตำแหน่งเมื่อ 15 พ.ค. เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ข้าม Facebook โพสต์

ไม่มีเนื้อหานี้

ดูเพิ่มเติมที่ Facebookบีบีซี. บีบีซีไม่มีส่วนรับผิดชอบต่อเนื้อหาของเว็บไซต์ภายนอก. นโยบายของเราเรื่องการเชื่อมต่อไปยังลิงก์ภายนอก.

สิ้นสุด Facebook โพสต์

"ดิฉันได้พยายามอย่างเต็มที่แล้ว ในการแก้ปัญหาตามที่ประชาคมต้องการหรืออย่างที่ควรจะเป็น เมื่อไม่สามารถแก้ปัญหาให้ลุล่วงได้ ก็ขอแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกจากตำแหน่ง และจะมายืนเคียงข้างฝ่ายประชาคมคณะวารสารศาสตร์ฯ อย่างเต็มตัว" ผศ.ดร.อัจฉรา กล่าวในที่ประชุมคณาจารย์คณะวารสารศาสตร์ฯ หลังตัดสินใจทิ้งเก้าอี้ผู้นำสูงสุดของคณะ

บีบีซีไทยได้รับคำยืนยันทั้งเรื่องคำพูดของคณบดีคณะวารสารศาสตร์ฯ และการทิ้งเก้าอี้ของเธอ จาก 2 บุคคลคือ รศ.ดร.ชาลี และอาจารย์ร่วมคณะอย่าง รศ.กัลยกร วรกุลลัฎฐานีย์

รศ.ดร.ชาลีบอกว่า เย็นวันที่ 15 พ.ค. ได้ประชุมกับฝ่ายบริหารของคณะวารสารศาสตร์ฯ โดยเขาได้แจ้งความห่วงใยของ ทปอ. และฝ่ายกฎหมายของ มธ. ที่บอกว่าไม่สามารถลดจำนวนรับเพิ่ม TCAS รอบ 3 เหลือ 60 คนได้ ทางคณบดีคณะวารสารศาสตร์ฯ ได้ขอพักการประชุม 15 นาที พอกลับมาก็ประกาศลาออกที่ไม่สามารถผลักดันการแก้ไขปัญหาตามแนวทางของคณะได้ และแสดงความรับผิดชอบต่อการตัดสินใจที่ผิดพลาด

"ตอนนี้อำนาจในการตัดสินใจอยู่ที่อธิการบดี ในฐานะรักษาการคณบดีคณะวารสารศาสตร์ฯ โดยท่านได้ยืนยันเยียวยา 197 คน และประกาศผลแล้วช่วงเช้าที่ผ่านมา" รศ.ดร.ชาลีกล่าว

สาเหตุคณบดีคณะวารสารศาสตร์ฯ ต้องไขก๊อก

ผลจากการลาออกจากตำแหน่งของ ผศ.ดร. อัจฉรา ทำให้รองคณบดีของเธออีก 5 คนต้องพ้นจากตำแหน่งบริหารคณะไปพร้อมกัน โดยที่รองคณบดี 3 คนได้ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์ประชาคมคณะวารสารศาสตร์ฯ ประกอบด้วย ผศ.ดร.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม, รศ.อารดา ครุจิต และ ผศ. อัญรินทร์ อมรอิสริยาชัย ส่วนอีก 2 คนไม่ได้ลงชื่อด้วยคือ ผศ.ดร.โมไนยพล รณเวช และ ผศ.ดร.วิกานดา พรสกุลวานิช

tets

ที่มาของภาพ, Smitanan Yongstar

รศ.กัลยกร กล่าวกับบีบีซีไทยว่า สาเหตุที่คณบดีคณะวารสารศาสตร์ฯ ต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก เพราะวันที่มีการประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเข้าศึกษา TCAS รอบ 3 ของคณะวารสารศาสตร์ฯ ผิดพลาดออกไป "ผู้บริหารคณะอยู่ในฐานะร่วมตัดสินใจกับผู้บริหารมหาวิทยาลัย" โดยให้เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบด้วยการ "รับเพิ่ม" เมื่อประชาคมอาจารย์ทราบเรื่องจึงเรียกประชุมและชี้ว่าทำไม่ถูกต้อง เหมือนเราเอาคะแนนผิดมา แล้วพอมารับเพิ่มครั้งที่ 2 ก็ยังรับเอามาตรฐานผิด ๆ มาอีก ซึ่งไม่ยุติธรรมกับนักเรียนที่เข้ามาตามระบบ จึงเห็นควรให้ผู้บริหารคณะไปเจรจากับผู้บริหาร มธ. เพื่อแก้ไขให้ถูกต้อง

"ตอนเรื่องเกิด ผู้บริหารคณะตัดสินใจด้วยอำนาจที่มี แต่พอฟังความเห็นของประชาคมอย่างรอบด้าน ถกเถียงกัน ก็พยายามแก้ไขตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะนี้ถือว่าทั้งคณะมีความเห็นเป็นหนึ่งเดียวแล้ว" รศ.กัลยกรกล่าว

ลำดับความผิดพลาดในการประกาศผลสอบคณะวารสารศาสตร์ฯ

ความผิดพลาดในการประกาศผลสอบของคณะวารสารศาสตร์ฯ มีลำดับความเป็นมา ดังนี้

  • 30 เม.ย. ฝ่ายงานรับเข้าของ มธ. ได้ส่ง "ชุดคะแนนที่คลาดเคลื่อน" มาให้คณะวารสารศาสตร์ฯ โดยความผิดพลาดเกิดจากการที่โปรแกรมเมอร์และเจ้าหน้าที่งานรับเข้า มธ. คำนวณคะแนนรวมผิดจากการดึงคะแนน PAT 7 โดยดึงเฉพาะคะแนนของผู้สมัคร PAT 7.7 (สอบภาษาเกาหลี) ส่วนเดียว ไม่ได้นำคะแนนของผู้สมัครที่ใช้ PAT 7.1-7.4 (สอบภาษาอื่น ๆ) มาคำนวณร่วมด้วย
  • 30 เม.ย. ฝ่ายงานรับเข้าของคณะวารสารศาสตร์ฯ นำข้อมูลมาตรวจทานเฉพาะคะแนนรวมและการจัดอันดับ จึงไม่พบความผิดพลาด และได้ส่งกลับในวันเดียวกัน
  • ต่อมา ฝ่ายงานรับเข้าของ มธ. ยืนยันผลคะแนนที่ผิดพลาด "เพราะระบบการสอบทานข้อมูลในระดับมหาวิทยาลัยที่ไม่ละเอียดเพียงพอ" ทำให้มีเพียงบางคณะที่ได้รับการแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้องก่อนส่งคะแนนออก ซึ่ง รศ.ดร.ชาลีเฉลยว่าคณะที่ไหวตัวทันคือคณะศิลปศาสตร์ ขณะที่คณะวารสารศาสตร์ฯ, คณะวิทยาศาสตร์แลเทคโนโลยี และวิทยาลัยสหวิทยาการ ยังใช้คะแนนที่ผิดพลาดต่อไป
  • 7 พ.ค. ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเข้าศึกษา TCAS รอบ 3 ของคณะวารสารศาสตร์ฯ ที่ผิดพลาดออกไป มีรายชื่อผู้ได้สิทธิเข้าเรียน 87 ราย
  • 8 พ.ค. มธ. ออกแถลงการณ์กำหนดแนวทางแก้ปัญหา โดยให้ "รับเพิ่ม" ผู้สมัครที่มีคะแนนรวมสูงกว่าคะแนนรวมต่ำสุดของผู้ได้รับสิทธิเข้าศึกษาในคณะ และทยอยติดต่อผู้สมัครสอบ 257 คนที่เข้าเกณฑ์ได้รับการเยียวยา ก่อนมี 207 คนยืนยันขอรับสิทธิเยียวยา

ที่มา : บีบีซีไทยสรุปจากแถลงการณ์ประชาคมคณะวารสารศาสตร์ฯ ฉบับที่ 1 ลงวันที่ 16 พ.ค., คำให้สัมภาษณ์ของรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มธ. กับบีบีซีไทย วันที่ 17 พ.ค.

ทางออกฉบับคณาจารย์คณะวารสารศาสตร์ฯ

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา คณาจารย์คณะวารสารศาสตร์ฯ ได้ยื่นข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหาต่อผู้บริหารมหาวิทยาลัยอย่างน้อย 3 ครั้ง แต่ไม่ได้รับการเห็นชอบ

"แนวทางที่เสนอนี้เป็น การแก้ปัญหาที่คำนึงถึงนักศึกษาและการจัดการเรียนการสอน เพื่อธำรงรักษาไว้ซึ่งคุณภาพทางการศึกษาของ มธ. และเพื่อประโยชน์สูงสุดของนักศึกษาทั้งปัจจุบันและอนาคตเป็นสำคัญ" แถลงการณ์ของ 34 อาจารย์ระบุ

สิ่งที่พวกเขาเสนอไว้มี ดังนี้

หนึ่ง ให้คงจำนวนและรายชื่อผู้มีสิทธิทั้ง 87 คนเอาไว้ เพราะการเปลี่ยนแปลงใด ๆ จะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังระบบการรับของผู้สมัคร TCAS รอบ 3 ในภาพรวมทั้งประเทศ แม้ "บางส่วนเป็นรายชื่อที่ผิดพลาด" โดยมีถึง 40 คนที่ได้คะแนนไม่ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำของคณะ แต่ก็ต้อง "ยกประโยชน์ให้" คนกลุ่มนี้ไป

เด็กสอบ

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

สอง ให้ยอดรับใหม่มีจำนวน 60 คน โดยมาจากกลุ่มผู้ขอรับสิทธิเยียวยาเกือบ 200 คน แต่เลือกเฉพาะกลุ่ม PAT 7.1-7.4 ซึ่งเดิมไม่ได้นำคะแนนส่วนนี้มารวม และเรียงลำดับจากสูงสุดจนครบโควต้า 60 คนซึ่งคะแนนถึงเกณฑ์

สาม ให้ มธ. ดำเนินการร่วมกับ ทปอ. ให้ผู้สมัคร 138 คน (ลำดับรองลงมาจาก 60 คนแรก) สามารถใช้สิทธิเดิมตามที่ประกาศผล TCAS รอบ 3 จากคะแนนที่ได้รับจริง หรือสมัคร TCAS รอบ 4 ได้

"ในกลุ่ม 138 คน พบว่ามีอยู่ 50 คนที่มีสิทธิเรียนที่คณะ/มหาวิทยาลัยอื่น แต่ไม่เรียน และเลือกมาเรียนกับเราหลังได้รับอีเมล์เรื่องการเยียวยา จึงอยากให้ทางมหาวิทยาลัยไปบริหารจัดการหลังบ้าน เพื่อคืนสิทธิเข้าเรียนในคณะที่นักเรียนเหล่านี้เลือกไว้" รศ. กัลยกร อธิบายเพิ่มเติม

สี่ ให้คงจำนวนรับผู้สมัคร TCAS รอบ 4 หรือ Admission 2 ของคณะวารสารศาสตร์ฯ ไว้ที่ 120 คน เพื่อรักษาสิทธิให้แก่นักเรียนที่วางแผนจะสมัครในรอบดังกล่าว

"เด็ก ๆ เขาจะมีการวางแผนในการสมัครสอบโดยดูจากคะแนนตัวเอง เพราะเกณฑ์ TCAS รอบ 3 กับ 4 ไม่เหมือนกัน รอบ 3 ใช้แค่คะแนน GAT กับ PAT แต่รอบ 4 ใช้ คะแนน GAT, PAT, GPAX และ ONET เด็กบางคนเก็บคะแนนไว้เพื่อมายื่นรอบ 4 หากต้องลดโควต้ารับนักศึกษา เพราะรอบ 3 ล้นมา ก็เหมือนกับไปตัดสิทธิของคนที่ตั้งใจและวางแผนเอาไว้" อาจารย์หญิงคณะวารสารศาสตร์ฯ ระบุ

Mook

ที่มาของภาพ, Smitanan Yongstar

คณะวิทยาศาสตร์ฯ-วิทยาลัยสหวิทยาการ ก็ประกาศคะแนนผิด แต่ไร้ปัญหา

ตลอด 25 ปีที่ รศ. กัลยกร อยู่ที่คณะวารสารศาสตร์ฯ ทั้งในฐานะผู้เรียน-ผู้สอน เธอเปรียบเปรยปัญหาตรงหน้าในวันที่เด็ก ๆ รอความชัดเจนในการเข้าเรียน และวันที่คณะไร้คณบดีว่าเป็นเสมือน "เรือไม่มีหัว" ในการตัดสินใจจะนำทางว่าจะไปทางไหน

"เราต้องขอโทษสังคมจริง ๆ ที่ผู้บริหารของเรามีส่วนผิดพลาดในการตัดสินใจที่ไปรับเอาสิ่งผิด ๆ มา และทำให้นักเรียน 198 คนต้องมาอยู่ในปัญหาด้วย ซึ่งจะเป็นบทเรียนของผู้บริหารคณะในครั้งต่อ ๆ ไปว่าประชาคมควรมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ" เธอกล่าวทิ้งท้าย

Kalyakorn Worakullattanee

ที่มาของภาพ, Kalyakorn Worakullattanee

คำบรรยายภาพ, กัลยกร วรกุลลัฎฐานีย์ สอนที่คณะวารสารศาสตร์ฯ มา 2 ทศวรรษ

ขณะที่ รศ.ดร.ชาลีกล่าวทิ้งท้ายว่า ไม่ใช่แค่คณะวารสารศาสตร์ฯ ที่เกิดความผิดพลาดในการประกาศคะแนน แต่ยังมีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งต้องเยียวยาผู้สมัคร 200 คน และวิทยาลัยสหวิทยาการ เยียวยา 1 คน ซึ่งแนวทางของคณะวิทยาศาสตร์ก็ถอยไปถึงผู้สมัครคนสุดท้ายที่ควรติดเช่นกัน ใช้แนวทางเดียวกับคณะวารสารศาสตร์ฯ เลย แต่เกิดจากการหารือกับคณาจารย์ในคณะก่อน แล้วถึงตอบรับมาที่มหาวิทยาลัย แต่คณะวารสารศาสตร์ฯ หารือในทีมบริหารแล้วตอบรับมาที่มหาวิทยาลัย นี่ก็เป็นบทเรียนเรื่องการมีส่วนร่วมของคณาจารย์ในการตัดสินใจ

ส่วนแนวทางการแก้ไขปัญหาในปีหน้า รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการบอกว่าจะว่าจ้างโปรแกรมเมอร์ 2 บริษัทที่ไม่เกี่ยวข้องกัน แล้วส่งคะแนนดิบให้ 2 บริษัทและคณะคำนวณ ก่อนให้ส่งกลับมาที่ฝ่ายวิชาการของมหาวิทยาลัยเปรียบเทียบ แล้วจึงส่งข้อมูลให้ ทปอ. เพื่อลดโอกาสผิดพลาดคลาดเคลื่อน