ซาอุดีอาระเบีย : ประยุทธ์ ชู “โอกาสอันมากมายมหาศาล” หลัง"เสียใจยิ่งต่อโศกนาฏกรรม" ในอดีต

นายกฯ

ที่มาของภาพ, Handout

คำบรรยายภาพ, เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแห่งซาอุดีอาระเบีย หารือข้อราชการกับพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ณ พระราชวังอัล ยะมามะฮ์ สำนักพระราชวังซาอุดีอาระเบีย

นายกฯ แจ้งประชาชนถึง "โอกาสอันมากมายมหาศาล" หลังซาอุดีอาระเบียตกลงฟื้นความสัมพันธ์กับไทยที่เย็นชากับมากว่า 30 ปี เนื่องจากสิ่งที่เขาเรียกว่า "โศกนาฏกรรม" ที่เกิดขึ้นระหว่างปี 2532-2533

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โพสต์ทางบัญชีเฟซบุ๊กของเขาถึง "พี่น้องประชาชนชาวไทยที่รัก" เรียกการเยือนซาอุดีอาระเบียเมื่อ 25 ม.ค. ว่าเป็น "ความสำเร็จในการฟื้นฟูความสัมพันธ์ไทย - ซาอุดีอาระเบีย ให้กลับมาอยู่ใน 'ระดับปกติ' อย่างสมบูรณ์ นับตั้งแต่วันนี้สืบไป ถือเป็นการสิ้นสุด 3 ทศวรรษแห่งความห่างเหิน"

เขากล่าวว่า ในเบื้องต้น ทั้งสองฝ่ายห็นพ้องที่จะยกระดับผู้แทนทางการทูตของทั้งสองประเทศ จาก "อุปทูต" ให้กลับมาเป็นระดับ "เอกอัครราชทูต" ดังเดิม รวมทั้งจะพิจารณาจัดตั้งกลไกความร่วมมือทวิภาคี เพื่อผลักดันกรอบนโยบายและแผนความร่วมมือต่างๆ ทั้งในส่วนของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ให้เจริญงอกงามสืบต่อไป และในโอกาสการพบหารือครั้งนี้ เขาได้กราบบังคมทูลเชิญมกุฎราชกุมารฯ แห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ให้เสด็จฯ เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เพื่อสานต่อหน้าใหม่ของประวัติศาสตร์ในวันนี้ด้วย

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เขา "รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งกับโอกาสอันมากมายมหาศาล" ที่ประเมินว่าทั้งสองประเทศจะได้รับ ใน 9 ด้าน คือ

  • การท่องเที่ยว : เป็นโอกาสสำหรับการแลกเปลี่ยนการเยือนในระดับประชาชน ซึ่งจะนำไปสู่การขยายความร่วมมือในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เบื้องต้นคาดว่าจะสร้างรายได้ให้ไทยไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาทต่อปี
  • พลังงาน : เกิดการร่วมวิจัยและลงทุน ทั้งในรูปแบบพลังงานดั้งเดิม พลังงานสะอาด และพลังงานหมุนเวียน ซึ่งเป็นเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ชาติของทั้งสองประเทศ
  • แรงงาน : ไทยมีแรงงานฝีมือและกึ่งฝีมือที่มีศักยภาพจำนวนมาก ที่จะช่วยสนับสนุน โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรูปแบบต่าง ๆ ใน "วิสัยทัศน์ซาอุดีอาระเบีย ค.ศ. 2030" (Saudi Vision 2030)
  • อาหาร : ประเทศไทยนั้นถือเป็น "ครัวโลก" อุดมสมบูรณ์ด้วยผลิตผลทางการเกษตร ประมง รวมถึงอาหาร "ฮาลาล" ซึ่งไทยมีศักยภาพในการผลิตและพร้อมส่งออกให้แก่ซาอุดีอาระเบีย รวมถึงผ่านซาอุดีอาระเบียไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค นำมาซึ่งโอกาสอย่างมหาศาลสำหรับผู้ประกอบการด้านอาหารของไทย
  • สุขภาพ : ไทย คือ "ศูนย์กลางทางการแพทย์" ที่ชาวต่างชาติ โดยเฉพาะจากภูมิภาคตะวันออกกลางที่เป็น "นักท่องเที่ยวระดับพรีเมี่ยม" นิยมเดินทางมาท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในไทย จึงเป็นโอกาสที่จะเกิดการขยายตัวทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและความร่วมมือทางการแพทย์ได้มากยิ่งขึ้น
  • ความมั่นคง : ซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศอิสลามสายกลาง มีอิทธิพลสูงในกรอบองค์กรความร่วมมืออิสลาม (OIC) สามารถมีบทบาทส่งเสริมการแก้ปัญหาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยั่งยืนตามแนวทางสันติสุข นอกจากนั้น ยังสามารถมีความร่วมมือกันด้านข้อมูลข่าวสารความมั่นคง และการต่อต้านการก่อการร้ายอีกด้วย
  • การศึกษาและศาสนา : ที่ผ่านมา ซาอุดีอาระเบียให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนไทยมุสลิมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการศึกษาด้านศาสนา นอกจากนั้น ซาอุดีอาระเบีย ยังมีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม พลังงาน สุขภาพ การวิจัยทางทะเล การก่อสร้าง เทคโนโลยีป้องกันประเทศ ซึ่งจะทำให้ไทยมีโอกาสขยายการแลกเปลี่ยนด้านการศึกษาระหว่างกันอีกมาก
  • การค้าและการลงทุน : การกลับมาสู่ความสัมพันธ์ในระดับปกติ จะสร้างโอกาสและเปิดประตูทางการค้าให้กับนักลงทุนและ SME ไทย ในการแสวงหาลู่ทางการทำธุรกิจและการแสวงหาหุ้นส่วนทางการค้าทั้งในซาอุดีอาระเบียและกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ในขณะที่ซาอุดีอาระเบียก็ส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศผ่าน "กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ" ในด้านพลังงาน นวัตกรรม โทรคมนาคม อวกาศ เทคโนโลยีสีเขียว โครงสร้างพื้นฐาน ฯลฯ ซึ่งไทยนั้น มีความพร้อมในด้านทรัพยากรมนุษย์ องค์ความรู้ สถานศึกษา และเขตเศรษฐกิจพิเศษต่างๆ
  • กีฬา : จะเป็นโอกาสอันดีในการสร้างความร่วมมือทางการกีฬาของทั้งสองประเทศ ที่มีความสนใจในการแข่งขันและการกีฬาต่างๆ ร่วมกัน เช่นฟุตบอล มวย กอล์ฟ การแข่งรถ รวมถึง e-sport และอื่นๆ และเป็นโอกาสของไทยในการส่งเสริม "มวยไทย" ให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้นในภูมิภาคตะวันออกกลางด้วย
นายกฯ

ที่มาของภาพ, Handout

เข้าเฝ้ามกุฎราชกุมาร

ช่วงบ่ายของ 25 ม.ค. พล.อ.ประยุทธ์ ได้เข้าเฝ้าเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว. กระทรวงกลาโหมแห่งซาอุดีอาระเบีย ระหว่างการเยือนอย่างเป็นทางการ และกล่าว "แสดงความเสียใจยิ่งต่อโศกนาฎกรรมที่เกิดขึ้นที่ประเทศไทยระหว่างปี พ.ศ. 2532-2533"

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ระหว่างการเข้าเฝ้าฯ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าไทยให้ความสำคัญสูงสุดกับความสัมพันธ์ฉันมิตรกับชาอุดีอาระเบีย และแสดงความเสียใจยิ่งต่อโศกนาฎกรรมที่เกิดขึ้นที่ประเทศไทยระหว่างปี พ.ศ. 2532-2533 พร้อมยืนยันว่า ไทยได้พยายามอย่างที่สุดแล้วในการสะสางกรณีต่าง ๆ และหากมีหลักฐานใหม่ก็พร้อมที่จะนำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยพิจารณา

การเยือนกรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียในระดับผู้นำรัฐบาลระหว่าง 2 ประเทศนับเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 30 ปี ภายหลังจากที่รัฐบาลซาอุฯ ลดระดับความสัมพันธ์กับไทยลงเนื่องจาก 3 เรื่องอื้อฉาว คือ กรณีเพชรบลูไดมอนด์ที่หายไปอย่างไร้ร่องรอย, การฆาตกรรมนักการทูต และอุ้มฆ่านักธุรกิจ ที่เกิดขึ้นในไทย ในช่วงปี 2532-2533

นายธนกรกล่าวว่ามกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบียทรงให้การต้อนรับนายกรัฐมนตรีอย่างสมเกียรติ โดยทั้ง 2 ฝ่ายได้ยืนยันความตั้งใจร่วมกันในการสะสางประเด็นที่คั่งค้างทั้งหมดระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย และปรับความสัมพันธ์ระหว่างสองราชอาณาจักรให้เป็นปกติ รวมทั้งยังได้ย้ำความสำคัญของการส่งเสริมความสัมพันธ์ฉันมิตรของสองราชอาณาจักร และการเปิดศักราชใหม่ของความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย

รัฐมนตรีที่ร่วมคณะไปกับนายกฯ ได้แก่ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว. ต่างประเทศ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว. พลังงาน และนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว. แรงงาน

นายกฯ

ที่มาของภาพ, Handout

ซาอุฯเชิญไทยร่วมส่งแรงงานฝีมือ

ในวันเดียวกัน นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว. แรงงาน พบหารือกับ นายอาหมัด สุไลมาน อัล ราจีห์ รมว. ทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาทางสังคม ซาอุดีอาระเบีย ณ เรือนรับรองแขกต่างประเทศ พระราชวังคิงซาอุด

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงหลังการหารือว่า มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบียได้ทรงมีบัญชาให้กระทรวงทรัพยากรมนุษย์ฯ ดำเนินการจัดการหาแรงงานดีมีฝีมือ โดยตั้งเป้าให้ได้ 8 ล้านคน ซึ่งไทยสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ และซาอุดีอาระเบียประสงค์ผลักดันความร่วมมือด้านแรงงานให้เกิดขึ้นโดยเร็ว โดยเฉพาะแรงงานภาคบริการ โรงแรม สุขภาพ และอุตสาหกรรมก่อสร้างในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่

นางสาวรัชดา กล่าวว่า ทั้งสองฝ่ายยังเห็นพ้องให้เร่งรัดความร่วมมือในอนาคตโดยเร็ว เพื่อสร้างผลประโยชน์อย่างมากต่อทั้งสองประเทศ ซึ่งโครงการอยู่ระหว่างการก่อสร้างและพัฒนาของซาอุดีอาระเบียยังคงต้องการการสนับสนุนจากต่างชาติ ทั้งในด้านการบริหารจัดการการท่องเที่ยว และด้านแรงงานจำนวนมาก เป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการ และแรงงานฝีมือ และกึ่งฝีมือของไทยได้เข้ามามีส่วนร่วม

พล.อ. ประยุทธ์กล่าวทางบัญชีเฟซบุ๊กว่า ซาอุดีอาระเบียเคยเป็นตลาดแรงงานที่ใหญ่ที่สุดของไทยในตะวันออกกลาง ช่วงปี 2530 มีแรงงานไทยสูงถึง 300,000 คน สร้างรายได้ส่งกลับประเทศมากกว่า 9,000 ล้านบาทต่อปี

ข้อมูลของกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา กระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่า เมื่อปี 2551 มีคนไทยอาศัยอยู่ในซาอุดีอาระเบีย 16,896 คน โดยส่วนใหญ่เป็นแรงงานเก่าก่อนเกิดปัญหาความสัมพันธ์ ส่วนใหญ่เป็นแรงงานฝีมือหรือกึ่งฝีมือ และคนงานในภาคบริการ เช่น ประกอบกิจการร้านอาหารไทย พนักงานธนาคาร และบริษัทห้างร้านต่าง ๆ

สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์ ให้ข้อมูลล่าสุดเมื่อปี 2562 ว่า มีแรงงานไทยอยู่ในซาอุดีอาระเบียอยู่ 20,000 คน อยู่ในเขตตะวันตก 11 เมือง ประมาณ 15,000 คน และภาคตะวันออกภาคกลางของซาอุดีฯ มีคนงานไทยประมาณ 5,000 คน

อย่างไรก็ตาม จากรายงาน ประมาณการแรงงานไทยที่คาดว่ายังทำงานอยู่ต่างประเทศ ของกองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 26 ธ.ค. 2564 ระบุว่า จากแรงงานไทยที่คาดว่ายังทำงานอยู่ต่างประเทศ 104,909 คน สถิติตัวเลขในซาอุดีอาระเบียมีอยู่เพียง 56 คน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานในภาคบริการ แรงงานช่างฝีมือ โดยส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในกรุงริยาด

ข้าม Twitter โพสต์
ยินยอมรับเนื้อหาจาก Twitter

บทความนี้ประกอบด้วยเนื้อหาจาก Twitter เราขอความยินยอมจากคุณก่อนใช้คุกกี้ หรือเทคโนโลยีอื่น ๆ บันทึกอะไรลงไป คุณอาจต้องอ่านนโยบายคุกกี้ของ Twitter และนโยบายความเป็นส่วนตัวของ Twitter ก่อนให้ความยินยอม หากต้องการอ่านเนื้อหานี้ โปรดเลือก "ยินยอมและไปต่อ"

คำเตือน:เนื้อหาภายนอกอาจมีโฆษณา

สิ้นสุด Twitter โพสต์

นักวิชาการไทยมองอย่างไร

ดร.ปฐมพงษ์ โพธิ์ประสิทธินันท์ นักวิชาการทางบูรพคดีศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล แสดงความเห็นทางบัญชีเฟซบุ๊กของเขาว่า การรื้อฟื้นความสัมพันธไมตรีกับซาอุฯ "ควรต้องทำด้วยความระมัดระวังและมีขอบเขตที่ชัดเจน"

เขามองว่า "การอวย" ของบรรดาสื่อกระแสหลักของอเมริกาและยุโรปอื่นๆ อีกหลายสำนักข่าว เป็น "สัญญาณเตือน" บ่งบอกว่าการพัฒนาความสัมพันธ์กับซาอุฯ ในครั้งนี้ "อาจมีชาติมหาอำนาจอย่างอเมริกาอยู่เบื้องหลัง"

"พูดง่าย ๆ ว่าอาจเป็นแผนปูทางให้กลุ่มวะฮาบีย์หัวรุนแรงบางกลุ่มในซาอุฯ เข้ามาเมืองไทยมากยิ่งขึ้น

เพราะการเดินเกมสงครามพันทาง (Hybrid War) ป่วนเลบานอน อิรักและซีเรียหลายๆ ครั้งนั้น อเมริกาให้ประเทศบริวารอย่างซาอุดิอาระเบียทำแทน และซาอุฯ ก็ทำให้อเมริกามากมายจนโลกตะวันออกกลางปั่นป่วน"

ดร.ปฐมพงษ์ โพธิ์ประสิทธินันท์

ที่มาของภาพ, Facebook/ดร.ปฐมพงษ์ โพธิ์ประสิทธินันท์

คำบรรยายภาพ, บัญชี Facebook ของ ดร.ปฐมพงษ์ โพธิ์ประสิทธินันท์

ส่วน ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวกับบีบีซีไทย ว่า แม้ 3 เรื่องอื้อฉาวที่ยังไม่มีคำตอบชัดเจน แต่ความเปลี่ยนแปลงภายในของผู้นำซาอุดีอาระเบียรุ่นใหม่ ที่ไม่ได้ "ติดใจ" กับเรื่องในอดีต และ เป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย "วิสัยทัศน์ซาอุดีอาระเบีย 2030" (Saudi Vision 2030) ที่ต้องการสานสัมพันธ์กับทุกประเทศในโลก

"ถึงแม้ว่าทางการซาอุดีอาระเบีย จะติดใจบลูไดมอนด์ แต่มันก็ไม่ได้เป็น ข้อผิดพลาดของรัฐบาลไทย อันนี้ประการแรก และผมคิดว่าตอนหลังทางการซาอุดีอาระเบีย ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากนัก" ดร.ศราวุฒิ กล่าว

ดร.ศราวุฒิ มองว่า ทั้ง 3 กรณีที่ เป็นปัญหาระหว่างซาอุดีอาระเบียกับไทย ในกรณีของเพชรซาอุฯ คนที่โจรกรรมในขณะนั้นก็เป็นแรงงานไทย ซึ่งไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐบาล และมองว่ามันก็เป็นการหละหลวมของทางการซาอุฯ เองด้วย ที่ทำให้เกิดการโจรกรรมดังกล่าว

ส่วนการสังหารนักการทูตในไทย ดร.ศราวุฒิ กล่าวว่า ทางการซาอุฯ ก็เข้าใจดีว่าเป็นเรื่องความขัดแย้งระหว่างอิหร่านกับซาอุดีอาระเบียในปี 2530 ที่ลุกลามเข้ามาในไทย โดยต้นตอมาจากเหตุการณ์ที่ซาอุฯ ปราบผู้ชุมนุมในพิธีฮัจญ์ ทำให้คนอิหร่านที่เข้าไปทำพิธีฮัจญ์กว่า 200 คน เสียชีวิต หลังจากนั้นก็เกิดการแก้แค้นตอบโต้กันไปมาในหลายประเทศ ไม่ใช่แค่ไทย

"เรื่องกรณีของการเสียชีวิตของนักการทูตเป็นเรื่องระหว่างประเทศ ผมคิดว่าซาอุฯ เข้าใจเป็นอย่างดี แต่กรณีที่สำคัญที่สุด คือกรณีอุ้มฆ่า เขาติดใจมาก ๆ ทางซาอุฯ ไม่พอใจอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถทำอะไรได้แล้วในตอนนี้ เพราะว่า กรอบเวลาของการดำเนินคดี มันก็หมดไปเรียบร้อยแล้ว แล้วทางคนที่ถูกฟ้องก็ถูกยกฟ้องไปเรียบร้อย"

ดร.ศราวุฒิ เห็นว่า ปัจจัยร่วมที่สำคัญคือ ซาอุดีอาระเบีย มีผู้นำรุ่นใหม่นับตั้งแต่ปี 2558-2559 เป็นต้นมา เห็นการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างการบริหารทางการเมืองของซาอุดีอาระเบียอย่างชัดเจน จากเดิมที่จะส่งมอบอำนาจให้กับผู้นำอาวุโสรุ่นเก่า

"คนรุ่นนี้ ผมเชื่อว่าเขาไม่ได้ติดใจเรื่องราวในอดีต แต่ว่าเขามองไปในอนาคต ด้วยเรื่องผลประโยชน์ต่าง ๆ เมื่อเขาเชิญนายกรัฐมนตรีของไทยไปเยือน ผมคิดว่ากรณีในอดีตที่เคยติดค้างกัน เขาคงจะไม่นำขึ้นมาเป็นกรณีพบกันอีก เพราะว่ามันไม่มีประโยชน์" ผอ. ศูนย์มุสลิมศึกษา จากจุฬาฯ ระบุ