วิกฤตโควิด โอกาสทักษิณ ปฏิบัติการรีแบรนด์เพื่อรีเทิร์น

ทักษิณ

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, ทักษิณ ชินวัตร บอกใน CH ว่าจะกลับประเทศแน่ ทำให้แฮชแท็ก "พี่โทนี่กลับไทยแน่" ขึ้นเป็นเทรนด์ยอดนิยมในทวิตเตอร์ช่วงกลางเดือน ก.ค. โดยอดีตนายกฯ รายนี้ออกจากไทยไป 13 ปีแล้ว และปัจจุบันยังมีหมายจับอีกหลายคดี
  • Author, หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
  • Role, ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

เมื่อวิกฤตโรคระบาดร้ายแรง กลายเป็นเครื่องสะท้อนปัญหาความไร้ประสิทธิภาพของรัฐราชการในทุกมิติ

เมื่อระบบสาธารณสุขไทยใกล้ล่มสลาย

เมื่อประชาชนเจ็บป่วย ล้มตาย เป็นใบไม้ร่วง

เมื่อผู้ปกครองถูกตั้งคำถามต่อภาวะพร่องวิสัยทัศน์ในการบริหารจัดการ-ฝ่าวิกฤต เสียงเรียกหาความรับผิดชอบทางการเมืองจึงตามมา

หนึ่งในเสียงวิจารณ์ที่สร้างแรงกระเพื่อมทางการเมือง มาจาก ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ดังจากแอปพลิเคชันสนทนาผ่านเสียง คลับเฮาส์ (Clubhouse - CH)

บีบีซีไทยสนทนากับ 2 บุรุษ 2 ส. ให้วิเคราะห์ปรากฏการณ์ "ทักษิณ 72 พี่โทนี่ 27"

คนหนึ่งคือ นพ. สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี หรือ "หมอเลี้ยบ" อดีตรัฐมนตรี 3 กระทรวงที่เคยร่วมงานกับ 2 นายกฯ ปัจจุบันเป็นสมาชิกกลุ่มแคร์ (CARE) เจ้าของแพลตฟอร์มหลักที่ทักษิณใช้สื่อสาร

อีกคนคือ ดร. สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ผู้แวะเวียนไปฟัง "เรื่องเล่า" ของผู้นำจากแดนไกล และเกาะติดความเคลื่อนไหวทางการเมืองใน CH อยู่เนือง ๆ

แม้ทั้งคู่เห็นตรงกันว่าอดีตนายกฯ คนที่ 23 ต้องการ "กลับมา" ทว่าคำจำกัดความของพวกเขาแตกต่างกัน

เบื้องหลังวัน โทนี่ อุบัติขึ้นในโลก CH

ในวัย 72 ปี ทักษิณ กลายเป็น "โทนี่ วู้ดซัม" (Tony Woodsome) ผู้เปิดหน้าให้ความเห็นสารพัดเรื่อง ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การใช้ชีวิตวิถีใหม่ โดยเป็นแขกขาประจำในแอปพลิเคชัน CH แพลตฟอร์มที่กลุ่มแคร์ใช้เป็นช่องทางหลักในการสื่อสาร สร้างข่าว

โทนี่เข้าสู่วงการคลับเฮาส์ตั้งแต่ 22 ก.พ. เมื่อผู้ใช้งาน CH ในไทยเปิดห้องที่ใช้ชื่อว่า "ไทยรักไทย ใครเกิดทัน มากองกันตรงเน้!" พร้อมถ่ายทอดสัญญาณเสียงของอดีตนายกฯ ไปยังห้องอื่น ๆ อีก 8 ห้อง มีผู้ฟังเกือบแสนคนในเวลา 2 ชม. ครึ่ง ตามการเปิดเผยข้อมูลของผู้จัด

ทักษิณ

ที่มาของภาพ, Clubhouse

คำบรรยายภาพ, หน้าแรกของบัญชี CH ของ ทักษิณ ชินวัตร

นพ. สุรพงษ์ได้รับข้อมูลว่าทักษิณมีบัญชี CH ใช้ชื่อว่า โทนี่ วู้ดซัม จึงแจ้งไปว่าหากสะดวกก็เชิญมาฟัง และส่งคำเชิญไปยังบัญชีผู้ใช้งานดังกล่าวซึ่งเวลานั้นมีเพียงตัวอักษร TW ปรากฏแทนภาพโปรไฟล์

กระทั่งเวลา 21.00 น. ใบหน้าของทักษิณก็ปรากฏในห้องสนทนา ตรงตำแหน่งผู้ใช้งานที่ชื่อ Tony

"วันนั้นเป็นวันแรกที่แคร์เล่นคลับเฮาส์ ทุกคนงงว่าจะเล่นแบบไหน จะเชิญคนเป็นผู้ดำเนินรายการทำอย่างไร เปิดไมค์ยังไม่เป็นเลย ทีนี้เห็นหน้าโทนี่เป็นภาพคุณทักษิณ ก็เลยกดให้เป็นสปีกเกอร์ (ผู้พูด) พอพูดออกมาเท่านั้นแหละ ทุกคนก็ตกใจ อ้าวตัวจริง เพราะเป็นเสียงแก จากนั้นก็เป็นกระแสในทวิตเตอร์ คนก็แห่เข้ามาฟัง เป็นความบังเอิญ ไม่ใช่เกิดจากความตั้งใจจะเชิญคุณทักษิณมาในคลับเฮาส์ครั้งแรก" นพ. สุรพงษ์ อดีต รมว.เทคโนโลยีและการสื่อสาร (ไอซีที) เล่าเบื้องหลังวันโทนี่อุบัติขึ้นในโลก CH

จากเสียงตอบรับในวันแรก ผู้ก่อการกลุ่มแคร์อ้างว่ามีเสียงเรียกร้องให้เชิญอดีตนายกฯ มาร่วมวงสนทนาอีก โดยสมาชิกในกลุ่มรายหนึ่งบอกว่า "ไม่อยากเรียกชื่อทักษิณแล้ว ขอเรียกโทนี่ได้ไหม" เป็นผลให้ทักษิณแจ้งเกิดใหม่ในโลกออนไลน์อย่างเป็นทางการ ด้วยชื่อเดิมที่เคยใช้สมัยศึกษาในสหรัฐฯ

"การเมืองแห่งความหวัง" ฉบับ "ซูเปอร์ซีอีโอประเทศ"

ทุกวันอังคารเว้นอังคาร โทนี่จะร่วมวง "แคร์ทอล์ค" ซึ่งหมอเลี้ยบบรรยายบรรยากาศไว้ว่าเป็นการ "เล่าสู่กันฟัง" ถึงการเมืองไทยในรอบ 20 ปี และมองไปข้างหน้าโดยแบ่งปันประสบการณ์ในอดีต แต่พอเกิดการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ระลอกเดือน เม.ย. ตามมาด้วยยอดผู้ป่วยทะลุหลักหมื่นในช่วงกลางเดือน ก.ค. ห้องสนทนาเดิมก็ถูกแปรเป็นเวทีสะท้อนปัญหาความทุกข์ยากของประชาชน และเสนอทางออกจากมุมมองของอดีตผู้นำ

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, นพ. สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เล่าว่า สมาชิกกลุ่มแคร์จะใช้เวลา 2-3 วันในการหารือประเด็นเพื่อกำหนดหัวข้อสนทนาในแต่ละสัปดาห์ ก่อนส่งไปถามโทนี่ว่าอยากพูดเรื่องนี้หรือไม่

ในช่วงที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกฯ คนที่ 29 ทำงานจากบ้าน หรือ Work From Home โดยให้เหตุผลว่าต้องทำตามมาตรการที่ตัวเองออกคำสั่งใช้บังคับกับคนทั้งประเทศ นายกฯ คนที่ 23 ซึ่ง Work From Dubai ส่งเสียงค่อนขอด-สอนมวยข้ามทวีป เมื่อ 27 ก.ค.

"ถือว่าเชื่อพี่ก็แล้วกันน้องเอ้ย อย่าไปคิดว่าเสียฟอร์มเลย ลับหลังเราคุยกันมากกว่านี้ได้ ท่านอย่า Work From Home แต่งพีพีอีลงไปเลย" ทักษิณแนะวิธีฟื้นความศรัทธาจากประชาชน

ในทัศนะของ ดร. สติธร สิ่งที่ทักษิณทำใน CH คือภาคถนัดของพรรคทักษิณที่ไว้ต่อสู้กับระบอบทหาร ด้วยการพาคนกลับไปสู่ภาพความสดใสในอดีต ยุครุ่งเรืองของรัฐบาลไทยรักไทย (ทรท.) ซึ่งมีนโยบายที่ประชาชนจับต้องได้ แต่ครั้งนี้เพิ่มวิธีการมองไปข้างหน้าเพื่อเติมความหวังในอนาคต ในจังหวะที่รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากการบริหารจัดการวิกฤตโควิด-19

"การมาของพี่โทนี่ ทำให้คนรู้สึกว่าถ้าเราได้ผู้นำแบบนี้ การเมืองก็มีความหมายได้" และ "พี่โทนี่เล่นบทคนแก่หัวก้าวหน้า เข้าใจโลก บางครั้งเห็นโอกาสมากกว่าคนอายุน้อยเสียอีก ในอนาคตถ้าต้องเลือก มันใช่ ซึ่งความใช่เกิดจากการเปรียบเทียบกับ performance (ผลการปฏิบัติราชการ) ของนายกฯ คนปัจจุบัน" นักวิชาการจากสถาบันพระปกเกล้ากล่าว

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ บนเวทีปราศรัยปิดของพรรคอนาคตใหม่ เมื่อ 22 มี.ค. 2562

ที่มาของภาพ, Tossapol Chaisamritpol/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ระบุว่า "ประชาธิปไตยไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางหลักทางเดียวที่เหลืออยู่ของสังคมไทย" ระหว่างการปราศรัยปิดของพรรคอนาคตใหม่ เมื่อ 22 มี.ค. 2562

นิยาม "การเมืองแห่งความหวัง" ในช่วงก่อนการเลือกตั้ง 2562 กับช่วงครึ่งเทอมหลังของรัฐบาล "ประยุทธ์ 2" มีความแตกต่างกันมากตามความเห็นของ ดร. สติธร โดย 2 ปีก่อน เป็นความหวังในเชิงอุดมคติ หลังคนไทยอยู่กับระบอบคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มานาน 5 ปี หากใครเสนออุดมคติได้ ถ้ามีเสรีภาพ มีประชาธิปไตย ประเทศไทยมีอนาคต นั่นคือพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) แต่ปีนี้ เป็นปัญหาจริงที่เกิดจากวิสัยทัศน์ มุมมองการบริหารจัดการ การตัดสินใจที่ผิดพลาด เป็นภาคปฏิบัติที่จับต้องได้ ทำให้ทักษิณนำเสนอแนวคิดได้อย่างสบายเพราะอยู่ในฐานะ "ซูเปอร์ซีอีโอของประเทศ" มาก่อน ไม่ใช่ความโดดเด่นแบบนักประชาธิปไตยที่ต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน แต่สร้างความหวังจากวิสัยทัศน์เชิงบริหาร

แม้แกนนำกลุ่มแคร์ปฏิเสธว่าความเคลื่อนไหวอย่างคึกคักของโทนี่ "ไม่ใช่การหาเสียง เพราะยังไม่รู้ว่าจะมีการเลือกตั้งเมื่อไร" แต่ ดร. สติธร ซึ่งร่วมสังเกตการณ์อย่างเงียบ ๆ ใน CH ชี้ว่า โทนี่สามารถดึงคนที่เคยเลือกพรรคทักษิณให้กลับมาเลือกพรรคเพื่อไทย (พท.) ได้ หลังบางส่วนปันใจไปเลือก อนค. ในการเลือกตั้งครั้งหลังสุด แต่สำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกที่เคยเลือก อนค. หรือประทับใจในความเป็น ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ก็อาจยังไม่หลงไปกับโทนี่

"สนามคลับเฮาส์กับสนามเลือกตั้ง พี่โทนี่ต้องลุยเท่ากันถึงจะได้คะแนนคืน" นักรัฐศาสตร์รายเดิมให้ความเห็น

รีแบรนด์ เพื่อ รีเทิร์น

การรีแบรนด์ หรือปรับภาพลักษณ์ จาก "นายกฯ ทักษิณขวัญใจคนรากหญ้า" เป็น "พี่โทนี่ของคนรุ่นใหม่" ไม่เพียงส่งผลบวกต่อตัวอดีตผู้นำวัย 72 ปี แต่น่าจะช่วยขยายฐานทางการเมืองของพรรคที่เขาสนับสนุนด้วย ท่ามกลางภาวะตื่นรู้-ตื่นตัวทางการเมืองของเยาวชน

ในทางส่วนตัว ดร. สติธรระบุว่า ทักษิณสามารถเชื่อม 2 โลก ระหว่างคนรุ่นเก่า-คนรุ่นใหม่ ทำให้มีที่ทางกับโลกปัจจุบันมากขึ้น ไม่ใช่แค่นายกฯ ของคนรากหญ้า แต่เป็นสินค้าการเมืองแบรนด์ใหม่ที่ชื่อโทนี่

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, การรีแบรนด์ครั้งสำคัญของสุเทพเกิดขึ้นหลังเขาตัดสินใจ "เป่านกหวีด" เรียกมวลชนมาชุมนุมต่อต้านการผ่านร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมฉบับ "เหมาเข่ง" ก่อนเปิดปฏิบัติการ "ปิดกรุงเทพฯ" และ "ปิดคูหาเลือกตั้ง" เมื่อปี 2557

หาก เนวิน ชิดชอบ เจ้าของฉายา "ยี้ห้อยร้อยยี่สิบ" ประสบความสำเร็จในการรีแบรนด์ตัวเองเป็น "ลุงเนวิน" ประธานสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด หรือ สุเทพ เทือกสุบรรณ ได้ล้างคราบไคลบาดใจ "เทพเทือก" เป็น "ลุงกำนันขวัญใจมวลมหาประชาชน" สิ่งที่โทนี่เป็นในวันนี้ "เหนือกว่า" ทั้ง 2 คนการเมือง ตามทัศนะของ ดร. สติธร เพราะทั้ง สุเทพ-เนวิน ไปต่อไม่ได้ทางการเมืองหลังผ่านการรีแบรนด์ ต้องทิ้งสถานะผู้เล่นเป็นผู้ดูหรือผู้ควบคุม แต่สำหรับโทนี่อาจไปถึงขั้นกลับมาได้ เพราะไม่ได้พลิกไปจากภาพการเมืองเก่าเยอะ แค่เปลี่ยนชื่อ แล้วสร้างให้เกิดภาพลักษณ์ใหม่ขึ้น

"หากคุณสุเทพ คุณเนวิน พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ พี่โทนี่พลิกจากหน้ามือเป็นหน้ามือที่ทาครีม นุ่มขึ้น"เขากล่าวพร้อมหัวเราะเล็ก ๆ

"คุณทักษิณผ่านการรีแบรนด์มาแล้วระดับหนึ่ง จากที่เป็นนายกฯ มาเป็นที่ปรึกษาตามแคมเปญ 'ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ' มาถึงการรีแบรนด์ครั้งนี้ เขาอาจคิดการใหญ่กว่าการรีแบรนด์เพื่อเปลี่ยนสถานะ แต่ต้องการรีเทิร์น (กลับมา)" ดร. สติธรกล่าว

เมื่อประวัติศาสตร์มีชีวิต

ส่วนในทางพรรค นพ. สุรพงศ์ยอมรับว่า คนรุ่นใหม่มีโอกาสรู้จักตัวตนของทักษิณน้อย เพราะออกจากประเทศไป 13 ปีแล้วนับจากปี 2551 พวกเขาไม่เคยรู้จักบรรยากาศยุครัฐบาล ทรท. หากใครไปสืบค้นข้อมูลโครงการต่าง ๆ ก็จะพบหลักการและสารัตถะ แต่ไม่มีการถ่ายทอดรายละเอียดของโครงการที่มีชีวิต

"พอวันหนึ่งเมื่อคุณโทนี่ปรากฎขึ้นมา คนที่เคยรู้จักแต่คุณทักษิณในหนังสือ ในข่าว ในกูเกิล ก็มีโอกาสฟังคุณทักษิณพูดตัวเป็น ๆ ในคลับเฮาส์ มีโอกาสพูดคุย ถามคำถาม ผมเห็นเขาก็ไปโพสต์เฟซบุ๊กว่าเขาไม่คิดเลยว่าพอขึ้นมาถามจริง ๆ แล้วจะรู้สึกใจสั่นขนาดนั้น กับการได้พูดคุยกับคนในประวัติศาสตร์การเมืองยุคใหม่" แกนนำ ทรท. ยุคก่อตั้ง กล่าว

Thaksin

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, พรรคไทยรักไทยมีอายุเพียง 9 ปี เมื่อตุลาการรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค พร้อมตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค 111 คน เมื่อ 30 พ.ค. 2550 โดยได้เข้าสู่สนามเลือกตั้ง 2 ครั้งและทำให้ ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ 2 สมัย

นพ. สุรพงศ์ ซึ่งเป็นอดีตแกนนำนักศึกษาหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ยังอุปมาอุปไมยสิ่งที่เกิดขึ้นใน CH เข้ากับความคิดและประสบการณ์ชีวิตของตัวเองที่ไม่มีโอกาสสนทนากับ ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยตรง หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ดร. ป๋วยก็ไปใช้ชีวิตในต่างแดน ทำให้มีโอกาสรู้จักนักเศรษฐศาสตร์ระดับตำนานจากข่าวเท่านั้น

"ถ้าอาจารย์ป๋วยออกคลับเฮาส์ ได้พูดคุยกัน ผมคงรู้สึกตื่นเต้นแบบเดียวกันนะ รู้สึก โอ้ว.. ผมได้คุยกับคนที่เขียนบทความ 'จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน' ตัวเป็น ๆ มันจะรู้สึกปิติยินดีขนาดไหน ก็คงแบบเดียวกัน" อดีต "คนเดือนตุลา" กล่าว

"คนรุ่นใหม่ไม่คิดว่าประเทศไทยเคยมีการเมืองดีแบบนี้" คือบทสรุปความคิดรอบยอดของ นพ. สุรพงษ์ หลังอยู่ในโลก CH ร่วมกับโทนี่และ "เยาวรุ่น" มานาน 5 เดือน ได้ยินการเปิดไมค์ตั้งคำถามและสะท้อนความรู้สึกที่มีต่อนโยบายต่าง ๆ ในทศวรรษ 2540

นักการเมืองวัย 64 ปีเห็นว่า เรื่องเล่าจากโทนี่จุดประกายให้ผู้คนกลับไปสืบค้นมากขึ้นว่ายุครัฐบาล ทรท. ทำอะไรบ้าง

เรื่องเล่าของโทนี่ กับ ข้อเท็จจริงที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลง

ไม่ว่าเรื่องเล่าทางการเมืองของโทนี่และผองเพื่อนจะเป็นอย่างไร หนึ่งในข้อเท็จจริงที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงคือทั้งนายกฯ ผู้พี่-ผู้น้อง ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ ต้องเผชิญกับการชุมนุมขับไล่โดยมวลชนกลุ่มใหญ่ ก่อนจบลงด้วยรัฐประหารทั้ง 2 ครั้ง และปัจจุบัน 2 อดีตนายกฯ จากตระกูลชินวัตรหนีคำพิพากษาศาลในคดีทุจริตไปใช้ชีวิตในต่างแดน

ผู้สนับสนุน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, ผู้สนับสนุนให้กำลังใจ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก่อนไต่สวนคดีปล่อยปละละเลยให้เกิดความเสียหายโครงการรับจำนำข้าว เมื่อ 17 ก.พ. 2559 ทว่าเธอได้เดินทางออกนอกประเทศไปก่อนศาลนัดอ่านคำพิพากษาปี 2560 สั่งจำคุก 5 ปี

นพ. สุรพงษ์มองว่า ข้อดีอย่างหนึ่งของกาลเวลาคือเป็นเครื่องพิสูจน์ วันนี้มีคนจำนวนไม่น้อยบอกว่าเสียใจที่ไปร่วมชุมนุมกับ กปปส. ปี 2556-2557 หรือร่วมกิจกรรม "บิ๊กคลีนนิงเดย์" แยกราชประสงค์หลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดง เดือน พ.ค. 2553 สะท้อนให้เห็นว่าพอกาลเวลาผ่านไป ความจริงค่อย ๆ ปรากฏ หลายคนที่เคยคิดและเคยเชื่อแบบเมื่อปี 2549, 2553, 2557 ได้ข้อมูลเปลี่ยนไป และออกมาขอโทษที่มีส่วนนำพาบ้านเมืองมาถึงวันนี้ ส่วนคนจำนวนหนึ่งที่ยังมีความเชื่อแบบเดิม ก็ไม่กล้าพูดความเชื่อหรือประกาศตัวอย่างภาคภูมิใจ

"ถ้าถามว่าการพูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้น ย้อนอดีตไปถึงรัฐบาลไทยรักไทย พูดถึงคุณทักษิณแล้วจะไปกระตุกต่อมของคนจำนวนมากขึ้นมา บอกว่าไม่เอาแล้ว ต้องปะทะเชิงความคิดอีกครั้ง ผมว่าสถานการณ์มันเปลี่ยนไปเยอะมาก ผมไม่คิดว่าเหตุการณ์จะกลับไปสู่อย่างนั้นอีกแล้ว" อดีต รมต. ร่วมรัฐบาลทักษิณกล่าว

ขณะที่ ดร. สติธรวิเคราะห์ต่างออกไปถึงสาเหตุทักษิณไม่เผชิญแรงต้านหนัก จาก 2 ปัจจัย นั่นคือ ในฝ่ายสนับสนุนระบอบอำนาจนิยมก็มีความเห็นแตกต่างกันในระดับหนึ่ง ระหว่างคนที่เริ่มตั้งคำถามว่ายังต้องเป็น พล.อ. ประยุทธ์อีกหรือ เป็น "พี่น้อง 3 ป." อีกหรือ กับคนที่ไม่ว่าอย่างไรก็จะ "เชียร์ลุง" ต่อไป จึงไม่วิจารณ์ความเคลื่อนไหวของโทนี่ เพราะเกรงเกิดกระแสตีกลับมายังนายกฯ อีกปัจจัยคือ คนเหล่านี้มุ่งมั่นในการโจมตีคู่ต่อสู้เดิม แต่เป็นหน้าใหม่อย่างคณะก้าวหน้าและพรรคก้าวไกลที่มีแนวคิดเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจหลัก จึงไม่ขยับมาวิจารณ์โทนี่ ผู้ไม่มีทีท่าสนองตอบข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปของขบวนการ "ราษฎร"

งานเดินเชียร์ลุง

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, ผู้สนับสนุน พล.อ. ประยุทธ์ เคยจัดกิจกรรม "เดินเชียร์ลุง"ที่สวนลุมพินี เมื่อ ม.ค. 2563 หลังอีกฝ่ายจัดงาน "วิ่งไล่ลุง" ในวันเดียวกัน แต่ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นก่อนการระบาดของโรควิด-19

นักวิชาการรายนี้เชื่อว่า ทักษิณไม่สามารถเปลี่ยนมุมมองของคนที่เกิดทันยุครัฐบาล ทรท. แต่จงใจสร้างภาพลักษณ์ใหม่และการรับรู้ใหม่ให้คนที่เกิดไม่ทันได้เข้าใจแค่นี้ แต่ถ้าวันหนึ่ง คำตอบที่ทักษิณให้ ไม่ถูกใจคนรุ่นใหม่ เรื่องเก่า ๆ ก็มีสิทธิถูกสังคมขุดขึ้นมาได้ เพราะเรื่องเล่าของอดีตนายกฯ แบบบวก ๆ ๆ มันก็มีข้อมูลอีกชุดจากนักวิชาการและสื่อมวลชนบางค่ายที่บอกว่าลบ ๆ ๆ

ยอมรับ ส.ส. เพื่อไทย นับสิบ หวั่นไหวกับแรงดูด

นอกจากโทนี่จะอุบัติขึ้นในโลกคู่ขนาน ในวันคล้ายวันเกิดครบ 6 รอบของอดีตนายกฯ และอดีตหัวหน้า ทรท. เมื่อ 26 ก.ค. สมาชิกในครอบครัวและนักการเมืองคนสนิทยังพร้อมใจกันสวมใส่เสื้อยืดสีน้ำเงินที่มีข้อความว่า "ทักษิณ 72 พี่โทนี่ 27"

แม้แต่หัวหน้าพรรค พท. สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ก็สวมเสื้อดังกล่าว เป็นประธานงานทำบุญวันเกิดให้ ที่ศาลาธรรมวัดโรงธรรมสามัคคี อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ส่งเสียงสวดเจริญพระพุทธมนต์และส่งบทเพลงอวยพรวันเกิดข้ามทวีปผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ไปยังนครดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

ผู้นำพรรคที่มีคะแนนเสียงเป็นอันดับ 1 ในสภา กล่าวกับทักษิณตอนหนึ่งว่า "ประชาชนเรียกร้องให้ท่านกลับมาสานต่อ เพื่อให้ประชาชนลืมตาอ้าปากได้"

ตัวเลข 72 จึงหาได้เป็นเพียงอายุของทักษิณในปีนี้ แต่บรรดาลูกน้องเก่ายังฉวยใช้เป็นเครื่องเตือนความทรงจำต่อ 7 ผลงาน ใน 2 รัฐบาล (2544-2549) และเผยแพร่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ คล้ายเป็นการส่งสัญญาณว่า พท. จะชูทักษิณเป็นจุดขายหลังจากนี้

หัวหน้า เลขา และ ส.ส. เพื่อไทยในสภา

ที่มาของภาพ, ฝ่ายประชาสัมพันธ์ รัฐสภา

คำบรรยายภาพ, หัวหน้า เลขา และ ส.ส. เพื่อไทยในสภา

หมอเลี้ยบ ซึ่งถูกตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต ไม่ขอตอบแทนคณะกรรมการบริหาร พท. แต่เท่าที่พูดคุยกับเพื่อนมิตรซึ่งมีสถานะที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค ทำให้ทราบว่าทิศทางของพรรคกำลังเปลี่ยนแปลง เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพสังคมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป

ในทัศนะของผู้ร่วมก่อตั้ง ทรท. พ่วงเลขาธิการพรรคพลังประชาชน (พปช.) ประวัติศาสตร์และความศรัทธาของประชาชนต่อนโยบายดั้งเดิมจากยุค ทรท. สู่ พปช. และ พท. เป็น "แต้มต่อ" ให้ พท. แต่ไม่ใช่หลักประกันชัยชนะในสนามเลือกตั้ง เช่นเดียวกับคนรักพี่โทนี่ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะรัก พท. ไปด้วย

สิ่งที่พรรคแกนนำฝ่ายค้านในสภาต้องทำ คือการนำเสนอทางออกจากมหาวิกฤตโควิด-19 แสดงให้เห็นว่าสามารถขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และทำได้จริง ซึ่ง นพ. สุรพงษ์ยอมรับว่า "เพื่อไทยต้องเปลี่ยนอีกมากพอควร กว่าจะไปถึงจุดนั้น"

ส่วนความเคลื่อนไหวของ "นายใหญ่" ในต่างแดน จะเป็นการป้องปราบอดีตลูกพรรค ท่ามกลางกระแสข่าวดูด-ดึง ส.ส. ให้ย้ายขั้วการเมืองหรือไม่นั้น นพ. สุรพงษ์ยอมรับว่า "ได้ยินข่าวอย่างนั้นมาเหมือนกัน" แม้พรรคมีจำนวน ส.ส. มากอันดับ 1 แต่ไม่ได้เป็นรัฐบาลมา 2-3 ปี ความหวั่นไหวของ ส.ส. ย่อมมีแน่ เพราะประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ได้ประโยชน์จากการแจกเงิน อาจจะบอกว่านโยบายของพรรคแกนนำรัฐบาลก็ดีนะ แต่ส่วนตัวคิดว่าสถานการณ์ของรัฐบาลภายใต้มหาวิกฤตกำลังเปลี่ยนไป โดยเฉพาะเมื่อยอดผู้ป่วยหน้าใหม่ทะลุหลักหมื่น และผู้เสียชีวิตสะสมเกิน 4 พันรายแล้ว

"ถามว่ามีคนหวั่นไหวไหม ก็มี แต่ผมว่าเขายังไม่ตัดสินใจอะไรทั้งสิ้น เขารอดูสถานการณ์นับจากนี้จนถึงวันเลือกตั้ง ค่อยตัดสินใจ... ถ้าผมเป็น ส.ส. ในพื้นที่ ผมจะแทงกั๊กก่อน" อดีตคนการเมืองรุ่นพี่ชี้แนะ พร้อมบอกใบ้ว่าผู้แทนฯ ที่หวั่นใจมี "หลักสิบต้น ๆ"

รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้จัดการเลือกตั้งภายใน 45-60 วันในกรณีมีการยุบสภา โดยผู้สมัคร ส.ส. ต้องเข้าสังกัดพรรคอย่างน้อย 30 วันก่อนถึงวันเลือกตั้ง นั่นทำให้บรรดานักเลือกตั้งอาชีพยังมีเวลาตัดสินใจ

"เกราะที่แข็งแกร่งที่สุดของสถาบันฯ"

หากย้อนดูวิกฤตการเมืองในรอบ 2 ทศวรรษ การชุมนุมใหญ่ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจบลงด้วยรัฐประหาร 2549 การชุมนุมใหญ่ของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จบลงด้วยการยุบสภาในอีก 1 ปีหลังจากนั้น และการชุมนุมของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) จบลงด้วยรัฐประหาร 2557

3 วิกฤตที่เกิดขึ้นในอดีต นพ. สุรพงษ์เปรียบเปรยเป็น "หลุมเล็ก ๆ บนถนนทางการเมือง" แต่สำหรับมหาวิกฤตในปัจจุบันที่มีทั้งวิกฤตสุขภาพ วิกฤตเศรษฐกิจ และวิกฤตการเมืองถาโถมเข้ามา เขาเห็นว่ามีสภาพไม่ต่างจาก "ทางขาด" ไปต่อได้ยากมากสำหรับคนที่คิดว่าสามารถกำหนดทิศทางการเมืองให้เป็นไปตามที่ตนต้องการได้

ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนกระจายกำลังกันดูแลพื้นที่ ถ.ราชดำเนิน ระหว่างการชุมนุมของกลุ่ม "รีเด็ม" เมื่อ 20 มี.ค. 2564

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนกระจายกำลังกันดูแลพื้นที่ ถ.ราชดำเนิน ระหว่างการชุมนุมของกลุ่ม "รีเด็ม" เมื่อ 20 มี.ค. 2564

จริงอยู่ที่ พล.อ. ประยุทธ์บริหารสถานการณ์โควิดได้ไม่เป็นที่พึงใจของประชาชน แต่ชนชั้นนำบางส่วนยังเห็นว่านายทหารเก่ารายนี้คือเกราะชั้นดีในการทำหน้าที่ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ นี่เป็นเงื่อนไขสำคัญหรือไม่ที่ทำให้นายกฯ ยังชื่อ ประยุทธ์

"เงื่อนไขอย่างที่ว่าเป็นจริงไหมก็ไม่รู้นะ แต่ผมเชื่อว่าความสุขของประชาชน และ ความเจริญของประเทศ อันนั้นจะเป็นเกราะที่แข็งแกร่งที่สุดของสถาบันฯ ถ้า พล.อ. ประยุทธ์บริหารประเทศไม่ได้ เศรษฐกิจพังพินาศ ประชาชนล้มตาย ผมว่ายิ่งทำให้ความรู้สึกของประชาชนที่สิ้นหวังต่อประเทศชาติหนักหน่วงขึ้น ไม่มีใครทำนายได้ว่ามันจะเกิดอะไรต่อไป หลายคนบอกว่าก็คงก้มหน้าก้มตาไปแบบนี้ อดทนกันไป อาจจะเกิดขึ้นแบบนั้นก็ได้ หรืออาจจะเกิดประเภทคนทนไม่ไหวแล้ว ยอมรับไม่ได้แล้ว ต้องเปลี่ยนแปลงจริง ๆ พร้อมทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง" นพ. สุรพงษ์กล่าว

แกนนำกลุ่มแคร์ ผู้ไร้สถานภาพทางการเมือง ยังส่งสารถึงผู้มีอำนาจทางการเมือง

  • สำหรับพรรคร่วมรัฐบาล : ต้องคิดดี ๆ เพราะไม่ว่าจะช้าหรือเร็วก็ต้องมีการเลือกตั้ง "พรรคร่วมฯ อยากเข้าสู่การเลือกตั้งในความรู้สึกของประชาชนแบบไหน ถ้าทำให้ ประชาชนเจ็บช้ำถึงที่สุด ล้มละลาย จนกระทั่งแทบจะเอาชีวิตไม่รอด ถามว่าการเลือกตั้ง พวกเขาจะยังเลือกพรรคร่วมฯ ไหม"
  • สำหรับพรรคแกนนำรัฐบาล : คนในรัฐบาลมักยุบสภาช้ากว่าที่ควรเป็น ส่วนใหญ่เป็นการยุบเมื่อจวนตัว "ผมเชื่อว่า พล.อ. ประยุทธ์และแกนนำรัฐบาลบางคนอาจรู้สึกว่ารอให้โควิดสงบ มีเงินกู้ปล่อยออกไป เดี๋ยวประชาชนก็กลับมานิยมรัฐบาลเอง ผมบอกเลยว่าไม่ง่ายเพราะปัญหามันฝังราก เงินกู้ 5 แสนล้าน ต่อให้ใช้อย่างมีประสิทธิภาพก็ไม่ไหว ดังนั้นยิ่งยุบช้า ยิ่งเจ็บปวด"
ประชาชนที่เรียกตัวเองว่า "ขบวนการทะลุฟ้า" เรียกร้อให้พรรคภูมิใจไทยถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล โดยนำสติกเกอร์ไปติดทับโลโกของพรรคเมื่อ 30 ก.ค.

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, ประชาชนที่เรียกตัวเองว่า "ขบวนการทะลุฟ้า" เรียกร้อให้พรรคภูมิใจไทยถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล โดยนำสติกเกอร์ไปติดทับโลโกของพรรคเมื่อ 30 ก.ค.

ความเห็นของ นพ. สุรพงษ์ ที่ร่วมด้วยช่วยเร่งให้เกิดการยุบสภา สอดคล้องกับข้อวิเคราะห์ของทักษิณก่อนหน้านี้ว่า การยุบสภามีโอกาสเกิดขึ้นในช่วงปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า แล้วเลือกตั้งอย่างช้า ก.พ. 2565 ทว่าแตกต่างจากความเชื่อของแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลที่มองว่าหากมีการยุบสภา การเลือกตั้งอาจไม่เกิดขึ้นในเร็ววัน เพราะสถานการณ์โรคระบาด

ขณะที่ผู้มีอำนาจยุบสภาอย่าง พล.อ. ประยุทธ์สยบทุกข่าวลือ-ข่าวปล่อยเรื่องการถอดใจ โดยกล่าวว่า "ยังไม่ถึงเวลา" และ "นายกฯ ไม่เคยท้อ เพียงแต่ว่าเสียใจกับคนที่โจมตี"

ความฝันของอดีตผู้นำวัย 72

ไม่ว่าความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจะเกิดขึ้นเมื่อไรและด้วยวิธีใด ชื่อทักษิณจะอยู่ตรงไหนของปลายทางความเปลี่ยนแปลง

"ผมถามในคลับเฮาส์ว่าอะไรคือความฝันที่คุณโทนี่อยากทำและยังไม่ได้ทำบ้าง แกบอกว่าอยากเลี้ยงหลาน ผมคิดว่าความตั้งใจของคุณโทนี่คือกลับบ้านมาเลี้ยงหลาน" นพ. สุรพงษ์บอก

ในนาทีที่ทักษิณร่วงหล่นจากอำนาจในค่ำคืนรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 นพ. สุรพงษ์ ในฐานะโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อยู่กับทักษิณที่มหานครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐฯ

มาวันนี้ "ขุนพลคู่ใจ" ไม่เชื่อว่าทักษิณในวัยเลข 7 อยากมีตำแหน่งแห่งที่ใด ๆ อีก แต่โอกาสกลับเมืองไทยอย่างสงบเพื่อมาเลี้ยงหลาน ก็เป็นไปได้ยากภายใต้การเมืองที่ยังไม่มีบทสรุปชัดเจน

สติธร ธนานิธิโชติ

ที่มาของภาพ, Stithorn Thananithichot

คำบรรยายภาพ, สติธร ธนานิธิโชติ ไม่เชื่อว่าการรีเทิร์นของทักษิณ มีเหตุผลเพียงเพื่อกลับมาเลี้ยงหลาน พร้อมตั้งคำถามว่า "คนเลี้ยงหลานอะไร จะออก CH สัปดาห์เว้นสัปดาห์ พูดเรื่องการเมือง ถ้าจะเลี้ยงหลานจริง น่าจะชวนคุยเรื่องการใช้ชีวิตแบบไลฟ์โค้ช คุยเรื่องเรื่องตาและหลาน แม่และเด็ก"

"กรณีคุณทักษิณ ถ้าต้องมีการทบทวนในแง่การพิจารณาคดีให้ใช้ความยุติธรรมอย่างเต็มที่ ผมว่าคุณทักษิณก็คงพร้อมมาสู้คดีในบรรยากาศที่บ้านเมืองกลับสู่ภาวะปกติ แต่มันจะเป็นอย่างนั้นไม่ได้ ถ้าทิศทางการเมืองยังไม่นำไปสู่จุดนั้น"

สัญญาณบ่งบอกว่า "การเมืองไทยกลับเข้าสู่วิถีปกติ มีประชาธิปไตยที่แท้จริง" จากมุมมองของ นพ. สุรพงษ์คือฝ่ายประชาธิปไตยชนะเลือกตั้งแบบ "แลนด์สไลด์" ด้วยคะแนนเกิน 300 เสียงในสภาล่าง แม้ 250 ส.ว. ยังมีบทบาทเลือกนายกฯ ได้อีกสมัย แต่เชื่อว่าบทบาทจะน้อยมากหาก ส.ส. ฝ่ายประชาธิปไตยจับมือกันอย่างเหนียวแน่น

ความฝันของอดีตผู้นำนอกประเทศ ถูกขานรับขับเคลื่อนด้วยการเปิดแคมเปญ "นำทักษิณกลับไทยสู้โควิด" ในเว็บไซต์ change.org ซึ่งจนถึงวันที่ 31 ก.ค. มีประชาชนร่วมลงชื่อผ่านเว็บไซต์แล้วกว่า 1 หมื่นราย หลัง เพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อชาติ ประกาศล่า 1 แสนชื่อ เพื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อภัยโทษแก่นักโทษการเมืองเพื่อความปรองดองสามัคคีของคนในชาติ ต่อรัฐสภา

ความเคลื่อนไหวทั้งหมดนี้ นพ. สุรพงษ์ปฏิเสธไม่รู้-ไม่เห็น และการกลับบ้านของอดีตนายกฯ ไม่ได้หมายความว่ากลับเพราะมีนิรโทษกรรม

ในทัศนะของ นพ. สุรพงษ์ บทเรียนจากการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดย วรชัย เหมะ ส.ส. สมุทรปราการ พท. เมื่อปี 2556 เป็นสิ่งที่ต้องกลับมาทบทวนและพิจารณากัน และเชื่อว่าการนิรโทษกรรมไม่ง่าย

"ผมว่ามันไม่ง่ายที่บอกว่าอ้าว คุณมีความผิด นิรโทษกรรมให้ คุณไม่มีความผิดแล้ว แคร์และเพื่อไทยไม่เคยพูดเรื่องนี้" นพ. สุรพงษ์สยบข่าวลือ ยุติความเข้าใจว่าเครือข่ายทักษิณจะเดินเกมซ้ำรอยเดิมที่ทำให้รัฐบาลน้องสาวถูกรัฐประหาร