โควิด-19 : ซิโนแวค การทูตวัคซีนของจีน กับการเปลี่ยนภาพ "ผู้ร้าย" เป็น "ผู้ให้"

มือกำลังใช้เข็มฉีดยาดูดวัคซีนออกจากขวด ฉากหลังเป็นธงชาติจีน

ที่มาของภาพ, Reuters

15 พ.ค. 2564 เพจเฟซบุ๊ก "ศูนย์ข้อมูล COVID-19" ของรัฐบาลไทย เผยแพร่ภาพการลำเลียงลังวัคซีนซิโนแวคลงจากเครื่องบินสู่พื้น พร้อมข้อความบรรยายว่า

"หลังจากวัคซีนซิโนแวคจำนวน 500,000 โดส ที่รัฐบาลจีนบริจาคให้ประเทศไทยได้ส่งมาถึงกรุงเทพฯ เมื่อวานแล้ว ในวันที่ 15 พฤษภาคม จีนได้ส่งออกวัคซีนซิโนแวคชุดล่าสุด อีกจำนวน 500,000 โดส มาถึงกรุงเทพฯ โดยปัจจุบันจีนได้ส่งออก และ บริจาควัคซีนให้ประเทศไทยแล้วจำนวน 7 ชุด รวมทั้งสิ้น 4.5 ล้านโดส"

จนถึง 21 พ.ค. โพสต์นี้มีผู้เข้ามากดไลก์ 5.1 พันไลก์ มีผู้แชร์ต่อ 275 ครั้ง ถือเป็นยอดที่สูงทีเดียวสำหรับเพจนี้ที่จัดการโดย กรมประชาสัมพันธ์ ที่นำเนื้อหาและภาพมาจาก เพจเฟซบุ๊กของสถานทูตเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย

ล่าสุดเมื่อ 20 พ.ค. เพจเฟซบุ๊กของสถานทูตจีน รายงานว่า รัฐบาลจีนจะบริจาควัคซีนอีกจำนวน 500,000 โดสให้แก่รัฐบาลไทยและพร้อมจัดส่งให้ถึงประเทศไทยโดยเร็วที่สุด โดยอ้างถ้อยแถลงของ นายหยาง ซิน อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยว่า "เพื่อสนับสนุนรัฐบาลไทยและประชาชนชาวไทยในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19"

วัควีนจีนส่งถึงไทย

ที่มาของภาพ, FACEBOOK/Chinese Embassy Bangkok

คำบรรยายภาพ, สถานทูตจีนประจำประเทศไทย โพสต์ภาพทางเฟซบุ๊กพร้อมข้อความระบุว่า จีนได้ส่งออกวัคซีนซิโนแวคชุดล่าสุดอีกจำนวน500,000 โดสมาถึงกรุงเทพฯ

เพจของสถานทูตระบุว่า จนถึง 20 พ.ค. จีนได้ส่งออกและบริจาควัคซีนให้แก่ประเทศไทยแล้วจำนวน 8 ชุด รวมทั้งสิ้น 6 ล้านโดส และตอกย้ำคำขวัญที่ทางการไทยมีไว้เชิญชวนคนไทยให้ไปฉีดวัคซีนว่า "วัคซีนที่ดีที่สุด คือวัคซีนที่ฉีดได้เร็วที่สุด" ขณะที่คนไทยจำนวนหนึ่งยังสงสัยถึงประสิทธิผลของวัคซีนจากจีนและผลกระทบต่อสุขภาพหลังการฉีด

ประเทศแรกของโลกที่พบเชื้อโควิดนอกจีน

นับตั้งแต่ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่แพร่กระจายในตลาดสดเมืองอู่ฮั่นเมื่อปลายปี 2562 จนแพร่กระจายไปทั่วโลก คร่าชีวิตคนไปแล้วกว่า 3.45 ล้านคน (ณ 21 พ.ค. 2564) ชาติในอาเซียนที่ติดต่อไปมาหาสู่กันอย่างใกล้ชิดกับจีน กลายเป็นชาติแรก ๆ ที่ได้รับเชื้อร้ายนี้ เริ่มจากไทย ที่ประกาศว่าพบผู้ป่วยโควิด-19 รายแรกในประเทศ เป็นผู้หญิงจากอู่ฮั่น เมื่อ 13 ม.ค. 2563 ตามมาด้วย เวียดนามที่ประกาศพบผู้ติดเชื้อรายแรกเมื่อ 23 ม.ค., กัมพูชา พบผู้ป่วยคนแรกเมื่อ 27 ม.ค. จากนั้นอีกสองเดือน ลาวจึงประกาศการพบผู้ป่วยรายแรกเมื่อ 14 มี.ค. และ เมียนมาประกาศว่าพบผู้ติดเชื้อรายแรกเมื่อ 23 มี.ค.

ลุกลามทั่วโลก กระทบเศรษฐกิจถ้วนหน้า

แต่เมื่อการระบาดแพร่ไปทั่วโลก รัฐบาลนานาประเทศใช้มาตรการปิดพรมแดน ปิดธุรกิจต่างๆ เพื่อป้องกันการรวมตัวของผู้คนเพื่อลดการระบาดให้เร็วที่สุด ขณะที่รอการพัฒนาวัคซีน ผลกระทบทางเศรษฐกิจนั้นรุนแรงมากทั่วโลก รวมทั้งเพื่อนบ้าน 5 ชาติในอาเซียนที่ใกล้ชิดกับพญามังกรต่างอยู่ในภาวะย่ำแย่มากน้อยต่างกัน ที่หนักที่สุดคือ ไทย ที่ การเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2563 หดตัวถึง 6.1% กัมพูชา หดตัว 3.1% ลาว หดตัว 2.5% อีกสองประเทศที่เหลือยังพอโตได้ โดยเมียนมา โต 1.8% และ เวียดนามที่ 2.3%

เจ้าหน้าที่กำลังเตรียมฉีดวัคซีนซิโนแวคของจีนให้กับประชาชน ที่ศูนย์วัคซีน สถานีกลางบางซื่อ กรุงเทพฯ 24 พ.ค.

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, เจ้าหน้าที่กำลังเตรียมฉีดวัคซีนซิโนแวคของจีนให้กับประชาชน ที่ศูนย์วัคซีน สถานีกลางบางซื่อ กรุงเทพฯ 24 พ.ค.

ทว่า เมื่อเทียบกับประเทศในโลกตะวันตกแล้ว ผลกระทบทางเศรษฐกิจในประเทศพัฒนาแล้วเหล่านี้ดูร้ายแรงกว่า และสร้างความรู้สึกของประชาชนต่อประเทศจีนไปในทางที่ติดลบยิ่งจนเกิดกระแสความเกลียดชังชาวเอเชียในสหรัฐอเมริกา

ตุลาคม 2563 ศูนย์วิจัยพิว (Pew Research Center) ในสหรัฐฯ เปิดเผยผลสำรวจความเห็นของประชาชนใน 14 ประเทศพัฒนาแล้วในทวีปออสเตรเลีย อเมริกาเหนือ ยุโรป และเอเชียว่าต่อแนวทางการรับมือโควิด-19 ของจีน พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามถึง 61% ไม่พอใจในเรื่องนี้

พลิกวิกฤตเป็นโอกาส

ทว่า สำหรับ 5 ประเทศแผ่นดินใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ไทย-เมียนมา-ลาว-กัมพูชา-เวียดนาม) แล้ว พวกเขามีปฏิกริยาต่อจีนในเชิงให้กำลังใจ และ พร้อมจะร่วมมือกับจีนในการแก้วิกฤตนี้ แทนที่จะเรียกร้องให้จีนรับผิดชอบต่อการเป็นต้นตอของปัญหา

บทวิเคราะห์ชื่อ "การสู้กับ โควิด-19: โอกาสด้านการใช้พลังอ่อนของจีนในผืนแผ่นดินใหญ่ของ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ " (Fighting COVID-19: China's Soft Power Opportunities in Mainland Southeast Asia) โดย สถาบันวิจัยศึกษาด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ISEAS Yusof Ishak ในสิงคโปร์ ระบุว่า จีนซึ่งเป็นต้นตอของการระบาดใหญ่ของทั้งโลกได้ฉวยโอกาสพลิกบทจาก "ผู้ร้าย" ให้ตัวเองกลายเป็น "พระเอก" โดยใช้ "พลังอ่อน" (soft power) ผ่านการทุ่มทุนด้านการทูตสาธารณสุข หรือ เรียกว่า การทูตวัคซีน โดย พื้นที่ที่จีนทำแล้วประสบความสำเร็จอยู่ใน 5 ประเทศบนผืนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งเปรียบเหมือน "หลังบ้าน" ของจีนนั่นเอง

ของในตู้ที่ส่งมาทางเครื่องบิน

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, วัคซีนซิโนแวคของจีนส่งถึงอินโดนีเซียเมื่อ 30 เม.ย. ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ผลสำรวจล่าสุดของ สถาบัน ISEAS Yusof Ishak ที่ถูกอ้างในบทวิเคราะห์นี้ ระบุว่าประชาชนใน 10 ชาติอาเซียนมองว่าจีนเป็นประเทศที่ทุ่มทุนช่วยเหลืออาเซียนมากที่สุดในช่วง วิกฤตโควิดในปี 2563

เชง วันนะริด ชาวกัมพูชา ที่เขียนบทวิเคราะห์นี้ สรุปว่า จีนได้วางยุทธศาสตร์การแก้ภาพลักษณ์ที่ตกต่ำจากวิกฤตโควิด-19 ด้วยการใช้กลุ่มประเทศ "หลังบ้าน" เหล่านี้ เป็นพื้นที่ดำเนินนโยบาย หลังสร้างฐานพลังอ่อนไว้ในภูมิภาคนี้อย่างแน่นหนา ประเทศเหล่านี้พึ่งพิงจีนอย่างมากในการพัฒนาเศรษฐกิจของตน ทั้งด้าน วัตถุดิบ เศรษฐกิจ การลงทุน ต้นทุนทางวัฒนธรรม และนวัตกรรมทางเทคโนโลยี จีนจึงไม่รีรอที่จะพลิกวิกฤต ให้เป็นโอกาสในการขยายพลังอ่อนในแผ่นดินใหญ่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านการทูตสาธารณสุขและการทูตวัคซีน

จีนทำอะไรบ้าง

ตั้งแต่เกิดการระบาดในชาติอาเซียน จีนจัดส่งเวชภัณฑ์ที่จำเป็น เช่น หน้ากากอนามัย ชุดป้องกันสำหรับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และคณะแพทย์ ไปประเทศในภูมิภาค นอกจากรัฐบาลแล้ว ภาคเอกชนจีนที่ลงทุนอย่างมากในประเทศเหล่านั้นก็ร่วมบริจาคช่วยแก้วิกฤต

เชง วันนะริธ บอกว่า จีนเพิ่มการรับรู้ของสังคมต่อการช่วยเหลือเหล่านี้ ด้วย การรณรงค์ด้านข้อมูลข่าวสารขนานใหญ่ สถานทูตจีน สื่อทางการจีน และ บรรดาสำนักวิจัยต่าง ๆ ร่วมไม้ร่วมมือกันอย่างเป็นระบบในการสร้างภาพลักษณ์ที่ดี สถานทูตจีนขยันขันแข็งอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนในการแจกข่าวการช่วยเหลือของจีนด้านโควิด -19 บวกกับ การขอให้ทั่วโลกเป็นหนึ่งเดียวกันในการสู้โควิด

ด้านสื่อทั้งหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ ของทางการจีนที่ออกอากาศไปทั่วโลกก็เปิดส่วนรายงานพิเศษว่าด้วยการสู้รบโควิดของจีนซึ่งล้วนเป็นข่าวที่ให้ภาพจีนทางบวกทั้งสิ้น

แต่จีนก็ต้องทำงานหนักในการสร้างภาพลักษณ์ต่อไป เพราะถ้าดูภาพลักษณ์โดยรวมของจีนในผลสำรวจประจำปีของ ISEAS ที่ชื่อว่า The State of Southeast Asia: 2021 Survey Report ปรากฏว่าพลเมืองอาเซียนมองภาพลักษณ์โดยรวมของจีนแย่ลง ตั้งแต่ความไว้วางใจกลุ่มพลเมืองอาเซียนไม่ไว้วางใจจีนเพิ่มขึ้นเป็น 63% ในปี 2021 จาก 60 % ในปี 2020 เมื่อพูดถึงปัญหาทะเลจีนใต้ เรื่องที่จีนเสริมกำลังทหารและมีพฤติกรรมแข็งกร้าว เป็นประเด็นที่พวกเขาห่วงใยเป็นอันดับหนึ่งถึง 62.4 % อันดับสองก็คือการที่จีนเข้าไปรุกคืบในเกาะแก่งของทะเลจีนใต้ มีจำนวนถึง 59.1% และ ในส่วนของความเห็นเรื่องอิทธิพลทางเศรษฐกิจ คน 76.3 % ให้ จีนเป็นประเทศอันดับหนึ่ง แต่คน 72.3 % ในกลุ่มนี้เองก็กังวลที่ ประเทศตนเองพึ่งพาจีนจนเกินพอดี

กัมพูชาและลาว มิตรที่ใกล้ชิดที่สุด

นักวิชาการกัมพูชาผู้เขียนรายงานฉบับนี้วิเคราะห์ว่า จีนได้แยก 5 ประเทศหลังบ้านของตัวเองออกเป็น 3 กลุ่ม ตามความไว้วางใจทางยุทธศาสตร์ และการเป็นหุ้นส่วนกัน ดังนี้ คือ 1. ลาว+กัมพูชา 2. เมียนมา+ไทย 3.เวียดนาม

เจ้าหน้าที่ฉีดวัคซีนให้ผู้หญิง ในกรุงพนมเปญ กัมพูชา

ที่มาของภาพ, Reuters

ลาว และกัมพูชา ถือว่า แนบแน่นที่สุด ทั้งคู่เป็นผู้สนับสนุนหลักต่อการริเริ่มด้านพหุภาคีภูมิภาคที่จีนเริ่มต้น เช่น ความร่วมมือแม่น้ำล้านช้าง-แม่โขง ( Lancang-Mekong Cooperation หรือ LMC ) และ ความริเริ่มแถบและเส้นทาง ( Belt and Road Initiative หรือ BRI )

กัมพูชานั้น แสดงตัวเข้าข้างจีนอย่างเปิดเผย เห็นได้จากเมื่อ ก.พ. 2563 นายกรัฐมนตรีฮุนเซน ของกัมพูชา บินไปหา ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เพื่อสนับสนุนการสู้โควิด-19 ขณะที่ทั่วโลกต่อว่าจีนที่เป็นต้นเหตุของโรคนี้ ฮุนเซนบอกว่า กัมพูชาจะยืนหยัดเคียงข้างจีนในทุกสถานการณ์เพื่อร่วมต่อสู้กับวิกฤตโรคระบาด ในเวลาต่อมา ช่วงต้นปี 2564 กัมพูชาได้รับวัคซีน 1.3 ล้านโดสจากจีน

ลาวเองก็แสดงออกอย่างเปิดเผยว่า ชื่นชมกับการให้ความช่วยเหลือของจีนในเรื่องโควิด-19 โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และ การให้เวชภัณฑ์ บุญยัง วอละจิต อดีตประธานประเทศ กล่าวชื่นชมความช่วยเหลือจากจีนว่า สะท้อน "มิตรภาพใกล้ชิดที่ยืนยาว...และแสดงให้เห็นถึงจิตวิญญาณของประชาคมจีน-ลาวที่มีอนาคตร่วมกัน" ต่อมา ในเดือนกุมภาพันธ์ ลาวได้รับวัคซีน 3 แสนโดสจากจีน

เมียนมาและไทย ใกล้ชิดแต่ยังสงวนท่าที

ท่าทีของรัฐบาลเมียนมาตามรายงานของ ISEAS เป็นท่าทีของรัฐบาลก่อนจะถูกรัฐประหาร ซึ่ง ประธานาธิบดีวิน มินต์ ในขณะนั้น ชื่นชมต่อการช่วยเหลือของจีนต่อเมียนมา พร้อมทั้งแสดงความหวังในการร่วมมือเพื่อเป็นประชาคมที่มีอนาคตร่วมกัน

ขวดวัคซีนซิโนฟาร์มของจีน

ที่มาของภาพ, EPA

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์เมียนมาหลายคนได้ออกมาเตือนว่า การช่วยเหลือของจีนนั้น น่าจะมาพร้อมการพยามสร้างอิทธิพลทางการเมืองและเศรษฐกิจต่อเมียนมาจนมากเกินไป ปรากฏว่า หลังรัฐประหารจีนส่งวัคซีนให้รัฐบาลทหารเมียนมา 5 แสนโดส เทียบกับก่อนรัฐประหาร จีนสัญญากับ นางออง ซาน ซู จี มนตรีแห่งรัฐ ว่าจะมอบวัคซีนให้ 3 แสนโดส

สำหรับไทยนั้น ผู้นำไทยแสดงออกว่า ความสัมพันธ์ทวิภาคีจะยิ่งเข้มแข็งมากขึ้นหลังวิกฤตโควิดจบลงแล้ว ซึ่งไทยซื้อและรับบริจาค วัคซีนซิโนแวคจากจีนรวมแล้ว 6 ล้านโดส (ณ 20 พ.ค. 2564)

อย่างไรก็ตาม ประชาชนไทยจำนวนหนึ่ง แสดงความไม่ไว้ใจประสิทธิผลของวัคซีนจีนอย่างเปิดเผยตามสื่อสังคมออนไลน์ มีการส่งต่อผลข้างเคียงหลังการฉีดวัคซีนไปตามสื่อต่าง ๆ จนกระทั่งยอดการจองฉีดวัคซีนในเดือนพฤษภาคมไม่มากอย่างที่รัฐบาลตั้งความหวังไว้

เวียดนามระวังตัวมากที่สุด

เวียดนามนั้นระมัดระวังตัวที่สุดในการสัมพันธ์กับจีนเรื่องการรับความช่วยเหลือ เพราะมีข้อขัดแย้งเรื่องทะเลจีนใต้ที่ยังไม่คลี่คลาย และความรู้สึกต้านจีนในหมู่ประชาชน ดังนั้น ผู้นำเวียดนามจึงต้องรักษาสมดุลไม่ให้การช่วยเหลือจากจีนเข้ามามากเกินไปจนมีอิทธิพลให้เวียดนามเสียเปรียบในการเจรจาความเมืองระหว่างประเทศ

คำบรรยายวิดีโอ, โควิด-19: เรารู้อะไรบ้างเกี่ยวกับวัคซีนของซิโนฟาร์มและซิโนแวคจากจีน

ดังนั้น ในฉากหน้า ผู้นำเวียดนามได้ออกมาชื่นชมจีนในการสู้กับวิกฤตโควิด 19 นายกรัฐมนตรีเหงวียน ซวน ฟุก กล่าวเมื่อ มกราคม 2564 ว่าการที่จีนมีบทเรียนจากการรับมือโรคซาร์ส ในอดีตจะเป็นปัจจัยสำคัญทำให้จีนสามารถเอาชนะโรคโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม มีรายงานข่าวออกมาที่แสดงถึงความไม่ไว้ใจที่เวียดนามมีต่อจีน เชง วันนะริธ บอกว่า มีรายงานข่าวในสื่อญี่ปุ่นว่า เจ้าหน้าที่เวียดนานคนหนึ่งบอกว่า "เมื่อรัฐบาลจีนไม่ยอมให้ตัวเลขที่แท้จริงกับเรา ดังนั้นเราจึงไม่เชื่อสิ่งที่พวกเขาบอกเราอย่างง่าย ๆ"

และเมื่อจีนเสนอให้ วัคซีน กับ ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ปรากฏว่า เวียดนามเป็นประเทศเดียวในหมู่ห้าประเทศหลังบ้านของจีนที่ประกาศไม่รับวัคซีนจีน โดยอ้างว่า จะรับจากโครงการ COVAX (ก่อตั้งเมื่อ เม.ย. 2020 เพื่อสนับสนุนการพัฒนา จัดซื้อ และส่งวัคซีนไปยังกว่า 180 ประเทศทั่วโลก โดยมีองค์การอนามัยโลกเป็นผู้นำ ร่วมกับองค์กรพันธมิตร) และจะพัฒนาวัคซีนในประเทศของตัวเอง

จีนสำเร็จแต่ไม่ 100%

เชง วันนะริธ สรุปว่า จีนก็ประสบความสำเร็จพอควรทีเดียวกับการพลิกวิกฤตโควิด-19 ให้เป็นโอกาสขยายพลังอ่อนของตัวเองใน ภูมิภาคแผ่นดินใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยการให้วัคซีน ให้เวชภัณฑ์ ส่งทีมแพทย์ โดยภาพลักษณ์ที่ดีนั้นจะอยู่ในหมู่ผู้นำประเทศ

อย่างไรก็ตาม คนจำนวนหนึ่งยังมองว่า จีนไม่ได้ช่วยเพราะบริสุทธิ์ใจ แต่มุ่งหวังผลทางยุทธศาสตร์ต่างประเทศของตัวเอง และถ้าหากจีนแผ่ขยายอิทธิพลมากเกินไป โดยเฉพาะการวางอำนาจในเรื่องเขตแดนในอนาคต ผู้ขียนรายงานเตือนว่า จีนอาจพบแรงสะท้อนกลับเชิงลบที่คาดไม่ถึง