ราษฎร: ศาลให้ประกันตัว เพนกวิน-แอมมี่ เลื่อนไต่สวนคำร้องขอปล่อยชั่วคราวไมค์

เพนกวิน-พริษฐ์

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ,

เพนกวิน-พริษฐ์ สวมใส่เสื้อยืดสีขาว เขียนข้อความด้วยปากกาว่า "ยกเลิก 112 ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์" ในวันได้รับอิสรภาพกลับคืนมา ช่วงหัวค่ำ 11 พ.ค.

เพนกวิน-พริษฐ์ และ แอมมี่-ไชยอมร สองแกนนำ "ราษฎร" ซึ่งตกเป็นจำเลยคดี 112 ได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครแล้ว หลังจากศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตปล่อยชั่วคราววันนี้ (11 พ.ค.) โดยทั้งคู่ได้แถลงยอมรับเงื่อนไข "ไม่กระทำการอันเป็นที่เสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์"

บรรยากาศที่ด้านหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มีมวลชนกลุ่มหนึ่งไปรอต้อนรับ หนึ่งในนั้นคือ รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง ที่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยนายไชยอมร เดินทางออกจากเรือนจำเมื่อเวลาประมาณ 20.50 น. ขณะที่นายพริษฐ์ ออกมาเมื่อเวลาประมาณ 21.20 น. โดยมีรถโรงพยาบาลวิภาวดีไปรับตัว ซึ่งครอบครัวระบุว่าจะนำตัวไป รักษาอาการเหนื่อยล้าจากการอดอาหาร และโรคประจำตัว

นี่เป็นครั้งแรกในรอบหลายเดือนที่สาธารณชนมีโอกาสเห็นหน้าเพนกวินหลังอดอาหารนาน 57 วัน โดยนักศึกษาหนุ่มสวมใส่เสื้อยืดสีขาว เขียนข้อความด้วยปากกาว่า "ยกเลิก 112 ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์" พร้อมชูสัญลักษณ์ 3 นิ้วให้กับประชาชนที่มารอคอยต้อนรับการได้รับอิสรภาพกลับคืน

อย่างไรก็ตามได้เกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นเล็กน้อย เมื่อตำรวจ สภ.เมืองร้อยเอ็ด ได้แสดงหมายเข้าจับกุมนายพริษฐ์ ในระหว่างเตรียมออกจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

นายนรเศรษฐ นาหนองตูม ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษชน เป็นผู้เปิดเผยเรื่องนี้ผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัว ทว่าต่อมา ตำรวจ สภ.เมืองร้อยเอ็ด อนุญาตให้ประกันตัวในชั้นสอบสวน ในวงเงินประกัน 2 แสนบาท โดยใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์ ทำให้เพนกวินได้รับการปล่อยตัว

แอมมี่-ไชยอมร

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ,

แอมมี่-ไชยอมร ชูสามนิ้วให้มวลชนที่ไปรอต้อนรับอยู่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

เช้าวันนี้ (11 พ.ค.) ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ไต่สวนคำร้องขอปล่อยชั่วคราว นายไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือแอมมี่ เดอะบอตทอมบูลส์ เป็นรายแรก จากนั้นในช่วงบ่าย เป็นการไต่สวนคำร้องขอปล่อยชั่วคราว นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน จนเสร็จสิ้นในเวลา 14.00 น. ก่อนพักการพิจารณา ทว่าผ่านไป 4 ชม. ศาลไม่ได้กลับมาขึ้นบัลลังค์เพื่อไต่สวนคำร้องขอประกันตัวนายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ ระยอง แต่อย่างใด แม้มีการเบิกตัวจำเลยมาศาลแล้วก็ตาม

กระทั่งเวลา 18.10 น. ศาลแจ้งเลื่อนนัดการไต่สวนคำร้องขอปล่อยชั่วคราวของนายภาณุพงศ์ออกไปก่อน โดยให้เหตุผลว่าศาลได้รับแจ้งจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ว่าการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ไม่พบเชื้อ ทว่าเป็นการตรวจตั้งแต่ 6 พ.ค. ซึ่งมีระยะห่างจากวันปัจจุบันมากเกินไป อีกทั้งจำเลยคลุกคลีกับผู้ติดเชื้อ เป็นอันตรายต่อบุคคลที่เกี่ยวข้อง จึงเห็นควรให้เลื่อนไปรอฟังผลการตรวจโควิดรอบใหม่ก่อน หากศาลได้รับแจ้งผลจากทางเรือนจำเมื่อใด จึงจะกำหนดนัดไต่สวนคำร้องขงจำเลยต่อไป

เพนกวิน และไมค์ ตกเป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นสถาบันฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ยุยงปลุกปั่นฯ ตามมาตรา 116 และอีกหลายข้อหา จากกรณีชุมนุมเมื่อ 19-20 ก.ย. 2563 ซึ่งมีจำเลยรวม 22 คน แต่มีอยู่ 7 คนถูกตั้งข้อหามาตรา 112 และไม่ได้ประกันตัวในระหว่างการพิจารณาคดีในวันที่อัยการส่งฟ้อง

ในคดีเดียวกันนี้ แอมมี่เป็นจำเลยในความผิดตามมาตรา 116 และมาตรา 215ได้ประกันตัว แต่ในเวลาต่อมา ศิลปินกลุ่มราษฎรรายนี้ถูกจับกุมและคุมขังภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ระหว่างการฝากขังของพนักงานสอบสวน คดีเผาพระบรมฉายาลักษณ์หน้าเรือนจำกลางคลองเปรม เมื่อ 28 ก.พ. 2564 ซึ่งนำไปสู่การตั้งข้อหาตามมาตรา 112, วางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 217 และพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คอมพิวเตอร์

มารดาของเพนกวิน (ซ้าย) และมารดาของแอมมี่ เดินทางถึงศาลอาญาช่วงเช้าวันที่ 11 พ.ค. เพื่อรอฟังการไต่สวนของศาล

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ,

มารดาของเพนกวิน (ซ้าย) และมารดาของแอมมี่ เดินทางถึงศาลอาญาช่วงเช้าวันที่ 11 พ.ค. เพื่อรอฟังการไต่สวนของศาล

เพนกวิน-แอมมี่ แถลงรับ 3 เงื่อนไข

การไต่สวนคำร้องขอประกันตัวเพนกวิน และแอมมี่ ถูกเลื่อนมาจากนัดหมายเดิมเมื่อ 6 พ.ค. ซึ่งในวันนั้นศาลไม่ได้เบิกตัวทั้งคู่มาขึ้นศาล หลังได้รับแจ้งจากกรมราชทัณฑ์ว่ายังกักตัวไม่ครบ 14 วันตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเพนกวินและแอมมี่ถูกคุมตัวอยู่ในห้องเดียวกับนายชูเกียรติ แสงวงค์ หรือที่รู้จักในชื่อ "จัสติน" แนวร่วมกลุ่มราษฎร จำเลยคดี 112 ซึ่งได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อโควิด-19 เมื่อ 24 เม.ย. ทำให้ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงทั้งหมดต้องกักตัวระหว่างวันที่ 24 เม.ย.-7 พ.ค. ศาลจึงเลื่อนการไต่สวนคำร้องของ 2 จำเลย มาเป็นวันนี้

ในระหว่างการไต่สวน ทั้งเพนกวิน และแอมมี่ ต่างแถลงยอมรับเงื่อนไขการประกันตัวแบบเดียวกับที่แกนนำ/แนวร่วม "ราษฎร" อื่น ๆ เคยยอมรับก่อนหน้านี้ แล้วทำให้ได้อิสรภาพกลับคืนมา โดยมีสาระสำคัญ 3 ข้อ ประกอบด้วย 1. จะไม่กระทำการใด ๆ ที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ 2. ไม่เดินทางออกนอกประเทศ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาลก่อน และ 3. จะเดินทางมาศาลทุกครั้งตามนัดหมาย พร้อมแต่งทนายความในคดีแล้ว

ขณะที่สื่อหลายสำนัก อาทิ มติชน และไทยรัฐ รายงานตรงกันเกี่ยวกับคำแถลงกลางศาลของแกนนำราษฎร โดยนายไชยอมรระบุตอนหนึ่งว่า ที่ผ่านมาไม่เคยหลบหนี ส่วนการเดินทางไป จ.พระนครศรียุธยา เนื่องจากไปพักผ่อน แต่งเพลง และทำธุรกิจ โดยจะเดินทางไปเฉลี่ยเดือนละ 2-3 ครั้ง ขณะที่ถูกจับก็เดินทางไปพักผ่อน ไม่ได้หลบหนี

แกนนำราษฎร

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

ขณะที่ทนายความจำเลยได้สอบถามนายพริษฐ์ว่าจะยอมรับเงื่อนไขไม่เข้าร่วมกิจกรรมใด ๆ ที่อาจจะก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองด้วยหรือไม่ เพนกวินจึงขอซักถามและหารือกับทนายความประมาณ 5 นาที

ศาลจึงระบุว่า การชุมนุมเรียกร้องตามสิทธิภายใต้รัฐธรรมนูญสามารถกระทำได้อยู่แล้ว นายพริษฐ์จึงแถลงยืนยันว่าที่ผ่านมาได้ชุมนุมอย่างสงบ สันติ และปราศจากอาวุธ และจะเข้าร่วมเฉพาะกิจกรรมที่สงบสันติ จะไม่ไปเข้าร่วมกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง

ด้านอัยการโจทก์ได้ถามค้านเพนกวิน เกี่ยวกับเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราวว่ารวมถึงการกระทำใด ๆ ในพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์ที่เพนกวินเป็นผู้ดูแลด้วยหรือไม่ นายพริษฐ์ตอบว่า ไม่เคยใช้สื่อออนไลน์สร้างความเสื่อมเสียต่อสถาบันฯ

ศาลอนุญาตให้สื่อมวลชนเพียง 3 สำนักเข้ารับฟังการไต่สวนผ่านระบบวิดีโอคอนฟีเรนซ์ เนื่องจากห้องมีขนาดเล็ก และต้องปฏิบัติตามมาตรการลดความเสี่ยงช่วงการระบาดของโควิด-19

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานในชั้นไต่สวนคำร้องขอปล่อยชั่วคราวของนายพริษฐ์ และนายไชยอมรแล้วเห็นว่า "ถือได้ว่าพฤติการณ์แห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป" จึงอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว โดยตีราคาประกันคดี 2 แสนบาทสำหรับนายพริษฐ์ และตีราคาประกัน 2 คดี รวม 2.5 แสนบาทสำหรับนายไชยอมร พร้อมกำหนดเงื่อนไขไว้ว่า 1. ห้ามกระทำการใดในลักษณะเช่นเดียวกับที่ถูกกล่าวหาตามฟ้องอันเป็นที่เสื่อมเสียแก่สถาบันพระมหากษัตริย์ หรือเข้าร่วมกิจกรรมใดที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายภายในบ้านเมือง 2. ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากศาล และ 3. ให้มาตามกำหนดนัดโดยเคร่งครัด

3 เดือน "ที่หายไป" ของเพนกวิน

9 ก.พ. เพนกวินถูกคุมขังภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ พร้อมแกนนำราษฎรชุดแรกอีก 3 คน ได้แก่ นายอานนท์ นำภา, นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และนายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือหมอลำแบงค์ หลังศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว

15 มี.ค. ในระหว่างศาลนัดตรวจพยานหลักฐานคดี 19 ก.ย. เพนกวินได้แถลงการณ์กลางศาลว่าจะอดอาหารเพื่อประท้วงทวงสิทธิประกันตัว

พริษฐ์ ชิวารักษ์ 1 ใน 22 จำเลยคดีชุมนุม "19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร" ชูสามนิ้วขณะที่เดินทางจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาถึงศาลอาญาเมื่อ 15 มี.ค.

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ,

พริษฐ์ ชิวารักษ์ 1 ใน 22 จำเลยคดีชุมนุม "19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร" ชูสามนิ้วขณะที่เดินทางจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาถึงศาลอาญาเมื่อ 15 มี.ค.

16 ก.พ. เพนกวินเริ่มอดอาหารประท้วงวันแรก

22 มี.ค. ศาลสั่งกักขังเพนกวินเป็นเวลา 15 วัน ในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล (จากกรณียืนแถลงการณ์บนเก้าอี้ภายในห้องพิจารณาคดี) ทำให้เขาต้องแยกจากเพื่อน ๆ เพราะถูกย้ายไปสถานกักขังปทุมธานี

6 เม.ย. เพนกวินถูกนำตัวกลับมาคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ อีกครั้ง

28 เม.ย. ทนายความเปิดเผยกับสื่อมวลชน โดยอ้างคำบอกเล่าของเพนกวินในระหว่างเข้าเยี่ยมที่ว่าขับถ่ายเป็นชิ้นเนื้อสีดำทั้งที่ไม่ได้รับประทานอาหาร ซึ่งพยาบาลบอกเพนกวินว่า "น่าจะเป็นเนื้อเยื่อของกระเพาะอาหารที่ร่างกายย่อยออกมา" ทำให้มารดาของเพนกวินและเพื่อน ๆ เกรงเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต

30 เม.ย. กรมราชทัณฑ์ย้ายเพนกวินออกจากเรือนจำ และส่งตัวเข้าตัวรับการรักษาที่ รพ.รามาธิบดี ซึ่งเป็นวันที่ 45 ของการอดอาหาร ทำให้น้ำหนักลดลงไป 12.5 ก.ก. (ในเวลานั้น)

6 พ.ค. กรมราชทัณฑ์ย้ายเพนกวินออกจาก รพ.รามาธิบดี กลับเข้าเรือนจำ โดยให้เหตุผลว่า "ได้รับการรักษาอาการจนดีขึ้น ร่างกายฟื้นฟูตัวเองได้ สามารถดื่มน้ำเกลือแร่ นม และวิตามินได้เป็นปกติแล้ว แพทย์จึงเห็นควรส่งตัวกลับรักษาที่ทัณฑสถาน รพ.ราชทัณฑ์ ตามระเบียบปฏิบัติของราชทัณฑ์"

11 พ.ค. ศาลไต่สวนคำร้องขอประกันตัวครั้งที่ 10 หลังเพนกวินถูกคุมขังนาน 91 วัน (ถูกคุมขังตั้งแต่ 9 ก.พ. 2564) และอดอาหารนาน 57 วันจนถึงปัจจุบัน

เส้นทางการขอคืนอิสรภาพของกลุ่ม "ราษฎร"

ตลอดเวลา 3 เดือนนับจากแกนนำราษฎรชุดแรกถูกจองจำ มีผู้ต้องหา/จำเลยที่ถูกแจ้งข้อหามาตรา 112 ทั้งจากคดีชุมนุม 19 ก.ย. และคดีอื่น ๆ ทยอยได้รับอิสรภาพคืนกลับมาอย่างน้อย 10 คน หลังยอมรับเงื่อนไข "ห้ามกระทำการเสื่อมเสียแก่สถาบันฯ" ทั้งนี้ศาลตีราคาประกันรายละ 2 แสนบาท ในจำนวนนี้มี 2 รายที่สถานะยังเป็น "ผู้ต้องหา" ถูกสั่งให้ติดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ (กำไลอีเอ็ม) ด้วย

บีบีซีไทยสรุปรายละเอียดไว้ ดังนี้

9 เม.ย. ศาลอาญาอนุญาตปล่อยชั่วคราวนายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือหมอลำแบงค์ จำเลยที่ 3 คดีชุมนุม 19 ก.ย. รวมระยะเวลาถูกคุมขังในเรือนจำ 59 วันก่อนได้รับการปล่อยตัว (ถูกคุมขังตั้งแต่ 9 ก.พ. 2564)

pai somyod

ที่มาของภาพ, ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

23 เม.ย. ศาลอาญาอนุญาตปล่อยชั่วคราวนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข จำเลยที่ 4 และนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน จำเลยที่ 7 คดีชุมนุม 19 ก.ย. รวมระยะเวลาที่นายสมยศถูกคุมขังในเรือนจำ 73 วันก่อนได้รับการปล่อยตัว (ถูกคุมขังตั้งแต่ 9 ก.พ.) และระยะเวลาที่ไผ่ถูกคุมขังในเรือนจำ 46 วันก่อนได้รับการปล่อยตัว (ถูกคุมขังตั้งแต่ 8 มี.ค. 2564)

5 พ.ค. ศาลกาฬสินธุ์อนุญาตปล่อยชั่วคราวนายปิยรัฐ จงเทพ หรือโตโต้ แกนนำกลุ่มการ์ดอาสา "วีโว่" ผู้ต้องหาคดี 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากกรณีจัดทำป้ายวิจารณ์การจัดหาวัคซีนต้านโควิด-19 ของรัฐบาล แต่มีข้อความดูหมิ่นสถาบันฯ เมื่อ 23 ม.ค. รวมระยะเวลาถูกคุมขังในเรือนจำ 60 วันก่อนได้รับการปล่อยตัว (ถูกจับกุมคุมขังตั้งแต่ 6 มี.ค. 2564 ด้วยข้อหาอั้งยี่ ก่อนถูกแจ้งข้อหา 112 เพิ่ม) ทั้งนี้ศาลกำหนดเงื่อนไขให้ติดกำไลอีเอ็มด้วย

6 พ.ค. ศาลอาญาอนุญาตปล่อยชั่วคราว น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง จำเลยที่ 5 คดีชุมนุม 19 ก.ย. รวมระยะเวลาที่ถูกคุมขังในเรือนจำ 59 วันก่อนได้รับการปล่อยตัว (ถูกคุมขังตั้งแต่ 8 มี.ค. 2564)

Protest leader Panusaya "Rung" Sithijirawattanakul, who has spent eight weeks in detention on charges of insulting the country"s king, reacts as she leaves after she was granted bail at the Central Women"s Correctional Institute in Bangkok, Thailand, May 6, 2021

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ,

รุ้งโผเข้าสวมกอดพี่สาวและแม่ พลางกล่าวว่า "นึกว่าจะไม่ได้ออกเสียแล้ว" หลังได้รับการปล่อยตัวออกจากทัณฑสถานหญิงกลาง เมื่อ 6 พ.ค.

7 พ.ค. ศาลอาญาธนบุรีอนุญาตปล่อยชั่วคราว น.ส.วรรณวลี ธรรมสัตยา หรือตี้ พะเยา แกนนำกลุ่ม "ราษฎรเอ้ย" จำเลยคดี 112 จากกรณีปราศรัยเมื่อ 6 ธ.ค. 2563 ที่ลานพระบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราช วงเวียนใหญ่ รวมระยะเวลาที่ถูกคุมขังในเรือนจำ 10 วันก่อนได้รับการปล่อยตัว (ถูกคุมขังตั้งแต่ 27 เม.ย. 2564)

8 พ.ค. ศาลอุทธรณ์ภาค 1 อนุญาตปล่อยชั่วคราว นายพรหมศร วีระธรรมจารี หรือฟ้า แกนนำกลุ่ม "ราษฎรมูเตลู" ผู้ต้องหาคดี 112 จำนวน 4 คดี จากกรณีปราศรัยเมื่อ 14 ม.ค. 2564 ที่หน้าศาลจังหวัดธัญบุรี และกรณีอื่น ๆ รวมระยะเวลาที่ถูกคุมขังในเรือนจำ 54 วันก่อนได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 10 พ.ค. (ถูกคุมขังตั้งแต่ 17 มี.ค. 2564) ทั้งนี้ศาลกำหนดเงื่อนไขให้ติดกำไลอีเอ็มด้วย

9 พ.ค. ศาลอาญากรุงเทพใต้อนุญาตปล่อยชั่วคราว นายสิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ หรือขนุน แกนนำกลุ่ม "มศว คนรุ่นเปลี่ยน" จำเลยคดี 112 จากกรณีปราศรัยเมื่อ 18 พ.ย. 2563 ที่แยกราชประสงค์และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมระยะเวลาที่ถูกคุมขังในเรือนจำ 2 วันก่อนได้รับการปล่อยตัว (ถูกคุมขังตั้งแต่ 7 พ.ค. 2564)

11 พ.ค. ศาลอาญาอนุญาตปล่อยชั่วคราว นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน จำเลยที่ 1 และนายไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือแอมมี่ จำเลยที่ 17 คดีชุมนุม 19 ก.ย. รวมระยะเวลาที่เพนกวินถูกคุมขังในเรือนจำ 91 วันก่อนได้รับการปล่อยตัว (ถูกคุมขังตั้งแต่ 9 ก.พ.) และระยะเวลาที่แอมมี่ถูกจับกุมคุมขังนาน 69 วันก่อนได้รับการปล่อยตัว (ถูกจับกุมตั้งแต่ 3 มี.ค.)

มารดาของทนายอานนท์ ถ่ายภาพกับสแตนดี้บุตรชายที่ถูกจองจำภายในเรือนจำ

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ,

มารดาของทนายอานนท์ ถ่ายภาพกับสแตนดี้บุตรชายที่ถูกจองจำภายในเรือนจำ

ถึงขณะนี้จึงเหลือเพียงนายภาณุพงศ์ และนายอานนท์ นำภา ที่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวในคดี 19 ก.ย..

เช่นเดียวกับนายชูเกียรติ แสงวงค์ หรือจัสติน แนวร่วมราษฎร ที่ยังอยู่ภายในเรือนจำ หลังตกเป็นผู้ต้องหา/จำเลยคดี 112 ในหลายคดี จากกรณีปราศรัยที่แยกราชประสงค์และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อ 18 พ.ย. 2563, กรณีปราศรัยที่วงเวียนใหญ่ เมื่อ 6 ธ.ค. 2563 และกรณีติดป้ายข้อความไม่เหมาะสมบนพระบรมฉายาลักษณ์หน้าศาลฎีกา ถ.ราชดำเนิน เมื่อ 20 มี.ค. 2564

กรมราชทัณฑ์ยืนยันว่า ทนายอานนท์และจัสตินกลายเป็นผู้ป่วยโควิด-19 ในระหว่างถูกคุมขังภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ แต่ทนายอานนท์ได้ย้ายออกไปรักษาตัวที่ รพ.ธรรมศาสตร์ ส่วนจัสตินนอนอยู่ภายใน รพ.ราชทัณฑ์

จับ ไบร์ท-ชินวัตร คดีดูหมิ่นศาล

การไต่สวนคำร้องขอประกันตัว 3 แกนนำราษฎรในวันนี้ (11 พ.ค.) เกิดขึ้นท่ามกลางมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด มีการวางกำลังตำรวจคอยดูแลความสงบเรียบร้อยทั้งภายในพื้นที่ศาลและบริเวณรอบ พร้อมปิดประตูทางเข้า-ออกศาลเกือบทั้งหมด, นำแผงรั้วเหล็กมาวางกั้นพื้นที่ทางเข้าโดยรอบ และยังมีรถฉีดน้ำแรงดันสูง (รถจีโน่) มาจอดเตรียมความพร้อมในพื้นที่ศาลด้วย

ศาลอาญา

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเปิดเผยว่า ศาลได้อนุมัติหมายจับนายชินวัตร จันทร์กระจ่าง หรือไบร์ท แกนนำกลุ่ม "คนรุ่นใหม่นนทบุรี" ในความผิดฐานดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษา และข้อหาอื่น ๆ รวม 6 ข้อหา จากกรณีเปิดปราศรัยบริเวณหน้าศาลอาญาเมื่อ 6 พ.ค. ที่ผ่านมา ทั้งนี้หมายจับออกเมื่อวันที่ 7 พ.ค. โดยมีพนักงานสอบสวน สน.พหลโยธิน เป็นผู้ร้องขอออกหมาย ก่อนแสดงตนเข้าจับกุมไบร์ทเมื่อเวลา 08.30 น. ของวันที่ 11 พ.ค. และยื่นคำร้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางผ่านระบบวิดีโออคนฟีเรนซ์ ขอฝากขังเป็นเวลา 12 วัน ระหว่างวันที่ 11-22 พ.ค.

ศาลพิจารณาแล้วอนุญาตให้ฝากขัง แต่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาระหว่างการสอบสวน โดยตีราคาประกัน 1.5 แสนบาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามก่อความวุ่นวายหรือกระทำกิจกรรมในลักษณะเดียวกับที่ถูกกล่าวหา และห้ามเดินทางออกนอกราชอาญาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล