เพิ่มโทษคดี "ข่มขืน" สูงสุดเป็นประหารชีวิตหรือการบังคับใช้กฎหมาย อะไรคือทางออก

  • ชัยยศ ยงค์เจริญชัย
  • ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
Rape

ที่มาของภาพ, Getty Images

"ข่มขืนเท่ากับประหาร" กลายเป็นแฮชแท็กยอดนิยมในไทย เมื่อเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยเรื่องการกระทำชำเรา เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 และมีผลบังคับใช้ทันที โดยได้เพิ่มโทษการก่อคดีข่มขืนสูงสุดเป็น "ประหารชีวิต" ในกรณีเหยื่อถึงแก่ความตาย และแก้ไขเพิ่มเติมความหมายของคำว่า "กระทำชำเรา" ให้ครอบคลุมมากขึ้น

เสียงเรียกร้องให้เพิ่มบทลงโทษผู้กระทำผิดฐานกระทำชำเรา ข่มขืน ดังขึ้นทุกครั้งเมื่อมีข่าวหญิงหรือชาย ที่มีอำนาจต่อรองต่ำกว่าผู้กระทำต้องตกเป็นเหยื่อ ญาติของผู้เสียหายต้องการให้เกิดความเกรงกลัว ต่อการกระทำผิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งร้ายแรงถึงขั้นที่เหยื่อต้องเสียชีวิต

ถึงแม้ว่าการปรับแก้กฎหมายการกระทำชำเราเพื่อใช้ในคดี "ข่มขืน" จะทำให้ใครหลาย ๆ คนพอใจ ที่ได้เห็นกฎหมายที่มีโทษรุนแรงขึ้นบังคับใช้ในประเทศไทย โดยหวังว่าโทษที่แรงขึ้นจะทำให้เกิดความ เกรงกลัว แต่ในส่วนของนักกฎหมายและผู้ทำงานด้านสิทธิสตรีกลับมองเห็นว่าการแก้ไขกฎหมายที่ว่า อาจเป็น "ดาบสองคม" และนำมาซึ่งการฆาตกรรมอำพรางมากขึ้นกว่าเดิม

โทษประหารไม่ใช่คำตอบ

Rape

ที่มาของภาพ, Getty Images

น.ส. นัยนา สุภาพึ่ง ผู้อำนวยการมูลนิธิธีรนาถ กาญจนอักษร ซึ่งเป็นทนายความซึ่งทำคดีล่วงละเมิด ทางเพศมากว่า 30 ปี เห็นว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา

"การเพิ่มโทษประหารไม่ใช่คำตอบของการแก้ปัญหานี้ นอกจากนี้ยังอาจเปิดโอกาสให้ผู้เสียหายเสียชีวิต เพิ่มมากขึ้น เหตุจากการฆ่าปิดปากเพื่อหนีความผิด เพราะผู้กระทำความผิดก็ย่อมเกรงกลัวต่อโทษ ตามกฎหมาย แต่พวกเขาไม่ได้เกรงกลัวที่จะกระทำความผิด" นัยนาอธิบาย

"สิ่งที่เราควรจะมีมากกว่าโทษประหารคือกฎหมายที่เอื้อให้เหยื่อรู้สึกปลอดภัยต่อการเข้ากระบวนการยุติธรรม เพราะบ้านเราไม่มีความละเอียดอ่อนด้านนี้ โดยเจ้าหน้าที่รัฐปล่อยให้หน้าที่เป็นของผู้เสียหาย ในการดำเนินเรื่องหาตำรวจหรือพบแพทย์เอง"

การบังคับใช้สำคัญกว่า

ขณะที่ผู้ทำงานช่วยเหลือบุคคลที่ตกเป็นเหยื่อเห็นว่าการบังคับใช้และการตีความข้อกฎหมายเป็นอุปสรรคในการลงโทษผู้กระทำผิดอย่างสาสม

นายจะเด็ด เชาว์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ในฐานะนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิความ เท่าเทียมกันทางเพศ และมีประสบการณ์การช่วยเหลือเหยื่อจากการถูกข่มขืนหลายรายเห็นว่า ปัญหาอยู่ที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย

"ปัญหาหลัก ๆ ของการดำเนินคดีด้านการข่มขืนกระทำชำเราในบ้านเราไม่ใช่เรื่องกฎหมาย ที่อ่อนหรือแรงไป แต่เป็นเรื่องของการบังคับใช้กฎหมายมากกว่า" นายจะเด็ดกล่าว

"ไม่ว่าจะเรื่องของการไกล่เกลี่ยคดี หรือการเจรจาเพื่อยอมความ เหตุเพียงเพราะผู้บังคับใช้กฎหมาย ไม่เข้าใจถึงปัญหาได้ดีพอ"

เขาระบุด้วยว่าค่านิยมชายเป็นใหญ่ การยึดถือความอาวุโสและอำนาจในสังคมไทย เป็นเครื่องมือที่ ฝ่ายชายนำมาใช้ต่อรองเมื่อถูกดำเนินคดี

Rape

ที่มาของภาพ, Getty Images

"ปัญหาใหญ่ของประเทศไทยคือเมื่อผู้กระทำการข่มขืนในคดีนั้นเป็นผู้ที่มีอิทธิพลหรือมีอำนาจ ก็อาจจะก่อให้เกิดมีการเจรจาต่อรองและไกล่เกลี่ยให้ผู้กระทำพ้นผิด ในหลาย ๆ ครั้งก็เกิดมาจากผู้ชาย ที่มีอำนาจมากกว่าในครอบครัวเป็นผู้กระทำเองอันเนื่องมาจากสังคมไทยมีวิธีการคิดแบบสังคมที่ชายเป็นใหญ่" นายจะเด็ดกล่าว

ปรับเพิ่มโทษ

สาระสำคัญจากประมวลกฎหมายอาญาฉบับแก้ไขว่าด้วยเรื่องการกระทำชำเราได้เพิ่มโทษผู้ข่มขืนกระทำชำเราทั้งโทษจำคุกและปรับ ในหลายมาตราซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการใช้กำลัง ใช้อาวุธ โดยเป็นการ กระทำกับทั้งเด็กและผู้ใหญ่ทั้งหญิงและชาย และระวางโทษประหารชีวิตหากทำให้ถึงแก่ความตาย

ในกฎหมายที่มีการแก้ไขนี้ยังเพิ่มเติมโทษกรณีมีการบันทึกภาพหรือเสียงการกระทำชำเราหรือทำอนาจาร และมีการนำไปเผยแพร่ต่อ รวมทั้งนำไปแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วย

ตีความไม่ครอบคลุม

"สังคมไทยยังให้ความสำคัญกับเรื่องของพรหมจารี เพราะฉะนั้นการมีเพศสัมพันธ์ที่เกิดการสอดใส่ เท่านั้นถึงจะถือได้ว่าเป็นการมีเพศสัมพันธ์ เพราะฉะนั้นการตีความเรื่องการข่มขืนก็เป็นกฎหมาย ที่ครอบคลุมถึงการกระทำที่ก่อโดยมนุษย์เพศชายเท่านั้น" นัยนา บอกกับบีบีซีไทยว่ากฎหมายนี้ ไม่ได้ปรับปรุงให้เข้มแข็งขึ้น แต่กำลังจะนำไทยย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ

Rape

ที่มาของภาพ, Getty Images

เธอขยายความว่าสังคมไทยไม่ได้รับการถ่ายทอดความรู้เรื่องการมีเพศสัมพันธ์ว่าทำได้หลายรูปแบบ โดยไม่จำเป็นต้องเกิดการสอดใส่ และการถูกบังคับขืนใจก็ไม่ใช่เพียงการบังคับให้มีเพศสัมพันธ์เท่านั้น เพราะไม่ว่าจะเป็นการกระทำในรูปแบบใด ผู้ถูกกระทำไม่ว่าจะหญิงหรือชายจะรู้สึกอับอาย และมีความรู้สึกว่าตกเป็นเหยื่อของการข่มขืนได้

"คนที่เขียนกฎหมายขึ้นมาไม่ได้เขียนด้วยความเข้าใจและความเป็นจริงของเรื่องเพศ การมีเพศสัมพันธ์ ระหว่างกลุ่มคนที่มีเพศเดียวกันก็ถือว่าเป็นการมีเพศสัมพันธ์ถึงแม้จะไม่เกิดการสอดใส่ก็ตาม โดยผู้หญิงที่ถูกมองว่าเป็นผู้ถูกกระทำในกฎหมาย ก็สามารถเป็นผู้กระทำได้เหมือนกัน ไม่ใช่เพียงแต่เพศชายเท่านั้น" นัยนาอธิบาย

Rape

ที่มาของภาพ, Getty Images

ขณะที่นายจะเด็ดเสริมว่าการตีความกฎหมายเรื่องการข่มขืนอาจจะไม่ครอบคลุมเรื่องการสอดใส่โดยอวัยวะอื่นหรือสิ่งอื่นนอกเหนือจากอวัยวะเพศ ที่ล้วนสร้างความอับอายและถือเป็นการข่มขืนได้เช่นกัน

"ตราบใดที่เรายังคงมองว่าการที่ผู้ชายมีแฟนเยอะ ๆ ได้ถือเป็นคนเก่ง และการที่ผู้หญิงถูกกระทำทางเพศ เป็นเรื่องน่าอับอาย ไม่ว่ากฎหมายจะแรงแค่ไหนก็จะแก้ปัญหานี้ไม่ได้ คนที่มีอิทธิพลในสังคม หรือในครอบครัวก็เป็นอีกส่วนหนึ่งของปัญหา สิ่งที่น่าจะต้องปรับมากกว่ากฎหมายนั่นก็คือทัศนคติ ของคนไทยมากกว่า" นายจะเด็ดอธิบาย