อานนท์ นำภา: ศาลอนุมัติหมายจับแกนนำ-ผู้ปราศรัยในการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลอย่างน้อย 7 คน

ออกหมายจับแกนนำชุมนุมต่อต้านรัฐบาล-ปราศรัยวิจารณ์สถาบันกษัตริย์

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG / BBC THAI / Getty Images

ศาลอนุมัติหมายจับแกนนำและผู้ปราศรัยในการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลอย่างน้อย 7 คน ตามคำร้องของพนักงานสอบสวน สน. สำราญราษฎร์ ระบุเป็นผู้ต้องหากระทำความผิดอาญาหลายข้อหา มีอัตราโทษจำคุกเกินสามปี ด้านนายอานนท์ส่งสารถึงผู้ชุมนุม บอกให้ "ต่อสู้ให้ถึงเส้นชัย" เขายินดีสละเสรีภาพเพื่อยืนยันหลักการ

หมายจับแรกถูกเผยแพร่โดยนายอานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน ซึ่งโพสต์ภาพหมายจับพร้อมเขียนข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวช่วงบ่ายวันนี้ (7 ส.ค.) ว่า "ผมโดนจับแล้ว" ต่อมาศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่านายภาณุพงศ์ จาดนอก แกนนำกลุ่มเยาวชนตะวันออกเพื่อประชาธิปไตย ถูกออกหมายจับให้ข้อหาเดียวกันกับนายอานนท์

ในหมายจับระบุว่านายอานนท์เป็น "ผู้ต้องหาที่ 7" ส่วนนายภาณุพงศ์เป็น "ผู้ต้องหาที่ 5" ซึ่งทั้งสองคนได้เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.สำราญราษฎร์

ภาณุพงศ์ จาดนอก

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, ภาณุพงศ์ จาดนอก เดินทางมาถึง สน.สำราญราษฎร์ ช่วงบ่ายวันนี้ (7 ส.ค.) เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาตามหมายจับ

"อย่าเสียเวลา Free Arnon"

ต่อมา ผู้ชุมนุมที่กดดันให้ปล่อยตัวนายอานนท์ บริเวณหน้า สน.บางเขน ได้อ่านสารจากนายอานนท์ ใจความว่า

"เผด็จการกำลังใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือในการปิดปากประชาชน การประกันตัวที่ต้องติดเงื่อนไขห้ามชุมนุมหรือห้ามตั้งคำถามเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์เป็นสิ่งที่เราไม่อาจยอมรับได้ ผมยินดีสละเสรีภาพเพื่อยืนยันหลักการ ขอให้ทุกคนออกมาต่อสู้ให้ถึงเส้นชัยอย่าเสียเวลามา Free Arnon ให้เอาเวลาไปทุ่มเทเรียกร้องตามข้อต่อสู้ของเรา" โดยเขาเขียนข้อความลงท้ายว่า "เชื่อมั่นในมิตรสหายข้างนอก" ลงชื่อ "อานนท์ นำภา"

ในเวลาไล่เลี่ยกับที่่นายอานนท์โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กว่า "ผมโดนจับแล้ว" นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ "เพนกวิน" นักศึกษากลุ่มโดมปฏิวัติโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กอ้างว่าเขาถูกออกหมายจับเช่นกัน แต่ยังไม่ถูกจับกุมและจะกระทำการอารยะขัดขืนโดยการไม่เดินทางไปมอบตัวเพราะเขาเห็นว่าการออกหมายจับนี้ "ไม่ชอบธรรม"

นายพริษฐ์ เปิดเผยกับบีบีซีไทยว่า ยังไม่ได้เห็นหมายจับของตน แต่ได้รับแจ้งจากทีมทนายว่าเป็น 1 ใน 7 คน ที่ถูกเจ้าหน้าที่ออกหมายพร้อมกับนายอานนท์

"ยืนยันว่าจะไม่เข้ามอบตัว และใช้อารยะขัดขืนไม่ยอมรับในข้อหาที่ทางการแจ้ง ถ้าตำรวจมาจับให้ใช้กำลังจับเอา"

นายพริษฐ์ยังบอกด้วยว่า ทนายอานนท์ถูกนำตัวมาที่ สน.บางเขน เป็นระยะเวลาสั้น ๆ แต่ได้ถูกนำตัวไปยังศาลอาญาแล้ว สอดคล้องกับตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่ สน.

นอกจากนี้ นายพริษฐ์ ยังได้เปิดคลิปที่นายอานนท์กล่าวปราศรัยบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน เมื่อ 3 ส.ค. ในประเด็นการขยายพระราชอำนาจและกฎหมายเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ให้ประชาชนทั่วไปและสื่อมวลชนหน้า สน.บางเขน ฟังอีกครั้งด้วย

รออิสรภาพ

พริษฐ์

ที่มาของภาพ, Thanyaporn Buathong/bbcthai

คำบรรยายภาพ, พริษฐ์ฉีกหนังสือสั่งยกเลิกการชุมนุม และประกาศปักหลักชุมนุมต่อ

เวลาประมาณ 19.00 น. นายพริษฐ์ ได้นำมวลชน เปิดไฟที่โทรศัพท์มือถือ เรียกร้องให้ตำรวจ สน.บางเขน เปิดไฟบริเวณหน้า สน. เพราะเป็นห่วงความปลอดภัยของผู้มาร่วมกิจกรรม จากนั้นไม่นาน พ.ต.ท. สราวุธ บุตรดี รอง ผกก.(สอบสวน) สน.บางเขน ได้นำหนังสือคำสั่งให้ยกเลิกการชุมนุม มาแจ้งให้แกนนำว่า ทาง สน.จะอนุญาตให้ชุมนุมได้ถึงเวลา 20.00 น. โดยผู้ชุมนุมได้ตะโกน กดดัน หยุดคุกคามประชาชน จนกระทั่งเจ้าหน้าที่ออกไป

หลังจากนั้นนายพริษฐ์ได้ฉีกหนังสือสั่งยกเลิกการชุมนุม และประกาศปักหลักชุมนุมต่อ

"ขอประกาศว่าการชุมนุมจะดำเนินต่อไปจนกว่าทนายอานนท์และภาณุพงศ์จะได้อิสรภาพและตำรวจถอนหมายจับ"

ขณะนี้ บีบีซีไทยยังไม่สามารถยืนยันได้ว่ามีแกนนำผู้ชุมนุมและผู้ปราศรัยถูกออกหมายจับทั้งหมดกี่คน

หมายจับไม่ได้ระบุชัดว่าผู้ต้องหาถูกตั้งข้อหาจากการกระทำใดหรือการชุมนุมในครั้งใด แต่คาดว่านายอานนท์ตกเป็นผู้ต้องหาจากการปราศรัยที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยประเด็นการขยายพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์เมื่อวันที่ 3 ส.ค. ส่วนนายภาณุพงศ์ แกนนำเยาวชนตะวันออกเพื่อประชาธิปไตย ขึ้นปราศรัยในการชุมนุมใหญ่ของกลุ่มเยาวชนปลดแอกที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 18 ก.ค.

ข้อกล่าวหาที่ปรากฏในหมายจับมีดังนี้

  • ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักรเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน
  • ร่วมกันชุมนุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไป
  • ใช้กำลังประทุษร้ายขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยเป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการในการกระทำความผิด
  • ร่วมกันจัดให้มีกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากในลักษณะมั่วสุมกันหรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันง่าย ชุมนุมทำกิจกรรมมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ ในสถานที่แออัด หรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค
  • กระทำการหรือดำเนินการใด ๆ ซึ่งอาจก่อสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งอาจะเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายหรือโรคแพร่ระบาดออกไป ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ
  • ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะ จนอาจเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจร โดยวางหรือทอดทิ้งสิ่งของหรือโดยกระทำด้วยประการอื่นใด
  • ร่วมกันวาง ตั้ง ยื่น หรือแขวนสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือกระทำด้วยประการใด ๆ ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร
  • ร่วมกันตั้ง วาง หรือกองวัตถุใด ๆ บนถนน
  • ร่วมกัน โฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

หมายจับระบุด้วยว่า ผู้ต้องหาตามหมายจับน่าจะได้กระทำความผิดอาญาซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปี

อานนท์ นำภา

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukhrang/BBC Thai

นายอานนท์เป็นหนึ่งในผู้ปราศรัยในการชุมนุมใหญ่ของกลุ่มเยาวชนปลดแอก เมื่อ 18 ก.ค. และอีกหลายเวทีต่อเนื่อง รวมถึงเวทีเมื่อ 3 ส.ค. จัดโดยนักศึกษากลุ่ม "มหานครเพื่อประชาธิปไตย" และกลุ่ม "มอกะเสด" ซึ่งเขาได้อภิปรายปัญหาทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถาบัน ก่อนถูกกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีแจ้งความดำเนินคดีฐานหมิ่นสถาบันในอีก 2 วันต่อมา

เนื้อหาสำคัญของการปราศรัยเมื่อวันที่ 3 ส.ค. นายอานนท์ได้มุ่งเน้นไปเรื่องข้อกฎหมาย 4 เรื่องคือ

  • การแก้ไขรัฐธรรมนูญหลังผ่านประชามติ
  • การแก้กฎหมายปี 2560 ทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย
  • พ.ร.ก. ย้ายบางส่วนของกองทัพเป็นของพระมหากษัตริย์
  • พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563

เขาประกาศด้วยว่า จะไม่ขึ้นปราศรัยในการชุมนุมครั้งต่อไป หากไม่ยอมให้เขาพูดถึงสถาบันกษัตริย์อย่างเปิดเผย ล่าสุดเขาเปิดเผยว่าจะขึ้นปราศรัยอีกครั้งที่ จ.เชียงใหม่ ในวันที่ 9 ส.ค. นี้โดยยืนยันว่า "จะพูดถึงสถาบันกษัตริย์อย่างตรงไปตรงมา เพื่อสะท้อนปัญหา และหาทางออกร่วมกัน"

อานนท์ นำภา

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, นายอานนท์ยื่นจดหมายที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาลเมื่อวันที่ 19 มิ.ย.

รัฐตอบสนองอย่างไรต่อความเคลื่อนไหวบนท้องถนน

นับจากการชุมนุมใหญ่ของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "เยาวชนปลดแอก" ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อ 18 ก.ค. ซึ่งประกาศ 3 ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล ได้แก่ หยุดคุกคามประชาชน, ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และยุบสภา ก็ปรากฏว่ามีความพยายามจากฝ่ายรัฐในการลดอุณหภูมิทางการเมืองบนท้องถนนอย่างต่อเนื่อง

บีบีซีไทยรวบรวมปฏิกิริยาจากภาครัฐว่าตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมอย่างไร ในรอบ 2 สัปดาห์เศษ ก่อนออกหมายจับแกนนำผู้ชุมนุม

  • 20 ก.ค. พล.ต.อ. สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) เรียกประชุมคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนที่กองบังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บก.สส.บช.น.) เพื่อหารือกรณีการชุมนุม เมื่อ 18 ก.ค. แต่ท้ายที่สุดไม่ปรากฏว่ามีการตั้งข้อหาใด ๆ แก่ผู้จัดกิจกรรม หลังมีรายงานข่าวปรากฏในสื่อหลายสำนักว่าตำรวจท้องที่ได้เก็บรวบรวมหลักฐานต่าง ๆ และตรวจสอบว่าการจัดการชุมนุมเข้าข่ายความผิดใน 3 ฐานหรือไม่ ดังนี้
  • 22 ก.ค. คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติต่ออายุการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ภายใต้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ออกไปอีก 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1-31 ส.ค. เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ทว่าได้ถอดข้อกำหนดเรื่องการห้ามชุมนุมออกไป เพื่อยุติเสียงวิจารณ์จากผู้ชุมนุมที่ว่ารัฐบาลใช้ "พ.ร.ก.ฉุกเฉินคุมม็อบ ไม่ใช่คุมโรค" ทั้งนี้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ระบุว่า "ไม่ได้ห้ามชุมนุมทางการเมือง แต่ขอให้ทำตามกฎหมาย"
  • 23 ก.ค. สภาผู้แทนราษฎรมีมติให้ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อรับฟังความคิดเห็นของนักเรียน นิสิต นักศึกษา ตามข้อเสนอของ ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาล ทว่า 6 พรรคฝ่ายค้านได้ "บอยคอต" ไม่ส่งคนเข้าร่วมวง กมธ. เพราะมองว่าสภาไม่ใช่คู่ขัดแย้งกับนักศึกษา และเรียกร้องให้ พล.อ. ประยุทธ์ไปรับฟังความเห็นจากนักศึกษาเอาเอง
  • 31 ก.ค.กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เปิดแถลงข่าวว่า กมธ. เห็นร่วมกันว่าต้องแก้ไขมาตรา 256 เพื่อปลดล็อกให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ทำได้ง่ายขึ้น และหากเป็นไปได้อาจเสนอตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ท่ามกลางแรงกดดันจากเครือข่ายนักศึกษาให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็น 1 ใน 3 ข้อเรียกร้องหลัก
  • 4 ส.ค. พล.อ. ประยุทธ์ออกมาประกาศจุดยืนว่าสนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 โดยที่รัฐบาลพร้อมส่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประกอบไปกับร่างของฝ่ายค้าน คาดว่าจะพิจารณาได้ในสมัยประชุมหน้า
  • 5 ส.ค. พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงความเป็นไปได้ในการยุบสภาตามข้อเรียกร้องของเครือข่ายนักศึกษา โดยบอกว่า "ต้องไปดูว่าสามารถทำได้หรือไม่" พร้อมมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จัดเวทีย่อยทุกพื้นที่เพื่อรับฟังความคิดเห็นเยาวชน และบอกใบ้ว่า "คงจะต้องหาเวลา" ไปร่วมรับฟังด้วยตนเอง
นายอานนท์ นำภา ขึ้นปราศรัย ในชุดแฮร์รี พอตเตอร์

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, นายอานนท์ขึ้นปราศรัยในชุด "แฮร์รี พอตเตอร์" ในการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 มิ.ย.
line

รู้จัก 3 "ผู้ต้องหา"

ขณะนี้นักเคลื่อนไหวที่ออกมาแจ้งว่าตัวเองถูกออกหมายจับมีทั้งหมด 3 คน พวกเขาคือใคร

อานนท์ นำภา

อายุ 35 ปี เป็นคนจังหวัดร้อยเอ็ด จบการศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เริ่มทำงานด้านสิทธิมนุษยชนตั้งแต่ปี 2549 และเป็นทนายความด้านสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่ปี 2551 โดยเริ่มทำงานที่บริษัทกฎหมายแห่งหนึ่งก่อนจะออกมาก่อตั้งสำนักงานทนายความราษฎรประสงค์ เพื่อให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนจากเหตุการณ์ทางการเมืองช่วงปี 2553 และยังร่วมเป็นทนายความในเครือข่ายของศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม (ศปช.) และสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน

หลังรัฐประหาร 2557 อานนท์เข้าร่วมเป็นทนายความเครือข่ายของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน คอยให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายกับผู้ได้รับผลกระทบจากการรัฐประหาร รวมทั้งติดตามสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนมาจนถึงปัจจุบัน

อานนท์ยังมีบทบาทในฐานะนักกิจกรรม โดยร่วมก่อตั้งกลุ่มพลเมืองโต้กลับ (Resistant Citizen) ในปี 2558 เน้นทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เพื่อชี้ให้เห็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพในยุค คสช. ต่อมาเข้าร่วมเคลื่อนไหวในนามกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง เพื่อเรียกร้องให้ คสช. มีการจัดการเลือกตั้งโดยเร็ว

อานนท์เป็นนักเคลื่อนไหวที่ชอบเขียนบทกวี โดยเฉพาะบทกวีทางการเมือง ซึ่งเคยได้รับการตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์อ่าน ชื่อเรื่อง "เหมือนบอดใบ้ไพร่ฟ้ามาสุดทาง" เมื่อปี 2554 และยังเขียนบทกวีลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวเป็นระยะ

อานนท์ถูกดำเนินคดีจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายคดี คดีล่าสุดที่เขาได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหา คือกรณีการทำกิจกรรมฉายโฮโลแกรมการอ่านประกาศคณะราษฎรเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.

ภาณุพงศ์ จาดนอก

อายุ 24 ปี เป็นคนระยอง อยู่ที่ อ.บ้างฉาง เกิดและโตที่นั่นจนเรียนจบชั้นมัธยม ก่อนไปเรียนต่อที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

ภาณุพงศ์เคยทำงานจิตอาสาในนาม "กลุ่มเยาวชน Youngleaders Thailand" ระดมวัยรุ่นมาทำงานช่วยเหลือคนยากคนจน โดยเขาได้ลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบปัญหายากจนจากช่วงการระบาดของโควิด-19 ให้กับคนใน อ.บ้านฉาง

เขาเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นตอนที่ไปถือป้ายประท้วง ถามนายกฯ ว่าจะรับผิดชอบและเยียวยาอย่างไรกับการทำให้ประชาชนชาวระยองเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รอบสอง หลังจากรัฐบกพร่องในการควบคุมบุคคลต่างชาติที่ได้รับการยกเว้น กรณีทหารอียิปต์ที่ติดเชื้อโควิด-19 ฝ่าฝืนมาตรการกักกันโรค

เขาเห็นว่าจากเหตุการณ์นี้ สะท้อนว่าผู้ใดก็ตามที่เห็นต่างจากรัฐบาลหรือจาก พล.อ.ประยุทธ์ ก็จะโดนกีดกันและเลือกปฏิบัติ

พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน

เพนกวิน

ที่มาของภาพ, Getty Images

อายุ 21 ปี เป็นคนกรุงเทพฯ กำลังศึกษาอยู่ที่คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

ช่วงที่เขาศึกษาอยู่ชั้นมัธยมปลาย เขาได้เข้าร่วมกับกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ที่ทำเรื่องการปฏิรูปการศึกษา เขาเริ่มจากการเรียกร้องให้ปฏิรูปวิชาหน้าที่พลเมือง ซึ่งเป็นวิชาที่เพิ่มขึ้นมาตามนโยบายของรัฐบาล จากนั้นไม่นานเขาได้รวมกลุ่มเรียกร้องให้รักษาสิทธิ์เรียนฟรีอย่างมีคุณภาพจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน

ในฐานะอดีตแกนนำกลุ่มสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษา แห่งประเทศไทย (สนท.) พริษฐ์มีบทบาทในการเคลื่อนไหวด้านการเมือง ทั้งการยื่นหนังสือต่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติให้เร่งรัดการจับกุมผู้ก่อเหตุทำร้ายนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์หรือ "จ่านิว" เขายังเป็นคนที่นำถุงกระดาษคลุมศีรษะเข้าคูหาเลือกตั้งเพื่อแสดงสัญลักษณ์ไม่เห็นด้วยต่อการเลือกตั้งของรัฐบาล คสช.

หลังจากนั้นเขาได้ร่วมการประท้วง ชุมนุม และเรียกร้องอย่าต่อเนื่อง เช่น เรียกร้องให้รัฐบาลไทยและกัมพูชาสอบสวนการหายตัวไปของนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยทางการเมือง และการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอกและ สนท.