โควิด-19: ครม. เห็นชอบต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินถึง 31 ส.ค. นายกฯ ย้ำ "ไม่ได้ห้ามชุมนุม"

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรออกไปอีก 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 - 31 ส.ค. 2563 ตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอ โดยให้เหตุผลว่าเพื่อประสิทธิภาพในการควบคุมการระบาดของโควิด-19 นับเป็นการต่ออายุครั้งที่ 4 ตั้งแต่ประกาศใช้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 26 มี.ค.

"ข้อกำหนดทั้งหลายจะสอดคล้องกับมาตรการผ่อนปรน ทำให้ประชาชนทำกิจกรรมต่าง ๆ ใกล้เคียงกับปกติมากขึ้น จะไม่เหมือนที่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกมาครั้งแรก" นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกรัฐบาลกล่าว

สมช.ให้เหตุผลที่ต้องต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ในภาพรวมทั่วโลกยังรุนแรงอยู่ในหลายภูมิภาค และมีคนไทยจากต่างประเทศเดินทางกลับเข้ามาในราชอาณาจักรอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งขณะนี้ได้มีการบังคับใช้มาตรการผ่อนคลายกิจกรรม/กิจการที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 และอนุญาตให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้ดำรงชีวิตได้อย่างเป็นปกติยิ่งขึ้นและลดผลกระทบด้านเศรษฐกิจ

"จึงมีความจำเป็นต้องมีอำนาจตามกฎหมายเพื่อกำกับดูแลโดยเจ้าหน้าที่รัฐอย่างเข้มงวดและต่อเนื่องเพื่อป้องกันและควบคุมมิให้มีการแพร่ระบาดของเชื้อโรคภายในประเทศ"

"ที่ประชุมให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าอำนาจตามพระราชกำหนดฯ นอกจากจะเป็นเครื่องมือที่สำคัญของภาครัฐในการกำกับดูแลเพื่อป้องกันและควบคุมมิให้มีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ภายในประเทศแล้ว ยังจะช่วยเอื้อประโยชน์ในการเตรียมความพร้อมให้กับประเทศในช่วงการเปลี่ยนผ่านไปสู่ฐานวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) จนกว่าจะมีกฎหมายฉบับอื่นรองรับการดำเนินการในอนาคตอีกด้วย" มติ ครม. ระบุ

นอกจากนี้ ครม. ยังได้เห็นชอบผลการประชุมเมื่อวันที่ 22 ก.ค. ของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินซึ่งรวมถึงการไม่บังคับใช้มาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งมีเนื้อหาส่วนหนึ่งที่ห้ามการวมตัวกัน

พล.อ.ประยุทธ์ห่วงผู้ชุมนุมที่สุด

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว. กลาโหมย้ำว่า รัฐบาล "ไม่ได้ห้ามการชุมนุม"

"เรื่องการชุมนุมไม่ได้ห้าม แต่ขอให้ทำตามกฎหมาย อย่าทำผิดกฎหมายก็แค่นั้นเอง ถ้าถามว่ามีความเป็นห่วงไหม ผมห่วงที่สุด เพราะเหล่านี้คือบุคลากรของชาติในอนาคต และมีแรงขับเคลื่อนสูง ดังนั้นต้องเข้าใจวิธีการ กระบวนการต่างๆในการแก้ปัญหาหรือเปลี่ยนแปลงอะไร แต่งๆก็แล้วแต่ เป็นสิทธิพื้นฐาน แต่ต้องไม่ละเมิดกฎหมาย ไม่ก้าวล่วงผู้อื่น และไม่ไปใส่ร้ายสิ่งที่ไม่บังควร ซึ่งก็ได้กำชับไม่ให้ชุมนุมเผชิญหน้ากัน โดยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดูแลทุกคนทุกฝ่ายให้ดีที่สุด" นายกฯ กล่าว

ก่อนจะถึง ครม.

มติ ครม. วันนี้มีขึ้นหลังจากที่ ศบค. มีมติเห็นชอบให้ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเมื่อวันที่ 22 ก.ค. โดยอ้างความจำเป็น 3 ข้อตามที่ สมช. เสนอ

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ชี้แจงว่าการต่ออายุ พ.ร.ก. ฉุกเฉินครั้งนี้ไม่มีเรื่องการห้ามการชุมนุมและ "เป็นไปเพื่อประโยชน์ด้านสาธารณสุขจริง ๆ"

สมช.ได้นำเสนอเหตุผลความจำเป็นที่ยังให้คง พ.ร.บ.ฉุกเฉินต่อไปอีก 3 ประการ ประกอบด้วย

1.จำเป็นต้องมีอำนาจตามกฎหมายเชิงป้องกันในการแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพ อาทิ การควบคุมการเดินทางเข้า-ออกราชอาณาจักรในทุกช่องทาง การจัดทำระบบติดตามตัวการกักตัว และการเฝ้าระวังบุคคลต้องสงสัย และมาตรการควบคุมโรคที่สามารถบังคับใช้ได้อย่างครอบคลุมในทุกกิจกรรม/กิจการที่เกี่ยวข้อง

2.จำเป็นต้องมีระบบการบริหารจัดการวิกฤตการณ์ในลักษณะการรวมศูนย์ที่ปฏิบัติงานได้อย่างรวดเร็ว เป็นเอกภาพ รวมทั้งมีการบูรณาการกำลังพลเรือน ตำรวจ และทหารเข้าร่วมปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

3.อำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการเตรียมความพร้อมให้กับประเทศในช่วงการเปลี่ยนผ่านไปสู่ฐานวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) จนกว่าจะมีกฎหมายฉบับอื่นมารองรับในอนาคต

พ.ร.ก.ฉุกเฉิน "เป็นเครื่องมือเดียวในขณะนี้"

วันที่ 22 ก.ค. พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช. ) ชี้แจงเหตุของการเสนอให้ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินว่า ทั้งฝ่ายความมั่นคง หน่วยข่าวกรองและฝ่ายสาธารณสุข เห็นตรงกันว่าจะต้องมีกฎหมายลักษณะนี้ต่อไปอีก เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกยังมีมากถึงราว 2 แสนคนต่อวัน ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่รุนแรงและรายล้อมไทยอยู่ในปัจจุบัน แต่ขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องเปิดประเทศมากขึ้น เช่น การรับแรงงานต่างด้าว นักท่องเที่ยว การจัดประชุมและถ่ายทำภาพยนตร์ ซึ่งล้วนเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่อยู่บนพื้นฐานของความปลอดภัยทางด้านสาธารณสุข

"เครื่องมือเพียงอย่างเดียวที่จะประกันได้ว่า สิ่งที่เราอนุญาตในเชิงธุรกิจและเชิงเศรษฐกิจจะถูกชั่งน้ำหนักโดยมาตรการทางสาธารณสุข โดยเครื่องมือเพียงอย่างเดียวในขณะนี้ที่มีอยู่ก็คือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน" เลขาธิการ สมช. กล่าว

พล.อ.สมศักดิ์ ระบุว่า เพื่อความสบายใจของประชาชน ซึ่งที่ผ่านมาทางการได้ใช้ มาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินได้อย่างเบาที่สุด เช่น ยกเลิกคำสั่งห้ามการออกนอกเคหะสถานในยามค่ำคืนหรือเคอร์ฟิว แต่ในการต่ออายุ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ครั้งนี้จะไม่ใช้มาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาห้ามการชุมนุม เพื่อแสดงให้เห็นว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่จะต่ออายุไปตลอดเดือน ส.ค.นี้ มีเจตนาเพื่อใช้ควบคุมโรคโดยบริสุทธิ์ใจ

"การห้ามการชุมนุมจะไม่ปรากฏอยู่ใน พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่จะต่อไปอีกหนึ่งเดือน แต่การชุมนุมทางการเมืองจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องที่เป็นกฎหมายปกติ" เลขาธิการ สมช.กล่าว

มีอะไรในมาตรา 9

มาตรา 9 ของ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ระบุว่าในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้ยุติลงได้โดยเร็ว หรือป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงมากขึ้น ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจออกข้อกำหนด ดังต่อไปนี้

(1) ห้ามมิให้บุคคลใดออกนอกเคหสถานภายในระยะเวลาที่กำหนดเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นบุคคลซึ่งได้รับยกเว้น

(2) ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย

(3) ห้ามการเสนอข่าว การจำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั้งในเขตพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือทั่วราชอาณาจักร

(4) ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ หรือกำหนดเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ

(5) ห้ามการใช้อาคาร หรือเข้าไปหรืออยู่ในสถานที่ใดๆ

(6) ให้อพยพประชาชนออกจากพื้นที่ที่กำหนดเพื่อความปลอดภัยของประชาชนดังกล่าว หรือห้ามผู้ใดเข้าไปในพื้นที่ที่กำหนด

ข้อกำหนดตามวรรคหนึ่ง จะกำหนดเงื่อนเวลาในการปฏิบัติตามข้อกำหนดหรือเงื่อนไขในการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดพื้นที่และรายละเอียดอื่นเพิ่มเติม เพื่อมิให้มีการปฏิบัติที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุก็ได้

ชุนนุม

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, การชุมนุมที่จัดโดยกลุ่มเยาวชนปลดแอกและสหพันธ์นักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 18 ก.ค. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถ.ราชดำเนินกลาง

เขาเชื่อว่าเป็นการดำเนินการเพื่อลดแรงเสียดทานและต่อต้านจากสังคมลง อย่างไรก็ตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินยังคงให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจได้ อีกทั้งการชุมนุมก็ยังต้องอยู่ภายใต้ พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ ซึ่งอาจทำให้การชุมนุมทำได้ยากลำบากขึ้น

line

ลำดับเหตุการณ์โควิด-19 ระบาดในไทย

  • 13 ม.ค.กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยืนยันพบผู้ติดเชื้อในไทยรายแรก เป็นนักท่องเที่ยวจีน ยังไม่พบการระบาดในประเทศ
  • 31 ม.ค.พบการติดเชื้อในประเทศ (local transmission) รายแรก เป็นคนขับแท็กซี่
  • 24 ก.พ.คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย
  • 1 มี.ค.รายงานผู้เสียชีวิตรายแรก เป็นชายไทยอายุ 35 ปี
  • 17 มี.ค.ครม.มีมติสั่งปิดโรงเรียนและสถานศึกษาทั่วประเทศ
  • 22 มี.ค.กทม. สั่งปิดสถานที่เสี่ยง 26 ประเภท
  • 26 มี.ค.รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทั่วราชอาณาจักร มีผลถึง 30 เม.ย.
  • 3 เม.ย.รัฐบาลประกาศห้ามประชาชนออกนอกเคหสถาน (เคอร์ฟิว) ทั่วประเทศ 22.00-04.00 น
  • 4 เม.ย.สำนักงานการบินพลเรือนฯ ประกาศห้ามทุกสายการบินบินเข้าไทยเป็นการชั่วคราว
  • 27 เม.ย.ศบค.ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ครั้งที่ 1 ถึง 31 พ.ค.
  • 3 พ.ค.ศบค.ผ่อนปรนมาตรการระยะที่ 1 ให้กิจการที่มีความเสี่ยงต่ำ 6 ประเภทกลับมาเปิดบริการได้
  • 13 พ.ค.ไม่พบผู้ป่วยรายใหม่เลยเป็นวันแรก
  • 17 พ.ค.ศบค.ผ่อนปรนมาตรการระยะที่ 2 อนุญาตให้เปิดห้างสรรพสินค้า สถานออกกำลังกายบางส่วน และปรับเวลาเคอร์ฟิวเป็น 23.00-04:00 น.
  • 22 พ.ค.ศบค.ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ครั้งที่ 2 ถึง 30 มิ.ย.
  • 1 มิ.ย.ศบค.ผ่อนปรนมาตรการระยะที่ 3 และปรับเวลาเคอร์ฟิวเป็น 23.00-03:00 น
  • 12 มิ.ย.ศบค.มีมติให้ยกเลิกเคอร์ฟิวและผ่อนปรนมาตรการระยะ 4 เริ่ม 15 มิ.ย.
  • 29 มิ.ย.ศบค.ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ครั้งที่ 3 ถึง 31 ก.ค.
  • 1 ก.ค.ผ่อนปรนมาตรการระยะ 5 , โรงเรียนเปิดการเรียนการสอน
  • 22 ก.ค.ศบค.ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ครั้งที่ 4 ถึง 31 ส.ค.
line