โควิด-19 : เชื้อกลายพันธุ์ชนิดใดที่น่าวิตก แล้ววัคซีนชนิดไหนจะพิชิตพวกมันได้

An artistic impression of virus sequencing

ที่มาของภาพ, Getty Images

ไวรัสทุกชนิดสามารถกลายพันธุ์ได้เองตามธรรมชาติ และเชื้อ Sars-CoV-2 ที่ก่อโรคโควิด-19 ก็ไม่มีข้อยกเว้น โดยนับแต่เชื้อถูกตรวจพบช่วงปลายปี 2019 ก็พบการกลายพันธุ์เกิดขึ้นหลายพันครั้ง

เราเรียกเชื้อไวรัสที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมนี้ว่า "เชื้อกลายพันธุ์" องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงส่วนใหญ่ส่งผลเพียงเล็กน้อยต่อคุณสมบัติของเชื้อไวรัส และมักค่อย ๆ หายไปตามกาลเวลา

แต่นาน ๆ ครั้ง เชื้อไวรัสอาจโชคดีที่มีการกลายพันธุ์ในลักษณะที่ช่วยให้มันอยู่รอดและเพิ่มจำนวนขึ้นได้

ปัจจุบันผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกกำลังจับตามองพัฒนาการของเชื้อ Sars-CoV-2 อย่างใกล้ชิด เพื่อให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ สามารถรับมือกับการกลายพันธุ์ของเชื้อได้

แล้วเราควรกังวลกับเชื้อกลายพันธุ์เหล่านี้มากแค่ไหน

เชื้อโควิดกลายพันธุ์หลักมีอะไรบ้าง

A medical staff at a testing lab in Naples, Italy

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, นับแต่เชื้อโรคโควิดถูกตรวจพบช่วงปลายปี 2019 ก็พบการกลายพันธุ์เกิดขึ้นหลายพันครั้ง

เชื้อ Sars-Cov-2 กลายพันธุ์ที่ผู้เชี่ยวชาญมีความกังวลมากที่สุดในปัจจุบันมีอยู่ 4 สายพันธุ์คือ

  • อัลฟา (Alpha) ตรวจพบครั้งแรกในสหราชอาณาจักร
  • เบตา (Beta) ตรวจพบครั้งแรกในแอฟริกาใต้
  • แกมมา (Gamma) ตรวจพบครั้งแรกในบราซิล
  • เดลตา (Delta) ตรวจพบครั้งแรกในอินเดีย

เชื้อดังกล่าวถูก WHO จัดให้อยู่ในกลุ่ม "เชื้อกลายพันธุ์ที่น่ากังวล" เพราะมีความเสี่ยงที่จะเป็นภัยคุกคามด้านสาธารณสุข เช่น สามารถทำให้เชื้อโรคโควิดติดต่อกันได้ง่ายขึ้น ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยรุนแรง หรือทำให้เชื้อต้านทานวัคซีนได้

เชื้อกลายพันธุ์อีกส่วนถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มของ "เชื้อกลายพันธุ์ที่น่าจับตามอง" เพราะทำให้เกิดการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อน หรือถูกตรวจพบในหลายประเทศ

WHO ตัดสินใจใช้ระบบเรียกชื่อของเชื้อโรคโควิด-19 สายพันธุ์ต่าง ๆ ตามอักษรกรีก แทนความนิยมของคนทั่วไปและสื่อที่เรียกชื่อสายพันธุ์ด้วยชื่อประเทศหรือสถานที่เพื่อให้ง่ายต่อการอ้างอิงถึง รวมทั้งลดการตีตราและการเลือกปฏิบัติต่อพลเมืองที่มาจากประเทศที่ตรวจพบเชื้อกลายพันธุ์เหล่านี้เป็นแห่งแรก

ชื่อสายพันธุ์ไวรัส SARS-CoV-2

ข้อเด่นของสายพันธุ์เดลตา

เดลตา เป็นเชื้อโควิดกลายพันธุ์ที่ได้รับความสนใจอย่างมากในระยะหลังนี้ เพราะพบว่าเป็นภัยคุกคามต่อสาธารณสุขมากกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ

ประการแรก เดลตามีอัตราแพร่เชื้อสูงกว่าสายพันธุ์อัลฟา ราว 60% แม้ว่าอัลฟามีอัตราแพร่เชื้อสูงกว่าเชื้อโรคโควิดสายพันธุ์ดั้งเดิมอยู่แล้วถึง 50%

นอกจากนี้ สายพันธุ์เดลตายังทำให้เกิดการระบาดระลอกที่สองในอินเดียเมื่อเดือน เม.ย. และ พ.ค. อีกทั้งยังกลายเป็นเชื้อสายพันธุ์หลักที่กำลังระบาดในสหราชอาณาจักร และยังพบว่าเชื้อสายพันธุ์นี้ได้แพร่เข้าไปในกว่า 90 ประเทศทั่วโลกแล้วทั้งในสหรัฐฯ จีน แอฟริกา แถบสแกนดิเนเวีย และภูมิภาคในมหาสมุทรแปซิฟิก

ในประเทศไทย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขเตือนเมื่อ 28 มิ.ย. ว่า ภายใน 3 เดือนนี้ มีโอกาสที่แซงสายพันธุ์เดลตาจะแซงหน้าสายพันธุ์อัลฟา

ข้อมูลจากสหราชอาณาจักรพบว่า ผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาที่ยังไม่ได้รับวัคซีนต้านโควิดมีแนวโน้มจะล้มป่วยหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาลมากกว่าผู้ติดเชื้อสายพันธุ์อัลฟาถึง 2 เท่า

อาการของผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตา

ผลการศึกษาหลายชิ้นยังพบว่า ผู้ติดเชื้อเดลตามักแสดงอาการป่วยที่ต่างออกไปจากอาการป่วยที่เกิดจากเชื้อโรคโควิดสายพันธุ์ดั้งเดิม

สำนักงานบริการสุขภาพแห่งชาติ (NHS) ของสหราชอาณาจักร ระบุว่า อาการป่วยของโรคโควิด-19 แบบดั้งเดิมคือ ไอต่อเนื่อง มีไข้ และสูญเสียการรับรู้กลิ่นหรือรสชาติ

แต่ศาสตราจารย์ ทิม สเปคเตอร์ ผู้นำโครงการศึกษาที่ชื่อ "โซอี โควิด ซิมป์เทิม" (Zoe Covid Symptom) ระบุว่า แม้อาการไข้สูงยังคงพบได้บ่อยในผู้ป่วยโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา แต่การสูญเสียการรับรสและกลิ่นไม่ได้อยู่ในอาการป่วย 10 อันดับแรกอีกต่อไปแล้ว

ปัจจุบันอาการที่พบได้บ่อยที่สุดในหมู่ผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาในสหราชอาณาจักร คือ ปวดศีรษะ เจ็บคอ และน้ำมูกไหล

ศ.สเปคเตอร์ ชี้ว่า การติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาอาจทำให้คนหนุ่มสาวมีอาการป่วยเหมือน "ไข้หวัดรุนแรง" และแม้คนกลุ่มนี้มักไม่ล้มป่วยหนัก แต่พวกเขายังสามารถแพร่เชื้อ และทำให้เกิดอันตรายต่อผู้อื่นได้

เดลตาพลัส และแลมบ์ดา น่ากังวลแค่ไหน

A patient receives treatment inside a COVID-19 ward of a government-run hospital, amidst the coronavirus disease (COVID-19) pandemic, in Bijnor district, Uttar Pradesh, India, May 11, 2021.

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, สายพันธุ์เดลตาทำให้เกิดโควิดระบาดระลอกที่สองในอินเดียเมื่อเดือน เม.ย. และ พ.ค.

เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. อินเดียได้จัดให้เชื้อสายพันธุ์เดลตาพลัส (Delta Plus) ซึ่งเป็นเชื้อกลายพันธุ์ของสายพันธุ์เดลตาอยู่ในกลุ่มเชื้อกลายพันธุ์ที่น่ากังวล

โดยสำนักงานสาธารณสุขอังกฤษ (PHE) ระบุว่า เดลตาพลัสมีลักษณะคล้ายสายพันธุ์เดลตา แต่มีการกลายพันธุ์เพิ่มที่เรียกว่า K417N ที่โปรตีนหนามซึ่งช่วยให้เชื้อไวรัสสามารถยึดเกาะกับเซลล์ที่ติดเชื้อได้ดีขึ้น

ปัจจุบันพบเดลตาพลัสใน 9 ประเทศคือ สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร โปรตุเกส สวิตเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น โปแลนด์ รัสเซีย และจีน

รัฐมนตรีสาธารณสุขอินเดียระบุว่า เดลตาพลัสแพร่ระบาดได้ง่ายขึ้น สามารถยึดเกาะกับเซลล์ในปอดได้ง่ายขึ้น และอาจจะทนทานต่อการรักษาด้วยแอนติบอดีชนิดโมโนโคลน (monoclonal antibody therapy) ซึ่งเป็นการให้แอนติบอดีทางเส้นเลือดเพื่อฆ่าไวรัส

แต่บรรดานักไวรัสวิทยาชั้นแนวหน้าระบุว่ายังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่สนับสนุนข้อมูลดังกล่าว และ WHO ก็ยังไม่ได้จัดให้เดลตาพลัสอยู่ในกลุ่มเชื้อกลายพันธุ์ที่น่ากังวลหรือน่าจับตามอง

Elderly residents receive the Pfizer-BioNTech vaccine against the coronavirus disease (COVID-19), in the Santa Maria de Ojial community, in Iquitos, Peru May 15, 2021.

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, WHO เพิ่งจะจัดให้สายพันธุ์แลมบ์ดา อยู่ในกลุ่มเชื้อกลายพันธุ์ที่น่าจับตามอง หลังพบการระบาดในหลายประเทศ เช่น เปรู ชิลี อาร์เจนตินา และเอกวาดอร์

อย่างไรก็ตาม WHO เพิ่งจะจัดให้สายพันธุ์แลมบ์ดา (Lambda) อยู่ในกลุ่มเชื้อกลายพันธุ์ที่น่าจับตามอง หลังจากพบการระบาดในหลายประเทศ โดยเฉพาะในทวีปอเมริกาใต้และแถบเทือกเขาแอนดิส (ประเทศเปรู ชิลี อาร์เจนตินา และเอกวาดอร์)

ข้อมูลจากเว็บไซต์ Global Initiative on Sharing Avian Influenza Data ที่แบ่งปันข้อมูลของไวรัสโคโรนาที่ก่อโรคโควิด-19 ระบุว่าปัจจุบันพบการติดเชื้อสายพันธุ์แลมบ์ดาใน 29 ประเทศ

ศาสตราจารย์ ปาโบล ซึคายามะ นักจุลชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยคาเยตาโน ของเปรู ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ค้นพบสายพันธุ์แลมบ์ดา ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีว่า เชื้อกลายพันธุ์ชนิดนี้ "น่าจะแพร่ระบาดได้ง่ายขึ้น เพราะมันคือทางเดียวที่จะอธิบายถึงจำนวนผู้ติดที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว"

ศาสตราจารย์ ซึคายามะ ชี้ว่า ข้อมูลในปัจจุบันบ่งชี้ว่าแลมบ์ดาอาจทำให้เกิดปัญหาระบบลำไส้ แต่ยังคงมีหลักฐานไม่เพียงพอที่จะบอกได้ว่ามันสามารถต้านทานวัคซีนได้หรือไม่ ซึ่ง WHO ระบุว่าจะต้องมีการศึกษาเรื่องนี้เพิ่มอีกเพื่อให้เข้าใจถึงผลกระทบทั้งหมดของเชื้อสายพันธุ์นี้

วัคซีนต้านเชื้อกลายพันธุ์ได้ไหม

President Cyril Ramaphosa during a visit to a factory in South Africa the Janssen vaccine will be produced, March 2021

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, ผลการศึกษาชี้ วัคซีนที่เรามีอยู่ในปัจจุบันยังมีประสิทธิภาพในการต้านเชื้อโรคโควิดกลายพันธุชนิดใหม่ได้

วัคซีนที่เรามีอยู่ในปัจจุบันแสดงให้เห็นว่ามีประสิทธิภาพในการต้านเชื้อโรคโควิดกลายพันธุชนิดใหม่ ๆ

แต่ประสิทธิภาพจะลดลงกับเชื้อชนิดใหม่เมื่อเทียบกับเชื้อชนิดดั้งเดิม โดยเฉพาะเมื่อได้รับวัคซีนไปแค่ 1 โดส

ผลการศึกษของ PHE บ่งชี้ว่า วัคซีน 1 โดสของไฟเซอร์ และของแอสตร้าเซนเนก้ามีประสิทธิภาพป้องกันเชื้อสายพันธุ์เดลตาเพียง 33% เมื่อเทียบกับ 50% สำหรับสายพันธุ์อัลฟา อย่างไรก็ตามระดับการปกป้องจะเพิ่มขึ้นหลังจากได้รับวัคซีนโดสที่ 2 โดยอยู่ที่ระดับ 88% สำหรับไฟเซอร์ และ 60% สำหรับแอสตร้าเซนเนก้า

ผลการศึกษาอีกชิ้นจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดยืนยันว่าวัคซีนทั้งของไฟเซอร์ และของแอสตร้าเซนเนก้ามีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อสายพันธุ์เดลตาและแคปปาในอินเดียได้

ขณะที่งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Cell ไม่พบหลักฐานว่าเชื้อกลายพันธุ์ทั้ง 2 ชนิดที่กล่าวข้างต้นจากสามารถหลบเลี่ยงวัคซีนได้เป็นวงกว้าง และวัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบันยังสามารถป้องกันเชื้อเหล่านี้ได้

อย่างไรก็ตาม ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ (CDC) ระบุว่า วัคซีนอาจไม่มีประสิทธิภาพเต็ม 100% เสมอไป ซึ่งเชื้อโรคโควิดกลายพันธุ์อาจทำให้ผู้ได้รับวัคซีนแล้ว โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับไปแค่โดสเดียวอาจล้มป่วยจนต้องเข้าโรงพยาบาลหรืออาจเสียชีวิตได้

ข้อมูลล่าสุดจาก CDC ระบุว่า จนถึงวันที่ 14 มิ.ย.สหรัฐฯ มีผู้ได้รับวัคซีนครบถ้วนแล้วกว่า 144 ล้านคน แต่ยังพบว่าในจำนวนนี้ 3,729 คนติดโควิด และอีก 671 คนเสียชีวิตจากเชื้อโรคชนิดนี้

เราจะต่อสู้กับเชื้อกลายพันธุ์อย่างไร

ปัจจุบันหลายประเทศกำลังต่อสู้กับการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์ด้วยการเร่งฉีดวัคซีนต้านโควิดให้แก่ประชาชนให้ได้มากที่สุด โดยในสหราชอาณาจักรทางการได้ย่นเวลาฉีดวัคซีนโดสที่ 2 ให้เร็วขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่ามาตรการนี้อาจไม่สามารถทำได้ในทุกประเทศ โดยเฉพาะประเทศรายได้ระดับต่ำและระดับกลางที่มีวัคซีนไม่เพียงพอ

ด้วยเหตุนี้ผู้เชี่ยวชาญจึงเน้นย้ำถึงความสำคัญในการเฝ้าจับตาการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสด้วยวิธีหาลำดับดีเอ็นเอ (DNA Sequencing) ขณะที่บางคนเน้นย้ำเรื่องควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อ และรับมือกับโรคโควิด-19 ในระยะยาว เช่น การเพิ่มความแข็งแกร่งให้ระบบสาธารณสุข

A woman holds on to the oxygen cylinders in Kathmandu, Nepal, 9 May 2021

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, ผู้เชี่ยวชาญเน้นย้ำความสำคัญในการเฝ้าจับตาการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส ควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อ และการเพิ่มความแข็งแกร่งให้ระบบสาธารณสุข

ศาสตราจารย์ เอสวี สุพรหมมัณยัน จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ชี้ว่าหลายชาติในโลกจะไม่สามารถหลุดพ้นจากโรคระบาดครั้งนี้ไปได้เพียงพึ่งการฉีดวัคซีน

เขาเรียกร้องให้มุ่งเน้นที่การรักษาและการเตรียมรับมือของระบบสาธารณสุขที่เกี่ยวกับเรื่องเตียงรักษา เครื่องช่วยหายใจ ออกซิเจน และบุคลากรการแพทย์

"ในทัศนะของผม ในสถานการณ์ที่ดูเหมือนเชื้อไวรัสกำลังกลายพันธุ์ (ซึ่งอาจเกิดมากขึ้นหลังโครงการฉีดวัคซีนครั้งใหญ่) คงไม่มีหนทางที่จะเอาชนะเชื้อไวรัสได้ง่าย ๆ แต่เราสามารถสร้างระบบที่จะรับประกันผู้ที่ต้องรับการดูแลรักษาว่ามันจะมีอย่างเพียงพอ เข้าถึงได้ และมีราคาที่สามารถจ่ายได้"