โควิด-19: สอบสวนเหตุติดเชื้อในสถานดูแลคนชราพบให้บุคคลภายนอกเข้า-ผู้ดูแลใช้ถุงมือซ้ำ

afp

ที่มาของภาพ, AFP/getty images

คำบรรยายภาพ, ผู้สูงอายุในชุมชนของเขตห้วยขวาง รอเข้ารับการตรวจหาเชื้อเมื่อวันที่ 13 พ.ค.

สถานดูแลคนชราของเอกชน 3 แห่งในเขตบางแคเป็น 1 ใน 29 พื้นที่ "เฝ้าระวังสูงสุด" ในกรุงเทพฯ หลังจากพบผู้สูงอายุกว่า 20 คนติดโควิด-19 ขณะที่ผลการสอบสวนโรคเบื้องต้นพบปัจจัยเสี่ยงการแพร่ระบาดคือผู้ดูแลเดินทางไปมาระหว่างสถานดูแล ใช้ถุงมือซ้ำและปัญหาจากระบบระบายอากาศของอาคาร

ในการแถลงสถานการณ์การติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) วันนี้ (25 พ.ค.) พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วย โฆษก ศบค. รายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับการระบาดของโควิด-19 ในสถานดูแลคนชรา 3 แห่งในเขตบางแค ซึ่งเป็นพื้นที่ที่พบการระบาดเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ล่าสุดของ กทม. โดยให้ข้อมูลว่า สถานดูแลผู้สูงอายุที่พบการระบาดทั้ง 3 แห่งนั้นดำเนินการโดยบริษัทเอกชนเดียวกัน แห่งแรกพบผู้ติดเชื้อ 16 ราย ส่วนอีกสองแห่ง ๆ ละ 3 ราย

ผู้ช่วยโฆษก ศบค. ระบุว่าผู้ติดเชื้อมีทั้งผู้สูงอายุและผู้ดูแลรวมทั้งหมด 22 คน ซึ่งไม่ตรงกับข้อมูลที่ ศบค.รายงานเมื่อวานนี้ว่ามีผู้ติดเชื้อในคลัสเตอร์สถานดูแลผู้สูงอายุ 23 ราย

พญ.อภิสมัยกล่าวว่าจากการลงพื้นที่สอบสวนโรค เจ้าหน้าที่พบว่าปัจจัยที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้ออาจเกิดจากที่ผู้ดูแลเดินทางไปมาระหว่างสถานบริการแต่ละแห่ง มีการผ่อนปรนให้บุคคลภายนอกเข้ามาในพื้นที่ เช่น พนักงานทำความสะอาด และให้ญาติมาเยี่ยม ระบบระบายอากาศภายในที่ไม่ดีพอ ตลอดจนขั้นตอนดูแลที่ผู้ดูแลอาจมีการใช้ถุงมือซ้ำระหว่างดูแลผู้สูงอายุแต่ละราย

"มีพนักงานทำความสะอาด มีญาติที่เข้ามาเยี่ยม ในช่วงหนึ่งเราจะไม่อนุญาตให้ญาติเยี่ยม แต่ว่าตอนนี้พบว่ามีญาติมาเยี่ยม ซึ่งทั้งคนดูแล พนักงานทำความสะอาด และญาติที่มาเยี่ยมอาจมีความละหลวมในการใส่หน้ากากอนามัย" ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวพร้อมกับชี้แจงว่าการเปิดเผยผลการสอบสวนหาสาเหตุการระบาดในสถานดูแลผู้สูงอายุนี้ "ไม่ได้ต้องการหรือมีเจตนาที่จะตำหนิการทำงาน" แต่เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และมีมาตรการเฝ้าระวังที่เข้มข้น

พญ.อภิสมัยกล่าวว่าขณะนี้เจ้าหน้าที่ได้ส่งตัวผู้สูงอายุที่ติดเชื้อและมีอาการรุนแรงไปรักษาที่โรงพยาบาลแล้ว นอกจากนี้ยังได้นำเครื่องเอ็กซเรย์เคลื่อนที่เข้าไปตรวจร่างกายผู้สูงอายุที่สถานดูแลฯ เอกชนทั้ง 3 แห่งเพื่อสามารถนำผู้สูงอายุที่มีอาการติดเชื้อในปอดไปรักษาได้ทันท่วงที

สำหรับผู้สูงอายุที่ผลตรวจยังคงเป็นลบนั้น เจ้าหน้าที่ได้แยกพื้นที่ กักตัวและจะตรวจหาเชื้อซ้ำต่อไป

โควิด-19

ที่มาของภาพ, Getty Images

"บ้านบางแค" ยืนยันไม่พบการติดเชื้อ

เนื่องจาก ศบค. ไม่ได้เปิดเผยชื่อสถานดูแลผู้สูงอายุของเอกชนที่พบการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ โดยระบุเพียงว่าอยู่ในเขตบางแค ทำให้ประชาชนบางส่วนเข้าใจผิดว่าเกิดการติดเชื้อที่ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านบางแคหรือที่รู้จักกันว่า "บ้านบางแค"

บ้านบางแค ซึ่งเป็นสถานดูแลผู้สูงอายุสังกัดกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จึงได้ออกมาประกาศว่า เจ้าหน้าที่ และผู้สูงอายุที่บ้านบางแคไม่มีใครติดโควิด-19

น.ส.กนกวรรณ เหลืองมงคลเลิศ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาการฯ บ้านบางแคกล่าวถึงมาตรการปฏิบัติเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ว่าได้ออกมาตรการงดเยี่ยมผู้สูงอายุตามอาคารพักและงดทำกิจกรรม ไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้ามาภายในพื้นที่โดยการกำหนดจุดคัดกรอง-จุดรับบริจาค-จุดติดต่อ

ในส่วนของการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งขณะนี้มีอยู่กว่า 230 คน ผู้ดูแลได้รับการกำชับให้สังเกตอาการผู้สูงอายุอย่างใกล้ชิดและมีการวัดไข้อย่างสม่ำเสมอ สำหรับผู้เข้าใหม่จะต้องผ่านการตรวจโควิด-19 และแยกกักตัวในห้องสังเกตอาการเป็นเวลา 14 วัน

ผู้สูงอายุติดโควิดแล้วเกือบ 8,000 ราย

กรมควบคุมโรครายงานว่านับตังตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่เดือน ม.ค.2563-21 พ.ค. มีผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปติดเชื้อแล้ว 7,903 ราย ทั่วประเทศ โดยกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ที่พบผู้ป่วยที่เป็นผู้สูงอายุมากสุดถึง 3,338 ราย

โควิด-19

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

สำหรับช่วงอายุที่พบมากที่สุด คือ 60-64 ปี คิดเป็น 42% โดยมี 1 รายที่อายุมากกว่า 100 ปี ปัจจัยเสี่ยงสูงสุดยังมาจากการสัมผัสผู้ติดเชื้อ

สำหรับสถานดูแลผู้สูงอายุที่เป็นหนึ่งในพื้นที่เสี่ยงและต้องเฝ้าระวังนั้น บีบีซีไทยตรวจสอบข้อมูลพบว่า ใเดือน เม.ย. 2564 มีผู้สูงอายุที่ใช้บริการภายในศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ (ศพส.) สังกัดกรมกิจการผู้สูงอายุ ซึ่งมีอยู่ 12 แห่งทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้นกว่า 1,386 ราย โดยหลายแห่งตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดรุนแรงในระลอก 3 เช่น บ้านบางแค เขตบางแค กทม. หรือ ศพส. ปทุมธานีซึ่งมีผู้ใช้บริการ 100 ราย และจากสองแห่งนี้มีผู้สูงอายุที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้รวมอยู่ถึง 44 ราย

นอกจากนี้ยังมีสถานดูแลผู้สูงอายุที่จดทะเบียนธุรกิจดูแลผู้สูงอายุของเอกชนกับกระทรวงพาณิชย์ ทั้งที่เป็นบ้านพักคนชรา สถานบริการช่วยเหลือในการดำรงชีวิต สถานบริบาล สถานดูแลระยะยาวในโรงพยาบาล ไปจนถึงสถานดูแลระยะสุดท้ายอีกจำนวนมาก

อีกรูปแบบหนึ่งของการดูแลผู้สูงอายุนอกเหนือจากการเข้าสู่สถานดูแลแล้ว การใช้บริการผู้ดูแลซึ่งมีทั้งในรูปแบบของการพักอาศัยประจำ ไปจนถึงการเดินทางไปกลับ ก็ได้รับความนิยมเช่นกันเห็นได้จากการเปิดรับสมัครผ่านช่องทางออนไลน์จำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือกลุ่มเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า "หางานพี่เลี้ยงเด็กอ่อนแม่บ้านดูแลผู้สูงอายุ" ซึ่งมีสมาชิกกว่า 9 หมื่นคน

สิ่่งที่น่าสนใจ คือ นอกจากการประกาศรับสมัครงาน ซึ่งมีการให้รายละเอียดของงานตามปกติแล้ว ยังมีข้อความบางส่วนที่ระบุว่า "ต้องเข้ามากักตัว" รวมถึงนายจ้างบางรายยังมีกำหนดว่าจะต้อง "ตรวจโควิดมาแล้ว" อีกด้วย

ข้อมูลจากมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทยและกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในปี 2562 มีผู้ประกอบการธุรกิจดูแลผู้สูงอายุในประเทศไทย จำนวนทั้งสิ้น 800 ราย

ตามข้อมูลของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2563 ไทยมีผู้สูงอายุ 11.6 ล้านคน อยู่ในกรุงเทพฯ มากที่สุด คือ 1.1 ล้านคน คิดเป็น 19.83% ของผู้สูงอายุทั่วประเทศ

โควิด-19

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

ติดเชื้อเพิ่มกว่า 3,000 ราย ผู้ต้องขังเสียชีวิตแล้ว 3 ราย

สถานการณ์การติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในไทยในรอบ 24 ชั่วโมง จากการรายงานของ ศบค. มีข้อมูลสำคัญดังนี้

  • พบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น 3,226 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 2,325 ราย เรือนจำ 882 ราย และผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 19 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยสะสม 135,439 ราย
  • การระบาดระลอก เม.ย. 2564 มีผู้ติดเชื้อสะสมแล้ว 106,576 ราย
  • ผู้ป่วยที่กำลังรักษาตัวอยู่ 45,413 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยอาการหนัก 1,870 ราย และต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 399 ราย
  • จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพฯ (872 ราย) นนทบุรี (590 ราย) เพชรบุรี (227 ราย) สมุทรปราการ (126 ราย) และปทุมธานี (66 ราย)
  • ผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 26 ราย ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ ม.ค. 2563 อยู่ที่ 832 ราย คิดเป็นอัตราการเสียชีวิต 0.61%

ขณะที่กรมราชทัณฑ์รายงานวันนี้ว่ามีผู้ต้องขังที่ติดโควิด-19 เสียชีวิตเพิ่มอีก 1 ราย เป็นผู้ต้องขังในเรือนจำกลางเชียงใหม่ที่ตรวจพบเชื้อเมื่อวันที่ 8 พ.ค. เข้ารับการรักษาที่ รพ.นครพิงค์ ตั้งแต่วันที่ 11 พ.ค. และเสียชีวิตช่วงเช้าวันนี้ ทำให้จำนวนผู้ต้องขังติดโควิดเสียชีวิตสะสม 3 ราย

ซีพีออกแถลงการณ์ "ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสั่งซื้อวัคซีนซิโนแวค"

วันเดียวกันนี้ เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้ออกแถลงการณ์ปฏิเสธข้อมูลที่ปรากฏในโลกออนไลน์ว่าซีพีถือหุ้นซิโนแวค 15% และซีพีอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการซื้อวัคซีนซิโนแวคของรัฐบาล

"เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ขอแจ้งให้ทราบว่า ข้อมูลดังกล่าว ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด" ซีพีระบุพร้อมให้ข้อมูลประกอบว่า การจัดซื้อวัคซีนซิโนแวค เป็นแบบรัฐบาล ต่อรัฐบาล (G2G) เท่านั้น ไม่มีความเกี่ยวข้องกับซีพีทั้งทางตรง และทางอ้อม และซีพีไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นบริษัทซิโนแวค 15% ตามที่เป็นข่าว

โควิด-19

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

สำหรับประเด็นการถือหุ้น ซีพีชี้แจงใน 3 ประเด็นคือ

1) ผู้ลงทุนคือ Sino Biopharmaceutical ซึ่งเป็นบริษัทเวชภัณฑ์ของจีน จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง โดยเครือเจริญโภคภัณฑ์เป็นเพียงผู้ถือหุ้นรายย่อยในบริษัท Sino Biopharmaceutical นี้เท่านั้น"

2) ผู้ขายหุ้นคือ Sinovac Life Sciences เป็นบริษัทลูกของบริษัท ซิโนแวค ต้องการระดมทุน เพื่อต้องการขยายกำลังการผลิตวัคซีนซิโนแวค

3) Sino Biopharmaceutical เข้าไปถือหุ้นใน Sinovac Life Sciences จำนวน 515 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 15.03% ถือเป็นการดำเนินธุรกิจของบริษัทดังกล่าวเอง โดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ได้มีหุ้นใดๆ และไม่ได้มีสิทธิการเป็นเจ้าของ ในบริษัท Sinovac Life Sciences ใด ๆ ทั้งสิ้น

"เครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นเพียงผู้ถือหุ้นรายย่อยใน Sino Biopharmaceutical ที่เข้าไปลงทุนผ่านทางตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ไม่มีสิทธิในการบริหารและแทรกแซงการตัดสินใจใด ๆ ใน Sinovac และเครือเจริญโภคภัณฑ์ของยืนยันว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อม กับการสั่งซื้อวัคซีน Sinovac ของรัฐบาล เข้ามาในประเทศไทย"

ซีพีระบุด้วยว่าหากพบว่ายังมีการเจตนานำข้อมูลไปบิดเบือนและสร้างความเสียหาย ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด เครือเจริญโภคภัณฑ์มีความจำเป็นต้องดำเนินการทางกฎหมายต่อไป