โควิด-19: สกัดการลักลอบข้ามแดนไทย-เมียนมา เพราะอะไรจึงยังไม่สำเร็จ

เจ้าหน้าที่คุยกับชาวบ้าน

ที่มาของภาพ, Chaiyot Yongcharoenchai/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, ชุดลาดตระเวนแวะสอบถามชาวบ้านที่อาศัยตามแนวตะเข็บชายแดนใน อ.แม่สอด เพื่อหาเบาะแสเกี่ยวกับการลักลอบข้ามพรมแดนไทย-เมียนมา
  • Author, ชัยยศ ยงค์เจริญชัย
  • Role, ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

สองทุ่มแล้ว ผู้คนส่วนใหญ่ในเมืองชายแดนอย่าง อ.แม่สอด จ.ตาก ได้เวลาปิดบ้านพักผ่อนนอนหลับ แต่นี่กลับเป็นเวลานัดหมายของชาวบ้านกลุ่มหนึ่งที่มารวมกลุ่มกันเพื่อปฏิบัติภารกิจพิเศษในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19

ชายฉกรรจ์ราว 20 คนปรากฏตัวในเครื่องแบบเต็มชุดหลายสังกัด สวมเสื้อเกราะกันกระสุน มือถือปืนลูกซองบรรจุกระสุนพร้อม

เมื่อสมาชิกครบ อุปกรณ์พร้อม ชายกลุ่มนี้ก็ออกเดินทางในยามวิกาล มุ่งหน้าสู่พื้นที่เป้าหมายคือป่าบ้านแม่ตาว เพื่อปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ "ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน" หรือ ชรบ. ออกลาดตระเวนตามแนวชายแดนตามนโยบายของฝ่ายปกครอง จ.ตาก เพื่อสกัดการข้ามแดนผิดกฎหมายไม่ว่าจะเป็นชาวไทยหรือชาวเมียนมาในช่วงที่โควิด-19 กำลังระบาดหนัก

ชุด ชรบ. นั่งรถกระบะ

ที่มาของภาพ, Rachaphon Riansiri/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, ชุด ชรบ. พร้อมออกเดินทางสู่พื้นที่เป้าหมายของการลาดตระเวน

"ปัจจุบันมีการลักลอบข้ามพรมแดนในพื้นที่นี้เยอะ เพราะเดินข้ามไปมาได้ง่าย ทำให้มีชาวเมียนมาลักลอบเข้าออกอยู่บ่อย ๆ" นายกิตติมศักดิ์ สีเดือน ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 1 หมู่บ้านแม่ตาว หัวหน้าชุด ชรบ. บอกกับบีบีซีไทย ก่อนเริ่มภารกิจประจำค่ำคืน

การระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ในไทยซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากตลาดกลางกุ้งใน ต.มหาชัย อ.เมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร รวมทั้งการลักลอบเข้าเมืองของคนไทยที่ไปทำงานในสถานบันเทิงใน จ.ท่าขี้เหล็กของเมียนมา และติดเชื้อกลับเข้ามาก่อนหน้านี้ ทำให้ปฏิบัติการตามแนวชายแดนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถูกจับตาและถูกคาดหวังอีกครั้ง

ไม่ใช่ญาติก็เหมือนญาติ

อ.แม่สอด จ.ตาก เป็นเมืองค้าขายชายแดนไทย-เมียนมามาอย่างยาวนาน ผู้คนทั้งสองฝั่งรู้จักมักคุ้น ข้ามแดนไปมาหากันอย่างกับเป็นเครือญาติกันมาแต่ไหนแต่ไร

แม้จะเป็นอำเภอเล็ก ๆ มีพื้นที่แค่ 27.2 ตร.กม. แต่แม่สอดกลับเป็นศูนย์กลางของผู้คนหลายเชื้อชาติที่มาทำงานในเมียวดี โดยเฉพาะชาวเมียนมาที่มักข้ามแดนมาใช้บริการต่าง ๆ ทางฝั่งไทยเช่น มารักษาพยาบาลหรือซื้อของที่ห้างสรรพสินค้า

จ.ตากมีพรมแดนติดต่อกับเมียนมาเป็นระยะทาง 535 กม. เฉพาะที่ อ.แม่สอดมีพรมแดนติดกับเมืองเมียวดีของเมียนมาเป็นระยะทาง 80 กม. พื้นที่นี้ถูกระบุโดยฝ่ายปกครองและฝ่ายความมั่นคงของไทยว่าเป็น "จุดที่มีความอ่อนไหว" เพราะแม่น้ำเมยที่ไหลผ่านช่วงนี้มีความแคบ จนบางจุดสามารถเดินข้ามไปมาได้อย่างง่ายดาย

ตลาดแม่สอด

ที่มาของภาพ, Rachaphon Riansiri/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, ตลาดแม่สอดเป็นที่รวมตัวของชาวไทย ชาวเมียนมาตลอดจนนักท่องเที่ยว

นอกจากนำลวดหนามมากั้นแล้ว ในบางจุดยังมีเจ้าหน้าที่ทหารจากหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 4 (ฉ.กร. 4) ประจำการตลอด 24 ชั่วโมง โดย ฉ.กร. 4 เพิ่มกำลังมาอีกหนึ่งกองร้อยในช่วงที่มีการระบาดระลอกที่ 2 ในเมียนมาเมื่อเดือน พ.ย.

ในส่วนของฝ่ายปกครองได้จัด ชรบ. ลาดตระเวนในพื้นที่ทั้ง 17 หมู่บ้านที่อยู่ติดชายแดน โดยจะเน้นหนักในช่วงภาคกลางคืน ส่วนช่วงกลางวันได้ขอความร่วมมือจากประชาชนให้ช่วยสอดส่องดูแล

อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้แม่สอดเป็นพื้นที่อ่อนไหวก็เพราะเมืองเมียวดีของเมียนมามีโรงแรมคาสิโนจำนวนมาก—มากกว่าในเมืองท่าขี้เหล็ก ซึ่งอยู่ตรงข้าม จ.เชียงราย ซึ่งเป็นจุดที่มีพนักงานคนไทยติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่แล้วลักลอบกลับเข้าประเทศเมื่อต้นเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมาเสียอีก

แม่น้ำเมยไหลกั้นพรมแดนไทย-เมียนมา

ที่มาของภาพ, Rachaphon Riansiri/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, แม่น้ำเมยไหลกั้นพรมแดนไทย-เมียนมา ฝั่งตรงข้ามที่เห็นเป็นโกดังสินค้าและเมียวดี คอมเพล็กซ์

ว่าที่พันตรี ดร.ไพฑูรย์ ปริญญาธรรมกุล ผู้อำนวยการกองวิชาการและแผนงาน สำนักงานเทศบาลนครแม่สอดบอกกับบีบีซีไทยว่าธุรกิจคาสิโนที่คึกคักในเมืองเมียวดี ทำให้มีคนหนุ่มสาววัยแรงงานจากทางฝั่งไทยข้ามไปทำงานในฝั่งเมียนมากันหลายคน

ดร.ไพฑูรย์กล่าวว่า คาสิโนในฝั่งเมียวดีมีมากกว่า 10 แห่ง มีทั้งที่เป็นของคนไทยและคนจีน ทั้งหมดเป็นบ่อนขนาดใหญ่ทำธุรกิจครบวงจรทั้งร้านค้าปลอดภาษี โรงแรม บ่อนการพนันและสถานบันเทิง ซึ่งพื้นที่นี้จะมีการอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวโดยสารเรือข้ามแดนไปมาได้อย่างง่ายดาย จึงถูกใช้เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย

"สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือนักลงทุนจากจีนเข้าไปเช่าพื้นที่ทำโรงแรมเป็นหมื่นไร่ คนจีนวัยทำงานย้ายไปอยู่ในพื้นที่กว่า 25,000 คน โรงแรมตั้งอยู่ติดบ้านวังผาของฝั่งไทย โดยไม่มีด่านอะไรเลย คนข้ามไปมาได้เสรี" ผู้บริหารเทศบาลนครแม่สอดให้ข้อมูล

ชุด ชรบ. ชี้ให้ดูบริเวณและเส้นทางที่ชาวเมียนมานิยมใช้ลักลอบเข้าไทย

ที่มาของภาพ, Rachaphon Riansiri/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, ชุด ชรบ. ชี้ให้ดูบริเวณและเส้นทางที่ชาวเมียนมานิยมใช้ลักลอบเข้าไทย

"ไม่ว่าจะข้ามมาอย่างไร ถูกกฎหมายหรือไม่ ทุกคนก็มากองรวมกันอยู่ที่แม่สอด" ดร.ไพฑูรย์ฉายภาพของเมืองชายแดนแห่งนี้ให้เห็น

ในช่วงที่ไม่มีโรคระบาด การข้ามแดนไปมาอย่างนี้อาจถูกมองเป็นเรื่องปกติ แต่ในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะนับตั้งแต่เกิดการระบาดระลอก 2 ในเมียนมาตั้งแต่เดือน พ.ย. วิถีชีวิตที่เคยเป็น "ปกติ" เช่นนี้กลับกลายเป็นเรื่อง "อันตราย"

ดร.ไพฑูรย์แสดงความกังวลว่า เนื่องจากคาสิโนในฝั่งเมียนมามีอยู่หลายแห่ง คนวัยหนุ่มสาวที่ทำงานที่นั่นก็มีจำนวนมากและส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีการศึกษาไม่สูงนักและมักละเลยที่จะปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรค ทำให้มีโอกาสติดเชื้อค่อนข้างสูง "และยังมีการลักลอบข้ามไปมาอยู่ทุกวัน และอาจนำโรคกลับมาด้วย"

ข้อมูล ณ ต้นเดือน ธ.ค. มีรายงานพบผู้ป่วยโควิด-19 ในพื้นที่แม่สอดกว่า 10 ราย รายล่าสุดได้รับการยืนยันเมื่อวานนี้ (21 ธ.ค.) เป็นหญิงชาวเมียนมา ขณะนี้รักษาอยู่ที่โรงพยาบาลแม่สอด

ตระเวนชายแดน

วันที่ 16 ธ.ค. กิตติมศักดิ์ สีเดือน หรือที่ชาวบ้านแม่ตาวเรียกอย่างสนิทสนมว่า "ผู้ใหญ่เอก" นำทีม ชรบ. ลงพื้นที่ลาดตระเวนในจุดที่เปราะบางที่สุดในพื้นที่รับผิดชอบของเขา โดยอนุญาตให้บีบีซีไทยติดตามไปสังเกตการณ์ด้วย

"พื้นที่เปราะบางที่สุด" ที่ผู้ใหญ่เอกกล่าวถึงนั้นคือพื้นที่ป่าชายแดนที่เชื่อมต่อกับดินแดนของเมียนมาที่คนในพื้นที่เรียกกันว่า "70 ไร่" ซึ่งเป็นจุดที่แม่น้ำเมยมีความแคบมาก ง่ายต่อเดินข้ามประกอบกับเป็นพื้นที่ห่างไกลจากชุมชน ทำให้พื้นที่ตรงนี้เป็น "แดนสนธยา" ที่เกิดกิจกรรมผิดกฎหมายมากที่สุดใน อ.แม่สอด

ชุด ชรบ. กำลังนั่งซุ่มเพื่อเฝ้าสังเกตการณ์

ที่มาของภาพ, Chaiyot Yongcharoenchai/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, ชุด ชรบ. กำลังนั่งซุ่มเพื่อเฝ้าสังเกตการณ์และดักรอจับกุมผู้ที่ลักลอบข้ามแดน

"จุดนี้มีทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นเรื่องของยาเสพติดหรือการค้ามนุษย์ จริง ๆ แล้วบริเวณนี้มีการจับการขนยาเสพติดได้บ่อย ๆ เช่นยาบ้าที่จับได้ทีละ 1,000 - 2,000 เม็ด ปัจจุบันกลุ่มผู้ค้ามนุษย์ก็เลือกใช้เส้นทางนี้เหมือนกัน" ผู้ใหญ่เอกให้ข้อมูล

ผู้ใหญ่เอกยอมรับกับบีบีซีไทยระหว่างการลาดตระเวนว่าการป้องกันการลักลอบข้ามแดนในพื้นที่นี้ทำได้ยาก เพราะสภาพพื้นที่เป็นป่า ครอบคลุมบริเวณกว้างและเชื่อมต่อกับฝั่งเมียนมาเป็นระยะทางยาว

ชุด ชรบ.ออกลาดตระเวนเช่นนี้ทุกคืน โดยจัดช่วงเวลาแตกต่างกัน ในทีมมีสมาชิก 20 คน ประกอบไปด้วยผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และอาสาสมัครชุด ชรบ.ทั้งลาดตระเวนและคอยซุ่มดูสถานการณ์ตามจุดต่าง ๆ ในพื้นที่รับผิดชอบ

ผู้ใหญ่เอกบอกว่าพวกเขาพบการลักลอบเข้าเมืองอยู่เป็นประจำ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ใช้แรงงานที่ลักลอบข้ามแดนมาหางานทำในแม่สอดหรือเดินทางต่อไปในจังหวัดอื่น ๆ รวมทั้งกรุงเทพฯ

ชุด ชรบ. พบแรงงานชาวเมียนมาลักลอบเดินทางกลับฝั่งเมียนมาในช่วงกลางคืน

ที่มาของภาพ, Rachaphon Riansiri/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, ชุด ชรบ. พบแรงงานชาวเมียนมาลักลอบเดินทางกลับฝั่งเมียนมาในช่วงกลางคืน

"ผมคิดว่าน่าจะมีนายหน้าหรือขบวนการใหญ่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์บริเวณนี้" เขาให้ความเห็น

จากการสังเกตของชุด ชรบ. พบว่าผู้ลักลอบแต่กลุ่มจะเลือกเวลาไม่ตรงกัน บางกลุ่มลักลอบข้ามแดนช่วงหัวค่ำ บางกลุ่มเข้ามาตอนสี่ทุ่ม และบางกลุ่มเลือกเวลาตีสี่

"ลูกบ้านโทรศัพท์แจ้งเบาะแสมาเรื่อย ๆ ชาวบ้านที่คอยเป็นหูเป็นตาให้เราจะคอยให้เบาะแสใหม่ ๆ ว่าผู้ลักลอบใช้เส้นทางไหนในการเดินทางเข้ามา" ผู้ใหญ่เอก หัวหน้าชุด ชรบ.กล่าว

นายหน้าพาลักลอบข้ามแดน

หญิงชาวเมียนมาที่อาศัยอยู่ในแม่สอดมากว่า 20 ปีและมีความคุ้นเคยกับการทำธุรกิจของชาวเมียนมาในพื้นที่ชายแดนแห่งนี้อย่างลึกซึ้งให้ข้อมูลกับบีบีซีไทยโดยขอสงวนชื่อและนามสกุลเพื่อความปลอดภัยว่า การลักลอบเข้าเมืองของชาวเมียนมานั้นมี "นายหน้า" เป็นคนจัดการ

เธอบอกกับบีบีซีไทยว่าชาวเมียนมาส่วนมากที่ข้ามมาฝั่งไทยบอกกับเธอว่าต้องจ่ายเงินให้นายหน้า 800 - 1,500 บาทต่อครั้งหรือต่อวัน โดยนายหน้าจะเดินทางมาส่งถึงชายแดนฝั่งเมียนมา จากนั้นก็จะมีทีมงานของนายหน้ามารอรับที่ฝั่งไทยตามจุดต่าง ๆ ที่นัดหมาย

บีบีซีไทยได้รับคำยืนยันจากชาวบ้านในพื้นที่ว่าพบเห็นการข้ามแดนอย่างผิดกฎหมายอยู่ตลอด และมีข้อมูลตรงกันเกี่ยวกับ "ค่าดำเนินการ" ที่ชาวเมียนมาต้องจ่ายเพื่อข้ามแดนมาหางานทำที่ฝั่งไทย

ชุด ชรบ. ขณะลาดตระเวน

ที่มาของภาพ, Chaiyot Yongcharoenchai/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, ชุด ชรบ. ขณะลาดตระเวนตามแนวชายแดน

มีรายงานว่าราคาค่าพาข้ามแดนที่ชาวเมียนมาต้องจ่ายให้นายหน้านั้นพุ่งไปถึง 4,000 - 8,000 บาท ต่อคนในช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับราคาที่นายหน้าแต่ละรายกำหนดและสถานที่ที่พวกเขาต้องการเดินทางไปทำงาน

"บางคนโดยสารมากับรถส่งสินค้าที่ข้ามแดนมา โดยค่าจ้างพาข้ามแดนจะถูกจ่ายตรงให้กับคนขับรถ ส่วนคนที่เดินข้ามแม่น้ำมาก็จ่ายให้คนที่มารอรับทางฝั่งนี้ หลาย ๆ คนบอกว่าคนที่มารอรับเป็นคนรู้จักที่มารับตามช่องทางธรรมชาติที่ไกลจากชุมชน" หญิงเมียนมากล่าว

"ส่วนมากจะข้ามมาช่วงกลางคืน เขาบอกว่ารอให้ทหารหลับก่อน ก่อนจะข้ามมาก็จะซุ่มดูก่อนว่าทหารหลับหรือยังแล้วรอข้ามมาเมื่อปลอดภัย"

ขณะที่ผู้ใหญ่เอกให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การลักลอบนำแรงงานข้ามแดนมีเพิ่มขึ้นมากหลังเกิดการระบาดระลอกที่ 2 ในเมียนมาเนื่องจากรัฐบาลเมียนมาปิดประเทศ และผู้ประกอบการไทยขาดแคลนแรงงาน จึงเกิดขบวนการลักลอบนำแรงงานผิดกฎหมายไปส่งให้ผู้ที่ต้องการ

"ภารกิจลับ" ของเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ

หลังจากออกเดินได้ไม่นานนัก ทีม ชรบ. ซึ่งได้รับการฝึกฝนการใช้อาวุธและเครื่องมือสื่อสารจากเจ้าหน้าที่ทหาร ก็เข้าใกล้พื้นที่เป้าหมายของการลาดตระเวน ผู้ใหญ่เอกสั่งให้ทุกคนปิดไฟฉายและงดใช้เสียง ในคืนที่ฟ้ามืดสนิท ชุด ชรบ. ยังเดินไปบนพื้นดินลูกรังอันขรุขระผ่านป่ารกและข้ามสะพานไม้ข้ามคลองด้วยความชำนาญ

ความมืดและดงป่าไม่ใช่อุปสรรค แต่สถานการณ์ที่ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างนั้นต่างหากที่น่ากังวล

ระหว่างนั้นเอง ผู้ใหญ่เอกได้รับรายงานจากชุด ชรบ. ที่ซุ่มสังเกตการณ์อยู่อีกจุดหนึ่งว่าพบชายคนหนึ่งบริเวณใกล้แนวชายแดน เขาจึงรีบนำทีมไปยังจุดที่ได้รับรายงาน

เมื่อไปถึงก็พบกับชายคนหนึ่งสวมเสื้อยืดและโสร่ง สะพายย่าม ทีม ชรบ. เข้าล้อมชายคนดังกล่าวไว้ เมื่อตกอยู่ในวงล้อม เขาจึงหยิบอาวุธปืนออกมาแล้วจึงเอ่ยปากถามว่า "พวกคุณเป็นใคร ทำไมถึงพกอาวุธ แต่งตัวมาเต็มยศขนาดนี้ เป็นคนไทยหรือเปล่า"

เมื่อชุด ชรบ. แสดงตัวและถามกลับ ชายคนดังกล่าวยืนยันว่าเขาเป็นเจ้าหน้าที่ไทยที่ได้รับมอบหมายให้มาปฏิบัติ "ภารกิจลับ" โดยต้องแต่งตัวให้กลมกลืนกับคนในพื้นที่ ก่อนจะต่อว่าทีม ชรบ. ที่ไม่แจ้งและขออนุญาตทหารที่ดูแลพื้นที่ก่อนเข้ามาปฏิบัติงาน

คลอง

ที่มาของภาพ, Rachaphon Riansiri/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, หนึ่งในจุดที่ผู้ลักลอบข้ามแดนนิยมใช้ อยู่ใน ต. ท่าสายลวด อ.แม่สอด จ. ตาก โดยพวกเขาจะเดินข้ามแม่น้ำเมยในจุดที่แคบ แล้วเดินตามลำคลองสายนี้มาขึ้นฝั่งที่จุดนี้ เพือเดินทางต่อเข้าตัวอำเภอแม่สอด

ผู้ใหญ่เอกยืนยันว่าในการทำงานทุกครั้ง เขาจะประสานกับทหาร ตำรวจและนายอำเภอทราบ อีกทั้งเขาเป็นผู้ใหญ่บ้านที่ดูแลพื้นที่นี้ จึงมีอำนาจในการลาดตระเวนและตรวจสอบ-จับกุม

หลังจากนั้นชายคนดังกล่าวก็เดินจากไป ชุด ชรบ. จึงถอนกำลังกลับ แต่สมาชิกในทีมบางคนยังคงมีความสงสัยว่าแท้จริงแล้ว "ภารกิจลับ" ของเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวคืออะไรกันแน่

มาตรการเข้มข้นที่เมืองด่านหน้า

อ. แม่สอดเป็นหนึ่งในพื้นที่ด่านหน้าที่ต้องรับมือกับการเคลื่อนย้ายของคนในฝั่งไทยและเมียนมาอยู่ตลอดนับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 ล่าสุดผู้ว่าราชการจังหวัดตากได้สั่งการให้ทุกอำเภอโดยเฉพาะ 5 อำเภอที่อยู่ตามแนวชายแดนไทย-เมียนมาป้องกันการข้ามแดนผิดกฎหมายอย่างเข้มงวด พร้อมกับขอความร่วมมือจากประชาชนที่พบการลักลอบข้ามแดนผิดกฎหมายช่วยแจ้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้านหรือ ชรบ. เพื่อรายงานไปที่ฝ่ายปกครองซึ่งจะปฏิบัติการผลักดันคนเหล่านี้กลับประเทศต้นทาง

โรงพยาบาลแม่สอด

ที่มาของภาพ, Rachaphon Riansiri/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, นอกจากจะรักษาคนไทยแล้ว โรงพยาบาลแม่สอดยังต้องตรวจหาเชื้อและดูแลรักษาแรงงานข้ามชาติด้วย

นายธวัชชัย อ่อนสาร ปลัดป้องกันอำเภอแม่สอดอธิบายให้บีบีซีไทยฟังถึงขั้นตอนการดำเนินการกับผู้ที่ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายที่พบในแม่สอดว่าเมื่อจับกุมได้แล้วจะตรวจวัดอุณหภูมิเบื้องต้น จากนั้นจะส่งไปที่โรงพยาบาลแม่สอดเพื่อเอ็กซเรย์ปอดและตรวจอาการอื่น ๆ อีกครั้ง หากยืนยันว่าไม่ติดเชื้อก็จะนำตัวไปส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) เพื่อผลักดันกลับประเทศเมียนมา

แต่พบว่ามีไข้ ทางโรงพยาบาลแม่สอดก็กักตัวไว้เพื่อทำการรักษาที่โรงพยาบาล

"ตั้งแต่มีมาตรการเข้มงวดขึ้นหลังจากเกิดการระบาดระลอกที่ 2 ในเมียนมา พบเจอคนที่ลักลอบเข้าประเทศวันละ 5 - 10 คน แต่บางวันก็ไม่พบ" ปลัดป้องกันอำเภอแม่สอดกล่าวและให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าคนที่ลักลอบเข้าเมืองส่วนใหญ่เป็นชาวเมียนมาที่เข้ามาหางานทำในภาคเกษตรที่แม่สอดเพราะช่วงนี้มีการเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร เช่น ข้าว ถั่วเขียว อ้อย

"เราเจอ (การลักลอบข้ามแดน) ในแทบทุกพื้นที่ของแม่สอด แต่ส่วนใหญ่จะเป็นจุดที่อยู่ไกลจากชุมชน แต่เราก็เพิ่มเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังในจุดนั้นอย่างเข้มงวด ทำให้มีรายงานว่าเริ่มมีการย้ายจุดลักลอบข้ามแดนไปในอำเภออื่น" นายธวัชชัยกล่าว

กองทัพบกบอก "ทำเต็มที่แล้ว"

วันที่ 21 ธ.ค. กองทัพบกรายงานทางเพจเฟซบุ๊กศูนย์ประชาสัมพันธ์กองทัพบกว่า ระหว่างวันที่ 18-20 ธ.ค. กองกำลังป้องกันชายแดนทั้งในภาคอีสาน ตะวันออกและตะวันตก จับกุมแรงงานต่างด้าวลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายได้รวม 76 ราย ในจำนวนนี้มีทั้งสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา จีน รวมทั้งมี "ผู้นำพาชาวไทย" ถูกจับกุมด้วย

ขณะที่เว็บไซต์มติชนรายงานคำพูดของ พล.ท.สันติพงศ์ ธรรมปิยะ โฆษกกองทัพบก ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดต่อไวรัสโคโรนา 2019 ของกองทัพบก (ศบค.ทบ.) ว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่จ.สมุทรสาคร พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก ได้มีข้อสั่งการไปยังหน่วยที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในการเพิ่มมาตรการป้องกันชายแดนอย่างเต็มที่ ทั้งทหารหลัก ทหารพราน และตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.)

โฆษก ทบ.กล่าวว่า ทบ. มีกองกำลังป้องกันชายแดน 7 กองกำลัง ที่ต้องดูแลพื้นที่ชายแดนมีความยาวถึง 5,526 กม. ซึ่งที่ผ่านมา ผบ.ทบ.ได้สั่งเพิ่มเติมกำลังไปแล้ว 5 กองร้อย รวมถึงเพิ่มมาตรการในการปฏิบัติ เช่น เพิ่มจุดเฝ้าระวังในพื้นที่ที่เป็นช่องทางธรรมชาติและเดินข้ามได้สะดวกด้วยการวางเครื่องกีดขวาง เพิ่มกำลังลาดตระเวนรวมทั้งใช้โดรนบินลาดตระเวน