ซีอุย : ความพยายามทวงคืนศักดิ์ศรีผู้ถูกศาลตัดสินและสังคมตราหน้าเป็น “มนุษย์กินคน”

ภาพซีอุย แซ่อึ้ง ขณะอ้าปากหาว

ที่มาของภาพ, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2546

คำบรรยายภาพ, ภาพซีอุย แซ่อึ้ง ขณะอ้าปากหาว

ตำนานซีอุย หรือฆาตกร "มนุษย์กินคน" สะเทือนขวัญ กลับมาเป็นที่สนใจของสังคมไทยอีกครั้ง เมื่อมีผู้เรียกร้องทวงสิทธิความเป็นมนุษย์ ให้นำร่างซีอุยออกจากพิพิธภัณฑ์ศิริราช ไปประกอบพิธีศพ หลังตกเป็นเหยื่อความอยุติธรรม และถูกจัดแสดงประจานมานานกว่า 60 ปี

"นำร่างซีอุย แซ่อึ้งออกจากพิพิธภัณฑ์ศิริราช คืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ล้างฉายามนุษย์กินคน" แคมเปญรณรงค์บนเว็บไซต์ Change.org เมื่อกว่า 1 ปีที่แล้ว กลับมาเป็นกระแสบนโลกสังคมออนไลน์อีกครั้ง จากผู้ร่วมลงชื่อสนับสนุนเพียงน้อยนิด ตอนนี้ เกิน 11,000 คนไปแล้ว (15 พ.ค. 2562)

ฟาโรห์ จักรภัทรานน ที่ระบุใน Change.org ณ วันและเวลาที่ตั้งแคมเปญว่า เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสนใจเกี่ยวกับ "สิทธิมนุษยชน" และ "ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์" ให้เหตุผลต่อการล่ารายชื่อออนไลน์ว่า

"เพื่อให้สังคมไทยได้เรียนรู้จากความผิดพลาดว่า ในอดีตเคยมีชายคนหนึ่งตกเป็นจำเลยสังคม เพราะการเผยแพร่ข่าวลือที่ไม่มีพยานหลักฐานของสื่อสำนักพิมพ์ และเพื่อเป็นอีกหนึ่งย่างก้าวในการตระหนักถึงสิทธิและเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ทั้งตนเอง และผู้อื่นของคนไทยทั้งปวง"

"ตั้งแต่เด็กจนโต ไม่เคยเชื่อว่าซีอุยทำ" "ถึงจะผิดโทษควรสุดที่ความตาย...ไม่ใช่เอามาประจานหลายสิบปี" และ "แพะรับบาป" คือความเห็นส่วนหนึ่งของผู้ร่วมลงชื่อสนับสนุนแคมเปญนี้

บีบีซีไทย พยายามติดต่อผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ศิริราช เพื่อขอความเห็นต่อแคมเปญรณรงค์อายุ 1 ปี ที่กลับมาเป็นกระแสอีกครั้งนี้ แต่ยังไม่สามารถติดต่อได้

ที่มา-ตำนานซีอุย

บทความโดย ปรามินทร์ เครือทอง ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับ ต.ค. 2546 ย้อนเรื่องราวคดีที่สะเทือนขวัญสังคมไทย ระหว่างปี 2497 - 2501 ที่ปิดม่านลงด้วยการที่ศาลอุทธรณ์ ตัดสินโทษประหารชีวิต หลีอุย แซ่อึ้ง ที่ถูกเรียกเพี้ยนเป็น "ซีอุย" ฐานฆาตกรรมโหดกินเนื้อมนุษย์คดีสุดท้ายเพียงคดีเดียว จาก 6 ศพ / 7 คดี ที่เป็นข่าว

ตามบันทึกคำให้การของตำรวจ ระบุว่า ซีอุยเกิดประมาณปี 2464 ตำบลฮุนไหล เมืองซัวเถา ประเทศจีน เมื่อโตเป็นวัยรุ่น ได้ถูกเกณฑ์ไปประจำหน่วยทหาร ต่อสู้ในสงครามจีน-ญี่ปุ่น เมื่อสงครามสิ้นสุด จึงถูกเกณฑ์ไปรบกับฝ่ายเหมาเจ๋อตุง ก่อนหนีทหารเข้ามาในไทย เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2489

คำให้การวันที่ 30 ม.ค. 2501 ยืนยันว่า "มาอยู่เมืองไทยครั้งแรกที่ตำบลทับสะแก จ. ประจวบคีรีขันธ์" ทำงานรับจ้างทั่วไป อยู่ไม่เป็นหลักเป็นแหล่ง แต่ข้อสันนิษฐานมัดตัว คือ เส้นทางและแหล่งพักพิงของซีอุยในช่วงเกิดคดีฆาตกรรม ตรงกับสถานที่เกิดเหตุของคดีทั้ง 7 คือ ประจวบคีรีขันธ์ 4 ดคี กรุงเทพฯ นครปฐม และระยอง แห่งละ 1 คดี

"ข้าฯ เคยทำการฆ่าคน และนำเอาหัวใจกับตับมารับประทานแล้ว 2 ราย ที่กรุงเทพฯ หนึ่งราย และที่นครปฐมหนึ่งราย" คำให้การของซีอุย ในวันที่ 31 ม.ค. 2501

แพะรับบาป

ผู้ใช้ทวิตเตอร์ กล้าเปลี่ยน \7 ทวีตข้อความ (12 พ.ค. 62) ที่ถูกแชร์ไปกว่า 74,000 ครั้ง จนทำให้แคมเปญของ ฟาโรห์ จักรภัทรานน กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง ระบุว่า

ข้าม Twitter โพสต์
ยินยอมรับเนื้อหาจาก Twitter

บทความนี้ประกอบด้วยเนื้อหาจาก Twitter เราขอความยินยอมจากคุณก่อนใช้คุกกี้ หรือเทคโนโลยีอื่น ๆ บันทึกอะไรลงไป คุณอาจต้องอ่านนโยบายคุกกี้ของ Twitter และนโยบายความเป็นส่วนตัวของ Twitter ก่อนให้ความยินยอม หากต้องการอ่านเนื้อหานี้ โปรดเลือก "ยินยอมและไปต่อ"

คำเตือน:เนื้อหาภายนอกอาจมีโฆษณา

สิ้นสุด Twitter โพสต์

"ปัจจุบัน เค้ารู้กันหมดแล้วว่า ซีอุย ไม่ได้ฆ่าและกินเครื่องในมนุษย์ ซึ่งเกิดจากการถูกใส่ร้าย" แต่ "พิพิธภัณฑ์ที่โรงพยาบาลศิริราช ก็ยังเอาศพของเขามาโชว์และยังตราหน้าว่าเป็น มนุษย์กินคน แม้คนตาย ศพก็ยังไม่ได้รับความยุติธรรม"

ต่อมาเพจเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อบัญชีว่า Poetry of Bitch สรุปข้อมูลเกี่ยวกับซีอุย มีเนื้อความที่บ่งชี้ว่าเป็น "แพะรับบาป" ดังนี้

  • คาดว่าตกเป็นจำเลยสังคม เพราะหนังสือพิมพ์ในยุคนั้นเผยแพร่ข่าวลือโดยขาดการกลั่นกรอง
  • ญาติของผู้ตาย คนในพื้นที่และนายจ้างของซีอุย ไม่มีใครเชื่อว่าเขาเป็นคนทำ
  • เหยื่อรายแรก เด็กหญิงบังอร ภมรสูตร ที่ถูกเชือดคอ แต่รอดชีวิต อ้างว่าได้เห็นหน้าฆาตกร และบอกว่าคนทำคือ นายเกลี้ยง ไม่ใช่ซีอุย ซึ่งนายเกลี้ยงเป็นชายสติไม่ดี ชอบกินของดิบ เขาเป็นพี่ชายภรรยาปลัดอำเภอที่มีอิทธิพลในพื้นที่สมัยนั้น อีกทั้ง มีคนพบชิ้นเนื้อและตับของเหยื่อรายที่สอง ในกระเป๋ากางเกงของนายเกลี้ยง
  • ซีอุยถูกหว่านล้อมให้สารภาพ โดยหลอกว่าจบคดีแล้วจะส่งกลับบ้านที่เมืองจีน

บีบีซีไทย เทียบเคียง "ข้อแก้ต่างซีอุย" เหล่านี้ กับคำให้การซีอุย ตามที่ตีพิมพ์ในนิตรสารศิลปวัฒนธรรม อ้างอิงจากสำเนาคำให้การของผู้ต้องหา ในบทความนั้นตั้งข้อสังเกตว่า คำให้การของซีอุยไม่ตรงกับข้อเท็จจริงของคดี

คำสารภาพ ไม่ตรงรูปคดี

หลีอุย แซ่อึ้ง หรือ ซีอุย ถูกจับในคดีเด็กชายสมบุญ (ระยอง คดีที่ 7) และถูกเชื่อมโยงกับคดีที่เกิดขึ้น 2 คดี คือ ฆาตกรรรมที่สถานีรถไฟสวนจิตรลดา และที่องค์พระปฐมเจดีย์ เพราะมีพฤติกรรมคล้ายกัน คือ "เหยื่อเป็นเด็ก" และ "ศพถูกชำแหละ ควักอก"

การสอบสวนเริ่มตั้งแต่คืนวันที่ 27 ม.ค. 2501 โดยมีล่ามภาษาจีนร่วมการสอบสวนและบันทึกปากคำทุกครั้ง เพราะซีอุย "พูด ฟังภาษาไทยไม่ได้"

ร่างซีอุย ในพิพิธภัณฑ์ศิริราช

ที่มาของภาพ, Twitter @กล้าเปลี่ยน \7

คำบรรยายภาพ, ร่างซีอุย ในพิพิธภัณฑ์ศิริราช

คดีกรุงเทพฯ และคดีที่นครปฐม ซีอุยปฏิเสธไม่เกี่ยวข้อง แต่ยอมสารภาพคดีที่ จ. ระยองว่า เป็นการทำผิดครั้งแรก แต่ "ไม่เคยฆ่าคนเพื่อจะเอาตับและหัวใจมากินเลย"

กระบวนการสอบสวนชี้ให้เห็นว่า ตำรวจพยายามเชื่อมโยงซีอุยที่ยอมรับคดีในระยอง กับ 2 คดีก่อนหน้าจริง แต่แล้วในวันที่ 31 ม.ค. หรือ 72 ชั่วโมงผ่านไป ซีอุยกลับเปลี่ยนคำให้การ ยอมรับสารภาพทั้ง 3 คดี ซึ่งตรงนี้ยังเป็นปริศนาว่า ทำไมเขาถึงยอมรับสารภาพ หลังปฏิเสธข้อกล่าวหามาโดยตลอด

ไม่เพียงเท่านั้น ผู้เขียนบทความตั้งข้อสังเกตถึงความไม่สอดคล้องกันของ "รูปคดี" ที่เป็นข่าว กับคำสารภาพใน "บันทึกคำให้การ" ของตำรวจ โดย ปรามินทร์ เครือทอง เขียนในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับ ต.ค. 2546 ไว้ดังนี้

เมื่อตรวจสอบไปยังหนังสือพิมพ์เก่าเมื่อ ๓ ปีก่อน ซึ่งรายงานข่าวหลังจากคืนเกิดเหตุ คือข่าวของเช้าวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๔๙๗ ก็พบรายละเอียดที่แตกต่างออกไป และพบข้อมูลบางอย่างที่ "อาจจะ" เป็นสาเหตุทำให้ซีอุยต้องสารภาพแบบผิดๆ

เริ่มตั้งแต่จุดที่ลงมือ ตามคำให้การของซีอุยว่า แทงคอเด็กและผ่าเอาหัวใจกับตับ ในเวลาและจุดเดียวกัน ไม่มีการเคลื่อนย้ายเหยื่อ แต่ข่าววันนั้นกลับชี้ร่องรอยของการฆาตกรรมต่างออกไป

"…เจ้าหน้าที่สันนิษฐานว่า ฆาตกรใจโหดคงจะจับแม่หนูน้อยฟาดกับขอบหินชานชลาก่อน แล้วแทงซ้ำ ครั้นแล้วจึงอุ้มศพเด็กเข้าไปชิดกับผนังตึกสถานี จากนั้นก็จัดการเฉือนลูกกระเดือก แล้วควัก 'เครื่องใน' ไปหมด พร้อมทั้งตัด 'ของลับ' ไปด้วย" ทั้งนี้เนื่องจากพบว่าริมชานชาลาสถานี มีรอยเลือดหยดเป็นทางไปจนถึงศพระยะห่างประมาณ 3 วา

เรื่องน่าแปลกอีกอย่างตามที่พนักงานสอบสวนว่า "ไม่ได้ถาม แต่ซีอุยบอกเอง และบอกสถานที่ได้ถูกต้อง" ซึ่งที่จริงซีอุยถึงแม้จะย้ายที่อยู่ตลอดเวลา แต่ใช้เวลาในกรุงเทพฯ น้อยที่สุด เมื่อเทียบกับจังหวัดอื่น โดยเฉพาะกรณีนี้ ซีอุยมาอยู่กรุงเทพฯ ก่อนเกิดคดีเพียง 10 วัน แต่กลับระบุชื่อถนน สะพาน และเส้นทางได้อย่างถูกต้อง ซึ่งตลอดบันทึกคำให้การหลายๆ ครั้งเกี่ยวกับสถานที่พำนักพักพิงในคดีซีอุย ก็ชี้ให้เห็นว่าซีอุยอาจจะมาอยู่กรุงเทพฯ ครั้งนี้เพียงครั้งเดียว หรือถ้ามากกว่า ๑ ครั้ง ก็เป็นระยะเวลาสั้นๆ ไม่ได้อยู่ประจำเป็นเวลานานๆ

ผลิตภาพซ้ำเพิ่มความจดจำ

หลังจากที่ซีอุยถูกประหารชีวิตเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2501 คดีสะเทือนขวัญของซีอุยได้ถูกบอกเล่าเป็นตำนานของฆาตกรอันโหดเหี้ยม ทุกครั้งที่เด็กมีความประพฤติไม่ดี ผู้ใหญ่มักจะขู่ด้วยคำพูดที่ว่า "เดี๋ยวให้ซีอุยมากินตับ" ทำให้ภาพของการเป็นฆาตกรโรคจิตหรือปิศาจถูกผลิตซ้ำจากผู้ใหญ่สู่เด็กในยุคนั้น

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2527 บริษัทกันตนาได้สร้างละครเรื่อง "ซีอุย" เพื่อออกอากาศผ่านสถานีกองทัพบก ช่อง 5 โดยละครเป็นการเล่าเรื่องราวของ ซีอุย แซ่อึ้ง ผ่านนักแสดงมากฝีมือ "อ๊อด" เทิดพร มโนไพบูลย์ โดยละครสร้างความหวาดกลัวซ้ำขึ้นอีกหลังจากที่ผู้คนเกือบจะลืมเรื่องราวของซีอุยไปแล้ว ผลกระทบเรื่องภาพลักษณ์ของซีอุยก็ยังตกมาที่นักแสดงที่รับบทบาทเป็นซีอุย โดย อ๊อด ถูกมองว่าเป็นภาพตัวแทนของซีอุย โดยทุกครั้งที่มีใครกล่าวถึงซีอุย ภาพของอ๊อดก็มักจะปรากฏขึ้นมาในฐานะฆาตกรโรคจิต

ภาพยนตร์ ซีอุย มนุษย์กินคน ถูกนำไปฉายในเทศกาลหนังในต่างประเทศด้วย

ที่มาของภาพ, IMDB

คำบรรยายภาพ, ภาพยนตร์ ซีอุย มนุษย์กินคน ถูกนำไปฉายในเทศกาลหนังในต่างประเทศด้วย

วันเวลาผ่านพ้นไปและกระแสซีอุยก็เงียบลงเรื่อย ๆ จนกระทั้งเดือน ต.ค. พ.ศ. 2547 ได้มีภาพยนต์ที่กำกับโดย นิดา สุทัศน์ ณ อยุธยา และ บุรณี รัชไชยบุญ เรื่อง ซีอุย โดยมีการใช้คำโฆษณาประกอบโปสเตอร์ว่า "ผีหรือคน" เป็นการเน้นย้ำภาพจำของซีอุยที่มีความเหี้ยมโหดกินมนุษย์

เป็นหนึ่งในอาจารย์ใหญ่

ศาสตราจารย์นายแพทย์สงกรานต์ นิยมเสน หัวหน้าภาควิชานิติเวชศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราข ได้ขอรับศพซีอุยจากทางราชการมาผ่าตรวจสมอง ส่วนร่างถูกเก็บรักษาในลักษณะดองแห้งโดยการฉีดฟอร์มาลีนเข้าหลอดเลือด แช่น้ำยารักษาทั้งร่างไว้ 1 ปี และทำการทาขี้ผึ้งทุก ๆ 2 ปี เพื่อป้องกันเชื้อราทุกวันนี้ร่างของซีอุยยังถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์การแพทย์ศิริราชหรือที่คนไทยนิยมเรียกกันติดปากว่าพิพิธภัณฑ์ซีอุย

ศาสตราจารย์พิเศษ นายแพทย์สรรใจ แสงวิเชียร อดีตหัวหน้าภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้ให้สัมภาษณ์กับไทยรัฐออนไลน์ไว้เมื่อปี พ.ศ. 2552 ว่า ซีอุยเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงในยุคหนึ่ง ถ้าไม่มีชื่อเสียง ก็ไม่ได้อยู่ในพิพิธภัณฑ์

โรงพยาบาลศิริราช

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, โรงพยาบาลศิริราช

"อวัยวะข้างในไม่ได้ทำอะไรเลย แค่ฉีดยาเท่านั้น ร่างที่โชว์ก็ไม่ได้ มีความผิดปกติอะไรหรอก ที่จะบอกว่าคนอย่างนั้นอย่างนี้เป็นฆาตกร หน้าตาซีอุย...ก็เป็นตาแป๊ะแก่ ๆ " นายแพทย์สรรใจกล่าว

โดยนายแพทย์สรรใจกล่าวไว้ชัดเจนว่าร่างของซีอุยได้รับการปฏิบัติเป็นอาจารย์ใหญ่ท่านหนึ่งและมีการทำบุญให้อยู่ตลอด

"ถ้าอาจารย์หมอสงกรานต์ไม่ขอมาไว้ที่นี่ ก็จะไม่มีใครทำบุญให้เขาเลย มาอยู่ที่นี่มีการทำบุญให้อาจารย์ใหญ่ทุกปี อวัยวะ ร่าง โครงกระดูกทุกชิ้นถือเป็นอาจารย์ใหญ่ ซีอุยก็เป็นหนึ่งในอาจารย์ใหญ่" นายแพทย์สรรใจกล่าว

ในวันที่ (21 มิ.ย.) คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาลได้แจ้งว่าทางคณะฯ กำลังพิจารณาเรื่องการฌาปนกิจนายซีอุย แซ่อึ้ง หลังจากมีกระแสเรียกร้องจากหลายฝ่ายให้คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล พิจารณาฌาปนกิจร่างนายซีอุย ซึ่งถูกจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์นิติเวชศาสตร์ฯ ศิริราช มาเป็นเวลา 60 ปี

"อย่างไรก็ตาม ในเรื่องการฌาปนกิจมีความจำเป็นที่ต้องรวบรวมเอกสารสำคัญ ได้แก่ ใบมรณบัตร ใบส่งมอบร่างจากกรมราชทัณฑ์ เพื่อให้ดำเนินการฌาปนกิจเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมายและปราศจากข้อโต้แย้งจากทุกภาคส่วน" รศ.นพ.นริศ กิจณรงค์ รองคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กรฯ ศิริราชพยาบาล ระบุในเอกสารข่าวประชาสัมพันธ์วันนี้ (21 มิ.ย.) โดยจะแจ้งผลการพิจารณาให้ทราบต่อไป

นายซีอุยถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดในข้อหาฆาตกรรมและถูกประหารชีวิตเมื่อวันที่ 16 ก.ย.2501 หลังจากนั้นคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้รับมอบร่างนายซีอุยมาจัดแสดง โดยเขียนข้อความว่า "นายซีอุย แซ่อึ้ง (มนุษย์กินคน)" แต่หลังจากมีเสียงทักท้วง ศิริราชได้เอาคำว่า "มนุษย์กินคน" ออกและให้ข้อมูลเพียงว่า "ผู้ถูกประหารชีวิตจากคดีฆ่าผู้อื่น"

* รวบรวม-เรียบเรียงโดย ทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล & ชัยยศ ยงค์เจริญชัย ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย