เขมรแดง : สหายดุช ผบ.เรือนจำตวลสเลงเสียชีวิตแล้ว

คัง เก็ก เอียว หรือที่รู้จักกันในชื่อ สหายดุช

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, สหายดุช อ้างว่า เขาเพียงแต่ทำตามคำสั่งเท่านั้น

สหายดุช อดีตเจ้าหน้าที่อาวุโสของเขมรแดงที่ถูกศาลพิเศษที่สหประชาชาติสนับสนุน ลงโทษจำคุกตลอดชีวิตในความผิดฐานก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติในกัมพูชา เสียชีวิตแล้ว

เนตร เภียกตรา โฆษกศาลพิเศษคดีเขมรแดงเปิดเผยว่าเขาเสียชีวิตเมื่อวันพุธ (2 ก.ย.) ที่โรงพยาบาลมิตรภาพเขมรโซเวียต (Khmer Soviet Friendship Hospital) ขณะมีอายุ 77 ปี แต่ไม่ได้แจ้งสาเหตุการเสียชีวิตของสหายดุชซึ่งเจ็บป่วยมาเป็นเวลานานหลายปีแล้ว

นายคัง เก็ก เอียว หรือที่รู้จักกันในชื่อสหายดุช เป็นผู้ดูแลเรือนจำตวลสเลงซึ่งเป็นสถานที่คุมขัง ทรมานและสังหารประชาชนนับหมื่นคนในช่วงปลายทศวรรษ 1970

คาดกันว่ามีประชาชนราว 2 ล้านคน เสียชีวิตในช่วงที่รัฐบาลเขมรแดงซึ่งนิยมลัทธิเหมาปกครองกัมพูชาระหว่างปี 1975-1979

ดุช เป็นเจ้าหน้าที่อาวุโสคนแรกที่ถูกศาลพิเศษคดีเขมรแดงที่สหประชาชาติให้การสนับสนุนตัดสินว่ามีความผิดฐานก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติเมื่อปี 2010 และถูกพิพากษาลงโทษในปี 2012

เกิดอะไรขึ้นที่เรือนจำตวลสเลง

สหายดุช ดูแลเรือนจำ เอส-21 หรือที่รู้จักกันในชื่อตวลสเลง ซึ่งเป็นสถานที่ที่ใช้ทรมานผู้คนอย่างเหี้ยมโหดยุคที่เขมรแดงเรืองอำนาจ

คาดว่ามีคนอย่างน้อย 15,000 คนรวมถึงเด็ก ๆ ที่ถูกมองว่าเป็นศัตรูของเขมรแดงถูกนำตัวมายังเรือนจำที่เคยเป็นที่ตั้งของโรงเรียนมาก่อนแห่งนี้

คนส่วนใหญ่ถูกทรมาน ถูกบังคับให้รับสารภาพว่าก่ออาชญากรรมต่อต้านเขมรแดงก่อนจะถูกนำไปประหารชีวิตที่ทุ่งสังหาร นอกกรุงพนมเปญญ

เตียงที่ถูกใช้ทรมานในเรือนจำตวลสเลง

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, ตวลสเลง ถูกดัดแปลงจากโรงเรียนให้เป็นเรือนจำ เป็นที่ทรมานและค่ายสังหาร

ในช่วงแรกผู้ที่ถูกสังหารคือบรรดานักโทษที่เป็นอดีตเจ้าหน้าที่ในรัฐบาลเก่า และผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นชนชั้นกลาง แต่ต่อมาสมาชิกที่ต้องสงสัยว่าไม่ภักดีต่อเขมรแดงก็ถูกนำตัวไปที่นั่นด้วย

ยามเฝ้าเรือนจำ ซึ่งมักจะเป็นวัยรุ่นบังคับให้นักโทษเขียนคำรับสารภาพอย่างละเอียดต่อสิ่งที่พวกเขาถูกกล่าวหา และพาดพิงถึงเพื่อนและครอบครัว และคนเหล่านั้นจะถูกนำตัวมากักขัง

ผู้ที่ถูกทรมานแต่ไม่เสียชีวิตจะถูกนำตัวไปยัง "ทุ่งสังหาร" ที่เขตเจืองแอก (Choeung Ek) และถูกฆ่าที่นั่น หลายคนต้องขุดหลุมฝังศพหมู่ของตัวเองก่อนจะจบชีวิต

โดยรวมแล้วมีผู้รอดชีวิตจากเรือนจำตวลสเลงเพียงไม่ถึง 12 คน

คำบรรยายวิดีโอ, ย้อนอดีตผู้รอดชีวิตคุกตวลสเลง

ระหว่างการไต่สวน สหายดุช ยอมรับว่า เขามีหน้าที่ดูแลเรือนจำเอส-21 และกล่าวขอโทษต่อการกระทำการอันโหดร้ายทารุณที่นั่น เขาอ้างในภายหลังว่าเขาเพียงแค่ทำตามคำสั่งเท่านั้น แต่ศาลปฏิเสธคำอุทธรณ์ของเขาด้วยเหตุผลนี้

เขมรแดงคือใคร

เขมรแดงเป็นผู้ปกครองที่โหดเหี้ยมและเรืองอำนาจในกัมพูชาช่วงปี 1975-1979

พอล พต ผู้นำเขมรแดง พยายามนำประเทศกลับไปสู่ยุคกลาง บังคับให้คนนับล้านเดินทางออกจากเมืองไปทำงานในชนบท

ในปี 1979 ทหารเวียดนามใช้กำลังทางทหารเข้าแทรกแซงกัมพูชา และขับไล่เขมรแดงออกไปได้ บรรดาผู้นำเขมรแดงต้องหลบหนีไปซ่อนตัวอยู่ในพื้นที่กันดารในชนบท

ต่อมาในปี 2009 สหประชาชาติสนับสนุนให้มีการจัดตั้งศาลพิเศษเพื่อไต่สวนผู้นำเขมรแดงที่ยังมีชีวิตอยู่

อย่างไรก็ดี มีอดีตแกนนำเขมรแดงเพียง 3 คน ที่ถูกพิพากษาลงโทษ ได้แก่ สหายดุช นายเขียว สัมพัน อดีตผู้นำรัฐของเขมรแดง และนายนวน เจีย ผู้นำหมายเลข 2 รองจาก พอล พต

สหายดุช คือใคร

ดุช เกิดในช่วงต้นทศวรรษ 1940 เขาเป็นครูแต่ได้เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ การทำกิจกรรมซ้ายจัดของเขาทำให้เขาต้องเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ทางการหลายครั้ง

ในช่วงที่เกิดสงครามเวียดนามและมีความเสี่ยงที่จะกระทบถึงกัมพูชา ดุชได้เข้าร่วมกับกลุ่มกบฏคอมมิวนิสต์เขมรแดง ภายใต้การนำของพอล พต

เขาได้เป็นผู้อำนวยการเรือนจำตวลสเลงหลังจากที่เขมรแดงเรืองอำนาจในปี 1975 แต่ต้องหลบหนีไปอยู่ในเขตชนบทใกล้กับชายแดนไทย พร้อมกับผู้นำเขมรแดงคนอื่น ๆ หลังจากเวียดนามเข้าแทรกแซงกัมพูชา

คนเยี่ยมชมเดินผ่านรูปของนายคัง เก็ก เอียว หรือที่รู้จักกันในชื่อ สหายดุช ที่พิพิธภัณฑ์ฆ่าล่างเผ่าพันธุ์ในกรุงพนมเปญ

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, ภาพของนายคัง เก็ก เอียว หรือที่รู้จักกันในชื่อ สหายดุช ที่พิพิธภัณฑ์ฆ่าล่างเผ่าพันธุ์ในกรุงพนมเปญ

แม้จะใช้ชื่อปลอม แต่เขาก็ถูกนักข่าวคนหนึ่งค้นหาตัวเขาจนพบในปี 1999 เขาให้สัมภาษณ์หลายครั้งในเวลาต่อมาโดยยอมรับการกระทำอันโหดร้ายทารุณที่เกิดขึ้นที่ตวลสเลง แต่ระบุว่าคำสั่งมาจากคณะกรรมการกลางของเขมรแดง

"ใครก็ตามที่ถูกจับต้องตาย มันคือกฎของพรรคเรา" เขากล่าว "เรามีหน้าที่ในการสอบปากคำและส่งคำรับสารภาพให้กับคณะกรรมการกลางของพรรค"

10 ปีหลังจากนั้น เขาถูกนำตัวไปขึ้นศาลพิเศษคดีเขมรแดงที่สหประชาชาติสนับสนุน เขาบอกต่อศาลว่ารู้สึก "เสียใจอย่างสุดซึ้ง" และกล่าวขอโทษต่อญาติของเหยื่อทุกคน

เขายังร้องขอให้ศาลปล่อยตัวเขา โดยอ้างว่าเขาไม่ได้เป็นสมาชิกอาวุโสของเขมรแดง แต่ญาติของเหยื่อบอกว่าการร้องขอของเขาถือเป็นการเย้ยหยันคำกล่าวอ้างของตัวเองว่าสำนึกผิดแล้ว