ธรรมศาสตร์จะไม่ทน : อานนท์ นำภา เชื่อศาล รธน. วินิจฉัยการชุมนุม 10 สิงหา ในทางให้สังคมก้าวต่อได้

อานนท์ นำภา

ที่มาของภาพ, PARIS JITPENTOM/BBC THA

คำบรรยายภาพ, การปราศรัยที่มีเนื้อหาว่าด้วยสถาบันกษัตริย์บนเวที "ธรรมศาสตร์จะไม่ทน" เมื่อวันที่ 10 ส.ค. ที่ มธ.ศูนย์รังสิต ถูกกล่าวถึงโดยผู้ปราศรัย 3 คน

นายอานนท์ นำภา เชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยกรณีชุมนุม "ธรรมศาสตร์จะไม่ทน" เมื่อ 10 ส.ค. "ในทางที่ทำให้สังคมก้าวต่อได้" ภายหลังศาลรับพิจารณาคำร้องตามที่มีผู้ขอให้วินิจฉัยว่าการชุมนุม เป็นการล้มล้างการปกครอง ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือไม่

"ผมเฉย ๆ นะ ไม่ได้คิดอะไรเลย คิดแต่ว่าเป็นเรื่องที่ดีที่เราจะได้ไปพูดปัญหาเรื่องสถาบันกษัตริย์ในศาลรัฐธรรมนูญ" นายอานนท์ กล่าวกับบีบีซีไทยเมื่อถามความเห็นในเรื่องนี้ ภายหลังสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่เอกสารข่าวเมื่อ 16 ก.ย. ว่ารับพิจารณาคำร้องของนายณฐพร โตประยูร ที่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 18 ส.ค. ขอให้วินิจฉัยว่าคณะบุคคลกลุ่มต่าง ๆ ที่จัดการชุมนุมปราศรัยจำนวน 6 ครั้งคือในวันที่ 3, 9, 10, 20, 21 และ 30 ส.ค. เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ และขอให้ศาลมีคำสั่งให้คณะบุคคลเลิกการกระทำดังกล่าว

นายอานนท์ ปราศรัยในประเด็นการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์และการแก้ปัญหาการขยายพระราชอำนาจของสถาบันกษัตริย์ต่อสาธารณะครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 ส.ค. เขายังได้พูดในเรื่องเดียวกันนี้อีกหลายเวที รวมทั้งในการชุมนุม "ธรรมศาสตร์จะไม่ทน" เมื่อวันที่ 10 ส.ค. ซึ่งเป็นครั้งเดียวกับที่กลุ่มที่ใช้ชื่อว่า "แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม" ยื่นข้อเรียกร้อง 10 ข้อแก้ปัญหาว่าด้วยสถาบันกษัตริย์ ซึ่งมีข้อเสนอ เช่น ยกเลิกมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญที่ว่าผู้ใดจะกล่าวฟ้องร้องกษัตริย์มิได้ ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ยกเลิก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เป็นต้น

PARIS JITPENTOM/BBC THAI

ที่มาของภาพ, PARIS JITPENTOM/BBC THAI

คำบรรยายภาพ, น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ยืนบนเวที "ธรรมศาสตร์จะไม่ทน" หลังอ่านข้อเรียกร้อง 10 ประการเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์จบ โดยทีมงานได้โปรยแถลงการณ์ในที่ชุมนุมเมื่อวันที่ 10 ส.ค.

ทนายอานนท์ ยืนยันว่า ข้อเสนอว่าด้วยการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ที่ปรากฏเมื่อวันที่ 10 ส.ค. ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่ได้เป็นการล้มล้างการปกครอง ตามที่มีผู้ร้องกล่าวหา

"กรอบในการพูดมันเป็นข้อเสนอในการปฏิรูปสถาบันฯ ที่ค่อนข้างตรงไปตรงมา ไม่บิดพริ้ว แต่สังคมไทยแสบแก้วหู... ข้อเสนอไม่ได้ไปถึงการทำให้ประเทศไทยเป็นสาธารณรัฐ แต่เป็นข้อเสนอที่เราต้องการให้สถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขและอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง" นายอานนท์ กล่าว

การยื่นคำร้องของนายณฐพรเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 มาตรา 49 ซึ่งมีเนื้อความว่า บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้ ผู้ใดทราบว่ามีการกระทำตามวรรคหนึ่ง ย่อมมีสิทธิร้องต่ออัยการสูงสุดเพื่อร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว

รัฐธรรมนูญมาตรา 49 ระบุในวรรคท้ายอีกว่า การดำเนินการตามมาตรานี้ ไม่กระทบต่อการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการตามวรรคหนึ่ง

ณฐพร โตประยูร

ที่มาของภาพ, ณฐพร โตประยูร

คำบรรยายภาพ, ณฐพร โตประยูร ผู้ยื่นคำร้องตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ และ ขอให้วินิจฉัยว่าคณะบุคคลกลุ่มต่าง ๆ ที่จัดการชุมนุม 6 ครั้ง ในเดือน ส.ค. เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ศาลได้รับพิจารณาเฉพาะการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 ส.ค. ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ซึ่งตามคำร้องระบุว่าการชุมนุมปราศรัยในวันดังกล่าวมีผู้กล่าวปราศรัย 3 คน ที่มีการกระทำตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง คือ นายอานนท์ นำภา นายภาณุพงศ์ จาดนอก และ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล

นายอานนท์กล่าวอีกว่า เขาหวังว่าศาลรัฐธรรมนูญจะเปิดการวินิจฉัยอย่างเปิดเผยและให้โอกาสให้ได้ชี้แจงถึงหลักการเหตุผลของข้อเสนอว่าด้วยการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ในฐานะตัวแทนของประชาชน "อีกรุ่นหนึ่ง"

ทนายความสิทธิมนุษยชน วัย 35 ปี ผู้เปิดประเด็นข้อเสนอการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ เห็นว่านี่อาจความพยายามของฝ่ายชนชั้นนำในการจัดการกับผู้เห็นต่างผ่านองค์กรศาล แต่วิธีการเช่นนี้ไม่ได้ผลแล้ว เนื่องจากคนรุ่นใหม่ที่ส่งเสียงออกมาในช่วงนี้มีความชอบธรรม ทั้งแง่คุณภาพและปริมาณ หากศาลวินิจฉัยออกมาว่าการปราศรัยเมื่อวันที่ 10 ส.ค. เป็นการล้มล้างการปกครองฯ ก็ยิ่งสะท้อนว่าศาลมองการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่อย่างไรและเป็นความไม่ลงรอยกันระหว่างคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ จึงเชื่อว่าศาลจะไม่วินิจฉัยในทางที่มีผู้ยื่นคำร้องว่าเป็นการล้มล้าง

"การวินิจฉัยว่าเป็นการล้มล้างการปกครองจะทำให้ศาลรัฐธรรมนูญกลายเป็นตัวตลกของสังคม" เขากล่าว "เชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย ในทางที่ทำให้สังคมก้าวต่อได้ แต่ถ้าวินิจฉัยในทางที่ทำให้เกิดการปะทะกันก็คงเป็นการจูงมือกันลงเหวไปพร้อมกัน"

ผู้ร่วมกิจกรรม "ธรรมศาสตร์ไม่ทน" ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษา ทั้งจาก มธ.และสถาบันการศึกษาอื่น ๆ

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, ผู้ร่วมกิจกรรม "ธรรมศาสตร์ไม่ทน" ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษา ทั้งจาก มธ.และสถาบันการศึกษาอื่น ๆ

2 ฉากทัศน์ และการร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำ

เอกสารข่าวของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญที่เผยแพร่ เมื่อ 16 ก.ย.ระบุว่าศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องทั้ง 3 คน ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วันนับตั้งแต่ได้รับสำเนาคำร้อง และมีคำสั่งให้อัยการสูงสุดแจ้งผลการดำเนินการและส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องตามที่ผู้ร้องยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง

บีบีซีไทย พูดคุยกับ ผศ.ธีระ สุธีวรางกูร นักวิชาการด้านกฎหมายมหาชน จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงกระบวนการทางกฎหมายของศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับคำร้องให้วินิจฉัยการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 ส.ค. และผลของคำวินิจฉัยใน 2 แนวทาง

- วินิจฉัยว่าการชุมนุม 10 ส.ค. เป็นการล้มล้างการปกครองฯ

หากศาลมีคำวินิจฉัยว่าการกระทำของผู้ถูกร้อง 3 คน เป็นการกระทำที่ถือว่าเป็นการล้มล้างการปกครองฯ ศาลจะมีอำนาจในการสั่งห้าม ไม่ให้บุคคล 3 คน นี้ กระทำการอย่างนี้ต่อไปอีก ทั้งนี้ เมื่อศาลวินิจฉัยในแนวทางนี้ว่าการปราศรัยและกล่าวถึงข้อเสนอว่าด้วยการปฏิรูปสถาบันฯ เมื่อวันที่ 10 ส.ค. เป็นการล้มล้างการปกครองจะมีกระบวนการทางกฎหมายอื่นใดต่อเนื่องหรือไม่เป็นดุลพินิจของเจ้าหน้าที่หรือทิศทางของฝ่ายบริหาร

- วินิจฉัยว่าการชุมนุม 10 ส.ค. ไม่เป็นการล้มล้างการปกครองฯ

ถ้าศาลมีคำวินัจฉัยว่า การใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของผุ้ถูกร้อง 3 คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ 10 ข้อ เป็นกรณีที่ไม่ถือว่าเป็นการล้มล้างการปกครองฯ ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทั้ง 3 คนนี้ ก็สามารถแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ต่อไปได้

อย่างไรก็ตาม ในวรรคท้ายของ มาตรา 49 รัฐธรรมนูญ 2560 ได้ระบุว่า การดำเนินการตามมาตรานี้ ไม่กระทบต่อการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการ ผศ.ธีระ อธิบายว่า การกระทำของผู้ถูกร้อง แม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง แต่หากมีความผิดในคดีความอาญา กระบวนการยุติธรรมทางอาญาก็ยังสามารถดำเนินต่อได้

- วินิจฉัยให้ "ยกเลิกการกระทำ" ตามคำร้อง

แม้มีข้อสงสัยว่า การแสดงความคิดเห็นของวันที่ 10 ส.ค.จบสิ้นไปแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญจะห้ามการกระทำต่อไปได้อย่างไร ผศ.ธีระ อธิบายว่า ข้อเท็จจริงที่มีผู้ร้องร้องต่อศาลเป็นเหตุเกี่ยวเนื่อง เนื่องจากทั้ง 3 คน เคยเสนอข้อเสนอว่าด้วยสถาบันฯ เมื่อวันที่ 10 ส.ค. และอาจวินิจฉัยว่ามีความโน้มเอียงที่จะกล่าวถึงประเด็นนี้ต่อเนื่อง ดังนั้น เมื่อเห็นว่ามีความเกี่ยวเนื่องดังกล่าว ประกอบกับวินิจฉัยว่าเหตุการณ์เมื่อวันที่ 10 ส.ค. เป็นการล้มล้างการปกครอง ศาลจึงอาจมีคำสั่งห้ามไม่ให้ผู้ถูกร้องทั้ง 3 คน กระทำการในครั้งต่อ ๆไป

บรรทัดฐานทางกฎหมายในการพูดถึงสถาบันกษัตริย์

นักวิชาการกฎหมายมหาชนจากธรรมศาสตร์ ชี้ว่าโดยปกติแล้วหากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าการกระทำและข้อเท็จจริงชุดใดชุดหนึ่งเป็นการล้มล้างการปกครองฯ หรือไม่ ศาลจะยืนกรานในคำวินิจฉัยของตัวเองเพื่อให้เกิดความเสมอภาคในการบังคับใช้รัฐธรรมนูญตามคำวินิจฉัย

ทั้งนี้ ในคำร้องให้วินิจฉัยถัดไป ต้องพิจารณาว่าหากเป็นบรรทัดฐานเดียวกัน ข้อเท็จจริงอย่างเดียวกัน เช่น ห้ามมิให้กระทำการในการเสนอข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อ และยังเสนอในเรื่องนี้อีก ศาลจะใช้บรรทัดฐานเดิมว่านี่เป็นการกระทำที่ล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

อย่างไรก็ตาม ผศ.ธีระ ระบุว่านี่เป็นความคิดในทางกฎหมายเท่านั้น แต่ในทางการเมือง มวลชนที่เห็นด้วยกับข้อเสนอว่าด้วยการปฏิรูปสถาบันฯ หรือมวลชนชนที่เห็นว่าใช้อำนาจรัฐรังแกเกินไป อาจไม่ยอมรับและส่งผลต่อการเคลื่อนไหวทางการเมือง

"ถ้านโยบายของฝ่ายรัฐใช้ประเด็นทางกฎหมายไปยับยั้งไม่ให้พวกเขาพูด แต่อารมณ์ทางการเมืองของคนคิดว่าพูดได้ ก็อาจเกิดการปะทะกันในเรื่องความคิด และสถานการณ์ทางการเมืองจะร้อนขึ้นเรื่อย ๆ อยู่ที่ว่าจะมีการประเมินอย่างไร ซึ่งอันนี้ผมตอบไม่ได้"