หมุดคณะราษฎร: รอง ผบช.น. ระบุตำรวจยึดหมุดไว้เป็นของกลาง-เตรียมส่งพิสูจน์หลักฐาน

หมุดคณะราษฎร 2563

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ,

หมุดคณะราษฎร 2563 ที่หายไปหลังจาก "แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม" ทำพิธีฝังไว้ที่ท้องสนามหลวงได้ไม่ถึง 24 ชั่วโมง

กองบัญชาการตำรวจนครบาลแถลงวันนี้ (21 ก.ย.) ว่าเป็นผู้รื้อถอน "หมุดคณะราษฎร 2563" ที่แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมฝังไว้ที่พื้นท้องสนามหลวงเมื่อวานนี้ หลังจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนว่ามีกลุ่มบุคคลทำลายทรัพย์สินสาธารณะ

พล.ต.ต. จิรพัฒน์ ภูมิจิตร รอง ผบช.น. กล่าวว่าตำรวจได้ร่วมตรวจสอบบริเวณที่ชุมนุมของแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลังจากที่ผู้อำนวยการเขตพระนครได้มาร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม ว่ามีกลุ่มบุคคลได้ทำลายรั้วเหล็ก ขุดเจาะถนนคอนกรีตและพื้นซีเมนต์ ซึ่งมีไว้ให้ประชาชนใช้ร่วมกัน เป็นเหตุให้ทรัพย์สินเสียหาย จึงได้มาแจ้งความฐานทำให้เสียทรัพย์ และความผิดตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาด

การแถลงข่าวของ พล.ต.ต.จิรพัฒน์มีขึ้นไม่กี่ชั่วโมงหลังจากที่มีผู้พบว่า "หมุดคณะราษฎร 2563" หายไปช่วงเช้าวันนี้ โดยเบื้องต้นไม่ทราบว่าเป็นการดำเนินการของใครและหายไปเมื่อเวลาใด

สำหรับหมุดดังกล่าวนั้น พ.ต.ต. จิรพัฒน์เปิดเผยว่าได้ตรวจยึดไว้เป็นของกลางในคดีและนำส่งกองพิสูจน์หลักฐานตรวจสอบ

รอง ผบช.น. ระบุว่ากรณีที่กรมศิลปากรได้เข้าตรวจสอบพื้นที่สนามหลวงซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานและพบว่ามีการขุดเจาะและเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่เพื่อฝังหมุดซึ่งเข้าข่ายการกระทำผิดตามมาตรา 10 ของ พ.ร.บ. โบราณสถาน โบราณวัตถุและศิลปวัตถุช่วงเช้าที่ผ่านมานั้น พนักงานสอบสวนได้รับคำร้องทุกข์ไว้แล้ว และทำการตรวจสอบพื้นที่ท้องสนามหลวงร่วมกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) กรมศิลปากร เจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐาน และเจ้าหน้าที่ตรวจวัตถุระเบิด (อีโอดี) พบทรัพย์สินราชการเสียหายหลายรายการ และมีการขุดพื้นซีเมนต์เป็นหลุมขนาดกว้าง 1 ฟุต ยาว 1 ฟุต ลึก 2.5 ซม.

ชายคนหนึ่งสำรวจพื้นปูนบริเวณที่หมุดคณะราษฎร 2563 เคยฝังอยู่

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ,

ชายคนหนึ่งสำรวจพื้นปูนบริเวณที่หมุดคณะราษฎร 2563 เคยฝังอยู่

ภาพเปรียบเทียบจุดฝังหมุดคณะราษฎร

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ,

ภาพเปรียบเทียบจุดฝังหมุดคณะราษฎร ก่อนและหลังจากหมุดหายไป

ทั้งนี้ มาตรา 10 ของ พ.ร.บ.โบราณสถานฯ ระบุว่าห้ามผู้ใดซ่อมแซม แก้ไข เปลี่ยนแปลง รื้อถอน ต่อเติม เคลื่อนย้ายโบราณสถาน หรือส่วนต่าง ๆ ของโบราณสถาน หรือขุดค้น ปลูกสร้าง เว้นแต่กระทำตามคำสั่งของอธิบดีกรมศิลปากร

พล.ต.ต. จิรพัฒน์กล่าวว่าสำหรับการเข้าใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) นั้น ทาง มธ.ยังไม่ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์แต่อย่างใด ส่วนความผิดอื่น ๆ นั้น พนักงานสอบสวนอยู่ระหว่างการรวบรวมหลักฐาน

พล.ต.ต.สุคุณ พรหมายน รอง ผบช.น. กล่าวว่าเบื้องต้นพบมีผู้กระทำความผิด พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 16 คน นอกจากความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์แล้ว พนักงานสอบสวนกำลังดำเนินการถอดเทปคำปราศรัยว่ามีการกระทำผิดหรือไม่อย่างไร

ส่วนรายการทรัพย์สินเสียหายที่พบเบื้องต้น ได้แก่

  • รั้วเหล็กสีเขียวโดยรอบ เสียหายจากการพัง และล้ม จำนวน 7 แผง
  • กุญแจคล้องรั้ว ถูกตัดทำลาย 92 ดอก
  • พื้นปูนซิเมนต์กลางสนามหลวง ได้รับความเสียหาย ขนาดประมาณ กว้าง 1 ฟุต ยาว 1 ฟุต
หมุดคณะราษฎร 2563

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ,

แกนนำผู้ชุมนุมนำมือแตะที่หมุดพร้อมกันระหว่างทำพิธีฝัง

เพนกวิน: หมุดอยู่ที่ใจ

นายพริษฐ์ แกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม หนึ่งในผู้นำพิธีฝังหมุดคณะราษฎร 2563 เมื่อวันที่ 20 ก.ย. ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวที่สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 3 (ดุสิต) ว่าทางกลุ่มพร้อมจะจัดทำหมุดขึ้นมาใหม่

"หมุดมันไม่ได้ปักไว้แค่ที่พื้นสนามหลวง แต่มันปักไว้ในใจคน...คุณดึงไปได้เราก็หล่อใหม่ได้" พริษฐ์ หรือ "เพนกวิน" กล่าววันนี้ (21 ก.ย.)

ทั้งนี้ นายพริษฐ์ เดินทางมาที่สำนักงานอัยการฯ พร้อมด้วยนายอานนท์ นำภา นายปิยรัฐ จงเทพ น.ส.สุวรรณา ตาลเหล็ก และนายภาณุพงศ์ จาดนอก เพื่อรายงานตัวตามหมายนัดของ สน.นางเลิ้ง ในคดีกรณีจัดการชุมนุมปราศรัยหน้ากองบัญชาการกองทัพบก เมื่อ 20 ก.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน, ความผิดตาม พ.ร.บ.จราจร และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาด้วยเครื่องขยายเสียง

พริษฐ์ ชิวารักษ์ กล่าวบนเวที

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ,

เพนกวินกล่าวนำเข้าสู่พิธีกรรมฝังหมุดคณะราษฎร 2563 ช่วงเช้าวันที่ 20 ก.ย.

ทางด้านนายอานนท์ นำภา หนึ่งในผู้ร่วมทำพิธีฝังหมุดคณะราษฎร 2563 บอกกับบีบีซีไทยหลังทราบข่าวว่าหมุดดังกล่าวหายไปว่า "ตอนที่ฝังลงไปก็ไม่คิดว่าจะมีใครขโมยหรอกครับ มันเป็นของทุกคน เป็นของสาธารณะ ถ้ามีคนมาทำลายเราก็แจ้งความ"

เขายังได้สื่อสารไปยังผู้อยู่เบื้องหลังการขุดหมุดคณะราษฎร 2563 ออกไปว่าขอให้ผู้กระทำผู้สั่งการได้รับผลตามคำสาปแช่งที่ระบุไว้ตอนพิธีกรรมฝังหมุด เมื่อเช้าวันที่ 20 ก.ย.

"เราได้สาปแช่งไว้แล้วว่าใครขโมยหมุดก็โดนไปตามนั้น" นายอานนท์กล่าว

แกนนำผู้ชุมนุมประกอบพิธีกรรม "ฝังหมุดคณะราษฎรครั้งที่ 2" ในเวลาย่ำรุ่งวานนี้โดยนำอุปกรณ์มาสกัดพื้นปูน และมีนายอรรถพล บัวพัฒน์ จากกลุ่ม "ขอนแก่นพอกันที" รับหน้าที่เป็น "พ่อหมอ" นำการประกอบพิธีสวดมนต์ อันเชิญเหล่าเทพเทวดา ดวงวิญญาณคณะราษฎรและวีรชนประชาธิปไตยมาเป็นสักขีพยานให้กับชัยชนะของประชาชน

หมุดคณะราษฎร 2563

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

หลังจากหมุดคณะราษฎร 2563 ถูกฝังลงที่บริเวณท้องสนามหลวง เมื่อเช้าวันที่ 20 ก.ย. เริ่มมีกระแสผู้ใช้เฟซบุ๊กมีเดียจำนวนหนึ่งเปลี่ยนรูปโปรไฟล์ของตัวเองประกอบภาพโครงร่างของตัวหมุดคณะราษฎร นอกจากนี้ยังมีการส่งต่อแจกจ่ายไฟล์ต้นฉบับของหมุดเพื่อให้นำไปใช้ผลิตซ้ำและออกแบบในสื่อและของใช้ต่าง ๆ

จำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับ 3 แสนบาท

ตั้งแต่ช่วงเช้า มีบุคคลหลายกลุ่มเข้าร้องเรียนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและแจ้งความดำเนินคดีกับแกนนำจัดการชุมนุม 19 กันยา

นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นคำร้องต่ออธิบดีกรมศิลปากร ที่กรมศิลปากร วังหน้าพระลาน เพื่อขอให้เอาผิด 18 แกนนำกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 กรณีบุกรุกเข้าใช้พื้นที่สนามหลวงโดยไม่ได้ขออนุญาต โดยมีการตัดทำลายรั้วและเจาะพื้นเพื่อปักหมุด "คณะราษฎร หมุดที่ 2" ซึ่งทำให้ทรัพย์สินของทางราชการได้รับความเสียหาย

"ถือเป็นกรรมหนัก ที่จะปล่อยให้ลอยนวลต่อไปมิได้" นายศรีสุวรรณกล่าว

แถลงข่าว

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ,

นายสถาพร เที่ยงธรรม ผอ.กองโบราณคดี กรมศิลปากร (ซ้าย) ระบุว่าการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง ขุดค้นสนามหลวงเป็นการกระทำผิด พ.ร.บ.โบราณสถานฯ

ที่ สน.ชนะสงคราม นายสถาพร เที่ยงธรรม ผอ.กองโบราณคดี กรมศิลปากร เข้าพบพนักงานสอบสวนเพื่อให้เจ้าหน้าที่สืบสวนหาผู้กระทำผิด ตามมาตรา 10 พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่เข้าไปยังพื้นที่ แล้วได้ทำการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง ขุดค้น ในพื้นที่โบราณสถานโดยไม่ได้รับอนุญาต มีบทโทษสูงสุดตามมาตรา 35 คือ จำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ย้อนดูพิธีกรรมฝังหมุด

นายพริษฐ์ แกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ ประกาศก่อนทำพิธีฝังหมุดคณะราษฎร 2563 ว่า เหตุที่เลือกฝังหมุดที่สนามหลวงเพราะในช่วงหลัง พื้นที่แห่งนี้ถูกปิดไม่ให้ประชาชนใช้ประโยชน์ อันเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการใช้อำนาจล้นเกิน พร้อมกับอธิบายถึงความหมายของการฝังหมุดว่า หมุดคณะราษฎรปี 2475 คือการเอาอำนาจออกจากสถาบันกษัตริย์ แต่ต่อมาอำนาจเหล่านั้นได้กลับไปอยู่ที่สถาบันกษัตริย์ การฝังหมุดคณะราษฎร 2563 จึงเป็นสัญลักษณ์ว่า อำนาจจะกลับมาที่ราษฎรอีกครั้ง

คำบรรยายวิดีโอ,

"ฝังหมุดคณะราษฎรครั้งที่ 2"

แกนนำผู้ชุมนุมระบุว่าหมุดนี้ทำมาจากทองเหลือง 100% มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 11.6 นิ้ว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของมาตรา 116 ของกฎหมายอาญาที่มักนำมาใช้ดำเนินคดีประชาชน และหนา 2.563 นิ้ว ตรงกับตัวเลขปี พ.ศ. 2563 บนหมุดมีลวดลายเป็นรูปชูสามนิ้ว จารึกข้อความว่า "ณ ที่นี้ผองราษฎรได้แสดงเจตนารมณ์ ประเทศนี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่สมบัติของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง"

เมื่อฝังหมุดลงพื้นแล้ว แกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ ได้ร่วมกันแตะที่หมุดและกล่าวว่า "นี่คือการปักหมุดหมายแห่งชัยชนะของประชาชน ศักดินา จงพินาศ ทรราชจงพินาศ ประชาราษฎร์จงเจริญ"

นอกจากนี้ยังได้กล่าวคำสาปแช่งผู้ที่รื้อถอนหมุดนี้ ทั้งผู้กระทำการและผู้สั่ง จงพบความวิบัติ เสื่อมยศ เสื่อมลาภ เสื่อมฐานันดร เสื่อมสรรเสริญและเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ