วัคซีนโควิด: เปิดคำสั่งศาลอาญา ทำไมจึงให้เพิกถอนคำสั่งลบโพสต์ธนาธรเรื่อง "วัคซีนพระราชทาน"

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

เปิดคำสั่งศาลอาญาความยาว 11 หน้า ในคดีที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า คัดค้านคำสั่งศาลที่ให้คณะก้าวหน้าลบเนื้อหาออนไลน์ 3 รายการตามคำร้องของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเป็นคลิปและข้อความที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ตั้งคำถามถึงการจัดซื้อวัคซีนโควิด-19

คดีนี้เริ่มต้นจากการที่กระทรวงดิจิทัลฯ ยื่นคำร้องต่อศาลเมื่อวันที่ 29 ม.ค. ขอให้ระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ 3 รายการซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการอภิปรายของนายธนาธรในหัวข้อ "วัคซีนพระราชทาน ใครได้ใครเสีย?" ผ่านทางเฟซบุ๊กไลฟ์เมื่อวันที่ 18 ม.ค. ซึ่งศาลได้มีคำสั่งในวันเดียวกันนั้นให้ระงับการทำแพร่หลายซึ่งข้อมูลดังกล่าวในเฟซบุ๊ก ยูทิวบ์และเว็บไซต์ของคณะก้าวหน้า

วันที่ 1 ก.พ. นายธนาธรได้ยื่นคำร้องคัดค้านและขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว ศาลนัดไต่สวนคู่ความทั้ง 2 ฝ่าย คือ กระทรวงดิจิทัลฯ และนายธนาธรเมื่อวันที่ 4 ก.พ. และนัดฟังคำสั่งในวันนี้ซึ่งศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนกระบวนการพิจารณาและคำสั่งศาลวันที่ 29 ม.ค. ที่ให้ลบเนื้อหาออนไลน์ตามคำร้องของกระทรวงดิจิทัลฯ

ฝ่ายกฎหมายของคณะก้าวหน้าได้ขอสำเนาคำสั่งศาลและเผยแพร่ต่อสื่อมวลชน ซึ่งบีบีซีไทยสรุปเนื้อหาบางส่วนและเรียบเรียงประเด็นที่ศาลหยิบยกมาพิจารณาและมีคำวินิจฉัย ซึ่งมีเนื้อหาที่น่าสนใจหลายประการทั้งการตีความ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ขอบเขตและความหมายของคำว่า "ความผิดเกี่ยวกับคำว่าความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร" เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในระบอบประชาธิปไตย ตลอดจนการพิจารณว่าข้อความใดจะเป็นข้อความที่อาจเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

ภายหลังศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนกระบวนการพิจารณาและคำสั่งศาลวันที่ 29 ม.ค. ที่ให้ลบเนื้อหาออนไลน์ตามคำร้องของกระทรวงดิจิทัลฯ ฝ่ายกฎหมายของคณะก้าวหน้าได้ขอสำเนาคำสั่งศาลและเผยแพร่ต่อสื่อมวลชน ซึ่งบีบีซีไทยสรุปเนื้อหาบางส่วนและเรียบเรียงประเด็นสำคัญที่ศาลหยิบยกมาพิจารณาและมีคำวินิจฉัย ดังนี้

ทั้งนี้ในคำสั่งศาล "ผู้ร้อง" คือ กระทรวงดิจิทัลฯ และผู้คัดค้าน คือ นายธนาธร

1.มีเหตุให้รับการคัดค้านคำสั่งระงับการเผยแพร่ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้คัดค้านไว้พิจารณาหรือไม่

การออกคำสั่งระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์มีลักษณะเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลโดยชัดแจ้งและถาวร เมื่อสิ้นสุดกระบวนการแล้วไม่มีโอกาสให้ผู้ใดได้โต้แย้งอีกต่อไป การอนุโลมใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่ถูกต้องแก่คำร้องเช่นนี้ สมควรที่จะรับพิจารณาเสมือนหนึ่งเป็นคดีอาญาคดีหนึ่ง ซึ่งต้องให้โอกาสคู่ความทุกฝ่ายได้ต่อสู้คดีเท่าที่จะเป็นไปได้ ทั้งนี้การให้โอกาสดังกล่าวยังเป็นหลักการสำคัญสำหรับการทำงานขององค์ตุลาการตามหลักนิติธรรม

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, ในการแถลงข่าวทีคณะก้าวหน้าวันนี้ (21 ม.ค.) นายธนาธรกล่าวว่ารัฐบาลใช้ข้อกล่าวหามาตรา 112 มาปิดปากผู้ที่ตรวจสอบการใช้งบประมาณ

สำหรับคดีนี้กระทรวงดิจิทัลฯ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลในวันที่ 29 ม.ค. 2564 และศาลไต่สวนพยานผู้ร้องฝ่ายเดียวแล้วมีคำสั่งในทันทีเป็นกระบวนการที่ไม่ชอบ จึงมีเหตุให้รับคำคัดค้านของผู้คัดค้านไว้พิจารณา

2. มีเหตุสมควรระงับการเผยแพร่ข้อมูลคอมพิวเตอร์เรื่องนี้หรือไม่

คดีนี้กระทรวงดิจิทัลฯ อ้างว่าเนื้อหาที่เผยแพร่เข้าข่ายเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งเป็นความผิดตามมาตา 14(3) แห่ง พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์

ศาลเห็นว่าคำร้องนี้อาจเป็นได้ทั้งกรณีตามมาตรา 20(1) หรือ มาตรา 20(2) ซึ่งมีหลักการที่แตกต่างกัน กรณีตามอนุมาตรา 1 ซึ่งเชื่อมโยงไปยังมาตรา 14(3) นั้น เมื่ออ่านถ้อยคำในมาตรา 14(3) ซึ่งกำหนดความผิดสำหรับการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดที่เกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญานั้น ศาลเห็นว่าถ้อยคำที่ว่า "อันเป็นความผิด" แสดงว่ากฎหมายประสงค์จะลงโทษผู้ที่นำข้อมูลซึ่งได้มีการวินิจฉัยโดยชัดแจ้งแล้วว่าเป็นความผิดเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้เจตนารมณ์ของกฎหมายเพื่อมิให้ความผิดตามมาตรา 14(3) นี้ซ้ำซ้อนกับความผิดประมวลกฎหมายอาญาที่มีโทษสูงกว่าอยู่แล้ว

ดังนั้น เมื่อยังไม่มีการฟ้องเกี่ยวกับข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามคำร้องนี้ให้รับผิดตามประมวลกฎหมายอาญา จึงไม่มีกรณีต้องวินิจฉันตามมาตรา 14(3) และไม่เข้าเหตุตามมาตรา 20(1)

3. กรณีตามคำร้องจะเข้าเหตุตามมาตรา 20(2) หรือไม่

อนุมาตรานี้ให้อำนาจศาลระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่อาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงตามประมวลกฎหมายอาญา ภาค 2 ลักษณะ 1 และลักษณะ 1/1

คำว่า "อาจ" แสดงว่าการห้ามตามมาตรานี้มีลักษณะคล้ายมาตรการเพื่อความปลอดภัย ซึ่งกำหนดขึ้นเพื่อรักษาความปลอดภัยสาธารณะเท่านั้น แม้ถ้อยคำของกฎหมายจะอ้างอิงไปถึงประมวลกฎหมายอาญา แต่ในชั้นนี้กฎหมายมีเจตนารมณ์ที่จะแยกเป็นคนละเรื่องกับการพิจารณาความรับผิดของบุคคลตามประมวลกฎหมายอาญา เพราะในการพิจารณาความรับผิดทางอาญาของบุคคลจะต้องมีการพิจารณาองค์ประกอบภายใน เช่น เจตนา สำคัญผิด รวมทั้งเหตุยกเว้นความผิดและเหตุยกเว้นโทษ ซึ่งไม่เป็นข้อที่จะพิจารณาในชั้นนี้ อีกทั้งการพิจารณาคดีที่มีผลจะลงโทษทางอาญาแก่ผู้ใด กฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์ไว้เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาและจำเลยหลายประการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและกฎหมายอื่น ๆ ซึ่งในชั้นนี้ไม่ต้องดำเนินการถึงขนาดนั้น

สำหรับการพิจารณาในชั้นนี้ ศาลพิจารณาเฉพาะตัวข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปรากฏว่าเฉพาะข้อมูลนั้นว่าอาจกระทบต่อความมั่นคงอันสืบเนื่องจากความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหรือไม่ การวินิจฉัยคดีนี้จึงไม่เป็นการวินิจฉัยว่าผู้ใดจะต้องรับผิดชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้องและศาลที่มีเขตอำนาจจัดได้พิจารณาต่างหากไป และเมื่อมีคำพิพากษาให้บุคคลรับผิดทางอาญาแล้ว จึงมีผลให้ศาลอาจสั่งระงับการทำให้ข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามมาตรา 20(1)ประกอบมาตรา 14(3)ต่อไป

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มอบหมายให้ผู้ช่วยรัฐมนตรีเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้าที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เมื่อวันที่ 20 ม.ค.

4. คำว่า "อาจกระทบกระเทือนต่อวามมั่นคงแห่งราชอาณาจักร" ตามประมวลกฎหมายอาญาภาค 2 ลักษณะ 1 หรือลักษณะ 1/1 นี้ ตามความในพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 20(2) มีความหมายเพียงไร

ในการนี้สมควรแปลความโดยพิจารณากรอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยด้วย ซึ่งในกรณีนี้ ได้แก่ มาตรา 35 วรรคหนึ่งซึ่งบัญญัติว่า "บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อสารความหมายโดยวิธีอื่น การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้เว้นแต่โดยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน"

การที่รัฐธรรมนูญรับรองสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเช่นนี้ ย่อมมีความหมายว่าห้ามหรือระงับการแพร่หลายซึ่งข้อมูลเป็นข้อยกเว้น ในขณะที่การเผยแพร่ข้อมูลโดยเสรีเป็นหลัก ในการนี้ควรพิจารณาว่าสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นสาระสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นระบอบการปกครองที่ยอมรับความหลากหลายและอดทนอดกลั้นต่อความเห็นต่าง สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นนี้จึงถือเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่ต้องได้รับความคุ้มครองโดยเคร่งครัด

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ถูกแจ้งความในข้อหา ม.112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

ทั้งนี้ตามหลักสากลของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีนิติรัฐและพันธกรณีในการปกป้องสิทธิมนุษยชน ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งประเทศไทยรับรองและเป็นภาคี ดังนั้นการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นจะทำได้เมื่อมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดและเร่งด่วน เพื่อคุ้มครองประโยชน์อันชอบธรรมของรัฐ และการจำกัดสิทธิเสรีภาพต้องได้สัดส่วนกับความจำเป็น โดยต้องใช้มาตรการที่เป็นภาระน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของรัฐดังกล่าว

การตีความคำว่า "อาจกระทบต่อความมั่นคงตามประมวลกฎหมายอาญา" ตามมาตรา 20(2) ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ตามหลักการของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยข้างต้นจึงต้องตีความอย่างเคร่งครัดและเป็นภาวะวิสัย

5. ข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามคำร้องเป็นความผิดตามมาตรา 112 หรือไม่

มีความยาวประมาณ 30 นาที ผู้ค้ดค้านนำเสนอเรื่องการจัดการวัคซีนป้องกันโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เนื้อหาระบุว่า รัฐบาลประมาทไม่เร่งรีบจัดหา ทำให้เกิดการจัดหาล่าช้า จัดหาน้อยเกินไป เพราะรัฐบาลมุ่งแสวงหาความนิยมมากเกินไป ผู้คัดค้านเปรียบเทียบการจัดหาวัคซีนของประเทศมาเลเซีย ไต้หวัน และฟิลิปปินส์ ซึ่งมีการเร่งจัดหาวัคซีนได้รวดเร็วกว่า จัดหาหลากหลายผู้ผลิตและครอบคลุมสัดส่วนของประชากรมากกว่า ขณะที่รัฐฝากความหวังไว้กับบริษัทเดียวต่างจากประเทศอื่น ผู้คัดค้านนำเสนอตัวเลือกวัคซีนของผู้ผลิตอื่นแล้วนำเสนอโครงสร้างการบริหารการจัดการวัคซีนของรัฐ

มีการกล่าวถึงบริษัท ซิโนแวค และการถือหุ้นบางส่วนของบริษัทซีพี จำกัด กล่าวถึงวัคซีนของบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งว่าจ้างบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัดผลิต ระบุว่าบริษัทดังก่าวมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด บรรยายประวัติการประกอบธุรกิจของบริษัทและบริษัทในเครือ กล่าวถึงลำดับแผนการเข้าถึงวัคซีน แสดงลำดับความก้าวหน้าในการทำงานของรัฐบาลโดยระบุว่า รัฐบาลไม่พยายามจะจัดหาวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรให้มากกว่าร้อยละ 21.5% กล่าวหาว่า รัฐบาลมุ่งผลทางการเมืองมากกว่าดูแลประชาชน กล่าวว่าบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ไม่อยู่ในแผนความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ และกล่าวถึงองค์กรอื่นที่มีศักยภาพ รัฐบาลฝากความหวังไว้กับบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า และบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด มากเกินไป ก่อนจะสรุปว่าหากเกิดความผิดพลาดนายกฯ จะรับผิดชอบไหวหรือไม่ เพราะประชาชนจะตั้งคำถามกับบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ซึ่งมีผู้ถือหุ้น คือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

รัชกาลที่ 10

ที่มาของภาพ, JEWEL SAMAD/AFP via Getty Images

คำบรรยายภาพ, "ข้อเท็จจริงเพียงว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถือหุ้นบริษัทดังกล่าวมิได้ทำให้พระองค์เสื่อมเสีย ถูกดูหมิ่นหรือเกลียดชัง หรือไม่เป็นที่เคารพสักการะแต่อย่างใด" ศาลระบุในคำสั่ง

ศาลเห็นว่า การพิจารณว่าข้อความใดจะเป็นข้อความที่อาจเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จะต้องพิจารณาจากข้อความทั้งหมด มิใช่พิจารณาตอนหนึ่งตอนใด ดังจะเห็นจากข้อความที่ผู้คัดค้านนำเสนอนั้น เนื้อหาเกือบทั้งหมดมุ่งเน้นเรื่องการกล่าวหารัฐบาลว่าบกพร่องในการจัดหาวัคซีน โดยมีการนำข้อมูลหลายอย่างมาสนับสนุน ซึ่งมีการบรรยายถึงบริษัทที่เกี่ยวข้องหลายบริษัทรวมทั้งกล่าวถึงผู้ถือหุ้นของบริษัทนั้นด้วย ข้อมูลเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ที่ระบุเกี่ยวกับการถือหุ้นเป็นเพียงข้อมูลส่วนน้อย และไม่ใช่ประเด็นหลักของการนำเสนอ

เมื่อพิจารณาถึงข้อความที่กล่าวถึงพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะเจาะจง 2 ช่วงสั้น ๆ คือในนาทีที่ 15.05 และนาทีที่ 28.10 นั้น ในส่วนแรกเป็นการกล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่าเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดของบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ซึ่งความข้อนี้ผู้คัดค้านนำสิบบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นเอกสารราชการและผู้ร้อง(กระทรวงดิจิทัลฯ) ไม่ได้คัดค้าน จึงฟังว่าเป็นความจริง

ข้อเท็จจริงเพียงว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถือหุ้นบริษัทดังกล่าวมิได้ทำให้พระองค์เสื่อมเสีย ถูกดูหมิ่นหรือเกลียดชัง หรือไม่เป็นที่เคารพสักการะแต่อย่างใด

สำหรับในส่วนที่สองซึ่งระบุว่า "ทั้งหมดมันนำมาซึ่งคำถามสุดท้ายว่า ผู้ถือหุ้นของสยามไบโอไซเอนซ์ จำกัดคือในหลวงรัชกาลที่ 10 ถือหุ้นโดยตรง คุณประยุทธ์จะรับผิดชอบไหวหรือไม่ เพราะประชาชนจะตั้งคำถามกับบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ จำกัดซึ่งมีผู้ถือหุ้นคือในหลวงรัชกาลที่ 10"

ศาลเห็นว่า ข้อความนี้ไม่อาจแปลความตามลำพังแยกขาดจากเนื้อหาความส่วนใหญ่ได้ ซึ่งส่วนนี้เป็นส่วนเสริมจากข้อมูลส่วนใหญ่ของการนำเสนอที่กล่าวหารัฐบาลว่าผิดพลาดในการให้วัคซีนเกือบทั้งหมดถูกผลิตในบริษัทเดียว การกล่าวอ้างถึงคำถามของประชาชนต่อสยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ซึ่งอาจกระทบต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น ไม่ได้มีลักษณะเป็นการชักชวนให้ประชาชนกล่าวโทษพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่โดยลักษณะของข้อความที่สืบเนื่องกันมามีลักษณะเป็นการกล่าวหาว่าการกระทำของรัฐบาลจะกระทบถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อให้คนฟังรู้สึกว่าความบกพร่องของรัฐบาลเป็นเรื่องร้ายแรง ด้วยลักษณะการนำพระมหากษัตริย์มาอ้างเพื่อให้รัฐบาลรับผิดชอบมากขึ้น จึงไม่ได้มีการกล่าวถึงกรรมการผู้จัดการของบริษัท เพราะไม่ได้มุ่งเน้นความรับผิดชอบของบริษัทแต่อย่างใด

การแปลความข้อความที่กล่าวว่าอาจกระทบต่อความมั่นคงอันเป็นความผิดตามประมวกฎหมายอาญามาตรา 112 จนเป็นเหตุให้ระงับการแพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์นี้ เป็นการแปลความในเชิงภาวะวิสัย กล่าวคือ ตามความหมายเท่าที่ปรากฎตามอักษรทั้งหมด ไม่พึงนำข้อมูลเฉพาะตัวของผู้คัดค้านซึ่งรวมถึงประวัติหรือแนวทางทางการเมืองมาพิจารณา เพราะคดีนี้มิใช่การพิจารณาความผิดของผู้คัดค้าน และจักต้องพิจารณาอย่างเคร่งครัด คือข้อความที่สมควรถูกห้ามนั้นต้องมีความชัดแจ้งที่จะเป็นความผิด

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

ที่มาของภาพ, Rachaphon Riansiri/BBC Thai

เมื่อพิจารณาแต่ละถ้อยคำตามตัวอักษรข้อความที่ผู้คัดค้านกล่าวสืบเนื่องมาทั้งหมดของเรื่องนี้ ยังไม่สามารถเห็นได้อย่างกระจ่างชัดเจนว่าจะทำให้ผู้ฟังรู้สึกดูหมิ่นเกลียดชังองค์พระมหากษัตริย์แต่อย่างใด นอกจากนี้ในส่วนการนำเสนอของผู้คัดค้านยังมีข้อความหัวเรื่องว่า "วัคซีนพระราชทาน ใครได้ ใครเสีย" ซึ่งอาจเป็นเนื้อความประกอบนั้น ในเรื่องนี้ผู้คัดค้านอ้างว่าเป็นคำพูดที่นายกฯ เคยพูดทำนองนี้ และหน่วยงานของรัฐบาลเคยใช้คำนี้

ข้อเท็จจริงในส่วนนี้ผู้ร้องมิได้โต้แย้งข้อเท็จจริง จึงฟังข้อเท็จจริงได้ตามที่ผู้คัดค้านนำสืบ ทั้งนี้ แม้ถ้อยคำอาจไม่ตรงกันทั้งหมด แต่น่าจะแสดงว่าก่อนหน้านี้รัฐบาลได้มีการใช้ถ้อยคำที่แสดงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประกอบการจัดหาวัคซีนแล้ว การที่ผู้คัดค้านนำข้อความดังกล่าวมานำเสนอจึงมิใช่ความเท็จ และลำพังข้อความดังกล่าวหากมิใช่ความเท็จก็ไม่ทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อพระองค์จึงไม่ใช่การใส่ความ

เมื่อพิจารณาข้อความทั้งหมดแล้วแม้ว่าผู้คัดค้านจะบรรยายว่า องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด แต่ก็มิได้มีข้อความใดที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่าเป็นการกล่าวหา หรือตำหนิติเตียน หรือกล่าวให้สงสัยในความสุจริต ต่อพระองค์ไม่ว่าในทางใด ๆ จึงไม่มีลักษณะชัดเจนและเห็นได้ในทางภาวะวิสัยที่แสดงว่า ข้อความนี้อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อันจะเป็นเหตุให้ศาลระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ แต่อย่างใด

อาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 27 วรรคหนึ่ง ให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาตั้งแต่การไต่สวนและมีคำสั่งของศาล จึงย่อมมีผลให้คำสั่งศาลในวันที่ 29 มกราคม 2564 เป็นอันสิ้นผล และมีคำสั่งยกคำร้อง