ฝุ่น PM 2.5 กลับมาวิกฤต รัฐบาลทำอะไรไปแล้วบ้างหลังประกาศเป็น “วาระแห่งชาติ”

ฝุ่น กทม

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, ท้องฟ้ากรุงเทพฯ ในเขตธนบุรี เช้าวันที่ 9 ม.ค. 2563

เป็นเวลากว่า 2 ปีที่คนไทยรู้จักกับฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่ปกคลุมท้องฟ้าในกรุงเทพฯ และภาคเหนือ เมื่อ ก.พ. 2562 รัฐบาลยกให้การแก้ปัญหาฝุ่น เป็นวาระแห่งชาติ 8 เดือนต่อมา แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ "การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง" คลอดออกมาเมื่อเดือน ต.ค.

ทว่า สัปดาห์นี้ หลังหยุดยาวปีใหม่ โรงงาน ธุรกิจเปิดกิจการ ฝุ่นละอองกลับมาปกคลุมท้องฟ้ามหานครอีกครั้ง ค่าฝุ่น PM 2.5 พุ่งพรวดพราดขึ้นมาอีก มาดูกันว่ารัฐบาลได้ทำอะไรไปแล้วบ้างเพื่อแก้ปัญหานี้

ท้องฟ้าที่ขาวโพลนในช่วงเช้าเหนือกรุงเทพมหานครและปริมณฑลตั้งแต่ 7 ม.ค. มีสาเหตุจากปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่พุ่งสูงอีกครั้ง และคาดว่าสถานการณ์ฝุ่นระลอกนี้จะยังเกิดขึ้นจนถึง 10 ม.ค.

กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เช้าวันนี้ (9 ม.ค.) ค่าฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานและเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ 45 พื้นที่ (พื้นที่สีส้ม) ตรวจวัดค่าได้ 47 - 81 มคก./ลบ.ม. จากค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.

สถานีตรวจวัดแขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม วัดค่าได้สูงสุดเช้านี้ 81 มคก./ลบ.ม. บริเวณริมถนนพหลโยธิน เขตบางเขน วัดระดับค่าฝุ่นได้ 76 มคก./ลบ.ม.

กรมควบคุมมลพิษ รายงานผลการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ เมื่อเวลา 7.00 น. ของวันที่ 8 ม.ค. ตรวจวัดค่าปริมาณฝุ่น PM 2.5 ได้ 39-71 มคก./ลบ.ม. (ค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.) โดยปริมาณฝุ่นละอองมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงของวันที่ 7 ม.ค. โดยพบพื้นที่มีปริมาณฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานและเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ 38 พื้นที่ (พื้นที่สีส้ม)

ส่วน ค่าดัชนีคุณภาพอากาศของ กทม. ของวันที่ 8 ม.ค. แตะขึ้นอยู่ที่อันดับ 4 ของโลก ตามดัชนีคุณภาพอากาศ US AQI วัดได้ 114 มคก./ลบ.ม.

ท้องฟ้าฝุ่น

ที่มาของภาพ, Thanyaporn Buathong/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, ท้องฟ้ากรุงเทพฯ จากสถานีรถไฟฟ้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เช้านี้วันที่ 8 ม.ค.

"เราได้มีการสำรวจใหม่ว่า ค่าฝุ่นฯ (ใน กทม.) เกิดจากยานพาหนะ (รถยนต์) ร้อยละ 72.5" นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวกับบีบีซีไทยในวันนี้ และชี้ว่ามาตรการอื่น ๆ อย่างการควบคุมการเผาในที่โล่ง ก็ได้ประสานให้กระทรวงมหาดไทยมีการสั่งการให้ควบคุมการเผาในแต่ละจังหวัด

ทว่าในทัศนะของนักวิชาการผู้ติดตามปัญหาฝุ่นพิษ มองว่ายังไม่เห็นมาตรการที่เป็นรูปธรรมจากรัฐบาล นอกจากการแจ้งเตือนค่าฝุ่น

แผนปฏิบัติการว่าอย่างไรบ้าง

รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยกให้ การแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เป็นวาระแห่งชาติเมื่อปีที่แล้ว และก็มีแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ "การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง" ออกมาเมื่อเดือน ต.ค. 2562 ซึ่งเกี่ยวพันกับหลายหน่วยงาน ไม่เพียงกรมควบคุมมลพิษ แต่ยังรวมถึง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพลังงาน กระทรวงคมนาคม กระทรวงอุตสาหกรรม สาธารณสุข รวมถึงท้องถิ่น เช่น กรุงเทพมหานคร

นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวกับบีบีซีไทย ว่าการแก้ปัญหาเรื่องฝุ่นส่วนใหญ่ เป็นไปตามมาตรการในระยะเร่งด่วนหรือระยะวิกฤต เช่น การตรวจดักจับรถที่มีควันดำสูง ถี่ขึ้น การปรับเปลี่ยนการใช้นำมันเชื้อเพลิงของรถเมล์ ขสมก. ตั้งแต่เดือน ก.พ. ปีที่แล้ว และการขอความร่วมมือเอกชนผู้ก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าคืนผิวจราจรให้มากที่สุด

รถยนต์

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ให้ข้อมูลว่าค่าฝุ่นฯ (ใน กทม.) เกิดจากยานพาหนะถึงร้อยละ 72.5

ส่วนการควบคุมการเผาในที่โล่งในภาคการเกษตร ซึ่งเป็นสาเหตุร้อยละ 10 ของการเกิดฝุ่นสะสมในระดับสูง เป็นหน้าที่ของกระทรวงเกษตรฯ ที่ต้องสั่งให้ทางเกษตรจังหวัด ควบคุมและงดการเผาเศษวัสดุทางการเกษตร ก็เริ่มมีการดำเนินการบางพื้นที่

นอกจากมาตรการในระยะเร่งด่วน ในแผนนี้ระบุถึงมาตรการป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง (แหล่งกำเนิด)

- มีการนำน้ำมันเชื้อเพลิงมีกำมะถันไม่เกิน 10 ppm มาใช้ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ก่อนกฎหมายบังคับใช้ และกำหนดใช้ทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567

- ไม่ให้มีการเผาในไร่อ้อย ร้อยละ 100 ภายในปี 2565

- บังคับใช้มาตรฐานการระบายมลพิษจากรถยนต์ใหม่ ยูโร 6/VI ภายในปี 2565

- จำนวนจุดความร้อนในพื้นที่ป่า พื้นที่เกษตร พื้นที่ริมทาง และพื้นที่ชุมชนลดลง

- จำนวนวันที่ฝุ่นละอองอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานในช่วงวิกฤตเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ต่อปี

- กำหนดมาตรการทางกฎหมายโดยการออกระเบียบกำหนดให้โรงงานน้ำตาลรับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบได้ไม่เกินร้อยละ 20 ต่อวัน ภายในปี 2564

ฝุ่น

ที่มาของภาพ, Thai news pix

วิกฤตฝุ่นจะดีขึ้นเมื่อสร้างรถไฟฟ้าทุกสายเสร็จ

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวอีกว่า จากการดำเนินการเมื่อปีที่แล้ว พบว่ามาตรการก็เห็นผลมากขึ้น อย่างค่าฝุ่นเดือน ธ.ค. 2562 มีพื้นที่ที่ค่าปริมาณฝุ่นเกิน 5 พื้นที่ ขณะที่ปี 2561 เกินมาจำนวน 14 พื้นที่ คาดว่าสถานการณ์วิกฤตฝุ่นจะดีขึ้นเมื่อการก่อสร้างรถไฟฟ้าทุกสายดำเนินการเสร็จ

"ถ้าเรารู้ก็แก้ปัญหาที่ต้นทาง โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปปฏิบัติ ส่วนการเผาในที่โล่ง กระทรวงมหาดไทย ก็มีหนังสือสั่งการไปแต่ละจังหวัด เราก็คอยติดตาม และพัฒนาเครื่องมือวัดอากาศที่มีคุณภาพดีขึ้นอีกและกำลังจะเริ่มติดตั้งปีนี้"

แอปฯ ฝุ่น

ที่มาของภาพ, Air4Thai

คำบรรยายภาพ, แอปพลิเคชัน Air4Thai ของกรมควบคุมมลพิษ แสดงค่าฝุ่นเกินขนาดมาตรฐานหลายจุดใน กทม.และปริมณฑล เมื่อวันที่ 8 ม.ค. 2563

ขณะที่วิกฤตฝุ่นระยะนี้ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ อธิบายว่า เนื่องจากเป็นช่วงที่มีความกดอากาศต่ำแผ่ลงมา ทำให้ลักษณะของอากาศใน กทม.มีสภาพ "คล้ายฝาชีมาครอบอยู่" ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดขึ้นเฉพาะในช่วงฤดูหนาวตั้งแต่เดือน ธ.ค.- ม.ค.

ส่วนในภาพรวมนั้น สาเหตุของค่าฝุ่นที่สูงขึ้นเกิดจากรถยนต์ร้อยละ 72.5 ที่เหลือเกิดจากการเผาในที่โล่ง และจากภาคอุตสาหกรรม

"ยังไม่เห็นอะไรมากที่เป็นรูปธรรม"

รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เกษตร สิ่งแวดล้อม กล่าวกับบีบีซีไทยว่า ในระยะสั้นยังไม่เห็นการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมในการลดปริมาณการเผาในพื้นที่ภาคเกษตร ซึ่งจากข้อมูลของฝุ่นละอองขนาดเล็กพบว่า มีการเผาในพื้นที่แถบภาคกลางเพิ่มขึ้นหนาแน่นขึ้นกว่าเมื่อ 8 ม.ค. "แสดงว่าภาครัฐยังไม่มีมาตรการใดมาแก้ไขเพื่อลดการเผาในที่โล่งแจ้งในประเทศ"

"ยังไม่เห็นอะไรมากที่เป็นรูปธรรม นอกจากการแจ้งค่าฝุ่น ส่วนจำนวนจุดความร้อนต่าง ๆ ที่คาดหวังว่าจะลดได้ (รัฐ) รู้ล่วงหน้าว่าจะมีฝุ่นเยอะ แต่การประสานกับภาคเกษตรก็ยังไม่เห็นการลดลงของจำนวนจุดความร้อน"

นอกจากนี้ รศ.ดร. วิษณุ กล่าวว่า ภาวะฝุ่นในไทยยังเกิดจากจุดความร้อนจากกัมพูชา ซึ่งเพิ่มขึ้นมหาศาล คาดค่าฝุ่นไต่ระดับมากขึ้นหากทิศทางลมยังพัดพามายังประเทศไทย

แผนที่แสดงจุดความร้อนหรือ

ที่มาของภาพ, https://firms.modaps.eosdis.nasa.gov

คำบรรยายภาพ, แผนที่แสดงจุดความร้อนหรือ Hot spot ของประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ในรอบ 24 ชม. ข้อมูลของวันที่ 8 ม.ค. 2563

รศ.ดร. วิษณุ กล่าวอีกว่า ยังไม่เห็นรูปธรรมในการใช้มาตรการเชิงเศรษฐศาสตร์อย่าง การรับซื้อสินค้าทางการเกษตรที่มีมาตรฐานเชิงสิ่งแวดล้อม และควรมีการวัดประสิทธิผลว่าเมื่อมีมมาตรการแล้วมีการดำเนินการแค่ไหนและมีประสิทธิผลหรือไม่

จากแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ บีบีซีไทยพบว่า มาตรการเกี่ยวกับการจัดการวัสดุจากการทำเกษตรตามแผน ระบุไว้ว่าเป็นมาตรการระยะยาวที่จะดำเนินการในปี 2565-2567 ซึ่งหมายความว่ากว่าที่เราจะได้เห็นการแก้ไขในระดับนี้ต้องรออีกสองปี

นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ยังวิพากษ์อีกว่า กรมควบคุมมลพิษของไทยเป็นเสมือน "เสือกระดาษ" ที่เก็บข้อมูล แต่ไม่มีอำนาจในการควบคุมหรือสั่งการเมื่อพบต้นตอของมลพิษ เช่น การปล่อยจากโรงงานอุตสาหกรรม

เกี่ยวกับปัญหาในเชิงกฎหมายนี้ เครือข่ายอากาศสะอาด ซึ่งมีนักวิชาการและภาคประชาชน กำลังผลักดัน "กฎหมายอากาศสะอาด" ให้ประเทศไทยมีสำนักพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อเป็นองค์กรกลางในการกำกับดูแลแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ เฉกเช่นที่สหรัฐฯ มีสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐอเมริกาหรือ EPA (United States Environmental Protection Agency) ทำหน้าที่ออกระเบียบและให้ความช่วยเหลือรัฐต่าง ๆ ในการวางแผน ทบทวนแผน และตรวจสอบให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย

นายกฯ จี้ตรวจจับรถควันดำ

ทวิตเตอร์ @prayutofficial พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โพสต์ในช่วงบ่ายวันนี้ว่า ช่วงนี้ ฝุ่น PM 2.5 กลับมาและมีผลกระทบต่อสุขภาพ และแนะให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยและเลี่ยงพื้นที่โล่งแจ้ง

"ขอความร่วมมือผู้ใช้รถตรวจสภาพรถ เจ้าหน้าต้องเร่งกวดขันจับกุมรถที่ปล่อยควันดำ ตรวจปริมาณควันจากโรงงานต่างๆ ให้มากขึ้น ร่วมมือกันคนละนิด เพื่อช่วยอากาศพิษให้ลดลง"