ไพบูลย์ นิติตะวัน รอด ศาล รธน. มีคำสั่งไม่ให้พ้นสภาพความเป็น ส.ส.

ไพบูลย์ นิติตะวัน

ที่มาของภาพ, Facebook/วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากให้นายไพบูลย์ นิติตะวัน ยังไม่ขาดสมาชิกภาพความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) หลังยุบเลิกพรรคตัวเอง เพื่อย้ายไปอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งบัลลังก์เพื่ออ่านคำวินิจฉัย กรณีที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคําร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่า สมาชิกภาพของ ส.ส. ของนายไพบูลย์สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (10) ประกอบมาตรา 90 และมาตรา 91 วรรคหนึ่ง (5) หรือไม่

นายวิรุฬห์ แสงเทียน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นผู้อ่านคำวินิจฉัยคดีนี้ โดยใช้เวลาเพียง 10 นาที

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยมีสาระสำคัญสรุปได้ว่า สมาชิกภาพการเป็น ส.ส. ของนายไพบูลย์ ไม่สิ้นสุดลงเนื่องจากเมื่อตรวจสอบมติการสิ้นสภาพการเป็นพรรคการเมืองของพรรคประชาชนปฏิรูปแล้วพบว่าเป็นไปโดยชอบตามข้อบังคับพรรค และตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) พรรคการเมือง

ส่วนที่มีการอ้างว่าการมีมติให้พรรคประชาชนปฏิรูปสิ้นสภาพนั้นมีวาระซ่อนเร้น กลับไม่พบว่ามีพยานหลักฐานสนับสนุนตามที่กล่าวอ้าง และเมื่อพรรคประชาชนปฏิรูปสิ้นสภาพการเป็นพรรคการเมืองไปแล้ว นายไพบูลย์ ซึ่งเป็น ส.ส. ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญในการที่จะหาพรรคการเมืองอื่นสังกัดภายใน 60 วัน

ส่วนที่อ้างว่า นายไพบูลย์ เป็นหัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูปจะต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ชำระบัญชีให้แล้วเสร็จ ตามที่มาตรา 95 พ.ร.ป. พรรคการเมืองกำหนดนั้น ศาลเห็นว่าบทบัญญัติมาตราดังกล่าวกำหนดหน้าที่ที่หัวหน้าพรรคของพรรคที่สิ้นสภาพต้องปฏิบัติ จนกว่าชำระบัญชีแล้วเสร็จ โดยมีหน้าที่ให้ข้อมูล เอกสารต่าง ๆ เพี่อดำเนินการชำระบัญชีให้แล้วเสร็จใน 180 วัน และห้ามดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในฐานะหัวหน้าพรรคที่สิ้นสภาพ แต่ไม่ห้ามดำเนินกิจกรรมในนามพรรคการเมืองอื่น

สำหรับคำร้องที่ว่า นายไพบูลย์ไม่ได้เป็นผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พปชร. มาก่อน ศาลเห็นว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 90 กำหนดเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การจัดทำบัญชีรายชื่อ และการได้มาซึ่งสมาชิก ส.ส. โดยมีวัตถุประสงค์ใช้บังคับกับการเลือกตั้ง และก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นคนละวัตถุประสงค์กับมาตรา 91 (1) และ (4) ที่กรณีของนายไพบูลย์เกิดขึ้นภายหลังได้รับการเลือกตั้งแล้ว

คดีนี้ 60 ส.ส. พรรคฝ่ายค้าน นำโดย พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ได้เข้าชื่อร้องต่อประธานสภา ขอให้ส่งคําร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 42 วรรคหนึ่ง ว่านายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป (ปชช.) ได้สมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) หลังจากที่พรรค ปชช. สิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 91 วรรคหนึ่ง (7) ทั้งที่ยังคงต้องปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าพรรค ปชช. อยู่จนกว่าการชําระบัญชีจะแล้วเสร็จ และมิได้เป็นผู้มีชื่อในบัญชีรายชื่อผู้สมัคร ส.ส. ของ พปชร. ที่ยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก่อนปิดการรับสมัครรับเลือกตั้ง เป็นเหตุให้สมาชิกภาพสิ้นสุดลง

ไพบูลย์

ที่มาของภาพ, ฝ่ายประชาสัมพันธ์ รัฐสภา

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเมื่อ 24 ธ.ค. 2563 รับคำร้องไว้พิจารณา แต่ไม่ได้สั่งให้นายไพบูลย์ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ในระหว่างนี้

การตีความสถานภาพทางการเมืองของนายไพบูลย์ถือว่ามีความสำคัญ เพราะจะเป็นบรรทัดฐานให้ ส.ส. "พรรคจิ๋ว" ที่ยุบพรรคตัวเองหลังการเลือกตั้งเมื่อ 24 มี.ค. 2562 แล้วย้ายไปสมัครเป็นสมาชิกพรรค พปชร.

ขณะนี้มีหัวหน้าพรรคที่เดินตามรอย "ไพบูลย์โมเดล" อย่างน้อย 1 คนคือ พล.ต.อ. ยงยุทธ เทพจำนงค์ ที่เข้าสภาล่างในฐานะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชานิยม ก่อนใช้มติเอกฉันท์ของที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคประชานิยมให้เลิกพรรค เมื่อ 14 พ.ค. 2563 แล้วสมัครเป็นสมาชิก พปชร. ในวันที่ 21 ก.ค. 2563