รัฐประหารเมียนมา: ทำไมต้องทำตอนนี้ แล้วจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป

ชายชาวเมียนมาไหว้เจดีย์สุเล ในนครย่างกุ้ง 1 ก.พ. 2021

ที่มาของภาพ, EPA

คำบรรยายภาพ, กองทัพเมียนมาควบคุมตัวนักการเมืองพลเรือนไว้หลายคน ก่อนที่จะมีการประชุมรัฐสภาไม่กี่ชั่วโมง

การยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนครั้งแรกในรอบ 59 ปี ของกองทัพเมียนมา สร้างความฉงนให้ผู้คนจำนวนมากว่า ทำไมบรรดานายพลในกองทัพซึ่งยังทรงอิทธิพลทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ จึงออกมาดึงอำนาจคืนจากนักการเมืองพลเรือนอีกครั้ง

การรัฐประหารเมื่อ 1 ก.พ. ได้เรียกเสียงประณามจากนานาชาติ พร้อมกับคำขู่ว่าจะตอบโต้ด้วยการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ แต่ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า พลังคัดค้านจากประชาชนในประเทศจะออกมาในรูปใด หลังจากที่ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งไว้วางใจให้พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) กลับเข้ามาบริหารประเทศอีกครั้งด้วยคะแนนกว่า 80%

บีบีซีไทยรวบรวมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และประเด็นที่เกี่ยวข้องจนนำไปสู่การยึดอำนาจ

อ้างทุจริตเลือกตั้งในการยึดอำนาจ

เช้าตรู่ของ 1 ก.พ. กองทัพเมียนมาประกาศว่าได้ควบคุมประเทศไว้แล้ว หลังจากที่ยอมส่งมอบอำนาจให้แก่รัฐบาลพลเรือนนาน 10 ปี โดยกำลังส่งมอบอำนาจให้แก่ พล.อ. มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และประกาศภาวะฉุกเฉินนาน 1 ปี เนื่องจาก "การทุจริตเลือกตั้ง"

สถานีโทรทัศน์ของกองทัพรายงานว่า ทหารเข้าควบคุมตัวนางออง ซาน ซู จี และสมาชิกอาวุโสคนอื่น ๆ ของพรรคเอ็นแอลดีที่เป็นพรรครัฐบาลของเธอ ส่วนบีบีซีแผนกภาษาพม่ารายงานว่า การสื่อสารทางโทรศัพท์และอินเทอร์เนตถูกตัดขาด ทหารออกมาลาดตระเวนและตั้งด่านตรวจตามท้องถนนในกรุงเนปิดอว์ และเมืองหลักอย่างนครย่างกุ้ง

เมื่อ 30 ม.ค. หรือเพียงสองวันก่อนการประชุมรัฐสภาเมียนมาชุดใหม่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 1 ก.พ. กองทัพเมียนมาออกแถลงการณ์สยบข่าวลือการก่อรัฐประหารที่ดังหนาหูตลอดสัปดาห์ โดยยืนยันว่าจะมุ่งมั่น "ปกป้องรัฐธรรมนูญและปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด"

แถลงการณ์ฉบับนี้ยังอ้างถึงถ้อยแถลงของ พล.อ.มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยชี้ว่าการกล่าวหากองทัพว่าต้องการยกเลิกรัฐธรรมนูญ เป็นข้อสันนิษฐานที่ไม่อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงขององค์กรบางแห่งและสื่อบางสำนัก

ในจดหมายที่นางซู จี เขียนขึ้น ช่วงก่อนที่จะถูกควบคุมตัว เธอระบุว่า การกระทำของกองทัพทำให้ประเทศกลับไปสู่เผด็จการอีกครั้ง และเรียกร้องให้บรรดาผู้สนับสนุนของเธอ "อย่ายอมรับเรื่องนี้" และให้ "ประท้วงต่อต้านรัฐประหาร"

ออง ซาน ซู จี ใส่หน้ากากอนามัย

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, ออง ซาน ซู จี เดินทางไปที่คลินิกวัคซีนไวรัสโคโรนาในเดือน ม.ค. 2564

ใครถูกควบคุมตัวไว้บ้าง

นอกจากนางซู จีแล้ว มีคนสำคัญทางการเมืองถูกควบคุมตัวไว้อีกหลายคน รวมถึง นายวิน มินต์ ประธานาธิบดีจากพรรคเอ็นแอลดี, นายฮัน ตาร์ มินต์ และนายยาน วิน สมาชิกพรรคเอ็นแอลดี คณะกรรมการกลาง, นายเพียว มิน เต็ง มุขมนตรีเขตย่างกุ้ง, นายมอนยวา ออง ชิน โฆษกพรรคเอ็นแอลดี, นายนัน ขิ่น ทวย มินต์ นายกรัฐมนตรีรัฐกะเหรี่ยง, นายเมียะ เอ ผู้นำนักศึกษากลุ่ม 88 เจเนเรชัน และนายมิน ตวย ติต ผู้นำนักศึกษาพรรคคอมมิวนิสต์พม่า

กราฟิก

ข้อกล่าวหาทุจริต "ในแบบทรัมป์"

โจนาธาน เฮด ผู้สื่อข่าวประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของบีบีซี ชี้ว่าการยึดอำนาจที่เกิดขึ้นไม่กี่ชั่วโมงก่อนการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกในช่วงเช้าวันที่ 1 ก.พ. ทำให้การรับรองผลการเลือกตั้งไม่มีโอกาสเกิดขึ้นตามที่กำหนดไว้

การเลือกตั้งในเดือน พ.ย. พรรคเอ็นแอลดีได้คะแนนเสียงมากกว่า 80% ยังคงเป็นที่ชื่นชอบของประชาชนจำนวนมาก แม้ว่าจะเผชิญกับข้อกล่าวหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวมุสลิมโรฮิงญาในเมียนมา

ทันทีที่การเลือกตั้งสิ้นสุดลง พรรคฝ่ายค้านซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทัพก็กล่าวหาว่ามีการทุจริตในการเลือกตั้ง และย้ำข้อกล่าวหานี้อีกครั้งในแถลงการณ์ที่ประธานาธิบดีรักษาการที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งลงนามและเผยแพร่ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการประกาศภาวะฉุกเฉินนาน 1 ปี

มินต์ ส่วย อดีตนายพลซึ่งดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีก่อนหน้านี้ กล่าวว่า "คณะกรรมการการเลือกตั้ง ล้มเหลวในการจัดการกับความผิดปกติของบัญชีรายชื่อผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไปที่มีหลายพรรคการเมืองเข้าร่วม" เมื่อ 8 พ.ย. 2563

แต่แทบไม่มีหลักฐานสนับสนุนข้อกล่าวหาดังกล่าว และนักสิทธิมนุษยชนนานาชาติเห็นว่าเป็นเพียงข้ออ้าง

"ชัดเจนว่า ออง ซาน ซู จี ชนะการเลือกตั้งอย่างยิ่งใหญ่" ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอทช์ ภูมิภาคเอเชีย กล่าวกับบีบีซี "มีข้อกล่าวหาทุจริตเลือกตั้งหลายข้อ มันเป็นลักษณะเดียวกับทรัมป์ ข้อกล่าวหาทุจริตทุกข้อไม่มีหลักฐาน"

แต่นายโรเบิร์ตสันกล่าวถึงการยึดอำนาจนี้ว่า "ซับซ้อนจนไม่สามารถอธิบายได้"

"[การเลือกตั้ง] หมายถึงการสูญเสียอำนาจไปเหรอ คำตอบคือไม่"

ทหารปรากฏตัวในศาลาว่าการนครย่างกุ้ง 1 ก.พ. 2021

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, ทหารปรากฏตัวในศาลาว่าการนครย่างกุ้ง

ทำให้ "พ่อของประเทศ" ขายหน้า

คนอาจมองว่าการเลือกตั้งในเดือน พ.ย. พรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (Union Solidarity and Development Party -- USDP) ที่กองทัพหนุนหลัง ได้คะแนนเสียงเพียงส่วนน้อย แต่กองทัพยังคงมีอิทธิพลครอบงำรัฐบาลอยู่มาก เพราะรัฐธรรมนูญปี 2551 ที่ร่างขึ้นในช่วงที่ทหารปกครองประเทศ

ภาพพล.อ.มิน อ่อง หล่าย บนพื้น

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, พลเมืองเมียนมาในญี่ปุ่นออกมาประท้วงกองทัพเมียนมา

รัฐธรรมนูญนี้ไม่เพียงแต่กันที่นั่ง 1 ใน 4 ในรัฐสภาให้แก่ตัวแทนกองทัพ แต่ยังให้กองทัพควบคุม 3 กระทรวงสำคัญได้แก่ มหาดไทย, กลาโหม และกิจการพรมแดน

ดังนั้น ตราบใดที่รัฐธรรมนูญนี้ยังคงอยู่ กองทัพก็ยังคงมีอำนาจเช่นเดิม แต่ด้วยเสียงข้างมากของเอ็นแอลดี สามารถแก้รัฐธรรมนูญได้หรือไม่

โจนาธาน เฮด บอกว่าไม่น่าจะได้ เพราะจำเป็นต้องได้เสียงสนับสนุนจากรัฐสภา 75% ซึ่งเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยในเมื่อทหารครองที่นั่งอยู่อย่างน้อย 25%

เอ มิน ทันต์ ครูสอนด้านเทคโนโลยี และอดีตผู้สื่อข่าว ระบุว่า อาจจะมีอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เกิดการรัฐประหารขึ้น นั่นคือ ความอับอายขายหน้าของกองทัพ

"พวกเขาไม่คิดว่าจะพ่ายแพ้" เธอบอกกับบีบีซีจากนครย่างกุ้ง "ประชาชนที่มีครอบครัวอยู่ในกองทัพต้องไม่ลงคะแนนให้พวกเขาแน่"

แน่นอนว่ามันต้องมีอะไรที่มากกว่านั้น

"คุณต้องเข้าใจว่า กองทัพมองตำแหน่งของตัวเองในประเทศอย่างไร" เอ มิน ทันต์ กล่าวเพิ่มเติม

"สื่อต่างชาติค่อนข้างคุ้นกับการเรียก ออง ซาน ซู จี ว่า 'แม่' กองทัพเห็นว่าตัวเองคือ 'พ่อ' ของประเทศ"

อย่างที่เห็นว่า กองทัพรู้สึกว่า "มีภาระหน้าที่และสิทธิโดยชอบธรรม" ในการปกครองประเทศ และในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในขณะที่เมียนมาได้ค้าขายกับต่างประเทศมากขึ้น ทางกองทัพไม่ชอบใจในเรื่องที่พบเห็นนี้

"พวกเขามองคนจากภายนอกว่า อันตราย"

การระบาดของโควิด-19 และความกังวลของต่างประเทศเกี่ยวกับเรื่องโรฮิงญาไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้งในเดือน พ.ย. อาจจะทำให้กองทัพต้องลงมือทำรัฐประหาร เอ มิน ทันต์ กล่าว แต่กระนั้นก็ยังทำให้เธอรู้สึกประหลาดใจเช่นกัน

เส้นสีเทา

เมียนมากำลังอยู่บนหนทางที่อันตราย

บทวิเคราะห์โดยโจนาธาน เฮด ผู้สื่อข่าวบีบีซีประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ภาพโจนาธาน เฮด และตำแหน่ง

การรัฐประหารของกองทัพเมียนมาที่เกิดขึ้นในวันที่ 1 ก.พ. นับเป็นการยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2505 การกระทำครั้งนี้เป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญที่กองทัพเพิ่งให้คำมั่นเมื่อสองวันที่แล้วว่าจะพิทักษ์รักษาไว้

เหตุแห่งความตึงเครียดระหว่างกองทัพกับรัฐบาลนั้นมาจากผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่ง พรรคยูเอสดีพีที่กองทัพสนับสนุนพ่ายแพ้ต่อพรรคเอ็นแอลดีของนางออง ซาน ซู จี ซึ่งชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายโดยได้คะแนนเสียงมากกว่าการเลือกตั้งในปี 2558 เสียอีก

ประชาชนฝ่าวิกฤตโควิด-19 ออกไปลงคะแนนให้พรรคการเมืองที่พวกเขาชื่นชอบ และผลก็คือพรรคเอ็นแอลดีชนะอย่างล้นหลาม

เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยากว่าทำไมกองทัพถึงเลือกยึดอำนาจในวันที่ 1 ก.พ. เนื่องจากวันนี้เป็นวันที่จะมีการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรเป็นครั้งแรกหลังการเลือกตั้งซึ่งจะมีการรับรองผลการเลือกตั้งและรัฐบาลชุดใหม่ที่นำโดยพรรคเอ็นแอลดี ซึ่ง ณ ตอนนี้การประชุมนั้นไม่เกิดขึ้นอีกแล้ว

จะเกิดอะไรขึ้นในเมียนมาต่อไปหลังจากนี้เป็นเรื่องที่ยากจะคาดการณ์ รัฐบาลทหารมีแผนการจะทำอะไรบ้างในช่วงที่พวกเขาเข้ามาบริหารประเทศ ขณะที่ความไม่พอใจของประชาชนต่อการยึดอำนาจครั้งนี้อาจจะมีมากขึ้น

ส่วนนางซู จีนั้น แน่นอนว่าจะไม่ยอมอ่อนข้อให้กองทัพ ขณะที่ประธานาธิบดีวิน มินต์ พันธมิตรของเธอก็ถูกทหารควบคุมตัวเช่นกัน

สิ่งเดียวที่แน่ชัดในตอนนี้คือการยึดอำนาจของกองทัพเมียนมาในวันนี้กำลังพาประเทศไปบนหนทางที่อันตราย

เส้นสีเทา

อนาคตจะเป็นอย่างไร

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนไม่กล้าฟันธงว่าทำไมกองทัพเมียนมาจึงทำรัฐประหารในตอนนี้ เพราะดูเหมือนจะไม่ได้มีผลดีอะไรนัก

"ต้องเข้าใจว่าระบบปัจจุบันเอื้อประโยชน์ต่อกองทัพมหาศาล กองทัพปกครองตัวเองอย่างสิ้นเชิง มีการลงทุนจำนวนมากในต่างประเทศที่ให้ผลตอบแทนทางการค้าแก่กองทัพ และประชาชนยังปกป้องพวกเขาจากการก่ออาชญากรรมสงคราม" เจอราร์ด แม็กคาร์ที นักวิจัยหลังปริญญาเอกที่สถาบันวิจัยเอเชีย มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ กล่าวกับบีบีซี

พล.อ.มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดยึดอำนาจอยู่ในขณะนี้

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, พล.อ. มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดยึดอำนาจอยู่ในขณะนี้

"การยึดอำนาจนาน 1 ปี ตามที่กองทัพประกาศ จะเป็นการโดดเดี่ยวหุ้นส่วนต่างชาติที่ไม่ใช่จีน ทำลายผลประโยชน์ทางการค้าของกองทัพ และยังกระตุ้นให้เกิดการต่อต้านจากประชาชนหลายล้านคนที่เลือก ซู จี และพรรคเอ็นแอลดีให้เป็นรัฐบาลต่ออีกหนึ่งสมัยด้วย"

เขากล่าวว่า บางทีพวกเขาอาจหวังว่าจะทำให้อันดับในการเลือกตั้งในอนาคตของพรรคยูเอสดีพีดีขึ้น แต่ความเสี่ยงของการทำเช่นนั้น "สูงยิ่ง"

ฟิล โรเบิร์ตสัน จากฮิวแมนไรท์วอทช์ชี้ว่า การทำเช่นนี้ทำให้เมียนมาตกอยู่ในอันตรายที่จะกลายเป็น "รัฐที่ถูกนานาชาติคว่ำบาตร" อีกครั้ง ขณะเดียวกันก็ทำให้ประชาชนในประเทศไม่พอใจด้วย

"ผมไม่คิดว่าประชาชนเมียนมาจะยอมรับเรื่องนี้แต่โดยดี" เขากล่าวเพิ่มเติม "พวกเขาไม่ต้องการย้อนกลับไปมีอนาคตอยู่ภายใต้ทหารอีกครั้ง พวกเขาเห็น ซู จี เป็นป้อมปราการในการต่อต้านการกลับมามีอำนาจของทหาร"

เขาคิดว่ายังมีความหวังที่สถานการณ์การเมืองเมียนมาจะคลี่คลายด้วยการเจรจา แต่ "ถ้าเราเริ่มเห็นว่ามีการประท้วงใหญ่เกิดขึ้น เมื่อนั้นเราก็จะเข้าสู่วิกฤตครั้งสำคัญ"

กราฟิกแผนที่

ปฏิกิริยาต่อรัฐประหารเป็นอย่างไรบ้าง

เมียนมาถูกปกครองโดยกองทัพจนถึงปี 2554 ซึ่งการปฏิรูปประชาธิปไตยที่นำโดย ออง ซาน ซู จี ได้ทำให้การปกครองโดยตรงของทหารต้องสิ้นสุดลง

สหรัฐฯ ประณามการทำรัฐประหารครั้งนี้ โดยระบุว่ารัฐบาลสหรัฐฯ "ต่อต้านความพยายามใด ๆ ที่เปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งเมื่อไม่นานนี้ หรือขัดขวางการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยของเมียนมา"

นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เรียกร้องให้มีการปล่อยตัวเจ้าหน้าที่รัฐบาลและผู้นำภาคประชาสังคมทุกคน และระบุว่า สหรัฐฯ "จะยืนหยัดอยู่กับประชาชนเมียนมาที่ปรารถนาประชาธิปไตย, เสรีภาพ, สันติภาพ และการพัฒนา กองทัพต้องถอยออกมาทันที"

ในสหราชอาณาจักร นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ประณามรัฐประหารและ "การคุมขัง ออง ซาน ซู จี อย่างผิดกฎหมาย"

มาริส เพย์น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศออสเตรเลีย เรียกร้องให้ "กองทัพเมียนมาเคารพหลักนิติธรรม" และ "ปล่อยตัวผู้นำพลเรือนและคนอื่น ๆ ที่ถูกควบคุมตัวอย่างผิดกฎหมายในทันที"

ทอม แอนดรูส์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษของสหประชาชาติด้านสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเมียนมา เรียกร้องนานาชาติให้ออกมาตรการที่เด็ดขาดมาตอบโต้การกระทำครั้งนี้ ซึ่งรวมถึง การคว่ำบาตรแบบเฉพาะเจาะจง การระงับการค้าขายอาวุธ จนกว่าประชาธิปไตยจะกลับมา

สถานการณ์ในพื้นที่เป็นอย่างไรบ้าง

การเชื่อมต่อสัญญาณอินเทอร์เน็ตทางโทรศัพท์มือถือและบริการโทรศัพท์บางแห่งมีปัญหาในเมืองใหญ่หลายแห่ง ขณะที่สถานีโทรทัศน์ MRTV ของทางการเมียนมา รายงานว่า กำลังเผชิญปัญหาทางเทคนิคและยุติการออกอากาศ

การสื่อสารภายในกรุงเนปิดอว์ถูกตัดขาด และยากที่จะประเมินสถานการณ์ที่นั่น

ผู้สนับสนุนนางซูจีและพรรคเอ็นแอลดีฉลองชัยชนะหลังทราบผลการเลือกตั้งเมื่อ 8 พ.ย. 2563

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, ผู้สนับสนุนนางซูจีและพรรคเอ็นแอลดีฉลองชัยชนะหลังทราบผลการเลือกตั้งเมื่อ 8 พ.ย. 2563

ส่วนในนครย่างกุ้ง เมืองหลวงเก่าและเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดของเมียนมา สัญญาณโทรศัพท์และการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตทำได้อย่างจำกัด ผู้ให้บริการหลายรายได้งดบริการ

สถานีโทรทัศน์ บีบีซี เวิลด์ นิวส์ และสถานีโทรทัศน์ระหว่างประเทศอื่น ๆ ถูกปิดกั้น ขณะที่สถานีโทรทัศน์ในประเทศงดออกอากาศ

ประชาชนพากันต่อแถวที่ตู้เอทีเอ็มในนครย่างกุ้ง ท่ามกลางความกังวลว่าจะเกิดวิกฤตกระแสเงินสดในอีกหลายวันข้างหน้า

สมาคมธนาคารของเมียนมาระบุว่า ธนาคารได้ระงับบริการทางการเงินทุกอย่างชั่วคราว

เกิดอะไรขึ้นในการเลือกตั้ง

พรรคเอ็นแอลดีกวาดที่นั่งไป 83% ของจำนวนที่นั่งในการเลือกตั้งเมื่อ 8 พ.ย. ปีที่แล้ว ซึ่งคนจำนวนมากเห็นว่า เป็นการรับรองรัฐบาลพลเรือนของนางซู จี

นี่เป็นการเลือกตั้งครั้งที่ 2 นับตั้งแต่สิ้นสุดการปกครองของทหารในปี 2554

แต่กองทัพโต้แย้งผลการเลือกตั้ง โดยได้ยื่นคำร้องไปที่ศาลสูงสุดให้ดำเนินการกับประธานาธิบดีและประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง

ความกังวลว่าจะเกิดการทำรัฐประหารเพิ่มมากขึ้น หลังจากกองทัพขู่ว่า "จะดำเนินการ" ต่อการทุจริตที่ทางกองทัพกล่าวหาเมื่อไม่นานนี้ ด้านคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา

ออง ซาน ซู จี คือใคร

ออง ซาน ซู จี เป็นลูกสาวของนายพลออง ซาน วีรบุรุษเรียกร้องเอกราชของเมียน ผู้ซึ่งถูกลอบสังหารก่อนที่เมียนมาจะได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 2491

เธอถูกควบคุมตัวนานเกือบ 15 ปี ระหว่างปี 2532-2553

Aung San Suu Kyi and Michael Aris with their first-born son Alexander Aris, London, 1973

ที่มาของภาพ, Aris Family Collection/Getty Images

คำบรรยายภาพ, นางซู จี กับ นายไมเคิล อริส สามี และ อเล็กซานเดอร์ ลูกชาย ถ่ายที่กรุงลอนดอน ปี 2516

ครั้งหนึ่ง นางซู จี เคยถูกมองว่า เป็นสัญลักษณ์ของการเรียกร้องสิทธิมนุษยชน ในปี 2534 เธอได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ขณะที่ยังถูกควบคุมตัวในบ้านพัก และได้รับการยกย่องว่าเป็น "ตัวอย่างที่โดดเด่นของอำนาจของผู้ไร้อำนาจ"

ในเดือน พ.ย. 2558 เธอนำพาพรรคเอ็นแอลดีคว้าชัยชนะอย่างถล่มทลายในการเลือกตั้งอย่างเปิดกว้างครั้งแรกของเมียนมาในรอบ 25 ปี

รัฐธรรมนูญห้ามเธอไม่ให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เพราะเธอมีลูกที่เกิดกับชาวต่างชาติ แต่หญิงวัย 75 ปี ผู้นี้ถูกมองว่า เป็นผู้นำทางพฤตินัยของเมียนมา

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ความเป็นผู้นำของเธอถูกวิพากษ์วิจารณ์จากการปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมโรฮิงญาในเมียนมา

ในปี 2560 ชาวโรฮิงญาหลายแสนคนอพยพไปยังบังกลาเทศเพื่อนบ้านของเมียนมา เนื่องจากการปราบปรามของกองทัพที่มีชนวนมาจากการโจมตีสถานีตำรวจหลายแห่งในรัฐยะไข่จนทำให้มีผู้เสียชีวิต

อดีตผู้สนับสนุนจากนานาประเทศของ ซู จี กล่าวหาเธอว่า ไม่ยอมดำเนินการเพื่อยุติการข่มขืน, การสังหาร และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ ด้วยการปฏิเสธที่จะประณามกองทัพ หรือการยอมรับถึงคำบอกเล่าเกี่ยวกับความโหดร้ายที่เกิดขึ้น

ขณะที่ในเมียนมา ซู จี ยังคงได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในหมู่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศที่นับถือพุทธศาสนา ซึ่งแทบไม่มีความเห็นอกเห็นใจชาวโรฮิงญาเลย

คำบรรยายวิดีโอ, ออง ซาน ซู จี : จากสัญลักษณ์แห่งสันติภาพกลับกลายเป็นผู้แก้ต่างคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

เส้นทางข่าวลือรัฐประหาร กับความพยายามสกัดรถถัง

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา สถานการณ์การเมืองในเมียนมาเข้าสู่ภาวะตึงเครียด ท่ามกลางข่าวลือเรื่องการก่อรัฐประหารของกองทัพ และการจับตามองด้วยความกังวลจากนานาประเทศ

  • 26 ม.ค. โฆษกกองทัพเมียนมาไม่ปฏิเสธความเป็นไปได้ที่กองทัพจะเข้ายึดอำนาจ เพื่อจัดการกับสิ่งที่เขาเรียกว่า "วิกฤตทางการเมือง"
  • 27 ม.ค. พล.อ. อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมา กล่าวในงานให้โอวาทนักเรียนเตรียมทหารแห่งวิทยาลัยป้องกันประเทศของกระทรวงกลาโหม ถึงความเป็นไปได้ในการยกเลิกรัฐธรรมนูญของประเทศ โดยบอกว่ารัฐธรรมนูญคือกฎหมายแม่ของกฎหมายทั้งปวง แต่ "คงจำเป็นต้องยกเลิกรัฐธรรมนูญ หากคนไม่ปฏิบัติตาม" ทั้งนี้ถ้อยแถลงของ พล.อ. อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ถูกเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์เมียวดีฉบับวันรุ่งขึ้นด้วย
  • 28 ม.ค. มีการประชุมร่วมกันระหว่างตัวแทนรัฐบาลกับคณะทหาร ที่กรุงเนปิดอว์ ก่อนที่โฆษกพรรคเอ็นแอลดีจะออกมาเปิดเผยกับรอยเตอร์ว่า "ไม่ประสบความสำเร็จ" ในการหาทางออกจากวิกฤตการเมืองที่เกิดขึ้น
  • 29 ม.ค. ประชาชนผู้สนับสนุนพรรคยูเอสดีพีหลายร้อยคนชุมนุมประท้วง กกต. ทั้งที่กรุงเนปิดอว์และกรุงย่างกุ้ง แต่ยังไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บและไม่มีรายงานการใช้ความรุนแรง
  • 1 ก.พ. โฆษกพรรคเอ็นแอลดีกล่าวกับบีบีซีว่า นาง ซู จี และ ผู้นำของพรรคหลายคนถูกพาตัวจากบ้านพักไปตั้งแต่ช่วงรุ่งสาง