“ซ่องแห่งยุโรป” : นายกฯ สเปน ประกาศจะทำให้การค้าประเวณีในประเทศผิด กม.

นายรัฐมนตรีของสเปน กล่าวกับ ผู้สนับสนุนหลังสิ้นสุดการประชุมนาน 3 วัน ของพรรคโซเชียลลิสต์ (Socialist Party--PSOE) ในเมืองวาเลนเซีย

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, นายรัฐมนตรีของสเปน กล่าวกับ ผู้สนับสนุนหลังสิ้นสุดการประชุมนาน 3 วัน ของพรรคโซเชียลลิสต์ (Socialist Party--PSOE) ในเมืองวาเลนเซีย

นายกรัฐมนตรีเปโดร ซานเชซ ของสเปน ประกาศเมื่อวันอาทิตย์ (17 ต.ค.) ว่า จะทำให้การค้าประเวณีในประเทศเป็นเรื่องผิดกฎหมาย โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สเปนได้ชื่อว่า เป็น "ซ่องแห่งยุโรป" และการศึกษาของสหประชาชาติเมื่อปี 2011 พบว่า สเปนคือศูนย์กลางการค้าประเวณีที่ใหญ่ที่สุดในโลก รองจากไทยและเปอร์โตริโก

นายรัฐมนตรีของสเปน กล่าวกับ ผู้สนับสนุนหลังสิ้นสุดการประชุมนาน 3 วัน ของพรรคโซเชียลลิสต์ (Socialist Party--PSOE) ในเมืองวาเลนเซีย โดยเขาระบุว่า การค้าประเวณีทำให้ผู้หญิง "ตกเป็นทาส"

การค้าประเวณีในสเปนถูกกฎหมายในปี 1995 และในปี 2016 สหประชาติประเมินว่า อุตสาหกรรมทางเพศในสเปนมีมูลค่า 3.7 พันล้านยูโร (ประมาณ 1.43 แสนล้านบาท)

การสำรวจความคิดเห็นในปี 2009 พบว่า ผู้ชายสเปน 1 ใน 3 จ่ายเงินซื้อบริการทางเพศ

อย่างไรก็ตาม รายงานอีกฉบับหนึ่งที่เผยแพร่ในปี 2009 เช่นเดียวกัน ระบุว่า ตัวเลขนี้อาจจะสูงถึง 39% และในการศึกษาขององค์การสหประชาชาติในปี 2011 ได้ระบุว่า สเปนเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการค้าประเวณีที่ใหญ่ที่สุดในโลกรองจากไทยและเปอร์โตริโก โดยเดอะการ์เดียน รายงานว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สเปนได้กลายเป็นที่รู้จักกันว่า เป็น "ซ่องแห่งยุโรป"

ปัจจุบันการค้าประเวณีในสเปนไม่มีการควบคุม และไม่มีการลงโทษผู้ที่เสนอขายบริการทางเพศด้วยความเต็มใจ ตราบใดที่ไม่อยู่ในที่สาธารณะ อย่างไรก็ตาม การช่วยหาลูกค้า หรือการทำหน้าที่ตัวกลางระหว่างพนักงานบริการทางเพศและคนที่อาจจะมาเป็นลูกค้า ถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย

อุตสาหกรรมนี้เติบโตขึ้นนับตั้งแต่ไม่มีการเอาผิด และมีการประเมินว่า มีผู้หญิงราว 300,000 คน ทำงานเป็นโสเพณีในสเปน

2px presentational grey line

บทวิเคราะห์

โดย กาย เฮดจ์โค บีบีซี นิวส์ ประจำกรุงมาดริด

Analysis box by Guy Hedgecoe, BBC News Madrid

ตำรวจสเปนได้ช่วยเหลือผู้หญิง 896 คนที่ถูกนำมาหาประโยชน์จากการเป็นพนักงานบริการทางเพศในปี 2019 และประเมินว่า มากกว่า 80% ของผู้หญิงที่ทำงานเป็นโสเพณี เป็นเหยื่อของขบวนการมาเฟีย

"การค้าประเวณีไม่ใช่การแสดงออกถึงเสรีภาพทางเพศของผู้หญิง" APRAMP สมาคมซึ่งรณรงค์ป้องกันและกำจัดการหาประโยชน์ทางเพศ ระบุ "มันเกี่ยวข้องเสมอกับความรุนแรง การถูกละเลยความสำคัญ ปัญหาทางเศรษฐกิจ และวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่และการเหยียดเพศ"

ข้อเสนอของพรรคโซเชียลลิสต์ เกิดขึ้นในช่วงที่มีปัญหาหลายอย่างกำลังเป็นที่ถกเถียงในสังคมสเปนอย่าง ความรุนแรงทางเพศ และการยินยอมทางเพศ

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการสนับสนุนพนักงานบริการทางเพศ (Committee of Support for Sex Workers--CATS) องค์กรการกุศลที่ให้การสนับสนุนพนักงานบริการทางเพศในพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของสเปน เตือนว่า นโยบายที่มีเป้าหมายเพื่อการกำจัด ไม่น่าที่จะได้ผล และจะผลักให้อุตสาหกรรมทางเพศลงไปอยู่ใต้ดินมากขึ้น

"ถ้าคุณโยนคนที่เกี่ยวข้องกับการค้าประเวณีออกไปจากสถานที่หรือแฟลตที่พวกเธอทำงานอยู่ สุดท้ายพวกเธอก็จะต้องลงไปอยู่ตามริมถนน" นาโช ปาร์โด จาก CATS กล่าว "และนั่นเป็นเรื่องน่าเศร้า มันอันตรายและจะทำให้พวกเธอเสี่ยงต่อการเป็นเหยื่อของมาเฟีย"

2px presentational grey line

"สวรรค์ของมาเฟีย"

เซซาร์ ฮารา นักข่าวชาวสเปน ซึ่งได้ทำวิจัยเกี่ยวกับอุตสาหกรรมทางเพศกล่าวกับสำนักข่าว เอเฟ (Efe) ว่า "95% ของการค้าประเวณีในสเปนไม่ได้เกิดขึ้นอย่างสมัครใจ มันเป็นความจำยอมในทางใดทางหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเพราะเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและสังคม การข่มขู่ หรือแรงกดดันอื่น ๆ"

เขากล่าวว่า การลักลอบค้าบริการทางเพศทำเงินในสเปนราว 7-8 ล้านยูโรต่อวัน (271-310 ล้านบาท) และเรียกสเปนว่า เป็นประเทศที่มีตลาดค้าประเวณีใหญ่เป็นอันดับสองของยุโรปรองจากเยอรมนี และ "เป็นสวรรค์ของมาเฟียต่างชาติ"

"สิ่งที่เลวร้ายที่สุดคือ คนอายุน้อยบางส่วนมองว่า เป็นเรื่องปกติในการจ่าย เพื่อให้ผู้หญิงมอบความพึงพอใจให้ ไม่ว่าพวกเขาจะต้องการอย่างไร"

ในปี 2019 พรรค PSOE ของนายซานเชซ ได้ประกาศคำมั่นในนโยบายหาเสียงเลือกตั้งว่า จะทำให้การค้าประเวณีผิดกฎหมาย ซึ่งถูกมองว่า เป็นการเคลื่อนไหวเพื่อดึงดูดคะแนนเสียงจากผู้หญิงมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม 2 ปีหลังการเลือกตั้ง ยังไม่มีการหารือเรื่องการแก้ไขกฎหมายนี้เกิดขึ้น สื่อสเปนรายงานว่า PSOE จำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบในร่างกฎหมายจากพรรคร่วมรัฐบาลฝ่ายซ้ายก่อนที่จะเสนอร่างกฎหมายนี้ต่อรัฐสภา ดังนั้นจึงต้องใช้เวลาอีกนาน

เอเฟ รายงานโดยอ้างคำกล่าวของ การ์เมน กัลโว รัฐมนตรีด้านความเท่าเทียมของ PSOE ว่า "เราได้ผ่านกฎหมายอื่น ๆ ซึ่งมีความยุ่งยากมากกว่ามากมาแล้ว ดังนั้น เราจะทำเรื่องนี้ให้สำเร็จ"

ผู้สนับสนุนระบบปัจจุบันของสเปนระบุว่า กฎหมายปัจจุบันมีผลดีอย่างมากต่อผู้หญิงที่ทำงานในอุตสาหกรรมนี้ และทำให้ชีวิตของพวกเธอปลอดภัยมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีความกังวลหลายอย่างเกิดขึ้นเกี่ยวกับการลักลอบค้าผู้หญิงในงานบริการทางเพศที่เพิ่มมากขึ้น

ค้าประเวณีในสหราชอาณาจักร

เว็บไซต์นิตยสาร เดอะ วีก (The Week) ของสหราชอาณาจักร ระบุว่า ในสหราชอาณาจักร การเป็นพนักงานบริการทางเพศเป็นเรื่องถูกกฎหมาย แต่กิจกรรมต่าง ๆ รวมถึงการเป็นเจ้าของหรือการบริหารจัดการซ่อง, การเป็นตัวกลาง, การเรียกแขกในที่สาธารณะ และการขับรถตระเวนหาซื้อบริการทางเพศ ถือเป็นการทำผิดทางอาญา ภายใต้พระราชบัญญัติความผิดทางเพศ 2003 (Sexual Offences Act)

ผู้หญิงยืนริมถนน

ที่มาของภาพ, AFP

คำบรรยายภาพ, กลุ่มโสเพณีอังกฤษ (English Collective of Prostitutes—ECP) ได้เรียกร้องให้การค้าประเวณีเป็นเรื่องถูกกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้หญิงที่เสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อ

ด้านกลุ่มรณรงค์ของพนักงานบริการทางเพศในสหราชอาณาจักรที่ชื่อว่า กลุ่มโสเพณีอังกฤษ (English Collective of Prostitutes—ECP) ได้เรียกร้องให้การค้าประเวณีเป็นเรื่องถูกกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้หญิงที่เสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อ สมาชิกของกลุ่มอ้างว่า กฎหมายปัจจุบัน ทำให้พนักงานบริการทางเพศตกอยู่ในอันตรายและหลีกเลี่ยงการแจ้งเหตุกระผิดด้านความรุนแรงต่าง ๆ ต่อเจ้าหน้าที่

เดอะ วีก รายงานว่า ในการให้สัมภาษณ์ในปี 2019 กับเดอะ การ์เดียน นิกิ อาดัมส์ โฆษกของ ECP กล่าวว่า แนวโน้มที่ผู้หญิงที่เป็นพนักงานบริการทางเพศทำงานเพียงลำพังทำให้เสี่ยงอันตราย เพราะการรวมกลุ่มกันเสี่ยงต่อการถูกจับกุม เรื่องนี้ได้กลายเป็นปัญหาในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ขณะที่ตำรวจได้ปราบปรามซ่องโสเพณีต่าง ๆ

ข้อเรียกร้องของ ECP ในการทำให้การค้าประเวณีถูกกฎหมาย ได้รับการสนับสนุนจากรัฐสภา โดยในปี 2016 คณะกรรมการจากกระทรวงมหาดไทย แนะนำให้ทำให้การเชิญชวนแขกเป็นเรื่องถูกกฎหมาย และอนุญาตให้พนักงานบริการทางเพศใช้สถานที่ร่วมกันโดยไม่สูญเสียความสามารถในการดำเนินคดีต่อผู้ที่ใช้ซ่องในการควบคุมหรือหาประโยชน์จากพนักงานบริการทางเพศ

กระทรวงมหาดไทยเห็นด้วยว่า จำเป็นต้องมีการทบทวนกฎหมายนี้ใหม่ ปัจจุบันยังไม่มีแผนการในการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว โดยเมื่อหนึ่งปีก่อน ไดอานา จอห์นสัน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคเลเบอร์ (Labour Party) ได้เสนอกฎหมายในการเอาผิดการซื้อบริการทางเพศและเว็บไซต์ออนไลน์ที่พนักงานบริการทางเพศใช้ในการโฆษณา ทำให้เกิดการอภิปรายตามมาอย่างกว้างขวาง นี่คือเหตุผลของฝ่ายที่สนับสนุนและต่อต้านการค้าประเวณีถูกกฎหมาย

อภิปรายข้อดี-ข้อเสีย

ฝ่ายที่ต่อต้านการค้าประเวณีถูกกฎหมายให้เหตุผลว่า การค้าประเวณีเป็นการหาประโยชน์จากผู้หญิง โดยนักเรียกร้องสิทธิสตรีจำนวนมากระบุว่า การค้าประเวณีมีรากเหง้ามาจากการกดขี่ของผู้ชายต่อผู้หญิง และส่งผลเสียต่อความเท่าเทียมทางเพศ

ซิกมา ฮูดา อดีตผู้ตรวจการพิเศษสหประชาชาติว่าด้วยการค้ามนุษย์ เคยกล่าวว่า "เป็นเรื่องยาก" ที่จะพบกรณี "ที่ในเส้นทางของการค้าประเวณีและ/หรือประสบการณ์ส่วนบุคคลไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง อย่างน้อยที่สุด ก็จะเกี่ยวกับการใช้อำนาจโดยมิชอบ และ/หรือ การใช้ประโยชน์จากความอ่อนแอในทางไม่ชอบ"

คนชูป้ายประท้วง
คำบรรยายภาพ, ผู้ที่อาศัยอยู่ในย่านฮอลเบ็กของเมืองลีด ต่อต้านการกำหนดค้าบริการทางเพศใกล้กับบ้านของพวกเขา

ด้านฝ่ายที่สนับสนุนระบุว่า งานบริการทางเพศเป็นทางเลือกและทำให้ผู้หญิงแข็งแกร่งขึ้น

กลุ่มเรียกร้องสิทธิ์ของพนักงานบริการทางเพศหลายกลุ่ม แย้งว่า พนักงานบริการทางเพศจำนวนมากเข้าสู่อุตสาหกรรมนี้ด้วยความสมัครใจ ในรายงานเกี่ยวกับงานบริการทางเพศและสิทธิมนุษยชน สหภาพพนักงานบริการทางเพศระหว่างประเทศ (International Union of Sex Workers--IUSW) ระบุว่า กฎหมายปัจจุบัน "เห็นว่า การยินยอมทางเพศ [ของพนักงานบริการทางเพศ] มีเหตุผลน้อยกว่าของผู้หญิงอื่น ๆ"

IUSW ระบุว่า "การมีเพศสัมพันธ์ไม่ได้เป็นการลดทอนคุณค่า, ไม่ใช่เรื่องผิด, ไม่ได้เป็นการหาประโยชน์ หรือ ไม่ได้เป็นอันตราย เช่นเดียวกับการได้ค่าจ้าง [จากการมีเพศสัมพันธ์]"

ฝ่ายสนับสนุน ระบุด้วยว่า สิทธิมนุษยชนบางอย่างและผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์สนับสนุนการค้าประเวณีถูกกฎหมาย โดยในปี 2016 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (Amnesty International) ได้เผยแพร่ร่างนโยบายที่สนับสนุนการทำให้การค้าประเวณีถูกกฎหมาย ซึ่งระบุว่า พนักงานบริการทางเพศควรได้รับสิทธิเช่นเดียวกับคนทำงานในด้านอื่น ๆ โดยได้ให้เหตุผลว่า การเอาผิดการค้าประเวณี "เป็นการคุกคามสิทธิด้านสุขภาพ, การไม่ถูกเลือกปฏิบัติ, ความเท่าเทียม, ความเป็นส่วนตัว, และความปลอดภัย" ของพนักงานบริการทางเพศ

องค์การอนามัยโลก (World Health Organisation—WHO) ประณามการเอาผิดพนักงานบริการทางเพศเช่นกัน และสนับสนุนการวิจัยในวารสารทางการแพทย์ เดอะ แลนเซ็ต (The Lancet) ที่แสดงให้เห็นว่า การทำให้การค้าประเวณีเป็นเรื่องถูกกฎหมายจะช่วยทำให้อัตราการติดโรคทางเพศสัมพันธ์ลดลง โดยเฉพาะเอชไอวี/เอดส์

ฝ่ายต่อต้าน ระบุว่า การค้าประเวณีเป็นเรื่องอันตราย โดยนักรณรงค์และนักเรียกร้องสิทธิสตรีหลายคน ระบุว่า การค้าประเวณี ไม่ว่าจะโดยสมัครใจหรือไม่ เป็นรูปแบบหนึ่งของความรุนแรงต่อผู้หญิง

แคร์ (Care) องค์กรการกุศลของศาสนาคริสต์ ได้ให้เหตุผลว่า การกระทำทารุณทางร่างกายและการข่มขืน เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นปกติในการค้าประเวณี และรณรงค์ให้มีการเอาผิดการซื้อบริการทางเพศทุกอย่าง โดยจากงานวิจัยของกลุ่มแคร์พบว่า ในกรุงลอนดอน พนักงานบริการทางเพศเผชิญกับอัตราการเสียชีวิต "สูงกว่าค่าเฉลี่ย 12 เท่า"

ผู้หญิงยืนพิงกำแพง

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, ฝ่ายที่ต่อต้านการค้าประเวณีถูกกฎหมายให้เหตุผลว่า การค้าประเวณีเป็นการหาประโยชน์จากผู้หญิง

อีกเหตุผลหนึ่งที่ฝ่ายสนับสนุนการค้าประเวณีถูกกฎหมายอ้างคือ การทำให้ถูกกฎหมายจะทำให้พนักงานบริการทางเพศปลอดภัยมากขึ้น โดยกลุ่มเรียกร้องสิทธิต่าง ๆ ระบุว่า การเอาผิดการค้าประเวณีทำให้พนักงานบริการทางเพศไม่ต้องการติดต่อหรือแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเมื่อเกิดเหตุล่วงละเมิดขึ้น กฎหมายในสหราชอาณาจักรยังไม่อนุญาตให้พนักงานบริการทางเพศรวมกลุ่มกันทำงานได้ IUSW ระบุว่า ถ้าพนักงานบริการทางเพศได้รับอนุญาตให้รวมกลุ่มกันทำงานในอาคารหนึ่ง พวกเธอก็จะมีความปลอดภัยมากขึ้น

พนักงานบริการทางเพศคนหนึ่งกล่าวกับ ดิ อินดิเพนเดนต์ ว่า "ถ้าฉันเห็นว่า การทำงานคนเดียวมันน่ากลัวเกินไป ฉันก็ไม่สามารถที่จะให้เพื่อนคนหนึ่งเข้ามาทำงานร่วมกับฉันเพื่อความปลอดภัยได้ เพราะในหลักการมันหมายความว่า ฉันกำลังเปิดซ่องอยู่"

ไทยปราบปรามค้าประเวณีตั้งแต่พ.ศ. 2503

ในส่วนของประเทศไทย ได้มีการอภิปรายเรื่องนี้เช่นกัน โดยมีกลุ่มที่รณรงค์ให้การค้าประเวณีเป็นเรื่องถูกต้องตามกฎหมาย และในช่วงที่มีการประท้วงของกลุ่มต่าง ๆ ในช่วงกว่า 1 ปีที่ผ่านมา เรื่องนี้เป็นหนึ่งในเรื่องที่มีการพูดถึงในบางโอกาส ในอดีต การขายบริการทางเพศไม่ผิดกฎหมายไทย เว็บไซต์ของไอลอว์ ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนที่ทำงานกับภาคประชาสังคมและคนทั่วไป ระบุว่า การให้บริการทางเพศถูกทำให้เป็นอาชญากรรมครั้งแรก ในปี พ.ศ.2503 จากการออกพระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2503 ในสมัยรัฐบาลของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีของไทยระหว่างปี พ.ศ. 2502-2506

พระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว ถูกยกเลิกไปในปี พ.ศ.2539 และถูกแทนที่ด้วยพระราชบัญญัติป้องกันและปรามปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539

ทันตา เลาวิลาวัณยกุล ผู้ประสานงานจากมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ เคยให้สัมภาษณ์กับ บีบีซีไทย ในปี พ.ศ. 2561 ว่า กฎหมายปรามการค้าประเวณี ไม่ช่วยทำให้จำนวนพนักงานบริการลดลง แต่กลายเป็นช่องโหว่ให้เกิดการทุจริต และการเรียกเก็บส่วยมากขึ้นด้วย นอกจากนี้ยังทำให้พนักงานบริการถูกเอารัดเอาเปรียบจาก เงื่อนไขตามอำเภอใจของเจ้าของสถานบริการ