นาซาพบน้ำบนพื้นผิวดวงจันทร์ คาดมีมากพอใช้ตั้งฐานที่มั่นระยะยาว

โมเลกุลน้ำอาจถูกกักเก็บไว้ในเม็ดแก้วเล็ก ๆ หรือในเนื้อดินที่เย็นจัดบนพื้นผิวดวงจันทร์

ที่มาของภาพ, NASA

คำบรรยายภาพ, โมเลกุลน้ำอาจถูกกักเก็บไว้ในเม็ดแก้วเล็ก ๆ หรือในเนื้อดินที่เย็นจัดบนพื้นผิวดวงจันทร์

เครื่องบินสังเกตการณ์ดาราศาสตร์ในบรรยากาศโลกชั้นสตราโตสเฟียร์หรือ "โซเฟีย" (SOFIA) ขององค์การนาซา ตรวจพบโมเลกุลน้ำบนพื้นผิวดวงจันทร์ด้านสว่างที่แสงอาทิตย์ส่องถึง โดยเป็นการค้นพบครั้งสำคัญที่ชี้ว่า อาจมีน้ำกระจายตัวอยู่ทั่วไปทุกหนแห่งบนพื้นผิวระดับตื้นของดาว ซึ่งง่ายต่อการนำมาใช้ประโยชน์และเพียงพอต่อการตั้งฐานที่มั่นของมนุษย์บนดวงจันทร์

ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์ค้นพบแหล่งน้ำบนดวงจันทร์จำนวนหนึ่ง ซึ่งมีเฉพาะแต่ในแอ่งหลุมลึกที่มืดและหนาวเย็นของดวงจันทร์ด้านไกลเท่านั้น โดยน้ำมักจะอยู่ในรูปของน้ำแข็งและสกัดนำออกมาใช้ประโยชน์ได้ยาก

อย่างไรก็ตาม ครั้งนี้นาซาพบโมเลกุลน้ำบนพื้นผิวของแอ่งหลุมคลาเวียส (Clavius Crater) บริเวณใกล้กับขั้วใต้ของดาว ซึ่งเป็นหลุมอุกกาบาตที่มีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งบนดวงจันทร์ และสามารถมองเห็นได้จากโลก

คาดว่าแหล่งน้ำที่ค้นพบใหม่นี้ มีปริมาณมากพอต่อการตั้งฐานที่มั่นบนดวงจันทร์ในระยะยาว

ที่มาของภาพ, NASA

คำบรรยายภาพ, คาดว่าแหล่งน้ำที่ค้นพบใหม่นี้ มีปริมาณมากพอต่อการตั้งฐานที่มั่นบนดวงจันทร์ในระยะยาว

เครื่องบินสังเกตการณ์ดาราศาสตร์โซเฟีย ซึ่งเป็นเครื่องบินโบอิง 747SP ที่ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์รังสีอินฟราเรด ได้ตรวจพบการสะท้อนรังสีความร้อนที่เป็นเอกลักษณ์ของโมเลกุลน้ำในบริเวณดังกล่าว

รายงานการค้นพบข้างต้นซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Nature Astronomy ระบุว่าปริมาณน้ำที่พบบนพื้นผิวดวงจันทร์ครั้งนี้ มีอยู่โดยเฉลี่ยราว 12 ออนซ์ หรือเท่ากับน้ำดื่ม 1 ขวดเล็ก ในเนื้อดินทุก 1 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งถือว่ามีปริมาณน้อยมาก โดยโมเลกุลน้ำที่พบในพื้นผิวของทะเลทรายซาฮารายังมีมากกว่าถึง 100 เท่า

แต่ถึงกระนั้นก็ตาม การค้นพบน้ำในรูปแบบพิเศษนี้ทำให้เชื่อได้ว่า เรามีทรัพยากรน้ำบนดวงจันทร์ที่พร้อมนำมาใช้ประโยชน์ได้มากกว่าที่คิด และน่าจะมีปริมาณเพียงพอต่อการตั้งฐานที่มั่นสำรวจดวงจันทร์ในระยะยาว อันจะเป็นปัจจัยเกื้อหนุนแก่โครงการอาร์เทมิส (Artemis) ของนาซาที่จะส่งมนุษย์กลับไปเหยียบดวงจันทร์อีกครั้งภายในปี 2024

เครื่องบินสังเกตการณ์ดาราศาสตร์โซเฟีย ซึ่งเป็นเครื่องบินโบอิง 747SP ที่ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์รังสีอินฟราเรด

ที่มาของภาพ, NASA

คำบรรยายภาพ, เครื่องบินสังเกตการณ์ดาราศาสตร์โซเฟีย ซึ่งเป็นเครื่องบินโบอิง 747SP ที่ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์รังสีอินฟราเรด

แม้จะยังไม่ทราบชัดว่าโมเลกุลน้ำบนพื้นผิวดวงจันทร์มาจากไหน และคงสภาพอยู่ในภาวะไร้บรรยากาศปกคลุมได้อย่างไร แต่มีความเป็นไปได้ว่า มันอาจมากับสะเก็ดดาวขนาดเล็กที่พุ่งชนพื้นผิวดาว หรือก่อตัวขึ้นจากปฏิกิริยาระหว่างอนุภาคพลังงานสูงที่ปลดปล่อยมาจากดวงอาทิตย์

โมเลกุลน้ำดังกล่าวอาจถูกกักเก็บไว้ในเม็ดแก้วเล็ก ๆ ที่ปะปนอยู่กับเนื้อดินบนดวงจันทร์ หรือถูกเก็บรักษาไว้ใน "กับดักเย็น" (cold trap) ซึ่งเป็นบริเวณที่อยู่ในเงามืดอย่างถาวรตรงขั้วเหนือและขั้วใต้ของดาว โดยประมาณการว่าพื้นที่เก็บน้ำได้ลักษณะนี้มีอยู่ถึง 40,000 ตารางกิโลเมตรบนดวงจันทร์