เลือกตั้งฝรั่งเศส : มาครง ชนะ เลอเปน ครองตำแหน่งประธานาธิบดีสมัย 2

เอ็มมานูเอล มาครง

ที่มาของภาพ, EPA

คำบรรยายภาพ, เขากล่าวหลังทราบผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการว่า "จากนี้ต่อไป ผมไม่ได้เป็นผู้สมัครของฝ่ายใดอีกแล้ว แต่ผมเป็นประธานาธิบดีสำหรับทุกคน"

นายเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของฝรั่งเศส ชนะการเลือกตั้งโดยมีชัยเหนือนางมารีน เลเปน คู่แข่ง ส่งผลให้นายมาครงได้ครองตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่ 2 ถือเป็นประธานาธิบดีคนแรกที่ชนะเลือกตั้งได้ดำรงตำแหน่งต่อ นับตั้งแต่ที่นายฌัก ชีรัก ทำได้ในปี 2002

ผลการนับคะแนนพบว่านายมาครงชนะนางเลอเปนด้วยคะแนนเสียง 58.55% ต่อ 41.45% ซึ่งถือว่าคะแนนห่างกว่าที่มีการคาดการณ์

หลังได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง นายมาครงเดินทางไปกล่าวสุนทรพจน์ที่หน้าหอไอเฟล กลางกรุงปารีส โดยกล่าวขอบคุณทุกคนที่เลือกเขา พร้อมกับประกาศว่า "จากนี้ต่อไป ผมไม่ได้เป็นผู้สมัครของฝ่ายใดอีกแล้ว แต่ผมเป็นประธานาธิบดีของทุกคน" และ "จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง"

นายมาครงกล่าวด้วยว่า เขาทราบดีว่าคนจำนวนมากเลือกเขาเพราะต้องการสกัดกั้นฝ่ายขวาจัด และถือเป็นความรับผิดชอบของเขาและทีมงานที่จะต้องหาสาเหตุและแก้ไขปัญหาที่ทำให้คนจำนวนไม่น้อยลงคะแนนเสียงให้ฝ่ายขวาจัด

ขณะที่นางเลอเปนออกมายอมรับความพ่ายแพ้แต่ให้คำมั่นกับผู้สนับสนุนของเธอว่า การต่อสู้จะดำเนินต่อไป

ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งต้องเลือกระหว่างนายมาครง ประธานาธิบดีคนปัจจุบันที่เป็นสายกลาง และนางเลอเปน ผู้นำพรรคการเมืองฝ่ายขวาจัด การลงคะแนนในรอบชี้ขาดจัดขึ้นเมื่อวานนี้ (24 เม.ย.) โดยหน่วยเลือกตั้งเปิดตั้งแต่เวลา 08.00-20.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น

นายมาครง วัย 44 ปี ต้องการที่จะกลายเป็นประธานาธิบดีฝรั่งเศสคนแรกในรอบ 20 ปี ที่ชนะเลือกตั้งได้ดำรงตำแหน่งต่อเป็นสมัยที่ 2 ซึ่งเขาก็ทำได้สำเร็จ ส่วนนางเลอเปน วัย 53 ปี ลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสเป็นครั้งที่ 3 และเคยพ่ายให้กับนายมาครงในปี 2017 มาแล้ว

แม้ว่านางเลนเปนจะพ่ายแพ้ แต่เธอก็ไม่เคยได้คะแนนสูงถึงขนาดนี้มาก่อน

ประธานาธิบดีฝรั่งเศสและภริยา

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, ประธานาธิบดีฝรั่งเศสและภริยา

ผู้ออกมาใช้สิทธิ์น้อยที่สุดในรอบกว่า 50 ปี

จำนวนคนออกมาใช้สิทธิ์ในวันเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสรอบชี้ขาดอยู่ที่ไม่ถึง 72% ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนที่ต่ำที่สุดในการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสตั้งแต่ปี 1969 หรือในรอบ 53 ปี นอกจากนี้ยังพบว่ามีบัตรเสียหรือบัตรที่คนไม่ลงคะแนนอีกถึงกว่า 3 ล้านใบ หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของผู้ออกมาใช้สิทธิ์ ปรากฏการณ์นี้ทำให้นายมาครงประกาศว่ารัฐบาลของเขาจะต้องแก้ไขสาเหตุของความคับข้องใจที่ทำให้ประชาชนไม่ออกมาใช้สิทธิ์หรือหย่อนบัตรเปล่า

ในประเทศประชาธิปไตยอื่น ๆ ตัวเลขผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งออกมาคะแนนที่มากกว่า 70% ถือเป็นตัวเลขที่สูง แต่สำหรับฝรั่งเศสถือเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างต่ำ เพราะชาวฝรั่งเศสให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งเป็นอย่างมาก ขณะที่นักวิเคราะห์มองว่าจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ์ที่ต่ำสะท้อนว่าประชาชนมองว่าผู้สมัครทั้งสองไม่ได้เป็นตัวแทนของพวกเขาอย่างแท้จริง

BFMTV รายงานว่า ตัวเลขคนออกมาใช้สิทธิ์ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสรอบแรก เมื่อวันที่ 10 เม.ย. หรือ 2 สัปดาห์ก่อนอยู่ที่ 65% และมีรายงานว่าคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยไม่ออกมาใช้สิทธิ์ในรอบชี้ขาดเมื่อวันที่ 24 เม.ย.

มารีน เลอเปน

ที่มาของภาพ, Reuters

ผู้นำยุโรปดีใจที่มาครงชนะ

ผู้นำประเทศยุโรปต่างพากันแสดงความยินดีกับผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส เพราะพวกเขากลัวว่าหากฝ่ายขวาจัดขึ้นสู่อำนาจจะนำมาซึ่งนโยบายต่อต้านยุโรป

"เราจะขับเคลื่อนฝรั่งเศสและยุโรปไปข้างหน้าด้วยกัน" นางเออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป กล่าว

ขณะที่นายโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เรียกร้องให้ชาวฝรั่งเศสสนับสนุนนายมาครงกลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกสมัย แสดงความยินดีกับนายมาครง ผู้ที่เขาเรียกว่าเป็น "มิตรแท้" และบอกว่าพร้อมจะร่วมมือทำงานเพื่อความเข้มแข็งและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของยุโรป

นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ก็ยินดีกับชัยชนะของนายมาครงเช่นกัน

โพลบอกอย่างไรบ้าง

ในช่วงวันสุดท้ายของการหาเสียงเลือกตั้งเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (22 เม.ย.) บริษัทสำรวจความคิดเห็นหลายแห่งระบุว่า นายมาครงจะเอาชนะนางเลอเปน คู่แข่งฝ่ายขวาจัดได้ในการเลือกตั้งรอบที่ 2 โดยคาดว่าส่วนต่างผลคะแนนที่นายมาครงได้จะอยู่ที่ 8-9% มากกว่ารอบแรก

แม้โพลจะชี้ว่าเขาจะชนะ แต่นายมาครงได้เตือนบรรดาผู้สนับสนุนของเขาว่าอย่าชะล่าใจ และเรียกร้องให้ออกไปลงคะแนนเพื่อให้เขาได้รับกลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกสมัย

บรรดานักวิเคราะห์ตั้งข้อสังเกตว่าเลอเปนได้ปรับเปลี่ยนจุดยืนของเธอในบางประเด็นในช่วงไม่กี่วันก่อนการเลือกตั้งรอบชี้ขาด เพื่อพยายามที่จะคว้าคะแนนเสียงจากผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนที่ยังไม่ตัดสินใจ ก่อนหน้านี้เธอเคยบอกว่าจะปกครองฝรั่งเศส "เหมือนกับแม่ โดยใช้สามัญสำนึก"

คนในฝรั่งเศส แผนป้ายหาเสียงของมาครงและเลอเปน

ที่มาของภาพ, EPA

มุมมองผู้สมัครทั้งสองคนต่อประเด็นสำคัญต่าง ๆ

ค่าครองชีพ

นี่น่าจะเป็นประเด็นที่กดดันที่สุดในการเลือกตั้งครั้งนี้ และผู้สมัครทั้ง 2 คน ต่างก็เน้นย้ำเรื่องค่าอาหาร เชื้อเพลิง และสินค้าอื่น ๆ ที่ปรับตัวสูงขึ้น

นางเลอเปน ได้เน้นเรื่องนี้ในการหาเสียง โดยเสนอที่จะตัดลดภาษีเงินได้แก่คนอายุต่ำกว่า 30 ปีทุกคน ลดภาษีมูลค่าเพิ่มของเชื้อเพลิงจาก 20% เหลือ 5.5% และเลิกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในสินค้าที่จำเป็นอื่น ๆ อีก 100 รายการ

สำหรับนายมาครง เขาระบุว่า รัฐบาลได้ใช้จ่ายเงินหลายพันล้านในควบคุมค่าพลังงาน ซึ่ง "ได้ผลดีกว่าการลดภาษีมูลค่าเพิ่ม 2 เท่า" และเสนอว่า พนักงานควรจะได้รับอนุญาตเงินโบนัสที่ไม่มีการเก็บภาษีมากถึง 6,000 ยูโร (ประมาณ 220,000 บาท)

บำนาญ

นายมาครง ต้องการปรับอายุผู้ที่ได้รับเงินบำนาญจาก 62 ปี เป็น 65 ปี ซึ่งเป็นนโยบายที่อาจจะไม่ถูกใจผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้งนัก โดยเฉพาะฝ่ายซ้าย ซึ่งเป็นกลุ่มที่นายมาครงต้องการเอาใจตั้งแต่ในการเลือกตั้งรอบแรก

ส่วนนางเลอเปน เรียกแผนการของคู่แข่งของเธอว่า "ความอยุติธรรมที่ไม่อาจทานทนไหว" และต้องการที่จะรักษาอายุผู้ได้รับเงินบำนาญไว้ที่ 62 ปี แต่ว่าทุกคนที่เริ่มทำงานตั้งแต่อายุ 20 ปี สามารถเกษียณอายุตอนอายุ 60 ปีได้

ผู้อพยพ

นางเลอเปน ต้องการที่จะให้มีการลงประชามติเกี่ยวกับการอพยพ เพื่อที่จะยุติสิ่งที่เธอเรียกว่า "การโยกย้ายถิ่นฐานขนาดใหญ่ที่วุ่นวาย" เธอเสนอให้มีการออกกฎที่เข้มงวดมากขึ้นสำหรับการเข้าประเทศฝรั่งเศสและการได้สัญชาติฝรั่งเศส รวมถึงแผนการที่ตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในการให้บริการทางสังคมและที่อยู่อาศัยแก่ชาวฝรั่งเศสก่อนชาวต่างชาติ

นายมาครง ตอบโต้เรื่องนี้ด้วยการกล่าวหาเธอว่า เป็น "เผด็จการ" และไม่สามารถที่จะปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศสได้ เขาได้ประณาม "นโยบายชาตินิยมของนางเลอเปนว่าไม่ใช่การรักชาติ"

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา พรรคเนชั่นแนลแรลลี (National Rally) ของนางเลอเปน ได้ลดการใช้ถ้อยคำที่แสดงออกถึงความเป็นชาตินิยมลง และนำเสนอภาพพจน์ที่เป็นกลางมากขึ้น วิธีการนี้ดูเหมือนว่าจะใช้ได้ผล ถ้าพิจารณาถึงตัวเลขคะแนนเสียงที่ทางพรรคได้รับในการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสรอบแรก

นางเลอเปน และพ่อของเธอ มักจะได้การสนับสนุนจำนวนมากจากคนในแถบตอนใต้และตะวันออกของฝรั่งเศส

ม่านปิดคูหาเลือกตั้ง

ที่มาของภาพ, Reuters

การเลือกตั้งครั้งนี้สำคัญอย่างไร

ชัยชนะของนายมาครงทำให้เขากลายเป็นประธานาธิบดีที่อยู่ในตำแหน่งคนแรกในรอบ 20 ปี ที่ชนะการเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีต่อสมัยที่ 2 ที่มีคะแนนเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภา ทำให้นโยบายทั้งในประเทศและต่างประเทศมีความต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ฝรั่งเศสจะจัดการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาครั้งใหม่ในเดือน มิ.ย. นี้ และนั่นอาจจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น

ในการกลับเข้ามาบริหารประเทศครั้งนี้ นายมาครงจะต้องเร่งรับมือกับค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น และการค่อย ๆ ปรับเพิ่มอายุผู้ได้รับเงินบำนาญเป็น 65 ปี ฝรั่งเศสจะยังคงมีส่วนสำคัญต่อยุโรปและนาโต และมาครงจะมีบทบาทสำคัญต่อสงครามของรัสเซีย

บัตรเลือกตั้ง

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจะเลือกบัตรที่มีชื่อของผู้สมัครที่ต้องการเลือกใส่ในซองแล้วนำไปหย่อนลงหีบ

การลงคะแนนที่ล้าสมัย

ฝรั่งเศสมักจะมองตัวเองว่าเป็นผู้บุกเบิกด้านการให้อำนาจกับประชาชน แต่เมื่อพูดถึงเทคโนโลยีในการลงคะแนนเลือกตั้ง ฝรั่งเศสยังตามหลังหลายประเทศ

ที่คูหาเลือกตั้งของฝรั่งเศส ไม่มีอุปกรณ์ล้ำสมัยใด ๆ และไม่มีแม้แต่ดินสอให้ เมื่อตรวจสอบชื่อในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้งแล้ว ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงจะได้รับกระดาษที่มีชื่อของผู้สมัครรับเลือกตั้งอยู่ในแต่ละใบ และเดินเข้าคูหาเลือกตั้งไป

หลังจากที่ลากม่านด้านหลังเพื่อความเป็นส่วนตัว ผู้ใช้สิทธิ์จะต้องหยิบกระดาษที่มีชื่อผู้สมัครที่ต้องการเลือกใส่ไว้ในซองและทิ้งกระดาษใบอื่น ๆ จากนั้นก็ออกมาจากคูหาและหย่อนซองดังกล่าวลงในหีบบัตรเลือกตั้ง เจ้าหน้าที่จะขานชื่อผู้ใช้สิทธิ์พร้อมด้วยข้อความว่าบุคคลนั้นได้ทำหน้าที่ตามระบอบประชาธิปไตยของฝรั่งเศสแล้ว