พักคืนละ 5 หมื่น คลินิกหรูบำบัด "ติดโซเชียล"

  • เรกาโด เซงฮา
  • ผู้สื่อข่าวบีบีซีบราซิล
Paradigm San Francisco Clinic
คำบรรยายภาพ, พาราไดม์ (Paradigm) เป็นแมนชั่นหรูที่มีสวนรายล้อมและกล้องวงจรปิดติดตั้งทั่วบริเวณ ตั้งอยู่บนยอดเขาซึ่งห่างจากใจกลางนครซานฟรานซิสโก 30 กิโลเมตร

ในขณะที่คนจำนวนมากยอมจ่ายเงินหลายหมื่นทุกครั้งที่มี "ไอโฟน" รุ่นใหม่ออกวางขาย ชาวอเมริกันบางกลุ่มยอมลงทุนราว 3 แสนบาท เพียงเพื่อให้ลูก ๆ พวกเขาเลิกเล่นมือถือ

ตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา มีคลินิกบำบัดเพื่อช่วยให้คนเลิกเสพติดอุปกรณ์ดิจิทัล หรือ "digital rehab" ถึง 10 แห่ง ที่ซิลิคอนวัลเลย์ ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่หลายเจ้า อาทิ แอปเปิล เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และกูเกิล

"คลินิก" เหล่านี้บำบัดเด็กรุ่นใหม่ที่ใช้เวลามากกว่า 20 ชม. ต่อวัน ไปกับการเล่นอินเทอร์เน็ตบนอุปกรณ์ดิจิทัลต่าง ๆ

พาราไดม์ (Paradigm) คือหนึ่งในนั้น คลินิกแห่งนี้เป็นแมนชั่นหรูที่มีสวนรายล้อมและกล้องวงจรปิดติดตั้งทั่วบริเวณ ตั้งอยู่บนยอดเขาซึ่งห่างจากใจกลางนครซานฟรานซิสโก 30 กิโลเมตร

คลินิกนี้รับเด็กอายุ 12 ถึง 18 ปีได้คราวละ 8 คน ซึ่งพ่อแม่ของพวกเขาเป็นห่วงว่า "เสพติด" อินเทอร์เน็ต การบำบัดใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 45 วัน และอาจขยายถึง 60 วัน ขึ้นปัจจัยต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาวะซึมเศร้า ภาวะวิตกกังวล และความก้าวร้าว ของคนไข้

ค่าบริการบำบัดที่คลินิกแห่งนี้สูงถึงราว 5 หมื่นบาทต่อคืน เท่ากับโรงแรมหรู ๆ ทั่วไป โดยมีอ่างจากุซซี่ที่มีวิวเห็นอ่าวซานฟรานซิสโก และแน่นอน คนไข้ห้ามใช้ มือถือ แล็ปท็อป และแท็บเล็ต และจำกัดเวลาการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการศึกษาเท่านั้น ผู้เข้าร่วมห้ามเล่นโซเชียลมีเดีย ส่งข้อความ หรือดูหนังโป๊

Jacuzzi
คำบรรยายภาพ, ห้องพักที่คลินิกทั้งกว้างและหรูหรา ซึ่งเป็นการปรับให้เหมือนกับบ้านจริง ๆ ของผู้เข้าร่วมบำบัด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนมีฐานะดี

คนไข้จะมีตารางกิจกรรมกำหนดชัดเจน ตั้งแต่ตื่นนอน เรียนหนังสือ กินข้าว และการเข้าร่วมบำบัดแบบเดี่ยวหรือหมู่

พาราไดม์ตั้งใจที่จะ "ปรับโปรแกรม" ในตัวเด็ก ๆ เสียใหม่ เพื่อให้พวกเขาได้ "สร้างความสัมพันธ์กับเทคโนโลยีขึ้นใหม่ และเชื่อมสัมพันธ์กับเพื่อน ครอบครัว การเรียน และกิจกรรมที่ทำโดยไม่ต้องพึ่งอินเทอร์เน็ตอีกครั้ง"

"เป็นช่วงเวลาที่เด็ก ๆ ได้ปรับตัวใหม่" แดเนียล โคแว็ค ผู้อำนวยการพาราไดม์ บอกกับบีบีซี "รู้สึกดีมากที่เด็กหลายคนมาขอบคุณตอนการบำบัดเสร็จสิ้นที่พวกเรา "ไม่ให้พวกเขาเล่นมือถือและให้มีสมาธิอยู่กับตัวเอง" ..."

อาการและประเด็นถกเถียงเรื่อง "การเสพติด" อินเทอร์เน็ต

นักจิตวิทยาจากนครนิวยอร์กคนหนึ่งนิยามอาการ "การเสพติดอินเทอร์เน็ต" ไว้ครั้งแรกเมื่อปี 1995 แต่สหรัฐอเมริกาไม่ถือว่านี่เป็น "โรค" อย่างเป็นทางการ และนี่ยังเป็นสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญยังถกเถียงกันอยู่

บางคนบอกว่าการเสพติดไม่ใช่ "สาเหตุ" แต่เป็น "อาการ" ของภาวะอื่น ๆ เช่น ซึมเศร้า หรือ หวาดระแวง บางฝ่ายบอกว่าการเสพติดนี้เหมือนการเสพติดอื่น ๆ เช่น ยาเสพติดและแอลกอฮอล์

Danielle Kovac
คำบรรยายภาพ, แดเนียล โคแว็ค ผู้อำนวยการพาราไดม์

ทางการออสเตรเลีย จีน อิตาลี และญี่ปุ่น ถือว่าอาการนี้เป็นโรคที่ต้องรักษา เกาหลีใต้ถึงขั้นประกาศชัดเจนว่าเป็นปัญหาสุขภาพที่ส่งผลต่อส่วนรวม และจัดให้มีการบำบัดในโรงพยาบาลรัฐ

ผู้เชี่ยวชาญของพาราไดม์ เชื่อว่า การใช้อินเทอร์เน็ตมากเกินไปมีผลเสียต่อสุขภาพจิต และทำให้คนหลีกหนีจากความสัมพันธ์ในโลกแห่งความเป็นจริง และคนไข้ที่เข้ามาบำบัดบางคนต้องลาออกจากโรงเรียนด้วย

"บางครอบครัวบอกเราว่าพวกเขาไม่ได้ทานอาหารกับลูกเพราะว่าลูกเอาแต่เล่นสแนปแชท" โคแว็ค กล่าว "มันส่งผลต่อการใช้ชีวิตในสังคมและในโรงเรียน ผลการเรียนของเด็กแย่ลงเพราะพวกเขาใช้เวลาเล่นโซเชียลมีเดียจนไม่มีเวลานอน และก็ไม่มีสมาธิเวลาเรียน"

โคแว็ค อธิบายว่า สัญญาณเริ่มต้นของการเสพติดคือ การมีอารมณ์แปรปรวน การโกหก และการปลีกวิเวก เธอบอกว่าเป็นเรื่องสำคัญมากที่ต้องจำกัดเวลาเล่นเครื่องมือสื่อสารก่อนนอน ระหว่างทานอาหาร และที่โรงเรียน ซึ่งหากทำไม่ได้ การบำบัดในลักษณะนี้ก็เป็นทางออกที่ดีที่สุด ทำให้คนไข้ได้ใช้เวลาอยู่กับพวกเขา พวกเขาจะได้สังเกตพฤติกรรมเพื่อนำข้อมูลไปใช้

View from the San Francisco Bay
คำบรรยายภาพ, วิวจากคลินิกบำบัดแห่งนี้เห็นอ่าวซานฟรานซิสโก

ห้องพักที่คลินิกทั้งกว้างและหรูหรา ซึ่งเป็นการปรับให้เหมือนกับบ้านจริง ๆ ของผู้เข้าร่วมบำบัด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนมีฐานะดี

"ความรู้สึกโดดเดี่ยวอาจเป็นเรื่องที่รับมือยากเกินไป จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องมีเพื่อนร่วมห้องอยู่ตรงนั้นด้วย และพวกเขาจะได้ช่วยเหลือกัน" โคแว็ค กล่าว และบอกต่อว่า ถ้าพวกเขาไม่รู้สึกว่าได้รับความสนับสนุนจากที่บ้าน พวกเขาก็สามารถรู้สึกเหมือนมีครอบครัวที่นี่ได้ คนไข้จะได้ตัดขาดจากอุปกรณ์ดิจิทัลเป็นเวลานานพอที่จะเรียนรู้ว่าควรจะเล่นอินเทอร์เน็ตแค่ไหนเมื่อกลับไปเริ่มใช้อีกครั้ง