วัคซีนโควิด-19: ไฟเซอร์-ไบออนเทคเซ็นสัญญาซื้อขาย mRNA 20 ล้านโดสกับกรมควบคุมโรคแล้ว

getty

ที่มาของภาพ, Getty Images

บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทไบออนเทคได้ประกาศลงนามสัญญาร่วมกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในการจัดส่งวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จำนวน 20 ล้านโดสสำหรับปี 2564 ให้กับประเทศไทย โดยมีแผนกำหนดการส่งมอบในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้

การลงนามดังกล่าวได้รับการยืนยันจากแถลงการณ์ของบริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ในวันนี้ (20 ก.ค.) แต่บริษัทไม่ได้เปิดเผยราคาและมูลค่าการซื้อขาย โดยระบุเพียงว่ามีข้อกำหนดเป็นไปตามช่วงเวลาในการส่งมอบและจำนวนโดสที่สั่ง เพื่อใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนแบบมีเงื่อนไขจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. ที่ผ่านมา

"เรามีความยินดีที่ได้เซ็นสัญญาที่มีความสำคัญนี้กับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยซึ่งแสดงถึงความมุ่งมั่นที่มีร่วมกันในความพยายามที่จะลดการติดเชื้อในประเทศ สัญญานี้เป็นการเน้นยํ้าถึงความมุ่งมั่นของไฟเซอร์ในการจัดหาวัคซีนที่มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคโควิด-19 นี้และยังเป็นการเพิ่มการเข้าถึงวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของคนทั่วโลก" เด็บบราห์ ไซเฟิร์ท ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไฟเซอร์ ประเทศไทยและอินโดไชนากล่าว

ทั้งนี้ ไฟเซอร์และไบออนเทคตั้งเป้าการผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้ได้ราว 3 พันล้านโดสทั่วโลกภายในปี พ.ศ. 2564 โดยได้ทำการปรับปรุงพัฒนากระบวนการและขั้นตอนต่าง ๆ ในการผลิตอย่างต่อเนื่องและขยายกำลังการผลิตที่มีอยู่ขณะนี้ รวมถึงการเพิ่มผู้ผลิตและคู่สัญญารายใหม่ในอนาคต

getty

ที่มาของภาพ, Getty Images

สำหรับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของไฟเซอร์-ไบออนเทคได้รับการพัฒนาโดยบริษัทไฟเซอร์และไบออนเทคโดยเป็นเทคโนโลยี mRNA ที่ไบออนเทคเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์และเป็นผู้ได้รับอนุญาตทางการตลาดในสหภาพยุโรปและยังเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้ในภาวะฉุกเฉินหรือเทียบเท่าในประเทศสหรัฐอเมริกา (ร่วมกับไฟเซอร์) ประเทศแคนาดาและประเทศอื่น ๆ ทั้งนี้ เป็นไปตามแผนที่ได้กำหนดไว้ก่อนหน้าในการยื่นคำขอขึ้นทะเบียนสำหรับการเป็นผู้รับอนุญาตทางการตลาดเต็มรูปแบบในประเทศเหล่านั้นด้าน ชอง มาเร็ท หัวหน้าฝ่ายธุรกิจและฝ่ายพาณิชย์ บริษัท ไบออนเทค กล่าวขอบคุณรัฐบาลไทยที่ไว้วางใจในความสามารถของการพัฒนาวัคซีนที่จะช่วยในการรับมือกับโรคระบาดของโลกในครั้งนี้

เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา มีพิธีลงนามสัญญานำเข้าวัคซีนต้านโควิด-19 ของไฟเซอร์โดยมีผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขและบริษัทไฟเซอร์ (ประเทศไทย) ร่วมงาน

ที่มาของภาพ, Pfizer (Thailand)

คำบรรยายภาพ, เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา มีพิธีลงนามสัญญานำเข้าวัคซีนต้านโควิด-19 ของไฟเซอร์โดยมีผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขและบริษัทไฟเซอร์ (ประเทศไทย) ร่วมงาน

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 18 ก.ค. นพ. โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าหลังจากลงนามในสัญญาการสั่งซื้อล็อตแรก 20 ล้านโดสเรียบร้อยแล้ว ทางการไทยจะเจรจาขอซื้อวัคซีนของไฟเซอร์เพิ่มอีก 50 ล้านโดส

นพ. โอภาสให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า ในวันที่ 29 ก.ค. นี้ วัคซีนของไฟเซอร์ที่รัฐบาลสหรัฐฯ บริจาคให้ไทยจำนวน 1.5 ล้านโดสมีกำหนดมาถึงไทย ซึ่งจะเร่งฉีดให้พื้นที่ระบาดหนักอย่างกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งเป็นวัคซีนกระตุ้นภูมิ (booster dose) ให้บุคลากรทางการแพทย์

บีบีซีไทย

ที่มาของภาพ, Reuters

นายกฯ ขอประชาชนอดทน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โพสต์ทางบัญชีเฟซบุ๊ก เมื่อ 19.36 น. ของ 20 ก.ค. ชี้แจงเหตุที่ต้องประกาศล็อกดาวน์อีกรอบหลัง "เอาชนะโควิดยกแรก" เมื่อปีที่แล้ว แต่ขณะนี้ถือเป็น "โชคร้ายของชาวโลก" ที่ไวรัสโควิดยังไม่หายไปง่าย ๆ และกลับกลายพันธุ์ไปสู่สายพันธุ์ที่ติดต่อกันได้ง่ายขึ้น ทั่วโลกจึงถูกคุกคามจากโควิดสายพันธุ์ใหม่นี้อีกครั้ง

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงการจัดหาวัคซีนให้ประชาชนชาวไทยว่า วัคซีนของของไฟเซอร์-ไบออนเทคนี้เข้ามาเสริมแผนกระจายวัคซีนของประเทศไทย ร่วมกับวัคซีนหลักของบริษัทแอสตรา-เซเนกา ที่ไทยได้สั่งซื้อไปแล้วจำนวน 61 ล้านโดส และวัคซีนจากบริษัทอื่นๆ ที่จะทยอยส่งมอบให้ในปลายปีนี้และต้นปีหน้า รวมถึงวัคซีนที่จะผลิตโดยหน่วยงานของไทยอีกอย่างน้อย 3 ชนิด และวัคซีนชนิดใหม่ ๆ เช่น Protein Subunit ที่ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเจรจาอยู่กับหลายบริษัท และจะสั่งซื้อในทันทีที่เจรจาได้สำเร็จ

นายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่า นอกจากการสั่งซื้อวัคซีนโดยตรงแล้ว รัฐบาลยังมีการเจรจากับหลายประเทศอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้ได้วัคซีนมาเพิ่มเติมผ่านข้อตกลงความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยรับวัคซีนซิโนแวคมาจากสาธารณรัฐประชาชนจีนแล้ว 1 ล้านโดส วัคซีนแอสตรา-เซเนกา 1.05 ล้านโดส จากประเทศญี่ปุ่น และกำลังจะได้วัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดส จากประเทศสหรัฐอเมริกา และยังมีประเทศอื่นๆ เช่น สหราชอาณาจักร และสวิตเซอร์แลนด์ ที่อยู่ในระหว่างการเจรจาข้อตกลงเพื่อขอความช่วยเหลือทางวัคซีนและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ทำให้เชื่อได้ว่า ไทยจะยังคงสามารถเดินหน้าฉีดวัคซีนได้ตามแผนที่กำหนดไว้ ไม่ว่าจะมีอุปสรรคอะไร ทุกหน่วยงานของรัฐจะไม่ท้อถอย เราจะปรับแผนและใช้ความพยายามอย่างเต็มที่เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

วัคซีน

ที่มาของภาพ, Facebook/US Embassy Bangkok