ชุมนุม 19 กันยา: มองทะลุปรากฏการณ์ “ขยายเพดาน” จาก 10 สิงหา ถึง 19 กันยา

  • หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
  • ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
แกนนำประกาศให้ผู้ชุมนุมชู 3 นิ้วต้อนรับรุ้ง-ปนัสยา ที่ทำภารกิจยื่นข้อเรียกร้องในการปฏิรูปสถาบันฯ ได้สำเร็จ

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, แกนนำประกาศให้ผู้ชุมนุมชู 3 นิ้วต้อนรับรุ้ง-ปนัสยา ที่ทำภารกิจยื่นข้อเรียกร้องในการปฏิรูปสถาบันฯ ได้สำเร็จ

ข้อเรียกร้องในการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ 10 ข้อ นำเสนอโดยผู้ชุมนุมที่เรียกตัวเองว่า "แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม" เมื่อ 10 ส.ค. ถูกตอกย้ำและต่อยอดในการชุมนุมรอบใหม่ วันที่ 19 ก.ย. ซึ่งไม่มีการ "ยกระดับเพดาน" ข้อเรียกร้องเพิ่มเติม แต่มีแปรเนื้อหาให้อยู่ในรูปของ "จดหมายเปิดผนึก"

แกนนำจัดการชุมนุมต่างพากันประกาศ "ชัยชนะ" หลัง รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล เป็นตัวแทนยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงประธานองคมนตรี ผ่าน พล.ต.ท. ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) อันเป็นสัญญาณยุติการชุมนุมใหญ่ที่มีเหตุการณ์ "บุกธรรมศาสตร์-ยึดสนามหลวง-ประชิดแนวเขตพระราชฐาน"

บีบีซีไทยสนทนากับผู้ปราศรัยหลัก ปัญญาชน และคนการเมืองที่เข้าร่วมสังเกตการณ์การชุมนุม 2 วัน 1 คืน ภายใต้ชื่อ "19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร" เพื่อขอให้สะท้อนมุมมองต่อปรากฏการณ์ "ขยายเพดาน"

บรรดาแกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ ชูสามนิ้วร่ายรำอย่างรื่นเริงหลังประกาศชัยชนะ

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, บรรดาแกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ ชู 3 นิ้วร่ายรำอย่างรื่นเริงหลังประกาศชัยชนะ

"ไมค์ระยอง" ยก 19 ก.ย. สะท้อน ปชช. ตื่นรู้ เร่งกดดันสภารับไม้ต่อ

"มันจุดติดแล้ว เพดานของการชุมนุมไม่มีแล้ว ตอนนี้อยู่ที่พวกเราว่าจะบินได้ไกลแค่ไหน ขอบฟ้าของพวกเราอยู่ตรงไหน" ภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ ทบทวนภาพที่เกิดขึ้นในระหว่างการชุมนุมข้ามคืนของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ

คนหนุ่มวัย 24 ปี เป็นหนึ่งในผู้ปราศรัยหลักบนเวทีสนามหลวง ซึ่งถูกผู้ชุมนุมเรียกขานด้วยชื่อใหม่ว่า "สนามราษฎร" หลังบุกเข้ายึด-ใช้สอยพื้นที่จัดกิจกรรมการเมืองตั้งแต่เย็นวันที่ 19 ก.ย. ก่อนจัดพิธีฝังหมุดคณะราษฎร หมุดที่ 2 ในช่วงเช้าวันถัดมา

ภาพการ "ชู 3 นิ้ว" ซึ่งเป็น "สัญลักษณ์แห่งยุคสมัย" ที่ขบวนการนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนใช้ต่อสู้กับฝ่ายเผด็จการปรากฏบนหมุดทองเหลืองของ "คณะราษฎร 2563" พร้อมมีอักขระสลักข้อความว่า "ณ ที่แห่งนี้ ผองราษฎรได้แสดงเจตนารมณ์ ประเทศนี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่ของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง"

"หมุดคณะราษฎร หมุดที่ 2" มีขนาด 11.6 นิ้ว สื่อความหมายถึงมาตรา 116 ยุยงปลุกปั่น และหนา 2.563 นิ้ว สื่อถึงปี พ.ศ. ที่ถูกปักลงไปบนท้องสนามหลวง

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

คำบรรยายภาพ, "หมุดคณะราษฎร หมุดที่ 2" มีขนาด 11.6 นิ้ว สื่อความหมายถึงมาตรา 116 ยุยงปลุกปั่น และหนา 2.563 นิ้ว สื่อถึงปี พ.ศ. ที่ถูกปักลงไปบนท้องสนามหลวง

ไมค์-ภาณุพงศ์ยอมรับกับบีบีซีไทยว่า "ขาสั่น" ในระหว่างขึ้นเวทีเมื่อเวลา 0.45 น. ทว่าเป็นการสั่นด้วยความตื่นเต้นและดีใจ เนื่องจากไม่เคยเปิดปราศรัยต่อหน้าผู้ชุมนุมมากขนาดนี้ อีกทั้งยังเป็นการ "ด้นสด" ชนิดไม่มีบทอยู่ในมือ

"ตอนแรกผมเตรียมว่าจะพูดเรื่องระบบศักดินา กับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คณะสงฆ์ฉบับแก้ไข แต่พอพี่อานนท์ (นำภา ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน) ขึ้นไปปราศรัย ข้อมูลของไมค์เหลือ 50% เลย และพอรุ้ง (ปนัสยา สิทธิจินวัฒนกุล แกนนำกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ) ขึ้นปราศรัยอีก ข้อมูลของไมค์ไม่เหลืออะไรเลย เลยต้องด้นสด ก็จะมีตะกุกตะกักบ้างเป็นธรรมดา เพราะต้องคิดสด ๆ บนเวที" ภาณุพงศ์เผยเบื้องหลัง

นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง ไม่ได้ตอบคำถามตรง ๆ ว่าเขาศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสถาบันฯ จากหนังสือเล่มไหน หรือสมาทานแนวคิดของนักประวัติศาสตร์รายใด โดยบอกเพียงว่า "ได้หาหลักฐานเพิ่มเติม" หลังดูบริบทแวดล้อมที่เกิดขึ้น ซึ่งล้วนเป็นเรื่องที่คนไทยรับทราบกันดีอยู่แล้ว

ภาณุพงศ์เป็นนักกิจกรรมการเมืองในนามกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "เยาวชนตะวันออกเพื่อประชาธิปไตย" ผู้เปิดประวัติการเมืองหน้าใหม่ให้ตัวเองด้วยการชูป้ายประท้วง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ขณะลงพื้นที่ จ.ระยอง เมื่อ 15 ก.ค.

เขายอมรับว่า หากไม่มีเหตุการณ์ที่บ้านเกิดในวันนั้น ก็ไม่มี "ไมค์ระยอง" ที่ปรากฏตัวบนเวทีชุมนุม-ถูกจัดวางบทบาทให้เป็นทีมปราศรัยประเด็นปฏิรูปสถาบันฯ ในวันนี้

ไมค์ ภานุพงศ์ จาดนอก

ที่มาของภาพ, Rachaphon Riansiri/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, ไมค์-ภานุพงศ์ ยอมรับว่ามารดาของเขากังวลเรื่องความปลอดภัยของบุตรชาย หลังออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง และมักพูดกับเขาด้วยประโยคติดปากว่า"สู้ ๆ นะ ขอให้ปลอดภัย และกลับมาหาแม่ด้วย"

ภาณุพงศ์เปิดปากพูดถึงเรื่องนี้ครั้งแรกในระหว่างการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ศูนย์รังสิต จ.ปทุมธานี เมื่อ 10 ส.ค. ซึ่งถูกปัญญาชนและผู้สังเกตการณ์การเมืองเรียกขานว่าเป็นปรากฎการณ์ "ทะลุเพดาน" ส่วนบรรดาผู้ปราศรัยเรียกมันว่าปรากฏการณ์ "สะท้านฟ้า" เมื่อมีการประกาศ 10 ข้อเรียกร้องในการปฏิรูปสถาบันฯ บนเวที

"วันที่ 10 ส.ค. เหมือนเป็นการเปิดโลก เปิดเพดานออกมา โดยฝั่งหนึ่งบอกว่าการพูดถึงสถาบันฯ จะทำให้มวลชนหายไป แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในวันที่ 19 ก.ย. ได้พิสูจน์แล้วว่าเราได้รับพลังมากกว่าเดิม ประชาชนตื่นรู้มากกว่าเดิมว่าสิ่งนี้สามารถพูดได้และควรพูด" ภาณุพงศ์ระบุ

บ่อยครั้งที่มีบรรดาพ่อยก-แม่ยกแวะเวียนมาทักทายและเอ่ยคำชื่นชมไมค์ในฐานะ "ตัวเปิดประเด็น" แต่ถึงกระนั้นเขายอมรับว่าการทำให้ 10 ข้อเสนอไปไกลกว่าพื้นที่ชุมนุมนั้นอาจเกินกว่าอำนาจของเขา เพราะ "ต้องกดดันให้สภารับไม้ต่อ ทำหน้าที่ต่อจากแกนนำม็อบ"

ส่วนการที่แกนนำกล่าวอ้างว่าการเสนอแนวคิดปฏิรูปสถาบันฯ ทำด้วยความหวังดีและต้องการให้สถาบันฯ ดำรงคงอยู่คู่สังคมไทยในโลกสมัยใหม่ สวนทางกับมุมมองของฝ่ายอนุรักษนิยมที่เห็นว่าขบวนการนักศึกษามีเจตนา "ท้าทาย-จาบจ้วง-ล้มล้าง" นั้น ภาณุพงศ์ระบุว่าก่อนอื่นคนเหล่านั้นต้องเลิกเป็นฝ่ายอนุรักษนิยมก่อน แล้วลองเปิดใจรับฟังสาระข้อเสนอของพวกเขา

เจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งแถวและวางแนวรั้วเหล็กสกัดไม่ให้ผู้ชุมนุมเคลื่อนพลเข้าสู่ระยะ 150 เมตรห่างจากเขตพระราชฐาน ตามเงื่อนไขใน พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ

ที่มาของภาพ, wasawat lukharang/bbc Thai

คำบรรยายภาพ, เจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งแถวและวางแนวรั้วเหล็กสกัดไม่ให้ผู้ชุมนุมเคลื่อนพลเข้าสู่ระยะ 150 เมตรห่างจากเขตพระราชฐาน ตามเงื่อนไขใน พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ

สุชาติ สวัสดิ์ศรี แนะหาแนวร่วม เพื่อขยายเพดานมุมกว้าง

การสื่อสารประเด็นการปฏิรูปสถาบันฯ จำเป็นต้องใช้ศิลปะขั้นสูงตามความเห็นของ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิลปินแห่งชาติ วัย 75 ปี

หลังผ่านปรากฏการณ์ "ทะลุเพดาน" เมื่อ 10 ส.ค. เขาเห็นว่าจำเป็นต้องขยายพื้นที่ออกไปใน "มุมกว้าง" ไม่ใช่ดันขึ้นสู่ "มุมสูง" เพราะเรื่องนี้ต้องอาศัยเวลา และไม่สามารถหักโค่นได้ในเวลาอันรวดเร็ว

คำจำกัดความของการ "ขยายเพดานในมุมกว้าง" ถูกสุชาติอธิบายความหมายไว้ว่า เป็นการทำความเข้าใจและแสวงหาแนวร่วมให้กว้างขวางออกไป เช่น ต้องประสานกับพรรคการเมืองที่เข้าใจสถานการณ์ พร้อมแสดงความคาดหวังว่านักการเมืองที่เรียกตัวเองว่า "ฝ่ายประชาธิปไตย" จะมีความกล้าหาญต่อประเด็นที่ถูกจุดประกายโดยขบวนการนักเรียนนักศึกษา

"ศิลปะในการสื่อสารประเด็นนี้ต้องไม่ทำแบบเป็นกลไก ต้องไม่แรง เร็ว ฉับพลัน เพราะอาจทำให้เสียแนวร่วมได้" นักเขียนชื่อดัง ผู้เป็นอดีตบรรณาธิการ (บก.) วารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ เครือข่ายทางปัญญาที่สำคัญในเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 ให้ความเห็น

เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มธ. ประกาศเชิญชวนผู้ชุมนมให้แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ 8 ข้อ อาทิ ชูสามนิ้วขณะเคารพธงชาติ, บีบแตรในขบวนรถบุคคลสำคัญ, ถอนเงินฝากจากธนาคารไทยพาณิชย์

ที่มาของภาพ, Rachaphon Riansiri/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มธ. ประกาศเชิญชวนผู้ชุมนมให้แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ 8 ข้อ อาทิ ชูสามนิ้วขณะเคารพธงชาติ, บีบแตรในขบวนรถบุคคลสำคัญ, ถอนเงินฝากจากธนาคารไทยพาณิชย์

ในฐานะรุ่นพี่ร่วมสำนัก มธ. สุชาติยอมรับว่ามี "1 ความฝัน" ไม่ต่างจากบรรดานักเคลื่อนไหวประชาธิปไตยรุ่นเยาว์ นั่นคือ การมีสถาบันพระมหากษัตริย์ดำรงคงอยู่อย่างสง่างามในโลกสมัยใหม่ เป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอย่างแท้จริง แต่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ

"ผมไม่รู้ว่าจะจบทันรุ่นผมไหม ปีนี้ผม 75 แล้วนะ ถ้าจบได้ตามที่เขาต้องการ ผมก็จะมีความสุขมาก เพราะผมจะมีความฝันร่วมกับคนรุ่นเขา" สุชาติกล่าว

ก่อนการชุมนุมใหญ่ของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ จะเกิดขึ้น ได้เกิดความแตกแยกทางความคิดในหมู่ประชาคมธรรมศาสตร์ สุชาติในฐานะศิษย์เก่าคณะศิลปศาสตร์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ ปี 2509 ได้นำรายชื่อศิษย์เก่า 1,964 รายชื่อยื่นต่ออธิการบดี แสดงจุดยืนสนับสนุนการใช้ มธ. ท่าพระจันทร์ เป็นสถานที่จัดการชุมนุมของนักศึกษาตามคำขวัญ "ธรรมศาสตร์มีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว" ขณะที่ฝ่ายคัดค้านถือธงนำโดย แก้วสรร อติโพธิ ศิษย์เก่าคณะนิติศาสตร์รุ่นปี 2512 ที่ล่ารายชื่อเพื่อนร่วมสำนักได้ 2,966 รายชื่อยื่นต่ออธิการบดีเช่นกัน โดยให้เหตุผลว่าไม่ต้องการให้ใช้พื้นที่ มธ. เป็น "ฐานทัพละเมิดรัฐธรรมนูญ" และ "เทม็อบไปทำเนียบฯ"

สุชาติมักติดตามการสื่อสารการเมืองผ่านศิลปะในสื่อสังคมออนไลน์ และชี้ว่าการแสดงศิลปะไม่ได้จำกัดอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมหรือแกลอรีแล้ว

ที่มาของภาพ, Hataikarn Treesuwan/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, สุชาติมักติดตามการสื่อสารการเมืองผ่านศิลปะในสื่อสังคมออนไลน์ และชี้ว่าการแสดงศิลปะไม่ได้จำกัดอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมหรือแกลอรีแล้ว

เมื่อประตูรั้วของ มธ. ท่าพระจันทร์ ถูกเปิดออกในเวลา 12.30 น. สุชาติและครอบครัวจึงไม่รั้งรอที่จะสาวเท้าเข้าไปสังเกตการณ์และให้กำลังใจรุ่นน้องภายในมหาวิทยาลัย

ในทัศนะของสุชาติ กว่าที่สถานการณ์จะเดินมาถึงจุดที่การพูดคุยเรื่องสถาบันฯ ทำได้ในพื้นที่สาธารณะ ต้องสะสมความชอบธรรม ความเข้าใจ และสะสมผู้คนหลากหลายรุ่น เขาจึงเปรียบเปรยการชุมนุมของเยาวชนว่าเป็นเหมือน "ตัวแสดงจำนวนทางการเมือง" สะท้อนว่ามีผู้สนับสนุนทางแนวคิดเท่าไร

"หากคนมาร่วมแค่ 100, 200, 300 คน ประเด็นที่นำเสนออาจไม่ได้รับความชอบธรรม แต่นี่มากันเต็มสนามฟุตบอล มธ. และท้องสนามหลวง ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจากการค่อย ๆ สะสมความชอบธรรม" เขากล่าว

ยุกติชี้คนเสื้อแดงที่ออกหน้าหนุน นศ. เป็นฝ่ายก้าวหน้า-เหยื่อของรัฐ

บีบีซีไทยสังเกตองค์ประกอบของผู้ชุมนุมที่ปักหลักค้างคืนที่สนามหลวง พบว่า "คนเสื้อแดง" คือมวลชนกลุ่มใหญ่ที่เข้าร่วมขบวนการ "ทวงอำนาจคืนราษฎร" กับเครือข่ายนักศึกษา ในวันที่ 19 ก.ย. ซึ่งตรงกับวาระครบรอบ 14 ปีเหตุการณ์รัฐประหารรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร พอดี

res shirt

ที่มาของภาพ, Paris Jitpentom/BBC Tha

รศ.ดร. ยุกติ มุกดาวิจิตร รองคณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มธ. หนึ่งในทีมวิจัย "ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย" เพื่อหาคำตอบว่าคนเสื้อแดงคือใคร กล่าวกับบีบีซีไทยว่า คนเสื้อแดงมีหลายเฉด แต่กลุ่มที่ออกมาสนับสนุนนักศึกษา อย่างชัดเจนเป็นฝ่ายก้าวหน้าในกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือจะเรียกว่า "ฮาร์ดคอร์ทางความคิด" ก็ได้

"อย่างคุณณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ก็แสดงออกอย่างชัดเจน เรียกว่าเป็นปีกก้าวหน้าในกลุ่มคนเสื้อแดง เพราะเขาปูตรงนี้ไว้อยู่แล้วผ่านการใช้คำพูดต่าง ๆ เช่น คำว่าสงคราม 'ไพร่-อำมาตย์'" รศ.ดร. ยุกติกล่าว

อย่างไรก็ตามรูปแบบการสื่อสารประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ ได้เปลี่ยนจากการใช้คำพูดในเชิงสัญลักษณ์ เป็นการพูดอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งนักมานุษยวิทยารายนี้เห็นว่าเป็น "จุดเด่น" เพราะทำให้ประเด็นนี้กลายเป็นเรื่องทางการ เป็นจริงเป็นจัง ไม่กำกวม ต่างจากช่วงที่ยังสื่อสารผ่านสัญลักษณ์ที่ทำให้ผู้คนบางส่วนไม่ไว้ใจว่า "ถึงขนาดจะล้มล้างหรือเปล่า แต่นี่ขีดเส้นให้ชัดเจนได้"

ธานี สะสม ขึ้นปราศรัยที่เวทีสนามหลวง

ที่มาของภาพ, Rachaphon Riansiri/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, ธานี สะสม แนวร่วม นปช. ผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวร่วมกับเยาวชนคนรุ่นใหม่ จนเป็น 1 ใน 14 บุคคลที่ถูกออกหมายจับ ขึ้นปราศรัยที่เวทีสนามหลวง

กลุ่มคนเสื้อแดงถือกำเนิดขึ้นมาภายหลังรัฐประหารปี 2549 โดยมีบทบาทต่อต้านเผด็จทหาร และปกป้องรัฐบาล "พรรคทักษิณ" อันหมายถึงพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน ด้วยเพราะพวกเขาเป็นชนชั้นกลางระดับล่าง ซึ่งงานวิจัยของอาจารย์ยุกติกับพวกชี้ว่า "เป็นผู้ได้รับประโยชน์โดยตรงจากนโยบายประชานิยมของรัฐบาลทักษิณ" ทำให้เกิดคำครหาอยู่เนือง ๆ เรื่องการ "สู้ไปกราบไป" ของแกนนำฝ่ายทักษิณ

เกี่ยวกับเรื่องนี้ รศ.ดร. ยุกติยอมรับว่า คนเสื้อแดงอิงอยู่กับพรรคเพื่อไทย ในแง่หนึ่งพรรคการเมืองก็มีทั้งความสืบเนื่องกับระบอบเก่าที่ต้องระมัดระวังในการต่อสู้ แต่ขณะเดียวกันก็อยากจะไปข้างหน้า จึงมีลักษณะ "พะว้าพะวัง สู้ไปกราบไป" แต่นักเรียนนักศึกษาเป็นคนกลุ่มใหม่ และไม่ได้มีความยึดโยงกับพรรคการเมือง ดังนั้นจึงมีความเป็นอิสระสูง แม้ได้รับการสนับสนุนจากคนเสื้อแดงก็ตาม

ส่วนอีกข้อวิจารณ์จากฝ่ายความมั่นคงและคนในขั้วตรงข้ามทางอุดมการณ์ว่าด้วยการ "โหนเด็ก-ใช้เด็ก" ของ "แดงฮาร์ดคอร์" เพื่อผลักดันวาระในใจนั้น นักวิชาการผู้ศึกษาเรื่องคนเสื้อแดงแนะให้พิจารณาว่าคนที่ถูกพาดพิงเป็นใคร และได้ประโยชน์อะไรจากการกระทำนั้น

"เอาเข้าจริงคนมีชื่อเสียงที่มาออกหน้า เขาเป็นเหยื่อของรัฐมาก่อน โดยเฉพาะกรณีมาตรา 112 เช่น 'หนุ่มเรดนนท์' ที่เงียบมานาน มาวันนี้ก็เริ่มออกมาพูดมาเขียน หรือคุณสมยศ (พฤกษาเกษมสุข) เขาก็มีความกล้าหาญของเขาอยู่ ผมยังมองไม่ออกว่าเขาได้อะไรในจังหวะนี้ นอกจากได้แนวร่วมใหม่ และก็อยากมาแชร์ประสบการณ์เพื่อทำให้ขบวนการมันหนักแน่นแข็งแกร่ง เพราะนักศึกษาอาจหาความรู้ได้ แต่ถึงที่สุดเขาก็ยังขาดประสบการณ์และความลึกซึ้งในหลายมิติ" อาจารย์ยุกติวิเคราะห์

ยุกติเห็นว่าการที่คนรุ่นใหม่เติบโตมากับโซเชียลมีเดีย ทำให้เกิดการรวมตัวแนวนอน และเป็นลักษณะเครือข่ายที่ไม่สามารถควบคุมได้ มีข้อเสียคือยากจะตั้งองค์กร ส่วนข้อดีคือเหมาะแก่การเคลื่อนไหวในเรื่องที่สุ่มเสี่ยง

ที่มาของภาพ, Hataikarn Treesuwan/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, ยุกติเห็นว่าการที่คนรุ่นใหม่เติบโตมากับโซเชียลมีเดีย ทำให้เกิดการรวมตัวแนวนอน และเป็นลักษณะเครือข่ายที่ไม่สามารถควบคุมได้ มีข้อเสียคือยากจะตั้งองค์กร ส่วนข้อดีคือเหมาะแก่การเคลื่อนไหวในเรื่องที่สุ่มเสี่ยง

ในมุมมองของครูคนหนึ่ง เห็นว่าลูกศิษย์ของเขาไม่มีเบื้องหน้าเบื้องหลัง แต่เกิดขึ้นมาด้วยตัวเอง จึงสร้างความประทับใจและทำให้ได้รับการสนับสนุนจากนักวิชาการกว่า 100 คนที่ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์เมื่อ 12 ส.ค. เพื่อยืนยันว่าการชุมนุมในเวที "ธรรมศาสตร์ไม่ถอยไม่ทน" เป็นการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ แต่ถึงกระนั้นรองคณบดีคณะสังคมวิทยาฯ ประเมินว่านักศึกษาคงไม่ทะลุเพดานไปกว่าเหตุการณ์เมื่อ 10 ส.ค. แล้ว

"ตอนนี้ได้แค่นี้ก็โอเคแล้ว ผมว่าเขาคงยืนแค่นั้น แต่แสดงให้เห็นว่าต้องมีการสนับของขบวนการที่ใหญ่ขึ้น เช่น กลุ่มเยาวชนปลดแอก ประชาชนปลดแอก เพราะรุ้งกับเพนกวินก็พูดชัดว่าการจะไปสู่ 10 ข้อ (ของแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ) ได้อย่างไรก็ต้องอิงกับ 3 ข้อ (ของประชาชนปลดแอก) อยู่ดี" เขากล่าว

โรมหวังสภาเปิดถกปฏิรูปสถาบันฯ ก่อน "ตกขบวนประวัติศาสตร์"

ท่ามกลางความคาดหวังของบรรดา "ราษฎรที่ไปชุมนุมบนท้องถนน" ว่า "ผู้แทนราษฎร" จะ "รับลูก" ข้อเสนอในการปฏิรูปสถาบันฯ ไปผลักดันผ่านกลไกรัฐสภา รังสิมันต์ โรม ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ซึ่งร่วมสังเกตการณ์การยื่นข้อเรียกร้องในการปฏิรูปสถาบันฯ ของ รุ้ง-ปนัสยา ถึง พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี ผ่านผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ให้ความเห็นว่าหลังจากนี้การเมืองไทยจะไม่เหมือนเดิม

"สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วง 2 วันที่ผ่านมา อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นในการพูดคุยกันอย่างจริงจังในสภา ไม่เช่นนั้นพวกเรากำลังจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง กำลังตกขบวนประวัติศาสตร์ที่สำคัญ" โรมกล่าว

น.ส.ปนัสยา แกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ อ่านจดหมายเปิดผนึก

ที่มาของภาพ, PAris Jitpentom/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, ปนัสยาอ่านจดหมายเปิดผนึก ก่อนส่งมอบให้ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลนำไปส่งที่ทำเนียบองคมนตรี

อย่างไรก็ตามเขายัง "ตอบไม่ได้" ว่าโอกาสในการ "ขยับเพดานในสภา" มีแค่ไหน ภายหลังอานนท์ นำภา ประกาศว่าเตรียมนำเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมและยกเลิกกฎหมายที่ให้และขยายอำนาจสถาบันฯ จนเกินขอบเขตของระบอบประชาธิปไตย โดย ส.ส. สมัยแรกให้เหตุผลว่าการผลักดันกฎหมายต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายพรรคการเมืองและ ส.ว.

"หากแรงกดดันจากสังคมไม่มากพอ โอกาสที่ ส.ส. หรือ ส.ว. จะยกมือให้ ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย" โรมกล่าว

ย้อนกลับไปเมื่อเดือน ต.ค. 2562 โรมกับเพื่อนนักการเมืองในสังกัดพรรคอนาคตใหม่ 70 คนได้ลงมติ "ไม่เห็นชอบ" กับการอนุมัติพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ. 2562 ให้เป็น พ.ร.บ. ต่างจากเพื่อนร่วมสภาจากพรรคอื่น ๆ อีก 374 เสียง ที่พร้อมใจลงมติ "เห็นชอบ" และไร้ข้ออภิปรายใด ๆตามจารีตการเมืองไทย

โรมให้ความสนใจว่าความเคลื่อนไหวของนักศึกษาและประชาชนควรจะถูกเรียกขานว่าอย่างไร

ที่มาของภาพ, Pasika Khernamnuoy/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, โรมให้ความสนใจว่าความเคลื่อนไหวของนักศึกษาและประชาชนควรจะถูกเรียกขานว่าอย่างไร

โรมยอมรับว่า นักวิเคราะห์บางส่วนเชื่อว่าการอภิปรายและลงมติไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.ก. ดังกล่าว คือต้นเหตุที่ทำให้พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบพรรค "เราไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ แต่นี่คือความคิดที่เชื่อกันว่าการแตะต้องเรื่องละเอียดอ่อนจะนำมาสู่การยุบพรรคได้" ทว่าการทำงานของพวกเขาไม่ได้กังวลเรื่องถูกยุบพรรค แต่นึกถึงการผลักดันวาระต่าง ๆ ในสังคม ซึ่งไม่ใช่แค่การเสนอกฎหมาย แต่คือการสร้างความคิดแล้วสังคมเห็นด้วย

อย่างไรก็ ส.ส. จากพรรคการเมืองน้องใหม่ยอมรับว่าต้องต่อสู้ทางความคิดกับนักการเมืองส่วนใหญ่ที่มีแนวคิด "รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี" ทำให้ไม่ออกมาเคลื่อนไหวในประเด็นสุ่มเสี่ยง แต่ถึงกระนั้นโรมเชื่อว่าหากนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งไม่ฟังสิ่งที่ประชาชนต้องการ ก็อยู่ไม่ได้เหมือนกัน