Aukus : ฝรั่งเศสเลื่อนหารือกลาโหมกับอังกฤษ หลังถอนทูตจากสหรัฐฯ ออสเตรเลีย

A UK Astute Class nuclear-powered submarine

ที่มาของภาพ, Ministry of Defence

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของฝรั่งเศสเลื่อนการหารือกับรัฐมนตรีกลาโหมสหราชอาณาจักรที่กำหนดไว้ในสัปดาห์นี้ออกไปอย่างไม่มีกำหนด คาดว่าเป็นผลจากความไม่พอใจที่สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกาและออสเตรเลียประกาศข้อตกลงด้านความมั่นคงครั้งประวัติศาสตร์หรือ Aukus

ข้อตกลงนี้ซึ่งมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ส่งผลให้ออสเตรเลียฉีกสัญญามูลค่า 50,000 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (ประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท) ที่ลงนามกับฝรั่งเศสในปี 2016 ให้สร้างเรือดำน้ำ 12 ลำ และเปลี่ยนมาสร้างเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยใช้เทคโนโลยีจากสหรัฐฯ แทน

ด้านเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศเกาหลีเหนือวิจารณ์ข้อตกลงนี้ว่าจะนำไปสู่ "การแข่งขันกันสะสมอาวุธ" และจะกระทบต่อ "สมดุลทางยุทธศาสตร์ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก" ทั้งที่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สำนักข่าวเคซีเอ็น สื่อของทางการเกาหลีเหนือ รายงานว่าเกาหลีเหนือได้ทดสอบขีปนาวุธร่อนพิสัยไกลชนิดใหม่ที่มีขีดความสามารถโจมตีญี่ปุ่นได้ในวงกว้างและยังอาจเป็นขีปนาวุธร่อนชนิดแรกที่บรรทุกหัวรบนิวเคลียร์ได้

แม้นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสันของอังกฤษจะออกมาระบุว่าไม่มีอะไรที่ฝรั่งเศสต้องเป็นกังวลเกี่ยวกับข้อตกลงนี้ แต่การพบปะหารือระว่างนางฟลอเรนซ์ พาร์ลีย์ รัฐมนตรีกลาโหมของฝรั่งเศสกับนายเบน วอลเลซ รัฐมนตรีกลาโหมของสหราชอาณาจักร ซึ่งกำหนดจะมีขึ้นเป็นเวลา 2 วันในกรุงลอนดอนสัปดาห์นี้ก็ถูกยกเลิกไป

ลอร์ดริกเก็ตตส์ อดีตเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำฝรั่งเศส ซึ่งจะร่วมเป็นประธานในการหารือดังกล่าวยอมรับว่าการพบปะหารือกันครั้งนี้ "ถูกเลื่อนไปเป็นวันหลัง"

Aukus คือข้อตกลงด้านความมั่นคงที่ใหญ่ที่สุดระหว่างทั้ง 3 ชาติ นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2

แม้ว่าสหราชอาณาจักร สหรัฐฯ และออสเตรเลียเป็นพันธมิตรกันมายาวนานแล้ว แต่ Aukus ทำให้ความร่วมมือด้านกลาโหมของทั้ง 3 ชาติ มีความลึกซึ้งมากขึ้นและเป็นทางการ

ข้อตกลงนี้จะมุ่งเน้นไปที่ขีดความสามารถทางการทหาร โดยแยกออกมาจากพันธมิตรแลกเปลี่ยนข่าวกรองไฟว์อายส์ (Five Eyes) ซึ่งรวมถึงนิวซีแลนด์และแคนาดาด้วย

นอกจากเรือดำน้ำของออสเตรเลียแล้ว Aukus จะยังมีการแลกเปลี่ยนขีดความสามารถทางไซเบอร์ ปัญญาประดิษฐ์ ควอนตัม และเทคโนโลยีใต้น้ำอื่น ๆ ระหว่างกันด้วย

แถลงการณ์ร่วมที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 16 ก.ย. ระบุว่า "นี่คือโอกาสครั้งประวัติศาสตร์สำหรับทั้ง 3 ชาติ และหุ้นส่วนและพันธมิตรที่มีความคิดตรงกัน ในการปกป้องคุณค่าร่วมกันและส่งเสริมความมั่นคงและความรุ่งเรืองในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก"

ผู้นำทั้ง 3 ชาติ ไม่ได้เอ่ยถึงจีนโดยตรง แต่ระบุว่าความมั่นคงในภูมิภาคมีความท้าทาย "เพิ่มขึ้นอย่างมาก"

คำบรรยายวิดีโอ, เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการจัดซื้อเรือดำน้ำจีน

นายฌอง-อีฟว์ เลอ ดริยอง รัฐมนตรีต่างประเทศของฝรั่งเศสกล่าวถึงการทำข้อตกลงนี้ว่าเป็น "การแทงข้างหลัง" และได้ก่อให้เกิด "พฤติกรรมที่ยอมรับไม่ได้ระหว่างพันธมิตรและหุ้นส่วน"

หลังการประกาศข้อตกลง Aukus นายเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศสได้เรียกทูตฝรั่งเศสประจำกรุงวอชิงตันและกรุงแคนเบอร์ราของออสเตรเลียกลับประเทศ ซึ่งเป็นท่าทีที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนระหว่างประเทศพันธมิตร

นายบอริส จอห์นสัน กล่าวระหว่างเดินทางไปร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่นครนิวยอร์กว่าฝรั่งเศสไม่ควร "กังวล" เกี่ยวกับข้อตกลง Aukus พร้อมกับย้ำว่าความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศสนั้น "ไม่มีวันถูกทำลาย"

นายจอห์นสันกล่าวอีกว่าความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษและฝรั่งเศสนั้น "เป็นมิตรกันอย่างมาก" ซึ่งเขาบอกว่านี่เป็นสิ่งที่ "มีความสำคัญอย่างมหาศาล"

"ความรักที่เรามีต่อฝรั่งเศสนั้นไม่มีวันหายไป" นายกฯ อังกฤษกล่าวกับผู้สื่อข่าว "Aukus ไม่ใช่ข้อตกลงที่ทำให้มีฝ่ายหนึ่งได้และอีกฝ่ายหนึ่งเสีย และไม่มีจุดมุ่งหมายที่จะตัดใครออกไป ดังนั้นจึงไม่มีประเทศใดต้องกังวลโดยเฉพาะฝรั่งเศสผู้เป็นมิตรประเทศของเรา"

ด้านนายสก็อตต์ มอร์ริสัน นายกฯ ออสเตรเลียได้ออกมาปกป้องการตัดสินใจเข้าร่วมข้อตกลง Aukus และการฉีกสัญญาเรือดำน้ำกับฝรั่งเศส โดยระบุว่าฝรั่งเศสน่าจะทราบดีอยู่แล้วว่าสัญญานี้จะไม่ได้ไปต่อ

นายกฯ ออสเตรเลียกล่าวว่า การตัดสินใจครั้งนี้เป็นการตัดสินทางยุทธศาสตร์บนพื้นฐานที่ว่าเรือดำน้ำที่จะสร้างขึ้นด้วยเงินภาษีจำนวนมหาศาลของชาวออสเตรเลียจะต้องสามารถบรรลุภารกิจที่เราคาดหมายได้จริง

ข้อตกลง Aukus ทำให้ออสเตรเลียเป็นประเทศที่ 7 ในโลกที่จะมีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ประจำการ