กปปส. : สำรวจกลกฎหมาย เกมการเมือง หลังศาลสั่งจำคุกสุเทพกับพวก

สุเทพ เทือกสุบรรณกับพวก

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, นายสุเทพ เทือกสุบรรณและจำเลยรวม 39 คน ซึ่งมีทั้งผู้ที่ดำรงตำแหน่ง ส.ส. และรัฐมนตรีในปัจจุบันเดินทางมารับฟังคำพิพากษาที่ศาลอาญาเมื่อวันที่ 24 ก.พ.
  • Author, หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
  • Role, ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

คำพิพากษาของศาลอาญาให้จำคุกนายสุเทพ เทือกสุบรรณ กับแกนนำกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" (กปปส.) รวม 26 คน เป็นเวลาตั้งแต่ 4 เดือน ถึง 9 ปี 24 เดือน ในคดีชุมนุมขับไล่รัฐบาล น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ระหว่างปี 2556-2557 สร้างแรงสั่นสะเทือนทางการเมืองอย่างไม่อาจปฏิเสธ และกลายเป็นไฟลต์บังคับให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทั้งในฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ

บีบีซีไทยรวบรวมข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย เพื่อชี้ให้เห็นฉากทัศน์ทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นมาไว้ ณ ที่นี้

เล็งปรับ ครม. "ประยุทธ์2/3" หลังเก้าอี้ รมต. ว่าง 3 ตำแหน่ง

คำพิพากษาจำคุกแกนนำ กปสส. ทำให้ 3 รัฐมนตรีจาก 2 พรรคการเมือง ตกเก้าอี้พร้อมกันทันที เพราะขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 160(7) และมาตรา 170(4) ที่กำหนดคุณสมบัติรัฐมนตรีเอาไว้ว่าต้อง "ไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุด" ประกอบด้วย

  • นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ถูกสั่งจำคุก 7 ปี
  • นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ถูกสั่งจำคุก 6 ปี 16 เดือน
  • นายถาวร เสนเนียม รมช. คมนาคม ถูกสั่งจำคุก 5 ปี

สำหรับรัฐมนตรีทั้ง 3 คนเข้าดำรงตำแหน่งตั้งแต่เริ่มรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในสมัยที่ 2 ซึ่งในส่วนของนายพุทธิพงษ์และนายณัฏฐพลมาในโควตากลุ่ม "สามทหารเสือ กปปส." ที่ร่วมบุกเบิก-ก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ตั้งแต่เดือน ก.ย. 2561 และดูแล ส.ส.กทม. บางส่วน ขณะที่นายถาวรมาในโควตาภาคใต้ สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)

กราฟิกโควต้ารัฐมนตรีประยุทธ์

ย้อนกลับไปในช่วงการจัดตั้งรัฐบาล "ประยุทธ์2/1" มี 6 พรรคการเมืองจากรัฐบาลผสม 19 พรรค ที่ส่งคนของตนไปร่วมวงฝ่ายบริหารได้สำเร็จ ภายใต้สัดส่วน 3-7 ส.ส. ต่อ 1 เก้าอี้รัฐมนตรี โดย พปชร. มี ส.ส. วันเปิดสภา 116 เสียง ได้โควตารัฐมนตรีไป 18 คน (รวมโควตากลางของนายกฯ ด้วย คิดเป็นสัดส่วน 6.4 ส.ส. ต่อ 1 เก้าอี้รัฐมนตรี) ส่วน ปชป. มี ส.ส. 53 เสียง ได้โควตารัฐมนตรีไป 7 คน 8 ตำแหน่ง (คิดเป็นสัดส่วน 7.5 ส.ส. ต่อ 1 เก้าอี้รัฐมนตรี) เท่ากับโควตาของพรรคภูมิใจไทย (ภท.)

ทว่า 2 ปีผ่านไป จากเคยเป็นรัฐบาล "เสียงปริ่มน้ำ" 254 ต่อ 245 เสียง ก็มีมือในสภาเพิ่มขึ้นเป็น 276 ต่อ 211 เสียง โดย พปชร. มีผู้แทนฯ เพิ่มขึ้นเป็น 121 เสียง ภท. เบียดมาเป็นพรรคอันดับสองของรัฐบาลด้วยยอด ส.ส. 61 เสียง ส่วน ปชป. ลดเหลือ 51 เสียง จึงไม่แปลกหากจะเกิดความเคลื่อนไหวทั้งบนดิน-ใต้ดิน เพื่อเปิดฉากช่วงชิงเก้าอี้รัฐมนตรีในรัฐบาล "ประยุทธ์ 2/3" โดยมีพรรคเล็กและพรรคจิ๋วที่เกาะกลุ่มกันอยู่ขอโดดมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในสมการปรับ ครม. ด้วย

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม โยน พปชร. ให้ไปหารือกับพรรคร่วมรัฐบาลว่าจะทำอย่างไรกับตำแหน่งที่ขาดหายไป มีข้อตกลงอย่างไร จากนั้นนายกฯ จะเป็นผู้ตัดสินใจอีกครั้งหนึ่งว่าจะให้ใครดำรงตำแหน่งอะไร จำเป็นต้องปรับส่วนอื่นหรือต้องสลับตำแหน่งกันบ้างหรือไม่

พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้า พปชร. ยอมรับว่าต้องมีการปรับ ครม. แต่ขึ้นอยู่กับนายกฯ ในการพิจารณา พร้อมส่งสัญญาณริบโควตาคืนจาก กปปส.

"โควต้า กปปส. ที่ไหนเล่า...โควต้าพลังประชารัฐ เขา (พุทธิพงษ์,ณัฏฐพล) อยู่พรรคพลังประชารัฐ" พล.อ. ประวิตรกล่าวเสียงดัง หลังผู้สื่อข่าวยิงคำถามใส่ว่าเก้าอี้รัฐมนตรีที่ว่างลงจะยังเป็นโควตาของกลุ่ม กปปส. หรือไม่

ส่วนที่มีกระแสข่าวปรากฏตามหน้าสื่อว่า 3 รัฐมนตรีช่วยว่าการ (รมช.) คาดหวังจะขยับชั้นเป็นรัฐมนตรีว่าการ (รมว.) มีโอกาสเกิดขึ้นหรือไม่ หัวหน้า พปชร. ชิงดับฝันคนเหล่านี้โดยบอกว่า "ผมไม่เสนอ ผมไม่เสนอใครทั้งนั้น"

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ได้รับตำแหน่งเหรัญญิกพรรค

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน

ขณะที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้า ปชป. ระบุว่า นายกฯ ยังไม่ได้ส่งสัญญาณปรับ ครม. พร้อมยืนยันไม่รู้สึกกังวลกับกระแสข่าวพรรคการเมืองอื่นต่อรองขอโควตารัฐมนตรีเพิ่ม

"ตามหลักการควรจัดสรรโควตารัฐมนตรีเท่าเดิม เหมือนตอนที่ขอร่วมรัฐบาล" หัวหน้า ปชป. กล่าวดักคอและพูดต่อไปว่า แต่หลังจากนี้จะเป็นอย่างไร ไม่สามารถตอบล่วงหน้าได้ เพราะนายกฯ จะเป็นผู้พิจารณา

แต่ในระหว่างยังไม่มีการปรับ ครม. ก็จะมีรัฐมนตรีทำหน้าที่รักษาราชการแทน 3 ตำแหน่งที่ว่างลงเพื่อไม่ให้การปฏิบัติราชการต้องสะดุดหยุดลง ซึ่งเป็นไปตามมติ ครม. เมื่อ 19 ก.ค. 2562

  • คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ รักษาราชการแทน รมว.ศึกษาธิการ
  • นายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม รักษาราชการแทน รมว.ดีอีเอส

จ่อเลื่อนปาร์ตี้ลิสต์ ปชป. กับ พปชร. เป็น ส.ส. หน้าใหม่

คำพิพากษาของศาลอาญายังสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี ของจำเลย 7 คน ที่ถูกสั่งลงโทษในความผิดฐานร่วมกันกระทำการใดโดยไม่มีอำนาจโดยกฎหมายเพื่อมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งใช้สิทธิได้ ในจำนวนนี้มีอยู่ 3 คนที่เป็น ส.ส. ในปัจจุบัน ส่งผลให้พวกเขาขาดคุณสมบัติการเป็น ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 96(2) และ 101 ที่ให้พ้นจาก ส.ส. "อยู่ระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่" ประกอบด้วย

  • นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พปชร.
  • นายอิสสระ สมชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ ปชป.
  • นายชุมพล จุลใส ส.ส.ชุมพร ปชป.

ถึงขณะนี้จึงมีความชัดเจนแล้วว่าจะมีผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) ของ พปชร. และ ปชป. จะได้เลื่อนขึ้นมาเป็นนักการเมืองหน้าใหม่ หลังผ่านมาเกือบครึ่งเทอมของสภาชุดที่ 25

  • นายจักพันธ์ ปิยพรไพบูลย์ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 26 ปชป. ได้เลื่อนขึ้นมาเป็น ส.ส. หน้าใหม่แทนนายอิสสระ ทั้งนี้นายจักพันธ์ หรือ ส.จ.เซ้ม เป็นหลานชายของนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการ ปชป. และยังเป็นเจ้าของฟาร์มไก่ชน "โกเซ้มฟาร์ม" ที่น่าสนใจคือนายจักพันธ์เคยหลุดเข้าสภา-ได้ทำหน้าที่ ส.ส. มาแล้ว 1 วัน หลังกล่าวปฏิญาณตนกลางสภาเมื่อ 22 ม.ค. 2563 ก่อนจำต้องลุกจากเก้าอี้ในวันรุ่งขึ้น เปิดทางให้ ส.ส. พรรคจิ๋วเข้ารั้งตำแหน่งแทน เนื่องจากแพ้คะแนนปัดเศษตามสูตรคำนวณ ส.ส. ระบบจัดสรรปันส่วนผสม หลังมีการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.จันทบุรี
  • นายยุทธนา โพธสุธน ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 21 พปชร. หลานชายนายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรและสหกรณ์ และเลขาธิการพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ได้เลื่อนขึ้นมาเป็น ส.ส. แทนนายณัฏฐพล
ที่ประชุมสภา

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

ขณะที่ ส.ส.ชุมพร เขต 1 ที่ว่างลงเพราะนายชุมพลถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งซ่อม โดยเสนอให้ ครม. ตราพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เลือกตั้ง ส.ส. แทนตำแหน่งที่ว่างลงต่อไป

ทว่ากว่า ส.ส. หน้าใหม่จะเริ่มปฏิบัติหน้าที่ได้ น่าจะเป็นช่วงเดือน พ.ค. ซึ่งมีการเปิดประชุมสภาสมัยสามัญ ตามคำเปิดเผยของนายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภา ซึ่งระบุว่า ส.ส. ต้องกล่าวปฏิญาณตนต่อที่ประชุมแห่งสภาที่ตนสังกัด จึงไม่สามารถดำเนินการได้ในการประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญที่จะเกิดขึ้นในเดือน มี.ค. เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในวาระ 3

รอความชัดเจนสถานะ ส.ส. ของ "พุทธิพงษ์-ถาวร"

แต่สำหรับเก้าอี้ที่ยังมีปัญหาคลุมเครือทางข้อกฎหมายและรอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตีความให้ชัดเจน หนีไม่พ้น เก้าอี้ ส.ส.บัญชีรายชื่ออีกตัวของ พปชร. และเก้าอี้ ส.ส.สงขลา เขต 6 ของ ปชป. แม้นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ กับนายถาวร เสนเนียม ตกเก้าอี้รัฐมนตรีแน่นอนแล้วหลังต้องโทษจำคุกตามคำพิพากษาศาล แต่ทั้งคู่ไม่ได้ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตามคำสั่งศาลเหมือนจำเลยอีก 7 ราย ทำให้นักกฎหมายหลายคน แม้แต่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ก็ยังไม่กล้าฟันธงว่าใครเข้าข่ายหลุดจากเก้าอี้ ส.ส. บ้าง

รัฐธรรมนูญกำหนดให้สมาชิกภาพความเป็น ส.ส. สิ้นสุดลงตามมาตรา 101(13) เมื่อ "ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก" ซึ่งคำตัดสินของศาลอาญาถือเป็นเพียงศาลชั้นต้น ทว่านายพุทธิพงษ์ และนายถาวร เป็น 1 ใน 8 แกนนำ กปปส. ที่ต้องเข้าไปนอนในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ค่ำวานนี้ (24 ก.พ.) ระหว่างทำเรื่องขอประกันตัวในชั้นศาลอุทธรณ์ จึงกลายเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้เป็น ส.ส. ตามมาตรา 98(6) ที่ระบุว่า "ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย"

นายถาวร เสนเนียม

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, นายถาวร เสนเนียม รมช. คมนาคม เป็น 1 ใน 3 รัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่ง

"โดยหลัก จำคุกก็ยังไม่ถึงที่สุด สิทธิเลือกตั้งก็ไม่ได้ถูกเพิกถอน ฉะนั้นจึงยังไม่พ้นจากการเป็น ส.ส. แต่ก็จะมีเหตุอื่นแทรกเข้ามา หากถูกจำคุกตามคำพิพากษา โดยหมายของศาลให้จำคุก ก็จะพ้นจากการเป็น ส.ส." นายวิษณุกล่าว

ต่างจากความเห็นของนายชวน หลีกภัย ประธานสภา ที่ว่า เมื่อไม่ได้ประกันตัวสมาชิกภาพความเป็น ส.ส. ก็ต้องหมดไป ขั้นตอนหลังจากนี้อยู่ที่ กกต. จะดำเนินการอย่างไรต่อไป

สำหรับประเด็นที่จะเป็นเครื่องชี้ขาดว่า 2 ส.ส. รัฐบาลพ้นจากสถานภาพหรือไม่คือพวกเขาถูก "จำคุกโดยหมายของศาล" หรือ "เป็นการควบคุมตัวธรรมดา" ตามที่นายวิษณุตั้งประเด็นไว้

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย

ที่มาของภาพ, กองโฆษก พรรครวมพลังประชาชาติไทย

คำบรรยายภาพ, นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง ปชป. (ซ้าย) ซึ่งเป็น 1 ใน 22 แกนนำ กปปส. ที่ศาลยกฟ้อง รุดไปเยี่ยมแกนนำ 8 คนที่ถูกคุมขังภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

เกี่ยวกับเรื่องนี้มือกฎหมายของ พปชร. ผู้ไม่ประสงค์จะเปิดเผยชื่อ บอกกับบีบีซีไทยว่า นายพุทธิพงษ์และนายถาวรถูกจำคุกโดยหมายขังของศาล จึงต้องพ้นจากสมาชิกภาพความเป็น ส.ส. ตามมาตรา 98(6) และ 101(6) แม้คดียังไม่ถึงที่สุดก็ตาม โดยเทียบเคียงได้กับบรรทัดฐานในคดีนายนวัธ เตาะเจริญสุข ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย (พท.) ที่ถูกศาลจังหวัดขอนแก่นพิพากษาลงโทษประหารชีวิตในคดีจ้างวานฆ่า เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2562 และให้คุมขัง ส.ส. รายนี้ระหว่างอุทธรณ์ฎีกา ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของเขาสิ้นสุดลงตามมาตรา 101(6) และ 98(6)

หากมีความชัดเจนว่านายพุทธิพงษ์และนายถาวรพ้นจากสมาชิกภาพ ก็จะทำให้ กกต. ต้องจัดการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.สงขลา เขต 6 แทนนายถาวร ขณะเดียวกัน นายต่อศักดิ์ อัศวเหม ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 22 พปชร. ก็จะได้เลื่อนขึ้นมาเป็น ส.ส. ของพรรคแกนนำรัฐบาลอีกคน