ชุมนุม 25 พ.ย.: อานนท์ประกาศล่ารายชื่อเสนอ กม. “ทวงคืนทรัพย์สินที่ควรเป็นของราษฎร” ด้าน ส. ศิวรักษ์ ชี้ “ประยุทธ์รังแกพระเจ้าแผ่นดิน”

suluk

ที่มาของภาพ, THAI NEWS PIX

แกนนำผู้เรียกร้องประชาธิปไตยและการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เรียกตัวเองว่ากลุ่ม "ราษฎร" ประกาศใช้รัฐสภาเป็นกลไก "ทวงคืนทรัพย์สินที่ควรเป็นของราษฎร" ขณะที่ ส. ศิวรักษ์ ปราศรัยขับไล่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา

นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส. ศิวรักษ์ นักวิจารณ์สังคมอาวุโส ปรากฏตัวบนเวทีปราศรัยของผู้ชุมนุมที่หน้าธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) สาขารัชโยธิน สำนักงานใหญ่ เมื่อเวลา 19.00 น. สร้างความประหลาดใจแก่บรรดาแนวร่วมกลุ่มราษฎร

เขาใช้เวลาไม่ถึง 2 นาที ในการปราศรัย โดยระบุว่า การยุติการใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ดำเนินคดีกับประชาชน เป็นไปตามพระราชโองการของในหลวง ร.10 เมื่อครั้งเสวยราชย์ และยังอ้างอิงพระราชดำรัสของในหลวง ร.9 ที่ว่าใครใช้กฎหมายนี้ เป็นการทำร้ายพระมหากษัตริย์

"ตอนนี้ประยุทธ์เอามาตรา 112 มาใช้ เป็นการขัดพระราชโองการ เป็นการทำลายล้างสถาบันกษัตริย์ เป็นการรังแกพระเจ้าแผ่นดิน เพราะฉะนั้นประยุทธ์มีความชั่วร้ายมาก ประเด็นนี้ประเด็นเดียวเราต้องร่วมกันถีบประยุทธ์ออกไป หวังว่าท่านทั้งหลายจะร่วมมือกันถีบประยุทธ์ด้วยความเคารพ" ส. ศิวรักษ์ นักคิดฝ่าย"กษัตริย์นิยม" วัย 87 ปี กล่าว

คำบรรยายวิดีโอ, สรุปเหตุการณ์ชุมนุมวันที่ 25 พ.ย. หน้าสำนักงานใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์
SCB

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

นายกฯ พูดถึง ม.112 ว่าอย่างไรในรอบ 5 เดือน

เมื่อกลาง มิ.ย. ปีนี้ พล.อ. ประยุทธ์ เรียกร้องให้คนไทยสำนึกในพระเมตตาและพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงไม่ให้ใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรือกฎหมายอาญามาตรา 112 มาดำเนินคดีกับผู้ที่ล่วงละเมิดสถาบัน

ต่อมา เมื่อ 19 พ.ย. พล.อ. ประยุทธ์ ออกแถลงการณ์นายกรัฐมนตรีเตือนประชาชนให้รับทราบว่ารัฐบาลจำเป็นต้องใช้กฎหมายทุกฉบับ ขณะที่การชุมนุมของกลุ่ม "ราษฎร" เพิ่มความเข้มข้นมุ่งวิจารณ์โดยตรงไปที่พระมหากษัตริย์

Nov 25 protest

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวเพิ่มเมื่อ 23 พ.ย. ว่า ที่ผ่านอาจมีการอะลุ้มอล่วยกันบ้าง แต่ขณะนี้เกินเลยไปมากแล้ว จึงคิดว่าสิ่งที่เขารับฟังมาจากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ พวกเขายอมรับไม่ได้กับสิ่งที่เกิดขึ้นตรงนี้ ดังนั้น เราต้องเคารพเสียงส่วนใหญ่และเป็นเจ้าหน้าที่ที่ต้องทำงานตามหน้าที่อยู่แล้ว

เมื่อถามว่าจะมีการใช้มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาด้วยใช่หรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวย้อนถามว่า "ทำไม ก็เป็นกฎหมายทุกฉบับ สื่อเข้าใจคำว่ากฎหมายทุกฉบับหรือไม่ เข้าใจภาษาไทยหรือไม่ แปลภาษาไทยกันสิคำว่ากฎหมายทุกฉบับ"

นายกฯ

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Image

หลังถูกนายสุลักษณ์กล่าวหา พล.อ.ประยุทธ์ ออกมาชี้แจงเมื่อ 26 พ.ย. ว่า เป็นเรื่องของตำรวจ ที่ทำไปตามข้อมูลหลักฐาน แต่ทั้งหมดไม่ได้จบที่ตรงนี้ เพราะยังมีศาล ที่เป็นองค์กรอิสระจะพิจารณา รัฐบาลไม่มีอำนาจไปก้าวล่วง ฝ่ายนิติบัญญัติ​ ฝ่ายตุลาการ ทั้งศาล และอัยการ ซึ่งก้าวล่วงไม่ได้เลย ส่วนอำนาจของเขาคือทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ให้ถูกฟ้องร้องภายหลัง ก็ต้องระมัดระวังกันให้มากที่สุด และขอร้องสื่อช่วยกันทำให้ทุกคนเคารพกฎหมาย ซึ่งถ้าไม่ต้องใช้กฎหมาย ก็ไม่จำเป็นต้องใช้กำลังตำรวจมาทำหน้าที่

"ผมไม่ได้เป็นคนใช้ เจ้าหน้าที่เป็นคนใช้ กฎหมายมีอยู่แล้วทุกฉบับ" พล.อ. ประยุทธ์​ ปฏิเสธข้อกล่าวหาจากนายสุลักษณ์

เมื่อผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า ในฐานะนายกรัฐมนตรี​เป็นประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ ก็มีอำนาจสั่งการไม่ให้ใช้ได้ พล.อ. ประยุทธ์​ ตอบว่า "ถ้าผมละเว้นมาก ๆ ก็โดน ม.157 (ประมวลกฎหมายอาญา) ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่"

"ยิ่งใช้ยิ่งเสื่อม"

นายพริษฐ์ตกเป็นผู้ต้องหาหลายคดี ล่าสุดเขาถูกออกหมายเรียกไปรับทราบข้อกล่าวหาในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยเจ้าตัวเปิดเผยว่า ได้รับหมายเรียกมาตรา 112 อีก 3 หมายส่งมาที่บ้าน แต่จะมีกี่หมายขอให้ส่งมา พร้อมวิเคราะห์ว่าการกลับมาของคดี 112 สะท้อนให้เห็นอาการ "จำนนต่อประชาชนของฝ่ายศักดินา เพราะมาตรา 112 ยิ่งใช้ยิ่งเสื่อม"

เพนกวิ้น

ที่มาของภาพ, PAris Jitpentom/BBC Thai

ไม่ต่างจาก น.ส. ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง ที่ตั้งคำถามต่อการหวนกลับมาของมาตรา 112 เธอบอกกับบีบีซีไทยว่า "ถ้าภาครัฐเป็นคนสั่ง สถาบันฯ เสียหายนะ เพราะสถาบันฯ เคยบอกว่าทรงเมตตาไม่ให้ใช้" และยังคาดการณ์ด้วยว่าตัวเองจะถูกออกหมายเรียกด้วยเนื่องจากเคลื่อนไหวในกลุ่มเดียวกัน

ส่วนแกนนำอีกคน นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ ไมค์​ ระยอง ประกาศกลางเวทีปราศรัยว่า "112 คือเกียรติยศที่ดีที่สุดสำหรับนักสู้"

ตร. ปัด "กลั่นแกล้ง" แกนนำราษฎรด้วย ม.112

ก่อนหน้านี้ พล.ต.ต. ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) ยืนยันว่า ไม่มีการกลั่นแกล้งใช้มาตรา 112 ต่อบรรดาแกนนำราษฎร เพราะทุกอย่างจะเป็นไปตามหลักกฎหมาย

ค่ำวานนี้ (24 พ.ย.) สื่อมวลชนหลายสำนัก อาทิ เว็บไซต์มติชน ผู้จัดการ และไอเอ็นเอ็น อ้างแหล่งข่าวจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ว่า พนักงานสอบสวนของพื้นที่ต่าง ๆ แจ้งข้อหากับ 12 แกนนำม็อบ "คณะราษฎร" ในฐานความผิดตามมาตรา 112

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนและการแถลงข่าววันนี้ (25 พ.ย.) รอง ผบช.น. กล่าวว่า "ถ้าผิดตามตัวบทกฎหมายเป็นไปตามนั้น พนักงานสอบสวนไม่สามารถหลีกเลี่ยงเป็นอย่างอื่นได้ เมื่อทำผิดเช่นนี้ การกระทำเป็นเครื่องชี้เจตนา เข้าองค์ประกอบข้อกฎหมายของบทบัญญัติข้อนี้ ก็ต้องตั้งข้อหาตามนั้น หลีกเลี่ยงไม่ได้" แต่เพื่อความรอบคอบ ตร. ได้ให้ทุกกองบัญชาการได้ตั้งคณะกรรมการ ซึ่งมีผู้ทรงคุณวุฒิในการพิจารณาตรวจสอบอีกทีเพื่อความชัดเจน ความเป็นธรรม และความเหมาะสม

ยกระดับชุมนุมต่อเนื่อง 5 วัน

"ถ้าภาครัฐเป็นคนสั่ง สถาบันฯ เสียหายนะ เพราะสถาบันฯ เคยบอกว่าทรงเมตตาไม่ให้ใช้" ปนัสยากล่าว

ที่มาของภาพ, PAris Jitpentom/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, "ถ้าภาครัฐเป็นคนสั่ง สถาบันฯ เสียหายนะ เพราะสถาบันฯ เคยบอกว่าทรงเมตตาไม่ให้ใช้" ปนัสยากล่าว

แนวร่วมกลุ่มราษฎรทยอยเดินทางมาจับจองพื้นที่บริเวณหน้า SCB ตามนัดหมายของแกนนำราษฎรตั้งแต่ช่วงบ่าย หลังมีการแจ้งเปลี่ยนแปลงสถานที่นัดชุมนุมใหญ่ จากเดิมที่สำนักทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เทเวศร์ ซึ่งเป็นเขตพระราชฐาน มาเป็นบริเวณหน้าสำนักงานใหญ่ SCB โดยมีมวลชนบางส่วนนำป้าย "เขตราษฎรฐาน" มาปักในที่ชุมนุมด้วย

นี่ถือเป็นการวันแรกจากคำประกาศชุมนุมต่อเนื่อง 5 วัน ซึ่งแกนนำกลุ่มราษฎรบอกว่าเป็นการ "ยกระดับ" และจะเปิด "ปราศรัยเชิงลึก" เพื่อให้มวลชนทราบความเชื่อมโยงระหว่างทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์​กับสาธารณสมบัติของแผ่นดิน

"จับก็จับครับ ผมเชื่อว่าการชุมนุมจะดำเนินต่อไปได้ ต่อให้ไม่มีพวกเรา" เพนกวิน แกนนำราษฎร ตอบคำถามผู้สื่อข่าวที่ว่ากังวลหรือไม่ว่าจะถูกจับกุมในช่วงชุมนุม 5 วันนี้

"วันนี้เป็นวันแรกของการยกระดับการชุมนุม ตั้งแต่วันนี้ไม่มีคำว่าแผ่ว ไม่มีคำว่าถอยอีกต่อไป" เขากล่าวเพิ่มเติม

ในช่วงท้ายของการชุมนุมในวันนี้ ปนัสยาประกาศว่าจะนัดชุมนุมใหญ่อีกครั้งวันที่ 27 พ.ย. นี้ เวลา 16.00 น. โดยจะประกาศให้ทราบอีกครั้งว่าที่ไหน

ชุมนุม 25 พ.ย.

ที่มาของภาพ, Paris Jitpentom/BBC Thai

พริษฐ์ปราศรัยทวงคืนสมบัติของชาติ

SCB เคยตกเป็นเป้าหมายในการรณรงค์ทางการเมืองของผู้ประท้วงต่อต้านรัฐมาแล้วหนหนึ่ง ในระหว่างการชุมนุมวันที่ 19-20 ก.ย. เมื่อนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ นักศึกษากลุ่ม "แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม" หนึ่งในพันธมิตรหลักของกลุ่มราษฎร ปราศรัยเรียกร้องให้ผู้ชุมนุมถอนเงินจาก SCB เพราะมีความเกี่ยวข้องกับสถาบันฯ ทำให้แฮชแท็ก #แบนSCB ขึ้นเป็นเทรนด์ทวิตเตอร์ยอดนิยมของไทยในช่วงนั้น อย่างไรก็ตาม ไม่มีข้อมูลยืนยันจากทางธนาคารว่าจำนวนลูกค้าได้ลดลงไปหรือไม่อย่างไรหลังการรณรงค์ดังกล่าว

ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ระบุว่า พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอยู่ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่กว่า 793.83 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 23.38%

มาวันนี้ นายพริษฐ์ได้เปิดปราศรัยในเชิงตั้งคำถามต่อการปรากฎพระนามของ ร.10 ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ในธนาคารไทยพาณิชย์และบริษัทปูนซีเมนต์ไทย

นายพริษฐ์ยังเปรียบเทียบสมเด็จพระจักรพรรดิของญี่ปุ่น และสมเด็จพระราชินีแห่งสหราชอาณาจักร กับสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย โดยชี้ว่า "ความสง่างามของสถาบันฯ คือการเป็นสัญลักษณ์" ไม่มีประเทศใดที่กษัตริย์ข้องเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจ

"นี่ไม่ใช่ปฏิบัติการของคนชังชาติ เพราะที่พูดมาล้วนแล้วเป็นผลประโยชน์ของชาติ ดังนั้นจึงต้องทวงสมบัติชาติคืน"

ชุมนุม 25 พ.ย.

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

ประกาศล่าชื่อ ปชช. เสนอ กม. โอนทรัพย์สิน

1 ใน 10 ข้อเรียกร้องในการปฏิรูปสถาบันฯ ของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมคือ ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2561 และให้แบ่งทรัพย์สินออกเป็น ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงการคลัง กับทรัพย์สินส่วนพระองค์ที่เป็นของกษัตริย์อย่างชัดเจน

นายอานนท์ นำภา ทนายสิทธิมนุษยชน แกนนำกลุ่มราษฎร กล่าวปราศรัยตอนหนึ่ง โดยโจมตี พล.อ. ประยุทธ์​ กับพวกในฐานะผู้ทูลเกล้าฯ ถวายทรัพย์สินให้ทรงใช้จ่ายตามพระราชอัธยาศรัย พร้อมนำเสนอทางออกของปัญหาเพื่อ "เอาทรัพย์สินของรัฐที่โอนไปทั้งหมดกลับคืนมาผ่านทางรัฐสภา"

ทนายความซึ่งเป็นผู้เปิดประเด็นปฏิรูปสถาบันฯ ในพื้นที่สาธารณะกล่าวว่า จะมีการเปิดให้ล่ารายชื่อประชาชนเพื่อนำเสนอร่างกฎหมายนำทรัพย์สินที่โอนไปกลับมา จากนั้นจะส่งต่อทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้ดูแลต่อไป

คณะกรรมการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

เขายังใช้เวลาช่วงหนึ่งในการเล่าที่มาที่ไปในการจัดการทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์นับจากเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 โดยระบุว่าเมื่อคณะราษฎรเริ่มอ่อนกำลังลง ก็มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อจัดตั้งสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มีฐานะเป็นนิติบุคคล ทำหน้าที่ดูแลรักษาและจัดหาประโยชน์จากทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จากเดิมที่ทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์อยู่ในการดูแลของกระทรวงการคลัง

"หลังจากนั้น ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ก็อยู่ในภาวะคลุมเครือว่าเป็นอย่างไร" นายอานนท์กล่าวต่อว่า กระทั่งในรัชสมัยของ ร.10 จึงมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายอีกครั้ง โดยรวบทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดินเข้าเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

เตรียมการ์ดอาสา-อุปกรณ์ครบมือรับปฏิบัติการ ตร.

ประสบการณ์การถูกสกัดกั้นไม่ให้ไปชุมนุมหน้ารัฐสภาเมื่อ 17 พ.ย. ทำให้กลุ่มราษฎรเตรียมการ์ดมวลชนอาสา 10 กลุ่ม จำนวนหลายร้อยคน กระจายกันอารักขาความปลอดภัยให้ผู้ชุมนุม พร้อมจัดเตรียมระดมอุปกรณ์ป้องกันตัวและรับมือกับปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ตำรวจมาไว้อย่างครบมือ ทั้งหมวกกันน็อก, หน้ากากป้องกันสารเคมี, เสื้อกันฝน, ผ้าขนหนู, ไฟฉาย, โล่ทรงโค้งเพื่อป้องกันการใช้เครื่องยิงคลื่นเสียงความถี่สูง (LRAD) และโล่ทรงกลมนูนเพื่อบุกแนวกันของตำรวจ

องค์กร Bodyguard Special Forces ของนายพลาม พรมจำปา อดีตครูฝึกหน่วยรบพิเศษ ตำรวจพลร่มค่ายนเรศวร คือหนึ่งในการ์ดอาสาหน้าใหม่ที่เพิ่งเข้ามาปฏิบัติภารกิจดูแลผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎรเป็นครั้งแรก โดยเจ้าตัวระบุว่าได้รับมอบหมายให้คอยดูและแกนนำราษฎรเป็นหลัก เพราะมีประสบการณ์ในการอารักขาบุคคล

"แต่เรื่องความไว้วางใจยอมรับว่าอาจยัง 50-50 เพราะน้อง ๆ เขาอาจกลัวว่าผมมาจากรบพิเศษ จะมาแทรกซึมไหม จะมาล็อกตัวเขาไหม วันนี้จึงต้องแสดงความบริสุทธ์ใจในการทำหน้าที่" นายพลามกล่าว

วานนี้ ชายที่ถูกเรียกว่า "ครูพลาม" ได้ใช้ลานพญานาค ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เป็นสถานที่ฝึก "หลักสูตรเร่งรัด" เน้นการป้องกันตัวเองด้วยมือเปล่า โดยเขาอ้างว่ามีอดีตตำรวจ ทหาร และประชาชนสมัครร่วมเป็นการ์ดอาสาให้การชุมนุมกลุ่มราษฎรราวพันคน แต่ลงทะเบียนจริงราว 300 คน

ความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ

  • 07.00 น. SCB ประกาศผ่านโซเชียลมีเดีย แจ้งขอปิดทำการชั่วคราว 1 วัน หลังทราบว่าเป็นเป้าหมายนัดชุมนุมของกลุ่มราษฎร
  • 09.00 น. ประชาชนผู้สวมใส่เสื้อสีเหลืองที่เรียกตัวเองว่า "คณะพลังแผ่นดินสยาม" นับร้อยคน นำโดยนายบัญชา ปานนิวัฒน์ ที่ประกาศใช้ตัวเองเป็นแนวกำแพงสกัดกั้นไม่ให้ผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎรเข้าถึงพื้นที่หน้าสำนักทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ไม่ได้เคลื่อนขบวนตามไปที่ SCB แต่ปักหลักอยู่ใกล้กับ สน.นางเลิ้ง เพื่อรับฟังแกนนำปราศรัยเชิดชูพระราชกรณียกิจของในหลวง ร.9 และ ร.10 พร้อม "ขอบคุณน้อง ๆ ม็อบราษฎรที่ยอมถอย ไม่ไปสถานที่ที่พ่อเราอยู่" นายบัญชากล่าวในรายการ "เจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์" ออกอากาศทางช่อง 30 MCOT HD
  • 10.20 น. ประชาชนเสื้อเหลืองที่เรียกตัวเองว่า "ภาคีเครือข่ายเพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์" นำโดยนายพานสุวรรณ ณ แก้ว เดินทางไปยังรัฐสภาเพื่อยื่นหนังสือถึงประธานรัฐสภาผ่านเลขานุการ ให้ตรวจสอบพฤติกรรม ส.ส. พรรคก้าวไกลที่เข้าร่วมนุมกับกลุ่มราษฎรที่มีพฤติกรรมจาบจ้วงสถาบันฯ
  • 12.00 น. โฆษก ตร. แถลงยืนยันตรึงกำลังพลบริเวณรอบสำนักงานทรัพย์สินฯ ต่อไป พร้อมจัดเตรียมตำรวจจากองบังคับการตำรวจนครบาล 2 ในฐานะเจ้าของพื้นที่คอยดูแลความปลอดภัยรอบ SCB
แผนที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
คำบรรยายภาพ, กลุ่มราษฎรได้นัดหมายรวมพลที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยก่อนเคลื่อนขบวนไปยังสำนักทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เทเวศร์ เป็นที่แรกก่อนที่จะประกาศย้ายสถานที่มายังสนง.ใหญ่ SCB
  • 12.20 น. พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงความเป็นไปได้ในการประกาศกฎอัยการศึกเพื่อรับมือกับการชุมนุม โดยระบุว่า "บอกหลายครั้งแล้วว่าไม่เคยคิดในเรื่องเหล่านี้เลย ใช้กฎหมายปกติก็น่าจะเพียงพอแล้วในตอนนี้" และแสดงความไม่กังวลกับการนัดหมายชุมนุม 5 วัน โดยบอกว่า "ประกาศไปสิ ประกาศไปเถอะ เพราะกฎหมายมีอยู่แล้ว ถ้าจะทำผิดกฎหมายก็ว่าไป ต้องขออนุญาตให้ถูกต้อง"
  • 15.20 น. แกนนำกลุ่มราษฎรทยอยปรากฎตัวในพื้นที่ชุมนุม โดยหลายคนเลือกสวมใส่ชุด "เป็ดเหลือง" อาทิ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน, นายอานนท์ นำภา, น.ส. จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ หรือ อั๋ว ทั้งนี้ นายพริษฐ์ให้เหตุผลกับสื่อมวลชนว่าต้องการแสดงให้เห็นว่าผู้ชุมนุมยึดแนวทางสันติและปราศจากอาวุธ หลังรัฐไทยพยายามใส่ร้ายว่ากลุ่มราษฎรว่าใช้ความรุนแรง จึงต้องใช้ "ไก่โอ๊ก" และ "เป็ดเหลือง" เป็นอาวุธในการต่อสู้
  • 16.40 น. ส.ส. พรรคก้าวไกล อาทิ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร และ น.ส.เบญจา แสงจันทร์ ได้เดินทางมาร่วมสังเกตการณ์การชุมนุมที่ SCB แม้ในช่วงเช้าจะมี "เครือข่ายปกป้องสถาบันฯ" เข้ายื่นหนังสือถึงประธานรัฐสภา ขอให้ตรวจสอบพฤติกรรมของ ส.ส. ที่เข้าร่วมชุมนุมก็ตาม ทั้งนี้นายวิโรจน์ยืนยันกับบีบีซีไทยว่า พวกเขาไม่ได้ส่งเสริมการทำผิดกฎหมาย หรือสนับสนุนการใช้ความรุนแรง แต่อยากให้สังคมพิจารณาว่าความผิดที่ผู้ชุมนุมทำ ผิดแค่ไหน และรัฐเรียกร้องให้ผู้ชุมนุมรับผิดชอบในความผิดที่เกินส่วนหรือไม่ การใช้กฎหมายอาญาต้องตีความอย่างแคบ ไม่ใช่ตีความอย่างกว้าง
  • 17.00 น. นายอรรถพล บัวพัฒน์ หรือครูใหญ่ ขอนแก่น พอกันที แกนนำกลุ่มราษฎร ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวจากโรงแรมแห่งหนึ่ง ก่อนเตรียมเดินทางไปร่วมชุมนุมที่ SCB โดยเจ้าหน้าที่ได้แสดงหมายจับของศาลจังหวัดอุดรธานี

13 เอ็นจีโอนานาชาติ ขอไทยคุ้มครองเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบ

องค์กรภาคประชาสังคมระหว่างประเทศ 13 แห่ง นำโดย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และฮิวแมนไรท์วอทช์ ออกแถลงการณ์ร่วมถึงทางการไทยเกี่ยวกับการชุมนุมของขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยในวันที่ 17 และ 25 พ.ย. เรียกร้องรัฐบาลไทยให้เคารพ คุ้มครอง และสนับสนุนการใช้สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบ เพื่อให้สอดคล้องตามพันธกรณีระหว่างประเทศของไทยที่มีต่อกติกา ICCPR และกฎหมายระหว่างประเทศ และเน้นย้ำว่า ให้ทางการไทยดำเนินการเพื่อประกันให้มีความรับผิดเมื่อเกิดการละเมิดสิทธิจากการทำหน้าที่ของรัฐบาลในการปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุม และประกันว่าผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิจะสามารถใช้สิทธิการเข้าถึงการเยียวยาอย่างได้มีประสิทธิภาพ

ชุมนุม 25 พ.ย.

ที่มาของภาพ, Paris Jitpentom/BBC Thai

13 องค์กรภาคประชาสังคมระหว่างประเทศ ออกแถลงการณ์ร่วมประณามการใช้กำลังของตำรวจไทยที่ขาดหลักความจำเป็นและเกินกว่าเหตุต่อผู้ชุมนุมโดยสงบที่เดินขบวนไปรัฐสภา เมื่อ 17 พ.ย. ที่ผ่านมา ในแถลงการณ์ตอนหนึ่งระบุว่า ตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ รวมทั้งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งประเทศไทยได้ทำการภาคยานุวัติในปี พ.ศ. 2539 คุ้มครองสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก (มาตรา 19) และการชุมนุมโดยสงบ (มาตรา 21) แต่ทางการไทยมักปิดกั้นการแสดงออกและจำกัดการชุมนุม ประชุม หรือเสวนาสาธารณะเกี่ยวกับประเด็นสิทธิมนุษยชน การปฏิรูปทางการเมือง และบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในสังคม

โดยอ้างถึงความเห็นทั่วไปที่ 37 ซึ่งระบุเนื้อหาเกี่ยวกับพันธกรณีของประเทศไทยในการประกันสิทธิในการชุมนุมโดยสงบว่า "ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าการชุมนุมเป็นไปโดยสงบ การใช้ความรุนแรงของบุคคลเพียงบางส่วนไม่อาจถือเป็นความรับผิดชอบของผู้เข้าร่วมชุมนุมคนอื่น ของผู้จัด หรือของการชุมนุมดังกล่าวได้ และแม้ว่าสิทธิในการชุมนุมโดยสงบอาจถูกจำกัดได้ในบางกรณี แต่รัฐมีหน้าที่ในการให้เหตุผลสนับสนุนการจำกัดสิทธิเช่นว่า ซึ่งจำเป็นต้องสอดคล้องกับหลักว่าด้วยความชอบด้วยกฎหมาย หลักความชอบธรรม หลักความจำเป็น และหลักความได้สัดส่วน"

นอกจากนั้นยังระบุว่า เนื่องจากมีเด็กเข้าร่วมการชุมนุมเหล่านี้ด้วย ซึ่งคณะกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติซึ่งได้เน้นย้ำความเห็นต่อร่างความเห็นทั่วไปฉบับที่ 37 ว่า "รัฐมีหน้าที่เชิงบวกในการปกป้องสิทธิเด็ก และจะต้องดำเนินการโดยตระหนักว่าอาจมีเด็กอยู่ในพื้นที่ชุมนุม และปกป้องพวกเขาจากอันตรายใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย รวมถึงอันตรายที่เกิดจากผู้เข้าร่วมการชุมนุมคนอื่น ๆ"