ข้อพิพาททะเลจีนใต้: ใครอ้างกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่นี้บ้าง

หลายประเทศอ้างกรรมสิทธิ์บางส่วนหรือทั้งหมดเหนือหมู่เกาะพาราเซลและหมู่เกาะสแปรตลี

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, หลายประเทศอ้างกรรมสิทธิ์บางส่วนหรือทั้งหมดเหนือหมู่เกาะพาราเซลและหมู่เกาะสแปรตลี
  • Author, เอกรินทร์ บำรุงภักดิ์
  • Role, ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

ทะเลจีนใต้เป็นพื้นที่พิพาทมานานนับหลายร้อยปีแล้ว โดยมีหลายประเทศที่ต่างอ้างกรรมสิทธิ์ในพื้นที่ทะเลจีนใต้ ทั้งจีน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และบรูไน นอกจากนี้ยังมีไต้หวันด้วย

ส่วนสหรัฐฯ แม้จะไม่ใช่คู่ขัดแย้งในข้อพิพาททะเลจีนใต้ แต่ก็ได้ยืนยันถึงเสรีภาพในการเดินเรือ และทำให้เกิดความตึงเครียดในพื้นที่นี้เช่นกัน

อะไรคือข้อพิพาท

ข้อพิพาททะเลจีนใต้ เป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการอ้างกรรมสิทธิ์บางส่วนและทั้งหมดเหนือดินแดนและอธิปไตยในน่านน้ำทะเลจีนใต้ หมู่เกาะพาราเซลและหมู่เกาะสแปรตลี โดยมีหลายประเทศอ้างกรรมสิทธิ์นี้

นอกจากจะมีการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือเกาะที่มีความสมบูรณ์ ยังมีการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือหินโผล่ เกาะปะการัง สันดอนทราย และแนวปะการัง อย่างเช่น สันทรายสการ์โบโรห์ ด้วย(Scarborough Shoal)

ทำไมจึงต้องแย่งกรรมสิทธิ์กัน

แม้ว่า พื้นที่ส่วนใหญ่ในทะเลจีนใต้ไม่มีคนอยู่อาศัย หมู่เกาะพาราเซลและหมู่เกาะสแปรตลี อาจจะมีแหล่งทรัพยากรธรรมชาติอยู่โดยรอบ โดยเป็นการประเมินจากพื้นที่ที่อยู่ใกล้เคียงซึ่งมีแร่ธาตุอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ เพราะยังไม่เคยมีการสำรวจพื้นที่นี้อย่างละเอียด

นอกจากนี้ ทะเลจีนใต้ยังเป็นเส้นทางการขนส่งสินค้าทางเรือที่สำคัญ และเป็นแหล่งทำการประมงที่ผู้คนทั่วภูมิภาคใช้ทำมาหากินด้วย

ใครอ้างกรรมสิทธิ์อะไรบ้าง

จีนอ้างกรรมสิทธิ์พื้นที่มากที่สุดในทะเลจีนใต้ โดยใช้ "เส้นประ 9 เส้น" ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ที่อยู่ห่างจากมณฑลไหหลำทางใต้สุดของจีนไปทางใต้และทางตะวันออกหลายร้อยกิโลเมตร

แผนที่พื้นที่พิพาททะเลจีนใต้

รัฐบาลจีนบอกว่ากรรมสิทธิ์ของจีนในพื้นที่นี้มีประวัติศาสตร์ย้อนกลับไปนานหลายร้อยปี ตั้งแต่สมัยที่หมู่เกาะพาราเซลและหมู่เกาะสแปรตลีถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของจีน และในปี 1947 จีนได้ทำแผนที่ที่ระบุถึงรายละเอียดในการอ้างกรรมสิทธิ์ต่าง ๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าหมู่เกาะทั้งสองแห่งนี้อยู่ในเขตแดนของจีน โดยไต้หวันก็อ้างกรรมสิทธิ์เหล่านี้เช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม มีการโต้แย้งว่าจีนไม่ได้อธิบายกรรมสิทธิ์ของจีนอย่างชัดเจนเพียงพอ และ "เส้นประ 9 เส้น" ที่ปรากฏอยู่บนแผนที่ของจีนล้อมรอบพื้นที่ทะเลจีนใต้เกือบทั้งหมด ไม่มีระยะพิกัดกำหนดไว้

นอกจากนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่า จีนอ้างกรรมสิทธิ์เฉพาะดินแดนที่เป็นแผ่นดินภายในขอบเขตเส้นประ 9 เส้น หรือรวมถึงน่านน้ำทั้งหมดในบริเวณนั้นด้วย

เวียดนามโต้แย้งการอ้างอิงทางประวัติศาสตร์ของจีน โดยระบุว่าจีนไม่เคยมีอธิปไตยเหนือหมู่เกาะทั้งสองแห่งนี้ก่อนทศวรรษ 1940 เวียดนามบอกอีกด้วยว่า เคยปกครองหมู่เกาะพาราเซลและหมู่เกาะสแปรตลีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 และมีหลักฐานหลายอย่างพิสูจน์คำกล่าวอ้างนี้

จีนถมทะเลสร้างส่วนต่อขยายบนแนวปะการัง มิสชีฟ บนพื้นที่พิพาททะเลจีนใต้ เพื่อใช้เป็นฐานปฏิบัติการทางการทหารบนเกาะนั้นด้วย

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, จีนถมทะเลสร้างส่วนต่อขยายบนแนวปะการัง มิสชีฟ บนพื้นที่พิพาททะเลจีนใต้ เพื่อใช้เป็นฐานปฏิบัติการทางการทหารบนเกาะนั้นด้วย

ส่วนประเทศที่อ้างกรรมสิทธิ์ในพื้นที่นี้อีกประเทศหนึ่งคือฟิลิปปินส์ ซึ่งอ้างเรื่องภูมิศาสตร์ที่อยู่ใกล้กับหมู่เกาะสแปรตลีย์เป็นเหตุผลหลักในการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่บางส่วนของหมู่เกาะแห่งนี้

ทั้งฟิลิปปินส์และจีนต่างอ้างกรรมสิทธิ์เหนือสันทรายสการ์โบโรห์ ซึ่งอยู่ห่างจากฟิลิปปินส์ราว 160 กม. และห่างจากจีนราว 800 กม. จีนเรียกสันทรายนี้ว่า "เกาะหวงเหยียน"

กรณีนี้ฟิลิปปินส์เคยยื่นฟ้องต่อศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศในกรุงเฮกของเนเธอร์แลนด์ แต่จีนไม่ยอมรับกระบวนการอนุญาโตตุลาการ โดยศาลตัดสินให้ฟิลิปปินส์เป็นฝ่ายชนะเมื่อเดือน ก.ค. 2016

มาเลเซียและบรูไน ต่างอ้างกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่ในทะเลจีนใต้ที่ตั้งอยู่ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของแต่ละประเทศ ตามคำนิยามของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล (United Nations Convention on the Law of the Sea—UNCLOS)

บูรไนไม่ได้อ้างกรรมสิทธิ์ในหมู่เกาะพิพาททั้ง 2 แห่ง แต่มาเลเซียอ้างกรรมสิทธิ์เหนือเกาะขนาดเล็กจำนวนหนึ่งในหมู่เกาะสแปรตลีด้วย

เรือ USS Decatur ของกองทัพสหรัฐฯ เคยแล่นเข้าใกล้หมู่เกาะพาราเซลเมื่อปี 2016

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, เรือ USS Decatur ของกองทัพสหรัฐฯ เคยแล่นเข้าใกล้หมู่เกาะพาราเซลเมื่อปี 2016

ในช่วงที่ผ่านมา จีนได้สร้างเกาะเทียมและลาดตระเวนทางทะเลเพื่อแสดงความเป็นเจ้าของพื้นที่ในทะเลจีนใต้ ขณะที่สหรัฐฯ ซึ่งไม่ได้มีข้อพิพาทเรื่องดินแดนในทะเลจีนใต้ แต่ได้อ้างเรื่อง "เสรีภาพในการเดินเรือ" ในการส่งเรือและเครื่องบินของทหารหลายลำเข้ามาใกล้กับบริเวณเกาะพิพาทในทะเลจีนใต้ เพื่อสร้างความมั่นใจว่า สามารถเข้าถึงเส้นทางการขนส่งสินค้าทั้งทางน้ำและทางอากาศที่สำคัญได้