สกอตแลนด์เป็นประเทศแรกในสหราชอาณาจักรที่กำหนดให้การ "ตีเด็ก" เป็นอาชญากรรม

woman smacking girl

ที่มาของภาพ, Getty Images

สกอตแลนด์เป็นประเทศแรกในสหราชอาณาจักรที่กำหนดให้การตีเด็กเป็นความผิดทางอาญา

กฎหมายห้ามลงโทษเด็กทางร่างกายได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาสกอตแลนด์ด้วยคะแนนเสียง 84 ต่อ 29 เสียงเมื่อวานนี้ (3 ต.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น

ขณะนี้ พ่อแม่และผู้ดูแลเด็กสามารถใช้กำลังอย่าง "สมเหตุสมผล" ในการฝึกให้เด็กอยู่ในระเบียบวินัย แต่รัฐบาลสกอตแลนด์สนับสนุนขั้นตอนที่จะทำให้เด็กได้รับการปกป้องจากการถูกทำร้ายร่างกาย เช่นเดียวกับการคุ้มครองผู้ใหญ่

สวีเดนเป็นประเทศแรกในโลกที่กำหนดให้การตีลูกผิดกฎหมายในปี 1979 และสกอตแลนด์จะเป็นประเทศลำดับที่ 58

กฎหมายปัจจุบันว่าอย่างไร

ภายใต้กฎหมายสกอตแลนด์ปัจจุบัน ผู้ใหญ่ได้รับการปกป้องจากการถูกทำร้ายร่างกาย แต่เด็ก ๆ กลับไม่ได้รับการปกป้องเพราะ ผู้กระทำสามารถอ้างได้ว่าเป็นการ "ลงโทษที่สมเหตุสมผล" เพื่อฝึกระเบียบเด็กที่อายุต่ำกว่า 16 ปี

ในการพิจารณาว่าการลงโทษนั้นสมเหตุสมผลหรือไม่ ศาลจะดูปัจจัยต่าง ๆ อาทิ ลักษณะการลงโทษ ระยะเวลาและความถี่ในการลงโทษ อายุของเด็กที่ถูกลงโทษ ตลอดจนผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจของเด็ก

ในทางปฏิบัติแล้ว นี่หมายความว่าพ่อแม่สามารถตีตัวเด็กได้ แต่การตีหัว เขย่าตัว หรือใช้อุปกรณ์อื่น ๆ ช่วย ถือว่าผิดกฎหมาย

ตอนนี้ มีข้อห้ามการทำร้ายร่างกายเพื่อลงโทษในโรงเรียนและสถานศึกษาอื่น ๆ แล้ว

upset child

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, ผู้วิพากษ์วิจารณ์มองว่าการแก้กฎหมายในครั้งนี้มีความเสี่ยงที่จะทำให้การกระทำของพ่อแม่ที่ดีกลายเป็นอาชญากรรม

สำนักสำรวจความคิดเห็นหลายแหล่งชี้ว่า คนส่วนใหญ่ในสกอตแลนด์ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายห้ามตีเด็ก หลายคนวิจารณ์ว่ากฎหมายที่มีอยู่ก็เพียงพอแล้ว และการแก้กฎหมายในครั้งนี้มีความเสี่ยงที่จะทำให้การกระทำของพ่อแม่ที่ดีกลายเป็นอาชญากรรม

นิยามการลงโทษทางร่างกายในกฎหมายฉบับนี้เป็นนิยามเดียวกับที่คณะกรรมการว่าด้วยสิทธิเด็กของสหประชาชาติกำหนด

พ่อแม่ในสหราชอาณาจักรตีเด็กกันมากแค่ไหน

รายงานโดยกลุ่มองค์กรการกุศลสกอตแลนด์เมื่อปี 2015 พบว่า พ่อแม่ผู้ปกครองในสหราชอาณาจักรลงโทษเด็กด้วยการตีมากกว่าประเทศอื่น ๆ อย่างสหรัฐฯ แคนาดา อิตาลี เยอรมนี และสวีเดน

ทีมนักวิจัยคาดการณ์ว่าพ่อแม่ในสหราชอาณาจักรราว 70-80 เปอร์เซ็นต์ เคยลงโทษเด็กด้วยการทำร้ายร่างกาย พวกเขายังพบอีกว่า พ่อแม่หลายคนไม่ได้มองว่าการตีเด็กเป็น "สิ่งที่ดี" แต่เชื่อว่านี่อาจเป็น "วิธีเดียวที่ได้ผล"

ชาติอื่นในสหราชอาณาจักร

พ่อแม่ในอังกฤษและเวลส์อาจโดนตั้งข้อหาทางอาญาได้หากตีลูกแรงจนเกิดรอยช้ำ บวม หรือเป็นแผล

อย่างไรก็ตาม เวลส์กำลังอยู่ในกระบวนการที่จะออกกฎหมายห้ามตีเด็กโดยสิ้นเชิง ห้ามแม้แต่การลงโทษอย่างสมเหตุสมผล ซึ่งบังคับใช้มาในอังกฤษและเวลส์ตั้งแต่ยุควิกตอเรียนหรือช่วงศตวรรษที่ 19

ในอังกฤษก็มีการเรียกร้องให้ออกกฎหมายนี้เช่นกัน โดยเมื่อปีที่แล้วสมาคมนักจิตวิทยาด้านการศึกษาออกมาระบุว่า การตีเป็นอันตรายต่อสุขภาพจิตของเด็กและควรออกกฎหมายห้าม