รัฐธรรมนูญ 2560 : วุฒิสภาตอบโต้หนักปม “ปิดสวิตช์ ส.ว.” หลังรัฐสภาเริ่ม “เปิดสวิตช์” ถกร่างแก้ไข รธน.

นักกิจกรรมการเมืองกลุ่ม "ประชาชนปลดแอก" จัดกิจกรรม "จับ ส.ว. ลงหม้อ" โดยได้เคลื่อนมวลชนไปยังสถานที่ตั้งของเหล่าทัพต่าง ๆ เพื่อเรียกร้องให้ ผบ. เหล่าทัพ และปลัดกระทรวงกลาโหม ในฐานะ ส.ว.โดยตำแหน่ง ลาออก

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, นักกิจกรรมการเมืองกลุ่ม "ประชาชนปลดแอก" จัดกิจกรรม "จับ ส.ว. ลงหม้อ" โดยได้เคลื่อนมวลชนไปยังสถานที่ตั้งของเหล่าทัพต่าง ๆ เพื่อเรียกร้องให้ ผบ. เหล่าทัพ และปลัดกระทรวงกลาโหม ในฐานะ ส.ว.โดยตำแหน่ง ลาออก
  • Author, หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
  • Role, ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ได้รุมคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับผ่านกลไกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพราะมองว่าเป็นการ "ตีเช็คเปล่า" และ "สิ้นเปลืองงบแผ่นดินนับหมื่นล้านบาท" ขณะที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ฝ่ายค้านได้ใช้เวทีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาอภิปรายโจมตีวิพากษ์ที่มาและบทบาทของ 250 ส.ว. ว่าเป็น "เครื่องมือสืบทอดอำนาจ" ให้หัวหน้าคณะรัฐประหารปี 2557 เพื่อโน้มน้าวเพื่อนสมาชิกให้ร่วมกันลงมติ "ปิดสวิตช์ ส.ว."

พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย (สร.) อภิปรายไล่เรียงวงจรอำนาจของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากสมัยเป็นนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งมีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา ส.ว. ก่อนที่ "ส.ว. เฉพาะกาล" จะพร้อมใจกันลงมติเห็นชอบให้หัวหน้า คสช. หวนกลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้งภายหลังการเลือกตั้ง 2562 โดยกล่าวหาว่านี่คือ "ระบบต่างตอบแทน" และเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560

สภา

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

ฉายา "สภาเพื่อนพ้องน้องพี่" ที่ปรากฏในสื่อสำนักต่าง ๆ ถูก พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์หยิบฉวยมากล่าวถึงอีกครั้ง เพื่อสะท้อนภาพว่า ส.ว. ชุดปัจจุบันล้วนเป็นบุคคลใกล้ชิดอดีตนายพล คสช. นอกจากนี้เขายังอภิปรายพาดพิงและนำภาพของ พล.อ. ปรีชา จันทร์โอชา ส.ว. ผู้เป็นน้องชายของนายกฯ ที่นั่งอยู่ในห้องประชุมสภาเช่นกัน ขึ้นฉายประกอบการอภิปราย ร้อนถึงเจ้าตัวต้องลุกขึ้นมาประท้วง

"ที่ใช้ภาพผม ได้รับอนุญาตจากผมไหม และที่หาว่าผมขาดการประชุมวุฒิสภา ขาดประชุมตอนไหน พูดให้ชัดเจน" พล.อ. ปรีชากล่าวด้วยน้ำเสียงไม่พอใจ

พล.อ. ปรีชา จันทร์โอชา ส.ว. แสดงความไม่พอใจที่ถูกอภิปรายพาดพิง

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, พล.อ. ปรีชา จันทร์โอชา ส.ว. แสดงความไม่พอใจที่ถูกอภิปรายพาดพิง

ขณะที่ ส.ว. หลายคนได้ลุกขึ้นอภิปรายโดยแสดงความไม่พอใจที่ถูกกล่าวหาว่าไม่เชื่อมโยงกับประชาชน และเป็นกลไกสืบทอดอำนาจของเผด็จการ

กลุ่ม "ไทยภักดี" ยื่น 1.3 แสนชื่อสกัดแก้ รธน.

การประชุมร่วมกันของรัฐสภาเริ่มต้นขึ้นเมื่อเวลา 09.30 น. มีวาระสำคัญคือการพิจารณาญัตติร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม รวม 6 ฉบับ นำเสนอโดยรัฐบาล 1 ฉบับ และฝ่ายค้าน 5 ฉบับ ซึ่งถือเป็น "เรื่องด่วน" สุดท้ายที่เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาก่อนปิดสมัยประชุมในวันที่ 24 ก.ย.

ในการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ฉบับ ใช้วิธีพิจารณารวมในคราวเดียวกัน โดยสมาชิกรัฐสภาสามารถอภิปรายได้ทุกญัตติ แต่ในการลงมติ จะแยกเป็นรายฉบับ ซึ่งมีเงื่อนไขสำคัญคือต้องได้รับความเห็นชอบจาก ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของวุฒิสภา หรือ 84 เสียงขึ้นไป

ไทยภักดีนำรายชื่อประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข รธน.

ที่มาของภาพ, THAI NEWS PIX

คำบรรยายภาพ, นพ. วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ที่พลาดหวังในการเลือกตั้งหนล่าสุด ได้หวนกลับมายังรัฐสภาในฐานะแกนนำกลุ่ม "ไทยภักดี" เพื่อนำรายชื่อประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข รธน. ยื่นต่อประธานรัฐสภา

ขณะที่ ส.ส. รัฐบาลบางส่วนจากพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และทั้งหมดของพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ได้ประกาศจุดยืนต่อสาธารณะว่าไม่ขอร่วมลงมติ "เห็นชอบ" ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับรัฐบาล บ้างก็ให้เหตุผลว่า "เป็นคนรณรงค์ให้ชาวบ้านรับร่างรัฐธรรมนูญ หากวันนี้มาขอให้มีการแก้ไขก็จะย้อนแย้งกันเอง และตอบคำถามชาวบ้านในพื้นที่ไม่ได้" บ้างก็ยกมติดั้งเดิมของพรรค รปช. ที่มองว่ารัฐธรรมนูญ 2560 เป็น "รัฐธรรมนูญที่ดีฉบับหนึ่ง"

ขณะเดียวกันกลุ่มประชาชนที่ใช้ชื่อว่ากลุ่ม "ไทยภักดี" หลายสิบคน นำโดย นพ. วรงค์ เดชกิจวิกรม ได้เดินทางมายังอาคารรัฐสภา ย่านเกียกกาย เพื่อเข้ายื่นรายชื่อประชาชนที่คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 จำนวน 1.3 แสนรายชื่อต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานวุฒิสภา ภายหลังใช้เวลาราว 2 สัปดาห์ในการรณรงค์ภายใต้ชื่อ "ถามประชาชนหรือยัง" พร้อมเปิดให้ร่วมแสดงเจตนารมณ์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์

นพ. วรงค์ให้เหตุผลว่า คนเรือนแสนนี้เป็นตัวแทนของคนส่วนใหญ่ที่ต้องการแสดงพลังปกป้องสิทธิของประชาชนกว่า 16.8 ล้านคนที่ร่วมลงประชามติรับรัฐธรรมนูญปี 2560 เมื่อ 7 ส.ค. 2559

ร่างแก้ไข รธน. 6 ฉบับ เป็นของใคร มีเป้าหมายอย่างไร

ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่สมาชิกสภาสูงและสภาล่างจะพิจารณาระหว่างวันที่ 23-24 ก.ย. ถูกนำเสนอโดยคน 2 กลุ่มหลัก ฝ่ายค้านนำทีมโดยนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภา กับคณะ และฝ่ายรัฐบาลนำโดยนายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) กับพวกรวม 239 คน

  • ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แก้ไขมาตรา 256 เพื่อเปิดทางตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เสนอโดยพรรคร่วมรัฐบาล
  • ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แก้ไขมาตรา 256 เพื่อเปิดทางตั้ง ส.ส.ร. เสนอโดย 5 พรรคร่วมฝ่ายค้าน ยกเว้นพรรคก้าวไกล
  • ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แก้ไขมาตรา 159 และยกเลิกมาตรา 272 เพื่อตัดสิทธิ ส.ว. ในการร่วมลงมติเลือกนายกฯ เสนอโดยพรรคร่วมฝ่ายค้าน
  • ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยกเลิกมาตรา 270, 271 เพื่อตัดอำนาจ ส.ว. ในการติดตามแผนปฏิรูปประเทศ เสนอโดยพรรคร่วมฝ่ายค้าน
  • ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยกเลิกมาตรา 279 เพื่อยกเลิกการรับรองความชอบธรรมของบรรดาประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เสนอโดยพรรคร่วมฝ่ายค้าน
  • ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติมระบบเลือกตั้ง โดยให้กลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แยะระหว่าง ส.ส.เขต และ ส.ส. บัญชีรายชื่อ และยกเลิกการคำนวณ "ส.ส. พึงมี" เสนอโดยพรรคร่วมฝ่ายค้าน
ไอลอว์นำรายชื่อประชาชนที่สนับสนุนกว่าแสนคนยื่นต่อประธานรัฐสภา

ที่มาของภาพ, THAI NEWS PIX

คำบรรยายภาพ, ไอลอว์นำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน พร้อมรายชื่อประชาชนที่สนับสนุนกว่าแสนคน ยื่นต่อประธานรัฐสภา เมื่อ 22 ก.ย

ส่วนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน จัดทำโดยโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) บรรจุเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาไม่ทันในคราวเดียวกันนี้ โดยประธานรัฐสภาให้เหตุผลว่า "ต้องใช้เวลาตรวจสอบความถูกต้องของรายชื่อ" หลังภาคประชาชนเข้าส่งมอบร่างพร้อมแนบรายชื่อประชาชนผู้สนับสนุนกว่า 1 แสนคน เมื่อ 22 ก.ย.

หากพิจารณา 2 ร่างหลักที่ฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลเสนอประกบกัน หนีไม่พ้น ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 มีเป้าหมายสำคัญคือการ "ปลดล็อก" ขั้นตอนการรื้อรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดทางไปสู่การจัดตั้ง ส.ส.ร. มาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หากร่างกฎหมายนี้คลอดออกมาได้จริง ก็ยังต้องใช้เวลาถึง 307 วันตามร่างของฝ่ายค้าน หรือ 457 วันตามร่างของรัฐบาล ในการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับที่ 21

CG

ขั้นตอนการ "เปิดสวิตช์แก้ไข รธน." ในรัฐสภา

แต่กว่าจะถึงตรงนั้น คนการเมืองต้องร่วมกันประกอบพิธีกรรม "เปิดสวิตช์แก้ไขรัฐธรรมนูญ" เสียก่อนในระหว่างการประชุมร่วมกันของรัฐสภาซึ่งกินเวลา 22 ชม.

ผลหารือร่วมกันของ 3 ฝ่าย ได้แก่ ส.ส. รัฐบาล, ส.ส. ฝ่ายค้าน และ ส.ว. ได้ข้อสรุปว่าจะให้เวลาแต่ละฝ่ายได้อภิปราย 7 ชั่วโมง 20 นาที

  • วันที่ 23 ก.ย. เริ่มอภิปรายเวลา 10.30 น. และเปิดให้อภิปรายจนถึงเวลา 01.30 น. ก่อนพักการประชุม
  • วันที่ 24 ก.ย. เริ่มประชุมต่อเวลา 09.30 น. และปิดอภิปรายเวลา 18.00 น.
  • ต่อมาเริ่มลงมติในวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ โดยวิธีขานชื่อสมาชิกเรียงลำดับตามตัวอักษร แล้วให้ลงมติด้วยวาจาว่า "เห็นด้วย" หรือ "ไม่เห็นด้วย" กับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทีละฉบับจนครบ 6 ฉบับ ซึ่งสมาชิกคนแรกที่จะได้ลุกขึ้นลงมติก็คือนายกนก ลิ้มตระกูล ส.ส.อุตรดิตถ์ พรรคเพื่อไทย และปิดท้ายที่ พล.ต. โอสถ ภาวิไล ส.ว. ทั้งนี้ประธานรัฐสภาคาดการณ์ว่าจะใช้เวลาราว 4 ชม.
  • หากรัฐสภามีมติ "รับหลักการ" ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็จะมีการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ จำนวน 45 คน มาจากจากสัดส่วนวุฒิสภา 15 คน พรรคการเมืองขนาดใหญ่ 8 คน และลดหลั่นกันไปตามยอด ส.ส. ในสภาของแต่ละพรรค เพื่อพิจารณาเนื้อหาก่อนกลับมาเสนอรัฐสภาในวาระ 2 และ 3 ต่อไป

ต้องใช้เสียงในสภาเท่าไร ถึงจะรื้อ รธน. ได้

รัฐสภาถกร่างแก้ไข รธน

ที่มาของภาพ, THAI NEWS PIX

แม้สมาชิกทั้ง 2 สภากำลังเปิดถกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญกันอยู่ ทว่ามาตรา 256 ที่นักเลือกตั้งสังกัดรัฐบาลและฝ่ายค้านจ้องแก้ไข "ยังมีผลบังคับใช้อยู่" นั่นหมายความว่าลำพังสมาชิกสภาล่างย่อมไม่อาจผลักดันให้เกิดการแก้อย่างแท้จริง

นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล ยอมรับว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ญัตติในครั้งนี้ "เป็นไปได้ยาก" เพราะยังจะต้องใช้เสียง ส.ว. ถึง 84 เสียงตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด แต่ก็ยังไม่ทราบผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น"

ในการผ่านวาระแรก ต้องได้คะแนนเห็นชอบจากสมาชิกรัฐสภา "ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง" ของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของสองสภา หรือ 369 จาก 737 เสียง (ส.ส. ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้มี 487 คน ส.ว. มี 250 คน) และต้องได้รับคะแนนเห็นชอบจาก ส.ว. "ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3" ของวุฒิสภาที่มีอยู่ หรือ 84 คน

วาระสอง ผ่านได้ด้วย "เสียงข้างมาก"

วาระสาม ต้องได้คะแนนเห็นชอบจากสมาชิกรัฐสภา "มากกว่ากึ่งหนึ่ง" ของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของสองสภา หรือ 369 เสียง แต่มีเงื่อนไขเพิ่มเติมคือต้องเป็นเสียงสนับสนุนจาก ส.ส. ฝ่ายค้าน 20% หรือ 43 จาก 212 เสียง และ ส.ว. ได้รับเสียงเห็นชอบจาก ส.ว. 84 คนดังเดิม

รัฐสภาถกร่างแก้ไข รธน

ที่มาของภาพ, THAI NEWS PIX

"ปิดสวิตช์ ส.ว." VS "ปิดสวิตช์ ส.ส."

แม้รู้ในเงื่อนไขว่าต้องได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ว. และในระหว่างการอภิปราย ส.ส. หลายคนก็เอ่ยปากขอเสียงสนับสนุนจากคนในสภาสูง ทว่าพรรคฝ่ายค้านได้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อลดทอนอำนาจของเพื่อนร่วมรัฐสภา หรือที่ถูกเรียกว่า "ปิดสวิตช์ ส.ว." ทำให้สมาชิกบางส่วนแสดงความไม่พอใจ และยุให้ พล.อ. ประยุทธ์ "ปิดสวิตช์ ส.ส." ด้วยการยุบสภาบ้าง

  • นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน ส.ว. : "หัวหน้าบางพรรคการเมืองกล่าวว่า ส.ว. มาจากการแต่งตั้ง ผมก็อยากจะถามว่าแล้ว ส.ว. 250 คนมีความผิดตรงไหนถึงขนาดต้องมา 'ปิดสวิตช์ ส.ว.' ไม่ให้ทำหน้าที่ตามมาตรา 256, 270, 272 เราเกิดมาจากรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกันนะครับ ฉบับ 2560 เราควรร่วมไม้ร่วมมือเกื้อกูลกันพัฒนาประเทศ" และ "ผมอยู่ได้ไม่ถึง 2 ปีก็จะปิดสวิตช์ผมแล้ว มันก็ยังไงดี... ผมว่าทางออกของนายกฯ น่าจะ 'ปิดสวิตช์ ส.ส.' โดยยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่"
  • นายจเด็จ อินสว่าง ส.ว. : "มี ส.ส. พูดว่า ส.ว. มาจากการสืบทอดอำนาจของเผด็จการ เป็นกากเดนของทรราช ก็พูดแต่ปลายน้ำ ไม่พูดเลยว่า ส.ว. อย่างผมที่กำลังยืนอยู่ตรงนี้ก็มาจากรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกับท่าน เป็นรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติ และคำถามพ่วงก็ผ่านประชามติ... ตรรกของการเป็นสมาชิกรัฐสภาคือเหตุผล อย่าเอาแต่ใจตัวเอง"
  • นายชาญวิทย์ ผลชีวิน ส.ว. : "เรามาด้วยกติกาเดียวกัน มีทั้ง ส.ส. และ ส.ว. เล่นมาด้วยกันเลย อยู่ดี ๆ บอกว่า ส.ว. ใช้ไม่ได้ จะไม่ให้ ส.ว. ทำงานแล้ว ที่มาไม่ดีมาจากเผด็จการ ผมฟังแล้วก็สะท้อนใจ ก็มากติกาเดียวกับท่าน รัฐธรรมนูญเดียวกัน ท่านจะมากล่าวหาผมไม่ได้นะครับ ผมไม่ยอม และลงสนามเหมือนกัน เล่นในนามทีมชาติเหมือนกัน เรา 750 คนเล่นในนามทีมชาติไทย ทำงานให้ประเทศก้าวหน้า"

นอกจากนี้สมาชิกสภาสูงยังแสดงความกังวลว่า หากร่วมลงมติเห็นชอบกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ "ปิดสวิตช์ ส.ว." จะเข้าข่าย "มีผลประโยชน์ได้เสีย" เนื่องจากรัฐธรรมนูญกำหนดให้ทำหน้าที่ แต่ไม่ทำหน้าที่ และอาจถูกตั้งข้อกล่าวหาจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้

ส่งสัญญาณคว่ำญัตติตั้ง ส.ส.ร. ยกเหตุไม่อาจ "ทรยศ 16.8 ล้านเสียง"

พล.อ. นาวิน ดำริกาญจน์ คือ ส.ว. คนเดียวที่บอกว่าพร้อมผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ ในส่วนที่เสนอแก้ไขเป็นรายมาตรา เรื่องระบบเลือกตั้ง

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, พล.อ. นาวิน ดำริกาญจน์ คือ ส.ว. คนเดียวที่บอกว่าพร้อมผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ ในส่วนที่เสนอแก้ไขเป็นรายมาตรา เรื่องระบบเลือกตั้ง

อีกประเด็นสำคัญที่ ส.ว. ที่ลุกขึ้นอภิปรายระบุตรงกันคือไม่เห็นด้วยกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อเปิดทางไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่โดย ส.ส.ร. เพราะมองว่าเป็นการ "ตีเช็คเปล่า" และ "สิ้นเปลืองงบประมาณ" ของประเทศในยุคที่ต้องแก้ปัญหาเศรษฐกิจและการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยมีการคำนวณไว้ว่าการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2-3 ครั้ง ต้องใช้เม็ดเงินราว 1.7-2 หมื่นล้านบาท อีกทั้งรัฐธรรมนูญ และ "คำถามพ่วง" ที่ให้อำนาจ ส.ว. ร่วมลงมติเลือกนายกฯ ก็ผ่านประชามติด้วยคะแนนเสียง 16.8 ล้านคน และ 15.1 ล้านคนตามลำดับ

พล.อ. นาวิน ดำริกาญจน์ ส.ว. ตั้งข้อสังเกตว่า กลไกการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ปรากฏในหมวด 15 ยังไม่เคยได้ใช้งาน ไม่เคยเห็นปัญหา มีแต่การ "บ่น อนุมาน และคิดกันเอาเองว่าทำให้แก้ไขรัฐธรรมนูญได้ยาก" พร้อมเปรียบเปรยแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้มี ส.ส.ร. ว่าเป็น "การสร้างลูกเพื่อฆ่าแม่" ซึ่งขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ให้แก้ไขได้เป็นรายมาตรา และทรยศต่อเสียงประชาชน 16.8 ล้านเสียง

นายพลนอกราชการรายนี้เป็นอดีตกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ โดยเขาระบุว่าพร้อมจะผ่านวาระ 1 รับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องบัตรเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งไม่ใช่เพราะเห็นด้วย แต่จะเปิดโอกาสให้มีการถกแถลงในเรื่องนี้

พล.อ.ต. เฉลิมชัย เครืองาม ส.ว. ได้ยกคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2555 ที่ว่า "อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ เป็นอำนาจของประชาชนอันถือเป็นอำนาจที่ให้กำเนิดรัฐธรรมนูญ" และ "ควรให้ประชาชนลงประชามติเสียก่อนว่าสมควรมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่" หลังรัฐบาลในเวลานั้นเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 291 เพื่อเปิดทางไปสู่การมี ส.ส.ร. เพื่อยืนยันต่อเพื่อนสมาชิกว่าต้องทำประชามติก่อนลงมือจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่เช่นนั้นจะมีผู้ไปยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ

พล.อ.ต. เฉลิมชัย เครืองาม บอกว่า "กุญแจในการเปิดประตู่สู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องมาจากประชาชนที่ผลิตขึ้น แล้วมอบหมายให้รัฐสภาไขเข้าไป"

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, พล.อ.ต. เฉลิมชัย เครืองาม บอกว่า "กุญแจในการเปิดประตู่สู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องมาจากประชาชนที่ผลิตขึ้น แล้วมอบหมายให้รัฐสภาไขเข้าไป"

"ผมไม่ขัดข้องในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ผมและ ส.ว. มีดุลพินิจ ไม่ได้อยู่ใต้อาณัติของใคร ส่วนตัวถ้าขัดข้องหมองใจหนักสุด ๆ ผมยินดีจะลาออกจาก ส.ว. เพื่อยึดถือหลักการที่ถูกต้อง และหลักการที่ถูกต้องอยู่ตรงไหน คืออำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน เราจึงต้องกลับไปถามประชาชนก่อน" พล.ต.ต. เฉลิมชัยกล่าว

ส่วนนายเฉลิมชัย เฟื่องคอน, นายมณเฑียร บุญตัน, นายดิเรก เจนครองธรรม ส.ว. ที่ส่งสัญญาณ "โหวตคว่ำ" ญัตติกลางรัฐสภา ได้แสดงความไม่เชื่อมั่นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับจะนำมาซึ่งความพอใจโดยรวมของประชาชน แต่จะก่อให้เกิดความขัดแย้งอย่างไม่สิ้นสุด