รัฐธรรมนูญ2560 : รัฐสภายืด “เปิดสวิตช์แก้ รธน.” ยังไม่โหวตร่างแก้ รธน. แต่ยื้อตั้ง กมธ. ศึกษา 30 วัน

รัฐสภายืด "เปิดสวิตช์แก้ รธน."

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

  • Author, หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
  • Role, ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภามีมติ 432 ต่อ 255 เสียง ให้ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนรับหลักการ จำนวน 45 คน แต่ฝ่ายค้านประกาศ "ไม่สังฆกรรม" งดส่งคนไปร่วม พร้อมวิจารณ์ว่าจะทำให้ภาพลักษณ์รัฐสภาเสียหายจากการ "เตะถ่วง" "ไม่จริงใจ" "เป็นโรงลิเก" "หลอกต้มประชาชน"

การประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาญัตติร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม รวม 6 ฉบับ ใช้เวลา 2 วัน ก่อนจบลงด้วยการที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ไม่ได้ลงมติรับ/ไม่รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแม้แต่ฉบับเดียว เมื่อนายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) ลุกขึ้นเสนอให้รัฐสภาตั้ง กมธ. พิจารณาก่อนรับหลักการ อาศัยข้อบังคับการประชุมสภา ข้อที่ 121 วรรคสาม โดยอ้างว่าที่ผ่านมา ส.ส. กับ ส.ว. ยังไม่เคยคุยกันเลย

"วันนี้ถ้าเดินไปแล้วมันถึงทางเดินต่อไปไม่ได้ ผมจะหยุดรอ เพื่ออีก 1 เดือนข้างหน้าก็จะกลับมาใหม่" และ "ผมไม่ยอมให้ร่างที่ผมและคณะเสนอตกไป ถ้ามันจะช้าไปสักเดือนหนึ่ง ผมคิดว่าคุ้มค่า" ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าว

นายวิรัชเป็นเจ้าของญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แก้ไขมาตรา 256 เพื่อเปิดทางตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ร่วมกับ ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาล 206 คน

ข้อเสนอจากนายวิรัช ถูกนำไปเสนอเป็นญัตติโดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พปชร. แบบฉับพลันในเวลา 18.20 น. และได้รับการขานรับจากนายสมชาย แสวงการ กรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) ซึ่งอภิปรายตอนหนึ่งว่าเพิ่งได้รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพียง 8 วันก่อนถึงวันประชุม และที่ผ่าน ส.ว. ก็ยังไม่เคยได้พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญเลย

"ถึงเวลาเอาม็อบมาล้อมสภา แล้วบอกจะเอาเลย ๆ... อย่ามัดมือชกเราครับ ประธานวิปรัฐบาล ท่านไพบูลย์เสนอทางออก ซึ่งผมคิดว่าเป็นทางออกเพื่อทำให้ทุกอย่างมีทางออก มิใช่ทางตัน อย่าเอาเราเข้าไปอยู่ในตรอกแล้วมัดมือ แล้วบอกว่าให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้" นายสมชายกล่าว

รัฐสภายืด "เปิดสวิตช์แก้ รธน."

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

ฝ่ายค้านชี้เกมตั้ง กมธ. กระทบชะตากรรมร่างแก้ไข รธน. ฉบับประชาชน

ขณะที่นายสุทิน คลังแสง ประธานกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) สังกัดพรรคเพื่อไทย แสดงความไม่เห็นด้วยกับการตั้ง กมธ. พร้อมปฏิเสธส่งตัวแทนฝ่ายค้านไปร่วมวง

"ผมถูกหลอกให้ออกจากโรงเรียนหรือเปล่า... วันนี้ที่ผมกังวลคือถ้านำเรื่องนี้ไปศึกษา 1 เดือน ให้หลักประกันกับผมได้ไหมว่าจะรับให้ผมอะ ผมก็มีสิทธิคิดว่าตกวันนี้ กับตกวันหน้า อะไรผมเจ็บกว่ากัน ถ้าวันนี้ดูท่าทีว่าจะไม่รับให้พวกผม ก็ให้ตกวันนี้เลย ดีกว่าไปตกวันหน้า"

สำหรับคำว่า "ตกวันหน้า" ถูกขยายความว่าโดย ส.ส. ฝ่ายค้านว่าจะส่งผลกระทบต่อชะตากรรมของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน จัดทำโดยโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) ซึ่งได้เข้ายื่นร่างต่อประธานรัฐสภา พร้อมแนบรายชื่อประชาชนผู้สนับสนุนกว่า 1 แสนราย ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบรายชื่อ ก่อนบรรจุเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในสมัยประชุมหน้า ซึ่งนายสุทินกล่าวว่า หากรัฐสภา "ตีตก" ร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ฉบับในสมัยประชุมหน้า ก็จะทำให้รัฐสภาไม่สามารถพิจารณาร่างฉบับประชาชนได้ เนื่องจากมีหลักการเหมือนกันเรื่องการตั้ง ส.ส.ร. "นี่คือความเสียหายหนัก และจะเจ็บหนักกว่าตกวันนี้"

รัฐสภายืด "เปิดสวิตช์แก้ รธน."

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

เช่นเดียวกับนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ที่คำนวณกรอบเวลามาว่าเร็วที่สุดที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนจะเข่าสู่การพิจารณาของรัฐสภาได้ คือหลัง 22 พ.ค. 2564 จึงประกาศในนามพรรคว่า "ไม่ขอร่วมสังฆกรรมกับกระบวนการประวิงเวลาไป 8-9 เดือน"

ชวนตัดพ้อ "ถูกหลอกเหมือนกัน" ต้องซ้อมลงคะแนนเก้อ

ส.ส. ฝ่ายค้านหลายคนกล่าวในทำนองเดียวกันว่าการตั้ง กมธ. จะก่อให้เกิดสารพัดเสียงวิจารณ์ต่อภาพลักษณ์รัฐสภา อาทิ "เตะถ่วง" "ไม่จริงใจ" "เป็นโรงลิเก" "หลอกต้มประชาชน" "โดนต้มกันเองในสัปปายะสถาน ซึ่งแปลว่าสถานที่ประกอบกรรมดี" "ท่านมีทางออกให้ตัวเอง แต่ไม่มีทางออกไปนอกถนน"

ขณะที่ ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) อ้างว่า "ตั้งตัวไม่ทัน" กับสิ่งที่เกิดขึ้น ส่วน ส.ส. พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ประกาศสนับสนุนญัตติตั้ง กมธ. โดยให้เหตุผลว่า "ได้ฟัง ส.ว. แล้วมีหลายประเด็นต้องพิจารณา" แต่ยังยืนยันสนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ส่วน ส.ส. พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ประกาศสนับสนุนญัตติตั้ง กมธ. โดยให้เหตุผลว่า "ได้ฟัง ส.ว. แล้วมีหลายประเด็นต้องพิจารณา" แต่ยังยืนยันสนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

บรรยากาศการหารือของ ส.ส. รัฐบาล ฝ่ายค้าน และ ส.ว. ในระหว่างที่ประธานรัฐสภาสั่งพักการประชุม ก่อนที่รัฐสภาจะมีมติเห็นชอบให้แต่งตั้ง กมธ.

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, นายอนุชา นาคาศรัย เลขาธิการ พปชร. เข้าหารือกับฝ่ายค้าน นำโดยนายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน ในระหว่างที่ประธานรัฐสภาสั่งพักการประชุม เนื่องจากยังตกลงกันไม่ได้ต่อข้อเสนอของแกนนำรัฐบาลให้ตั้ง กมธ. ศึกษา รธน. โดยี ส.ส. พรรคก้าวไกลยืน "ชู 3 นิ้ว" กลางสภาเพื่อให้เพื่อน ๆ ช่วยถ่ายรูป

ท้ายที่สุด ที่ประชุมรัฐสภามีมติเห็นชอบให้ตั้ง กมธ. ศึกษาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ด้วยคะแนน 432 ต่อ 255 เสียง งดออกเสียง 28 ไม่ลงคะแนน 1

จากนั้นเสนอตั้ง กมธ. 45 คน แบ่งเป็น ส.ว. 15 คน และ ส.ส. 30 คน ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย (พท.) 8 คน, พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) 8 คน, พรรคภูมิใจไทย (ภท.) 4 คน, พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) 3 คน พรรคก้าวไกล (ก.ก.) 3 คน ส่วนพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) พรรคเสรีรวมไทย (สร.) พรรคประชาชาติ (ปช.) พรรคเศรษฐกิจใหม่ (ศม.) พรรคละ 1 คน อย่างไรก็ตาม 4 พรรคฝ่ายค้านคือ พท., ก.ก., สร., และ ปช. และอีก 1 พรรคร่วมรัฐบาลคือ ศม. ประกาศถอนตัวจากการร่วมเป็น กมธ. ทำให้เหลือ กมธ. เพียง 31 คนจาก ส.ว. และ ส.ส. รัฐบาล

ในช่วงท้ายก่อนปิดการประชุม นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวว่าได้ซ้อมการลงคะแนนตลอด จึงทราบว่าต้องใช้เวลา 4 ชั่วโมง "ที่สมาชิกบอกว่าถูกหลอก ก็ถูกหลอกเหมือนกัน เพราะผมก็เพิ่งมาทราบช่วงหัวค่ำนี้เอง"

ธรรมนัส พรหมเผ่า เดินทางมาสภาด้วยเรือ

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ นั่งเรือจากกรมชลประทานมาขึ้นที่ท่าเรือเกียกกาย ด้านหลังอาคารรัฐสภา ในเวลาประมาณ 15.30 น.

"ประชาชนปลดแอก" ตะโกนด่า ส.ว. และต้อนรับก้าวไกล

การลงมติของ ส.ส. และ ส.ว. ในวันนี้ถูกจับตามองจากกลุ่มนักศึกษาและประชาชนที่เรียกตัวเองว่า "คณะประชาชนปลดแอก" ซึ่งจัดกิจกรรมบริเวณหน้ารัฐสภา ย่านเกียกกาย ภายใต้ชื่อว่า "ไปสภา ไล่ขี้ข้าศักดินา ผูกโบว์ ปราศรัย ยื่นใบลาออก"

กิจกรรมดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องจากการประกาศ 3 ข้อเรียกร้อง ที่ให้หยุดคุกคามประชาชน, จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และยุบสภา พร้อมยื่นข้อเรียกร้องเพิ่มเติมว่าภายในเดือน ก.ย. ต้องไม่มี ส.ว. ซึ่งสอดคล้องกับเนื้อหาในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญบางฉบับของฝ่ายค้าน ที่มุ่งลดทอนอำนาจของสมาชิกสภาสูง หรือที่รู้จักในชื่อ "ปิดสวิตช์ ส.ว."

กลุ่มผู้ชุมนุมได้ "ผูกโบว์ขาว" ปิดประตูทางเข้า-ออกของรัฐสภา

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

คำบรรยายภาพ, กลุ่มผู้ชุมนุมได้ "ผูกโบว์ขาว" ปิดประตูทางเข้า-ออกของรัฐสภา

ทันทีที่ผู้ชุมนุมทราบมติของรัฐสภาให้ตั้ง กมธ. ศึกษาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญอีก 30 วัน ได้พากันแสดงความไม่พอใจกับการ "เล่นเกมยื้อเวลา" และพากัน "ชู 3 นิ้ว" และตะโกนตำหนิ ส.ส. รัฐบาล และ ส.ว. ไล่หลังขณะที่พวกเขานั่งรถยนต์ส่วนตัวออกไปจากรัฐสภา โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งแถวเพื่อเป็นแนวรั้วป้องกันไม่ให้ 2 ฝ่ายปะทะกัน นอกจากนี้ยังมีการจัดเตรียมรถตู้ให้สมาชิกรัฐสภาโดยสารไปลงเรือต่อที่ท่าเรือเกียกกายด้วย

อย่างไรก็ตามในส่วนของ ส.ส.ก.ก. นำโดยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคได้เดินเท้าออกไปพบกลุ่มประชาชนปลดแอกในเวลาประมาณ 21.30 น. และได้รับการต้อนรับอย่างดีจากผู้ชุมนุม โดยต่างฝ่ายต่างชู 3 นิ้วให้แก่กัน ทั้งนี้นายพิธาได้กล่าวขอโทษประชาชนที่รัฐสภาไม่สามารถผลักดันความต้องการของประชาชนได้ แต่ก็ไม่หมดหวัง

tim

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

ตลอด 2 วันมี ส.ว. แค่ 2 คนประกาศหนุนตั้ง ส.ส.ร.

สำหรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาทั้ง 6 ฉบับ เสนอโดยรัฐบาล 1 ฉบับ และฝ่ายค้าน 5 ฉบับ ซึ่งถือเป็น "เรื่องด่วน" สุดท้ายที่เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาก่อนปิดสมัยประชุมในเที่ยงคืนวันนี้ (24 ก.ย.)

ในการผ่านวาระ 1 ขั้นรับหลักการ ต้องได้คะแนนเสียงเห็นชอบจากสมาชิกรัฐสภา "ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง" ของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของสองสภา หรือ 369 จาก 737 เสียง (ส.ส. ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้มี 487 คน และ ส.ว. มี 250 คน) ในจำนวนนี้ต้องเป็นคะแนนเสียงเห็นชอบจาก ส.ว. "ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3" ของวุฒิสภาที่มีอยู่ หรือ 84 คน

ทว่าตลอด 2 วันที่ผ่านมา มี ส.ว. เพียง 2 คนที่ประกาศกลางสภาว่าพร้อมผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ในวาระแรก เพื่อเปิดทางให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) คือ นายคำนูญ สิทธิสมาน และนายวันชัย สอนศิริ

มี ส.ว. 1 คนคือ พล.อ. นาวิน ดำริกาญจน์ ประกาศพร้อมลงมติสนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แก้ไขระบบเลือกตั้ง ของฝ่ายค้าน

ส่วน ส.ว. ที่ลุกขึ้นอภิปรายรายอื่น ๆ ล้วนแต่อภิปรายแสดงความไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560

ผู้ชุมนุมคณะประชาชนปลดแอกถือป้ายประท้วง

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, ผู้ชุมนุมคณะประชาชนปลดแอกถือป้ายประท้วงก่อนที่ขณะที่ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภากำลังพิจารณาญัตติร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม

สรุปเหตุผลของ ส.ว. ที่ประกาศ "คว่ำญัตติแก้ รธน."

1. อ้างผลประชามติ

รัฐธรรมนูญ 2560 ผ่านการลงประชามติด้วยเสียงสนับสนุนจากประชาชน 16.8 ล้านเสียง และ "คำถามพ่วง" ที่ให้อำนาจ ส.ว. ร่วมลงมติเลือกนายกฯ ก็ผ่านการประชามติด้วยคะแนน 15.1 ล้านเสียง ก่อนถูกบรรจุเป็นบทเฉพาะกาลในมาตรา 272 จึง "ไม่อาจทรยศประชาชน" หากจะแก้ไขก็ต้อง "คืนอำนาจให้ประชาชน" ด้วยการทำประชามติเสียก่อน ไม่ใช่ผ่านกฎหมายแบบ "สร้างลูกมาฆ่าแม่" หรือตัดสินใจ "รื้อบ้านทั้งหลังโดยไม่ถามเจ้าของบ้านอย่างประชาชน"

2. อ้างคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ

การแก้ไขมาตรา 256 คือการ "ร่างใหม่ทั้งหมด" ซึ่งเท่ากับเป็นการ "ตีเช็คเปล่า" ให้ ส.ส.ร. เป็นผู้จัดทำ พร้อมหยิบยกคำวินิจฉัยรัฐธรรมนูญปี 2555 ที่ว่า "อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน" และ "ควรให้ประชาชนลงประชามติเสียก่อนว่าสมควรมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่" หลังรัฐบาลในเวลานั้นเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 291 เพื่อเปิดทางไปสู่การมี ส.ส.ร. แบบที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน หากรัฐสภาผ่านญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไป ก็อาจจะมีผู้ไปยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้

3. อ้าง "สิ้นเปลืองงบประมาณ"

ส.ว. ส่วนใหญ่เห็นว่าประชาชนไม่ได้เดือดร้อนกับกติกาสูงสุดฉบับนี้ และเมื่อพิจารณาเนื้อหาในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ญัตติ ก็ไม่พบว่าประชาชนและประเทศชาติได้ประโยชน์ตรงไหน ตรงกันข้ามหากมีการจัดทำรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ต้องลงประชามติถึง 3 ครั้ง ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดิน 1.5-2 หมื่นล้านบาท ทั้งที่ประเทศควรเก็บงบไว้แก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และปัญหาปากท้องของประชาชน

4. อ้าง "มีผลประโยชน์ได้เสีย"

ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายค้าน 2 ฉบับ ที่ตัดสิทธิ ส.ว. ในการร่วมลงมติเลือกนายกฯ และตัดอำนาจ ส.ว. ในการติดตามแผนปฏิรูปประเทศ ถูก ส.ว. ส่วนหนึ่งมองว่าหากลงมติเห็นชอบจะเข้าข่าย "มีหน้าที่แล้วไม่ทำ" หรือ "มีหน้าที่แล้วจะยกเลิกหน้าที่" อาจถูกตั้งข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้

5. อ้างทำให้สังคมยิ่งแตกแยก

ส.ว. บางส่วนวิเคราะห์ตรงกันว่าหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับจะทำให้ "สังคมยิ่งแตกแยก" และพยายามเชื่อมโยงไปถึงความเคลื่อนไหวนอกสภาของขบวนการนักศึกษาประชาชนว่าไม่ได้อยู่แค่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะมีบุคคลที่มีทัศนคติ "เลวร้าย บั่นทอน ทำลายการคงอยู่ของสถาบัน" จึงไม่เอื้อให้จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่