พล.อ. ประยุทธ์พ้นผิด “คดีพักบ้านหลวง” ศาลรัฐธรรมนูญชี้รัฐพึงจัดบ้านพักให้ผู้นำ เพื่อ “สร้างความพร้อมทั้งสุขภาพกาย-ใจในการปฏิบัติภารกิจ”

  • หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
  • ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ

ที่มาของภาพ, สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ

คำบรรยายภาพ, ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัย "คดีพักบ้านหลวง" เมื่อเวลา 15.00 น. โดยไม่อนุญาตให้ผู้ไม่เกี่ยวข้องเข้าไปในห้องพิจารณาคดีและบริเวณศาลในรัศมี 50 ม.

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ไม่ขาดคุณสมบัติความเป็นนายกฯ จากกรณีพักอาศัยในบ้านพักข้าราชการทหารแม้เกษียณอายุไป 6 ปีแล้ว หรือที่รู้จักในชื่อ "คดีพักบ้านหลวง" เนื่องจากเป็นไปตามระเบียบภายในของกองทัพบก (ทบ.) ปี 2548 และยังชี้ว่ารัฐพึงจัดสรรที่พำนักให้ผู้นำประเทศ เพื่อ "สร้างความพร้อมทั้งสุขภาพกายและจิตใจในการปฏิบัติภารกิจในการบริหารประเทศล้วนเป็นประโยชน์ส่วนรวม"

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งบัลลังก์เพื่ออ่านคำวินิจฉัย กรณีประธานสภาผู้แทนราษฎรขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ. ประยุทธ์ สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (5) และมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 186 วรรคหนึ่ง และมาตรา 184 วรรคหนึ่ง (3) หรือไม่

นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ เป็นผู้อ่านคำวินิจฉัยคดีนี้ โดยใช้เวลาเพียง 20 นาที

บีบีซีไทยสรุปสาระสำคัญคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ข้อกล่าวหาที่ถูกตั้งขึ้นโดย 55 ส.ส. สังกัดพรรคฝ่ายค้าน ถูกหักล้างด้วยข้อต่อสู้-ข้อกฎหมายใดของฝ่าย พล.อ. ประยุทธ์ และทำให้เขาได้ไปต่อบนเก้าอี้นายกฯ คนที่ 29

ประกาศศาล

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, ประกาศของศาลรัฐธรรมนูญอ้างถึงคำแจ้งเตือนจากหน่วยงานความมั่นคงที่ว่า "มีสถานการณ์ที่มีสิ่งบอกเหตุ หรือข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่าอาจมีเหตุการณ์ความไม่ปลอดภัย และความไม่สงบเรียบร้อยเกิดขึ้น"

2 ประเด็นวินิจฉัยของศาล รธน. กับ "ข้อต่อสู้หลัก" ของ พล.อ. ประยุทธ์

คดีนี้ ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดประเด็นวินิจฉัยไว้ 2 ประเด็น

ประเด็นแรกคือ ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (5) และมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 186 วรรคหนึ่ง และมาตรา 184 วรรคหนึ่ง (3) หรือไม่ นับแต่เมื่อใด

ประเด็นที่สองคือ ผู้ถูกร้องกระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (5) อันจะทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) หรือไม่

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยเบื้องต้นคือผู้ถูกร้องกระทำการขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

บีบีซีไทยพบว่า ระเบียบกองทัพบกว่าด้วยการเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรอง พ.ศ. 2548 ลงนามโดย พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ผบ.ทบ. (ขณะนั้น) ถูกยกมาเป็น "ข้อต่อสู้หลัก" ของ พล.อ. ประยุทธ์ เพราะชี้ให้เห็นถึงผู้มีสิทธิพักอาศัย, ประเภทบ้านพัก, การหมดสิทธิพักอาศัย และที่สำคัญคือ "อำนาจของ ทบ." ในการกำหนด "ข้อยกเว้นภายใน"

กราฟิค

ในระหว่างอ่านคำวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญได้กล่าวถึงเนื้อหา 4 ข้อในระเบียบฉบับดังกล่าว

  • ข้อ 5 กำหนดผู้มีสิทธิเข้าพักอาศัย ต้องเป็น 1) ข้าราชการ ทบ. ในปัจจุบัน มีชั้นยศ พล.อ. และ 2) อดีตข้าราชการชั้นสูงของ ทบ. ซึ่งทำคุณประโยชน์ให้กับ ทบ. และประเทศชาติ และเคยดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. มาแล้ว
  • ข้อ 7 กำหนดให้แบ่งประเภทบ้านพักรับรอง ทบ. สำหรับผู้มีสิทธิเข้าพักอาศัย แบ่งเป็น บ้านพักรับรองของ ผบ.ทบ. กับบ้านพักรับรองชั้นสูงของ ทบ. และอดีตผู้บังคับบัญชาชั้นสูงของ ทบ.
  • ข้อ 8 กำหนดให้หมดสิทธิพักอาศัยใน 4 กรณี 1) ย้ายออกนอก ทบ. 2) ออกจากราชการไม่ว่ากรณีใด 3) ถึงแก่กรรม และ 4) เมื่อ ทบ. พิจารณาให้หมดสิทธิการเข้าพักอาศัย แต่ทว่า ทบ. อาจพิจารณาให้ผู้หมดสิทธิได้เข้าอาศัยเป็นกรณีเฉพาะรายก็ได้
  • ข้อ 11 กำหนดว่าบ้านพักรับรองที่ ทบ. กำหนดให้พิจารณาความเหมาะสมในการสนับสนุนงบประมาณค่ากระแสไฟฟ้า น้ำประปา และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการพักอาศัยตามความจำเป็นและการใช้งาน

ประธานศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยตอนหนึ่งว่า เมื่อประกอบคำชี้แจงของ ผบ.ทบ. ที่ว่า ขณะผู้ถูกร้องดำรงตำแหน่งนายกฯ เมื่อ 24 ส.ค. 2557 ผู้ถูกร้องยังดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. อยู่ จึงเป็นผู้มีสิทธิเข้าพักอาศัยบ้านพักรับรอง ทบ. ตามระเบียบ ทบ. ปี 2548 ข้อ 5 และเมื่อผู้ถูกร้องเกษียณราชการในตำแหน่ง ผบ.ทบ. เมื่อ 30 ก.ย 2557 แต่ดำรงตำแหน่งนายกฯ อยู่ ก็ยังคงเป็นผู้มีสิทธิพักอาศัยในบ้านพักรับรอง ทบ. ดังกล่าว

"เนื่องจากผู้ถูกร้องเคยเป็นอดีตผู้บัญชาการชั้นสูงของ ทบ. ซึ่งทำคุณประโยชน์ให้กับ ทบ. และประเทศชาติ และเคยดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. มาแล้วตามข้อ 5.2 หาใช่อาศัยในบ้านพักรับรองในฐานะดำรงตำแหน่งนายกฯ เพียงสถานะเดียวไม่ ซึ่งหากผู้ถูกร้องไม่ได้เป็นผู้บังคับบัญชาชั้นสูงของ ทบ. แม้เป็นนายกฯ ที่เป็นพลเรือนย่อมไม่มีสิทธิพักอาศัยในบ้านพักรับรองตามระเบียบ ทบ. ได้" นายวรวิทย์กล่าวและว่า นอกจากนี้ในข้อ 8 ทบ. อาจพิจารณาให้เข้าอาศัยเป็นกรณีเฉพาะรายก็ได้

เจ้าหน้าที่ตำรวจ 3 กองร้อย สับเปลี่ยนเวรกันดูแลความสงบเรียบร้อยรอบศูนย์ราชการ อาคารเอ ถ.แจ้งวัฒนะ อันเป็นที่ตั้งของศาลรัฐธรรมนูญ

ที่มาของภาพ, RACHAPHON RIANSIRI/BBC THAI

คำบรรยายภาพ, เจ้าหน้าที่ตำรวจ 3 กองร้อย สับเปลี่ยนเวรกันดูแลความสงบเรียบร้อยรอบศูนย์ราชการ อาคารเอ ถ.แจ้งวัฒนะ อันเป็นที่ตั้งของศาลรัฐธรรมนูญ

เผย ทบ. จ่ายค่าน้ำ-ค่าไฟให้

ประธานศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยต่อไปว่า ส่วนการที่ ทบ. สนับสนุนงบประมาณค่ากระแสไฟฟ้าและน้ำประปาในการใช้งานบ้านพักรับรอง ทบ. ก็พิจารณาตามความจำเป็นและเหมาะสม อีกทั้งการให้สิทธินี้ ทบ. ได้พิจารณาให้สิทธิแก่ผู้เข้าเงื่อนไขมีคุณสมบัติในการพักอาศัยในบ้านพักรับรอง ทบ. มิใช่ให้สิทธิเฉพาะกรณีผู้ร้องเท่านั้น

จึงเห็นได้ว่า การที่ผู้ถูกร้องพักอาศัยในบ้านพักรับรองที่ ทบ. จัดให้ และได้รับการสนับสนุนงบประมาณค่ากระแสไฟฟ้าและน้ำประปาเป็นไปตามดุลพินิจของ ทบ. ที่มีอำนาจพิจารณาตามระเบียบปี 2548 ซึ่งใช้มาก่อนที่ผ้ถูกร้องจะดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. และนายกฯ

คำบรรยายวิดีโอ, ศาลรัฐธรรมนูญ : พล.อ. ประยุทธ์ พ้นผิด "คดีพักบ้านหลวง"

จัดบ้านพักรับรองที่ปลอดภัย คือการ "สร้างความพร้อมสุขภาพกาย-จิตใจให้ผู้นำ

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า โดยที่นายกฯ เป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญของประเทศ นอกจากเป็นหัวหน้าของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดินแล้ว ยังมีฐานะเป็นผู้นำของประเทศ ความปลอดภัยของนายกฯ รวมทั้งครอบครัวมีส่วนสำคัญ รัฐมีหน้าที่จัดการดูแลให้ความปลอดภัยแก่นายกฯ และครอบครัวตามความเหมาะสมแก่สภาพการณ์

"การจัดบ้านพักรับรองที่ปลอดภัย มีความเป็นส่วนตัว สร้างความพร้อมทั้งสุขภาพกายและจิตใจในการปฏิบัติภารกิจในการบริหารประเทศล้วนเป็นประโยชน์ส่วนรวม จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐพึงจัดสรรให้มีที่พำนักแก่ผู้นำของประเทศขณะดำรงตำแหน่ง" ประธานศาลรัฐธรรมนูญกล่าว

กรณีไทย ในอดีตเคยกำหนดให้บ้านพิษณุโลกเป็นที่พำนักของนายกฯ ขณะดำรงตำแหน่ง "แต่ในปัจจุบันการบำรุงรักษายังไม่พร้อมใช้ หรือจัดให้มีขึ้นใหม่ ดังนั้นเพื่อให้นายกฯ ปฏิบัติหน้าที่ผู้นำประเทศได้อย่างสมเกียรติ รัฐพึงจัดให้มีที่พำนักประจำตำแหน่งนายกฯ"

นายกฯ

ที่มาของภาพ, สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกฯ

คำบรรยายภาพ, พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา สักการะหลวงพ่อวัดบ้านแหลม พระคู่บ้านคู่เมืองสมุทรสงคราม ระหว่างลงพื้นที่ปฏฺิบัติราชการ เมื่อเช้าวันที่ 2 ธ.ค.

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญระบุต่อไปว่า การที่ ทบ. อนุมัติให้ใช้บ้านพัก ทบ. ซึ่งสนับสนุนค่ากระแสไฟฟ้าและน้ำประปา ซึ่งผู้ถูกร้องเคยได้รับสิทธิตั้งแต่คราวดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน โดยปฏิบัติตามระเบียบ ทบ. ปี 2548 ซึ่งเป็นกฎที่ยังคงใช้บังคับอยู่ โดยไม่ได้ถูกยกเลิกหรือเพิกถอน ประกอบกับ ทบ. ให้สิทธิกับผู้มีคุณสมบัติตามระเบียบนั้น โดยถือเป็นสิทธิของบุคคลอันเนื่องมาจากการดำรงตำแหน่งอดีตผู้บังคับบัญชาชั้นสูงของ ทบ. จึงมิได้เป็นการกระทำที่ทำให้ผู้ถูกร้องได้รับเงิน หรือประโยชน์ใด ๆ จาก ทบ. ซึ่งเป็นหน่วยราชการเป็นพิเศษ นอกเหนือจากที่ปฏิบัติกับบุคคลอื่นในธุรกิจการงาน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 186 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 184 (3)

ดังนั้นความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้อง จึงไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5)

ไม่มีพฤติกรรมฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

ส่วนประเด็นที่ว่า ผู้ถูกร้องกระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (5) อันจะทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) หรือไม่นั้น

เห็นว่า เมื่อวินิจฉัยว่าการที่ผู้ถูกร้องพักอาศัยตามระเบียบ ทบ. 2548 จึงไม่เป็นกรณีการถือประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ของประเทศ ไม่เป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบเพื่อตนเอง ไม่เป็นการขอเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด ในประการที่อาจทำให้กระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่ และไม่เป็นการกระทำอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม เว้นแต่เป็นการรับที่มีบทบัญญัติทางกฎหมายหรือระเบียบให้รับได้

นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ดำรงตำแหน่งตุลาการตั้งแต่ 9 ก.ย. 2557

ที่มาของภาพ, สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ

คำบรรยายภาพ, นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ดำรงตำแหน่งตุลาการตั้งแต่ 9 ก.ย. 2557

ดังนั้นผู้ถูกร้องจึงไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามที่กำหนดไว้ในมาตรฐานจริยธรรม ข้อ 27 ประกอบข้อ 7, 8, 9, 10 และ 11 อันเป็นการกระทำต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (5) ซึ่งเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4)

"อาศัยเหตุผลข้างต้นจึงวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (5) และมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 186 วรรคหนึ่ง และมาตรา 184 วรรคหนึ่ง (3)" ประธานศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัย

ข้อเท็จจริงในคดีที่น่าสนใจ

  • ผู้ถูกร้องดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2556-30 ก.ย. 2557, ดำรงตำแหน่งนายกฯ สมัยแรก ตั้งแต่ 24 ส.ค. 2557-9 มิ.ย. 2562, ดำรงตำแหน่งนายกฯ สมัยสอง ตั้งแต่ 9 มิ.ย. 2562 และตำแหน่ง รมว.กลาโหม ตั้งแต่ 10 ก.ค. 2562 ถึงปัจจุบัน
  • ขณะดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. ผู้ถูกร้องพักอาศัยที่บ้านพักอาคารหมายเลข 253/54 กรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ (ร.1 รอ.) ถ.วิภาวดี-รังสิต
  • บ้านพักหลังนี้ถูกปรับโอนจาก "อาคารเรือนรับรอง" ให้เป็น "บ้านพักรับรอง ทบ." ตามหนังสือ ทบ. ลงวันที่ 19 มิ.ย. 2555
  • บ้านพักหลังนี้ถูกระบุว่า "เป็นพื้นที่ในความครอบครองดูแลและใช้ประโยชน์ในราชการของ ทบ." แม้ปัจจุบัน ร.1 รอ. ได้เปลี่ยนสถานะเป็นส่วนราชการในพระองค์ภายใต้ชื่อ กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ แล้วก็ตาม
  • นอกจากบ้านพักของ พล.อ. ประยุทธ์ ยังมีบ้านพักรับรอง ทบ. อีกอย่างน้อย 11 หลังที่ถูกกำหนดว่าเป็น "บ้านพักรับรองของผู้บังคับบัญชาชั้นสูงของ ทบ. และอดีตผู้บังคับบัญชา" ประกอบด้วย อาคารหมายเลข 1, 4, 31, 107/10, 246/16, 26/18, 385/23, 249/25, 437/37, 492/45 และ 493/45 ตามระเบียบ ทบ. ว่าด้วยการเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองปี 2548 ขณะที่อาคารหมายเลข 70/25 ถูกใช้เป็นบ้านพักรับรองของ ผบ.ทบ.

ที่มา : บีบีซีไทยสรุปจากการอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และคำร้องของประธานสภาใน "คดีพักบ้านหลวง"