สงครามโลกครั้งที่ 2 : สหภาพโซเวียตมีบทบาทอย่างไรที่เร่งให้ญี่ปุ่นยอมแพ้

  • เผด็จ ขำเลิศสกุล
  • หอจดหมายเหตุแห่งชาติ สหราชอาณาจักร
นายมาโมรุ ชิเกมิตสึ รมว.ต่างประเทศของญี่ปุ่น ลงนามในตราสารแห่งการยอมจำนน (Japanese Instrument of Surrender) ในนามของรัฐบาลญี่ปุ่น บนเรือรบยูเอสเอส มิสซูรี ของสหรัฐฯ ที่จอดอยู่ในอ่าวโตเกียว เมื่อวันที่ 2 ก.ย. 1945

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, นายมาโมรุ ชิเกมิตสึ รมว.ต่างประเทศของญี่ปุ่น ลงนามในตราสารแห่งการยอมจำนน (Japanese Instrument of Surrender) ในนามของรัฐบาลญี่ปุ่น บนเรือรบยูเอสเอส มิสซูรี ของสหรัฐฯ ที่จอดอยู่ในอ่าวโตเกียว เมื่อวันที่ 2 ก.ย. 1945

09.00 น. ของวันอาทิตย์ที่ 2 กันยายน 1945 ที่อ่าวโตเกียว บนเรือรบ มิสซูรี (USS Missouri) ของสหรัฐฯ นายมาโมรุ ชิเกมิตสึ รมว. ต่างประเทศ ของญี่ปุ่นได้ลงนามในตราสารแห่งการยอมจำนน (Japanese Instrument of Surrender) ในนามของรัฐบาลญี่ปุ่น

การลงนามมีขึ้นท่ามกลางผู้แทนจากฝ่ายสัมพันธมิตร โดยมีนายพลดักลาส แม็กอาร์เธอร์ ผู้บัญชาการกองทัพสหรัฐฯ ในแปซิฟิกตะวันตกเฉียงใต้และผู้บัญชาการทหารสูงสุดของฝ่ายสัมพันธมิตร ลงนามยอมรับการยอมจำนนในนามของฝ่ายสัมพันธมิตร

การลงนามครั้งนี้ ถือเป็นการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างเป็นทางการ

นายพลดักลาส แม็กอาร์เธอร์ ผู้บัญชาการกองทัพสหรัฐฯ ในแปซิฟิกตะวันตกเฉียงใต้และผู้บัญชาการทหารสูงสุดของฝ่ายสัมพันธมิตร ลงนามยอมรับการยอมจำนนในนามของฝ่ายสัมพันธมิตร การลงนามครั้งนี้ ถึงเป็นการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 2 ก.ย. 1945

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, นายพลดักลาส แม็กอาร์เธอร์ ผู้บัญชาการกองทัพสหรัฐฯ ในแปซิฟิกตะวันตกเฉียงใต้และผู้บัญชาการทหารสูงสุดของฝ่ายสัมพันธมิตร ลงนามยอมรับการยอมจำนนในนามของฝ่ายสัมพันธมิตร การลงนามครั้งนี้ ถึงเป็นการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างเป็นทางการ

ผ่านไป 75 ปี มีการถกเถียงกันมากมายเกี่ยวกับสิ่งที่ทำให้ญี่ปุ่นยอมแพ้ในสงครามโลกครั้งที่สอง การเล่าเรื่องแบบดั้งเดิม (traditional narrative) บอกว่า การทิ้งระเบิดปรมาณู 2 ลูก เป็นสาเหตุของการยอมแพ้ของญี่ปุ่น ในขณะที่นักประวัติศาสตร์แนวชำระใหม่ (revisionist historians) แย้งว่าญี่ปุ่นพร้อมยอมแพ้ก่อนที่จะมีการทิ้งระเบิดปรมาณู อย่างไรก็ตามในบทความนี้ผู้เขียนจะไม่ขออธิบายถึงข้อถกเถียงระหว่างทั้งสองค่าย แต่ผู้เขียนต้องการจะเน้นบทบาทสำคัญของสหภาพโซเวียตที่มีต่อการยุติสงครามโลกครั้งที่สอง

สงครามในตะวันออกไกล

สงครามโลกครั้งที่สองในตะวันออกไกลเริ่มต้นขึ้นเมื่อญี่ปุ่นโจมตีฐานทัพเรืออเมริกันที่เพิร์ลฮาร์เบอร์เมื่อเช้าวันที่ 7 ธันวาคม 1941 การโจมตีครั้งนี้ทำให้สหรัฐฯ เข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สองอย่างเป็นทางการในวันรุ่งขึ้น

ในช่วงแรกของ "สงครามมหาเอเชียบูรพา" นี้ ประเทศไทยและอาณานิคมของอังกฤษ ได้แก่ มลายู ฮ่องกง พม่า ถูกกองทัพญี่ปุ่นบุกเข้ายึดครอง จนเวลาผ่านไป 6 เดือน สหรัฐอเมริกาและพันธมิตรกลับมาได้เปรียบ หลังสร้างความเสียหายมากมายให้กองเรือญี่ปุ่นใน "สมรภูมิมิดเวย์" ช่วงต้นเดือนมิถุนายน 1942 และต่อมาในช่วงครึ่งแรกของปี 1945 โอกินาวาได้ตกอยู่ในมือของสหรัฐอเมริกา ซึ่งต่อมาก็ถูกใช้เป็นฐานสำหรับการบุกของพันธมิตรที่เกาะญี่ปุ่น จุดจบของสงครามแปซิฟิกสิ้นสุดลงด้วยการทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมาและนางาซากิเมื่อวันที่ 6 และ 9 สิงหาคม 1945 ตามลำดับ

สนธิสัญญาความเป็นกลางของสหภาพโซเวียต

สหภาพโซเวียตมีความสนใจในตะวันออกไกลมานานก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ในช่วงทศวรรษที่ 1930 สหภาพโซเวียต และจักรวรรดิญี่ปุ่นต่างก็มองว่าตนเองเป็นมหาอำนาจที่มีความทะเยอทะยานในการที่จะขยายอาณาเขตของตัวเองออกไป

ต่อมาญี่ปุ่นรุกรานแมนจูเรีย และจัดตั้งรัฐบาลหุ่นเชิดในแมนจูกัวในปี 1932 ความสัมพันธ์ระหว่างโซเวียตและญี่ปุ่นนั้นเสื่อมโทรมลงหลังจากที่ญี่ปุ่นลงนามกับอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ของเยอรมนีในเดือนพฤศจิกายน 1936 ในสนธิสัญญาต่อต้านองค์การคอมมิวนิสต์สากล (Anti-Comintern Pact) ญี่ปุ่นหันมาให้ความสนใจทางทหารไปยังภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนที่มีพรมแดนติดกับสหภาพโซเวียตตะวันออกไกลและข้อพิพาทเกี่ยวกับแนวเขตแดนซึ่งนำไปสู่ความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นกับสหภาพโซเวียต

ความขัดแย้งชายแดนสหภาพโซเวียต - ญี่ปุ่นยาวนานจนถึงปี 1939 เมื่อยุทธการฮาลฮิน กอล (Battle of Khalkhin Gol) ซึ่งเป็นการสู้รบอย่างดุเดือดจากข้อพิพาทชายแดนโซเวียต-ญี่ปุ่น ซึ่งส่งผลให้ญี่ปุ่นพ่ายแพ้ ในเวลาเดียวกันเยอรมนีได้เริ่มบุกฝรั่งเศสและกลุ่มประเทศเบเนลักซ์ (เบลเยียม-เนเธอร์แลนด์-ลักเซมเบิร์ก) และขยายอำนาจในยุโรป สหภาพโซเวียตซึ่งไม่ต้องการเผชิญหน้ากับสองแนวรบ จึงได้ร่วมลงนามในสนธิสัญญาความเป็นกลางของโซเวียต - ญี่ปุ่น เมื่อ 13 เมษายน 1941

สนธิสัญญาความเป็นกลางระหว่างโซเวียต - ญี่ปุ่น นี้ เป็นประโยชน์ต่อทั้งสองประเทศ เนื่องจากญี่ปุ่นสามารถขยายตัวทางทิศใต้และเริ่มการรุกรานอาณานิคมยุโรปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยไม่ต้องพะวงต่อการโจมตีจากโซเวียต และในทำนองเดียวกันการที่สนธิสัญญาไม่รุกรานต่อกันก็ทำให้โซเวียตสามารถย้ายกองกำลังขนาดใหญ่จากภูมิภาคตะวันออกไกลไปยังแนวรบด้านตะวันตกเพื่อต่อต้านกองทัพของเยอรมนี

การโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์

ไม่กี่วันหลังกองกำลังพิเศษทางอากาศกองทัพเรือจักรวรรดิญี่ปุ่น (Imperial Japanese Navy Air Service - IJNAS) โจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ รัฐบาลสหรัฐฯ พยายามเกลี้ยกล่อมให้สหภาพโซเวียตร่วมมือกันต่อสู้กับญี่ปุ่นโดยนายคอร์เดลล์ ฮัลล์ รมว. ต่างประเทศของสหรัฐฯ หารือกับนายแม็กซิม ลิตวินอฟ เอกอัครราชทูตสหภาพโซเวียตในกรุงวอชิงตัน โดยอ้างอิงจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ของเขาว่า ญี่ปุ่นมุ่งมั่นในการโจมตีรัสเซียและประเทศอื่น ๆ ที่ต่อสู้กับเยอรมนีเมื่อใดก็ตามที่ฮิตเลอร์เรียกร้อง

เอกสารของรัฐบาลอังกฤษที่เก็บไว้ที่หอจดหมายเหตุฯ หมายเลข CAB 79/21/37 ระบุว่า คณะอนุกรรมการวางแผนร่วม หรือ Joint Planning Staff (JPS) แจ้งต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสงครามของอังกฤษ ว่าได้รับรายงานจากแหล่งข่าวที่ไม่เป็นทางการว่า "ญี่ปุ่นกำลังเสริมกำลังทหารในภาคเหนือของจีนทางด้านแมนจูเรีย" แต่ก็ไม่เป็นที่รู้ถึงความตั้งใจของญี่ปุ่นในการเคลื่อนไหวเหล่านี้ว่าจะเป็นข้อควรระวังหรือพวกเขากำลังเตรียมที่จะโจมตีรัสเซีย

แม้ว่ารายงานทั้งหมดเหล่านี้ดูเหมือนจะเป็นข้อมูลที่ไม่เพียงพอ แต่มันสะท้อนถึงเจตนาของรายงานที่อาจเป็นไปได้ว่า พันธมิตรจะส่งต่อข้อมูลไปยังสหภาพโซเวียตและหวังไว้สูงว่า มันจะชักนำให้สตาลินทำสงครามกับญี่ปุ่น อย่างไรก็ตามสตาลินยังคงปฏิเสธการมีส่วนร่วมใด ๆ ในการทำสงครามกับญี่ปุ่นซึ่งเป็นที่เข้าใจในการที่จะหลีกเลี่ยงการทำสงครามสองแนวรบคือในเอเชียและยุโรป

ความสำคัญของสหภาพโซเวียต

แม้จะมีการปฏิเสธจากสหภาพโซเวียตเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในการทำสงครามกับญี่ปุ่น แต่ JPS ตระหนักว่าไม่ช้าก็เร็วญี่ปุ่นจะพยายามกำจัดอันตรายของรัสเซียทันทีที่มีโอกาส คณะอนุกรรมการวางแผนร่วมประเมินเพิ่มเติมว่า การโจมตีโดยญี่ปุ่นต่อเส้นทางการเดินเรือของสหภาพโซเวียตจะเป็นอันตรายร้ายแรงต่อความพยายามของโซเวียตในการต่อต้านเยอรมนีในยุโรป

ดังนั้น JPS จึงได้จัดทำแผนสำหรับทำสงครามกับญี่ปุ่นในชื่อ "การเล็งเห็นความสำคัญในการทำสงครามต่อต้านญี่ปุ่น" (Appreciation of the War against Japan) ประกอบด้วย 5 หัวข้อซึ่งแต่ล่ะหัวข้อสามารถทำลายสมรรถนะของญี่ปุ่นในการทำสงคราม ซึ่ง 3 ใน 5 หัวข้อดังกล่าวนั้นต้องพึ่งการเข้าร่วมจากสหภาพโซเวียตเป็นอย่างมาก เนื่องจากสหภาพโซเวียตเป็นประเทศเดียวที่อยู่ใกล้กับตำแหน่งยุทธศาสตร์สำคัญของญี่ปุ่น และยังสามารถเคลื่อนย้ายทหารได้โดยง่ายไปสู่แมนจูกัว คาบสมุทรเกาหลีและจีนตอนเหนือด้วย และการที่สหภาพโซเวียตตั้งอยู่ใกล้ญี่ปุ่นก็เหมาะที่จะเป็นฐานปฏิบัติการของกองเรือดำน้ำสำหรับการปฏิบัติการใต้น้ำกับการขนส่งชายฝั่งทะเลของญี่ปุ่นและในทะเลเหลือง ดังนั้น JPS จึงสรุปว่าเพื่อที่จะเอาชนะญี่ปุ่น จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องให้สหภาพโซเวียตเข้าสู่สงคราม

รายงานของคณะอนุกรรมการวางแผนร่วม หรือ Joint Planning Staff (JPS)

ที่มาของภาพ, NATIONAL ARCHIVES

คำบรรยายภาพ, รายงานของคณะอนุกรรมการวางแผนร่วม หรือ Joint Planning Staff (JPS)

การประชุมเตหะรานและยัลตา

หลังจากที่เยอรมนีพ่ายแพ้ในการรบที่สตาลินกราดเมื่อ กุมภาพันธ์ 1943 สตาลินเริ่มเสริมกองกำลังทหารโซเวียตในบริเวณตะวันออกเฉียงเหนือของจีน และในเดือนพฤศจิกายนของปีเดียวกัน สตาลินแสดงสัญญาณของความเต็มใจที่จะเข้าร่วมในสงครามกับญี่ปุ่นโดยตกลงด้วยวาจาในการประชุมที่กรุงเตหะรานว่า หลังจากที่เยอรมนีพ่ายแพ้สงครามในแนวรบด้านตะวันตกจากนั้นโซเวียตจะเข้าร่วมเพื่อเอาชนะญี่ปุ่น

เอกสารเกี่ยวกับการประชุมเตหะราน

ที่มาของภาพ, NATIONAL ARCHIVES

คำบรรยายภาพ, เอกสารเกี่ยวกับการประชุมเตหะราน

ในสัปดาห์แรกของเดือนกุมภาพันธ์ 1945 ที่ยัลตาเมืองตากอากาศ ชายฝั่งทางใต้ของคาบสมุทรไครเมียมีการจัดประชุมครั้งที่สองของสามชาติใหญ่ คือ สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และ สหภาพโซเวียต เพื่อหารือเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างหลังสงครามของเยอรมนีและยุโรป ในการประชุมครั้งนี้ คำปฏิญาณที่สตาลินให้ไว้ที่เตหะรานได้รับการยืนยัน สตาลินตกลงว่าสหภาพโซเวียตจะเข้าสู่สงครามกับญี่ปุ่นสามเดือนหลังจากการยอมแพ้ของเยอรมนีและในทางกลับกันโซเวียตจะได้ดินแดนแมนจูเรียหลังจากการยอมแพ้ของญี่ปุ่น รวมถึงดินแดนทางตอนใต้ของ เกาะซาคาลิน (Sakhalin) และ หมู่เกาะคูริล (Kuril Islands) ซึ่งญี่ปุ่นได้ยึดครองหลังสงครามรัสเซีย - ญี่ปุ่นเมือปี 1904-1905 รวมทั้งการเช่าที่ท่าเรืออาร์เธอร์ เช่นเดียวกับการมีส่วนร่วมในการดำเนินงานของกิจการรถไฟแมนจูเรีย

แผนที่สถานการณ์ในมหาสมุทรแปซิฟิก

ที่มาของภาพ, NATIONAL ARCHIVES

คำบรรยายภาพ, แผนที่สถานการณ์ในมหาสมุทรแปซิฟิก

อย่างไรก็ตามไม่กี่เดือนหลังจากการประชุมที่ยัลตา สถานการณ์ของสงครามในมหาสมุทรแปซิฟิกเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เป็นบวกต่อสหรัฐอเมริกา เช่นในเดือนมีนาคม 1945 นาวิกโยธินสหรัฐฯ ประสบความสำเร็จในการยึดเกาะอิโวจิมาและเรือประจัญบานยามาโตะที่มีแสนยานุภาพมากที่สุดของญี่ปุ่นถูกยิงจมลงบริเวณหมู่เกาะริวกิว อีกทั้งการเปลี่ยนทัศนคติในการเข้าสู่สงครามกับญี่ปุ่นของสหภาพโซเวียต หลังการขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิดีสหรัฐฯ ของ แฮร์รี เอส ทรูแมน

ผู้นำฝ่ายสัมพันธมิตร จากซ้ายไปขวา วินสตัน เชอร์ชิลล์, แฮร์รี ทรูแมน และ โจเซฟ สตาลิน จับมือกัน ที่การประชุมพอตส์ดัม ในเยอรมนี เมื่อวันที่ 28 ก.ค. 1945

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, ผู้นำฝ่ายสัมพันธมิตร จากซ้ายไปขวา วินสตัน เชอร์ชิลล์, แฮร์รี ทรูแมน และ โจเซฟ สตาลิน จับมือกัน ที่การประชุมพอตส์ดัม ในเยอรมนี เมื่อวันที่ 28 ก.ค. 1945

ปฏิญญาพอตส์ดัม

การประชุมที่พอตส์ดัมระหว่าง 17 กรกฎาคม ถึง 2 สิงหาคม 1945 นั้นแตกต่างจากการประชุมที่ยัลตาก่อนหน้านี้ เนื่องด้วยเริ่มจากการพ่ายแพ้ของเยอรมนีและกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นเริ่มแตกสลายและสหรัฐอเมริกามีระเบิดปรมาณูอยู่ในกำมือ ทำให้สหรัฐอเมริกาเริ่มจะมีความคิดว่า การขอความรวมมือจากสหภาพโซเวียตอาจจะไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป

ในระหว่างการประชุมเมื่อ 26 กรกฎาคม วินสตัน เชอร์ชิลล์ แฮร์รี เอส ทรูแมน และ เจียง ไคเช็ก ออกแถลงการณ์ ปฏิญญาพอตส์ดัม (Potsdam Declaration) ซึ่งระบุเงื่อนไขการยอมแพ้ของญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองในเอเชีย แต่สตาลินไม่ได้ร่วมลงนามในปฏิญญา แม้เข้าร่วมการประชุม เนื่องจากสหภาพโซเวียตยังคงมีสนธิสัญญาเป็นกลางกับญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตามสองวันหลังจากการทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมาและหนึ่งวันก่อนเกิดเหตุระเบิดที่เมืองนางาซากิ สหภาพโซเวียตได้ประกาศสงครามกับรัฐบาลญี่ปุ่น เมื่อ 8 สิงหาคม 1945 ข่าวนี้ได้สร้างความตระหนกต่อญี่ปุ่นเป็นอันมาก เนื่องจากข้อเท็จจริงที่ว่าสตาลินได้รับข้อความส่วนตัวจากจักรพรรดิญี่ปุ่นขอให้เขาเป็นตัวกลางระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา ก่อนที่เขาจะออกจากมอสโกเพื่อที่จะมาร่วมการประชุมที่พอตส์ดัม แม้ประวัติศาสตร์ชาติตะวันตกเน้นบทบาทของระเบิดปรมาณูว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้ญี่ปุ่นยอมจำนน แต่เอกสารญี่ปุ่นที่เพิ่งเปิดใหม่ก็ให้ความสำคัญของการประกาศสงครามของสหภาพโซเวียตว่า เป็นสาเหตุในการบังคับให้ญี่ปุ่นยอมจำนน

การประชุมพอตส์ดัม

ที่มาของภาพ, NATIONAL ARCHIVES

คำบรรยายภาพ, สตาลิน เอ่ยถึงเชอร์ชิลล์ เกี่ยวกับข้อความส่วนตัวจากจักรพรรดิญี่ปุ่น ในการประชุมพอตส์ดัม

หลังจากที่สหภาพโซเวียตประกาศสงคราม ในวันรุ่งขึ้นกองทัพโซเวียตก็เริ่มการบุกโจมตีพร้อมกันในแนวรบสามแนวไปทางทิศตะวันออก ทิศตะวันตกและทิศเหนือของแมนจูเรียและคาบสมุทรเกาหลี ในขณะเดียวกันโซเวียตก็ได้ยกพลขึ้นบกที่เกาะซาคาลิน และหมู่เกาะคูริล รวมถึงดินแดนทางเหนือของญี่ปุ่น โซเวียตต้องเผชิญกับการต่อต้านอย่างหนักจากญี่ปุ่น แต่ก็ประสบความสำเร็จในการควบคุมทั่วทั้งเกาะ ในคืนวันที่ 14 สิงหาคม 1945 รัฐบาลญี่ปุ่นได้ส่งคำตอบขอยอมจำนนโดย เจมส์ ฟรานซิส เบิร์นส์ (James Francis Byrnes) รมว. ต่างประเทศ สหรัฐฯ ได้พิจารณาแล้วและถือว่าญี่ปุ่นยอมรับเงื่อนไขของปฏิญญาพอตส์ดัม

สำเนาข้อความประกาศยอมแพ้สงครามของลงนามโดย ชิโกโนริ โตโก รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 1945

ที่มาของภาพ, NATIONAL ARCHIVES

คำบรรยายภาพ, สำเนาข้อความประกาศยอมแพ้สงครามของลงนามโดย ชิโกโนริ โตโก รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 1945

เมื่อเวลา 10.00 น. ของวันที่ 14 สิงหาคม ขณะที่สถานการณ์เลวร้ายลงจักรพรรดิฮิโรฮิโตะ ได้ตรัสต่อคณะรัฐมนตรีในการประชุมว่า "สถานการณ์ทางทหารเปลี่ยนไปอย่างกะทันหัน สหภาพโซเวียตเข้าสู่สงครามกับเรา การโจมตีด้วยการฆ่าตัวตายไม่สามารถแข่งขันกับพลังของวิทยาศาสตร์ได้ ดังนั้นจึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องยอมรับเงื่อนไขของพอตส์ดัม"

ในขณะที่จักรพรรดิฮิโรฮิโตะ ร่วมเข้าประชุมพร้อมกับคณะรัฐมนตรีของพระองค์อยู่น้้นได้เกิดความพยายามมีการก่อการรัฐประหารขึ้นนำโดยพันตรีเคนจิ ฮาตานากะ (Major Kenji Hatanaka) กลุ่มผู้ก่อการพยายามที่จะยึดพระราชวังเพื่อที่จะหยุดจักรพรรดิฮิโรฮิโตะประกาศยอมแพ้ แต่การรัฐประหารไม่ประสบผลสำเร็จ

ต่อมาในตอนเที่ยงของวันที่ 15 สิงหาคม เสียงของจักรพรรดิฮิโรฮิโตะได้ออกรายการวิทยุแห่งชาติเป็นครั้งแรก เพื่อประกาศการยอมแพ้ของญี่ปุ่น และนำไปสู่การลงนามในตราสารแห่งการยอมจำนน เมื่อ 2 ก.ย. 1945 ที่อ่าวโตเกียว บนเรือรบ มิสซูรี และนี่คือบทสรุปของสงครามในมหาสมุทรแปซิฟิกและการยุติสงครามโลกครั้งที่สองอย่างเป็นทางการ

เผด็จ ขำเลิศสกุล นักวิจัยประวัติศาสตร์ด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แห่ง หอจดหมายเหตุแห่งชาติ สหราชอาณาจักร