เยาวชนชายวัย 15 ปี ที่ถูกยิงที่แยกดินแดงเสียชีวิตแล้ว หลังอยู่ไอซียูนานเกือบ 3 เดือน

ตำรวจควบคุมฝูงชน

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

เยาวชนชายวัย 15 ปี ซึ่งถูกยิงที่ศีรษะระหว่างร่วมชุมนุมต่อต้านรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บริเวณแยกดินแดงเมื่อวันที่ 16 ส.ค. เสียชีวิตแล้ว หลังจากรักษาตัวอยู่ในห้องไอซียู โรงพยาบาลราชวิถี อยู่นานเกือบ 3 เดือน

บีบีซีไทยได้รับการยืนยันจาก นพ.ทศพร เสรีรักษ์ อดีต ส.ส. พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นผู้ที่ติดตามกรณีนี้มาตั้งแต่ต้นว่า เยาวชนชายคนดังกล่าวเสียชีวิตเมื่อเวลาประมาณ 02.30 น. วันนี้ (28 ต.ค.) หลังจากรักษาตัวมานานเกือบ 3 เดือน โดยขณะนี้ นพ. ทศพรพร้อมด้วยนางนิภาพร (สงวนนามสกุล) มารดาของเยาวชนที่เสียชีวิตกำลังรอรับศพอยู่ที่โรงพยาบาล

เขาเป็นหนึ่งในผู้ได้รับบาดเจ็บ 6 คน ระหว่างร่วมชุมนุมขับไล่รัฐบาลบริเวณแยกดินแดง ซึ่งเป็นการรวมตัวของมวลชนอิสระภายหลังแกนนำกลุ่ม "ทะลุฟ้า" ประกาศยุติการชุมนุมขับไล่รัฐบาลบริเวณ ถ. พิษณุโลก ในช่วงเย็นวันที่ 16 ส.ค.

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยแถลงแสดงความเสียใจต่อการเสียชีวิตของเยาวชนผู้นี้ และยังคงเรียกร้องทางการไทยเร่งสืบสวนอย่างเร่งด่วนและได้มาตรฐานสากลต่อกรณีที่มีการยิงผู้ชุมนุมที่เป็นเด็กและเยาวชนระหว่างการชุมนุมบริเวณ สน.ดินแดง เมื่อวันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา เพื่อนำตัวผู้ก่อเหตุเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและลงโทษตามกฎหมาย

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย แถลงว่า ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวของเยาวชนที่เสียชีวิตในครั้งนี้ และเน้นย้ำว่า การใช้กระสุนจริงกับผู้ชุมนุมเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่ง ทางการไทยต้องสอบสวนอย่างเร่งด่วนต่อการยิงผู้ชุมนุมที่เป็นเด็กและเยาวชนที่เกิดขึ้นบริเวณสามเหลี่ยมดินแดง รวมทั้งการใช้อาวุธปืนอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมายทุกกรณี เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องคุ้มครองสิทธิของผู้ชุมนุมโดยสงบ ไม่ให้ถูกแทรกแซงหรือถูกกระทำด้วยความรุนแรงจากบุคคลที่สามด้วย

"แม้เยาวชนที่ถูกยิงได้เสียชีวิตไปแล้ว แต่กระบวนการในการสืบสวนสอบสวนเพื่อค้นหาความจริงต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็ยังคงต้องดำเนินการต่อไป ทางการไทยต้องสอบสวนสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และให้นำตัวผู้กระทำอันตรายทางร่างกายที่เกิดขึ้นกับผู้ชุมนุมหรือผู้รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ดังกล่าวเข้ารับการไต่สวนและลงโทษตามกระบวนการยุติธรรม"

ขอไปชุมนุมกับเพื่อน

ก่อนหน้านี้ นางนิภาพร อายุ 37 ปี เล่าถึงลูกชายของเธอให้บีบีซีไทยฟังว่า ลูกเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ในโรงเรียนสามัญแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เขาไม่ได้มีความสนใจในด้านการเมืองเป็นพิเศษ ใช้ชีวิตเหมือนวัยรุ่นทั่วไปที่ชอบไปไหนมาไหนกับเพื่อน ๆ และวันที่ 16 ส.ค. ก็เป็นการเข้าร่วมชุมนุมครั้งแรก

"น้องโทรมาหาแม่ว่าขอไปชุมนุมกับเพื่อนได้มั้ย แม่ก็บอกว่าไม่ได้ ห้ามไปเด็ดขาด เดี๋ยวไปติดโรค (โควิด-19) มา แล้วเอามาติดที่บ้าน"

นอกจากกลัวติดโควิด-19 แล้ว เธอยังกลัวที่สุดว่าลูกชายจะได้รับบาดเจ็บจากแก๊สน้ำตา เพราะเห็นจากภาพข่าวการชุมนุมหลายครั้งที่ผ่านมา แต่แม่ก็ไม่เคยคิดไปไกลถึงขั้นว่าลูกจะได้รับบาดเจ็บจาก "กระสุนปืน"

หลังจากคุยกันแล้วเธอก็ไม่คิดว่าลูกจะไปร่วมชุมนุม ช่วงเย็นเขาออกจากบ้านไปโดยบอกว่าจะไปหาเพื่อน พอใกล้เวลา 21.00 น. ซึ่งเป็นช่วงเคอร์ฟิว นิภาพรจึงโทรศัพท์ไปหาลูกชาย แต่ติดต่อไม่ได้ จึงคิดว่าคงจะนอนค้างบ้านเพื่อน จึงปิดเสียงโทรศัพท์และเข้านอน

บทสนทนาทางโทรศัพท์นั้นกลายเป็นบทสนทนาสุดท้ายของเธอกับลูกชาย

ไม่คิดว่าลูกจะถูกยิง

คืนนั้นเพื่อน ๆ ของลูกโทรศัพท์เข้ามานับสิบสาย แต่เธอปิดเสียงโทรศัพท์ไว้จึงไม่ได้ยิน และนั่นเป็นเหตุที่ทำให้เธอยังเสียใจจนถึงตอนนี้ที่กว่าจะรู้ข่าวว่าลูกอาการสาหัสอยู่ที่ รพ.ราชวิถี ก็เป็นเวลาเช้าตรู่ของวันรุ่งขึ้นคือวันที่ 17 ส.ค.

"ตี 5 แม่ลงมาดูว่ามีรองเท้าน้องหรือยัง ก็ยังไม่เห็น ก็เลยเปิดโทรศัพท์ดูเห็นคลิปเพื่อนเขาส่งมาให้ แม่ทำไรไม่ถูกเลย"

เธอพยายามตั้งหลักและรีบเดินทางไปยัง รพ. ราชวิถี ซึ่งลูกชายรักษาตัวอยู่ และเฝ้าติดตามอาการอย่างใกล้ชิดจนถึงตอนนี้

เธอเฝ้าแต่คิดว่าลูกอายุยังน้อย ไม่ควรจะต้องมาเจอเหตุรุนแรงขนาดนี้ และคิดว่าเหตุที่เขาเข้าร่วมชุมนุม ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะความอยากรู้อยากเห็น เพราะเห็นคนวัยเดียวกันเข้าร่วม

ความรุนแรง

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

วันที่ 17 ส.ค. รพ. ราชวิถีรายงานอาการของเยาวชนรายนี้ว่า แพทย์ยังไม่สามารถนำกระสุนที่ฝังอยู่ภายในออกได้ เพราะต้องรอประเมินการตอบสนองของผู้ป่วยในช่วงสัปดาห์นี้ก่อน

"ผู้บาดเจ็บไม่มีสติ ไม่หายใจ ไม่มีชีพจร พบบาดแผลกระสุนที่ลำคอด้านซ้าย ทีมแพทย์ได้ทำการใส่ท่อช่วยหายใจและปั๊มหัวใจ จึงกลับมามีสัญญาณชีพ จากการตรวจสอบเพิ่มเติมพบกระสุนปืนค้างอยู่ที่ก้านสมอง 1 นัด และพบกระดูกต้นคอแตก ขณะนี้ผู้บาดเจ็บรักษาตัวอยู่ในไอซีอยู่...ผู้บาดเจ็บอยู่ในอาการโคม่า ไม่รู้สึกตัว อยู่ระหว่างการประเมินอาการบาดเจ็บทางสมอง" รพ. ราชวิถีระบุ

วันที่ 16 ก.ย. ซึ่งเป็นวันครบรอบ 1 เดือนเต็มที่เยาวชนชายคนดังกล่าวถูกยิง นางนิภาพรบอกกับบีบีซีไทยว่าลูกชายยังคงอยู่ในห้องไอซียู และแพทย์ยังไม่สามารถผ่าตัดเอากระสุนที่ฝังอยู่ในก้านสมองออกไปได้ เพราะเขายังไม่สามารถหายใจเองได้

"ส่วนทางคดีก็ยังไม่มีอะไรคืบ รอตำรวจติดต่อมาหลังจากไปแจ้งความที่ดินแดง" นิภาพรบอกบีบีซีไทย พร้อมกับรำพึงว่าตอนนี้เธอต้องกลับไปทำงานตามปกติแล้ว แต่ก็พยายามหาเวลามาเฝ้าลูกที่ รพ. ให้ได้ทุกวัน

นิภาพรได้ไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันที่ สน. ดินแดงขอให้เจ้าหน้าที่สอบสวนหาผู้ก่อเหตุยิงบุตรชายจนได้รับบาดเจ็บสาหัส

"ข่าวก็เงียบไปเลย เราไม่ใช่ครอบครัวดังอะไร" เธอกล่าว

ผบช.น. : "ความรุนแรงไม่ได้มาจากเจ้าหน้าที่"

หลังเกิดเหตุและมีรายงานว่ามีผู้บาดเจ็บจากกระสุนปืน พ.ต.อ.รัฐชัย ศรีวิชัย ผกก. สน. ดินแดง ได้ออกมายืนยันว่าตำรวจไม่ได้ใช้กระสุนจริงยิงใส่กลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณหน้าสถานีตำรวจ ส่วนที่ปรากฏในคลิปที่เผยแพร่ในโลกออนไลน์ว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้อาวุธปืนยิงออกมาจาก สน. นั้นเป็นเพียงกระสุนยาง และมีการนำเครื่องกีดขวางออกมาสกัดกั้นและป้องกันทรัพย์สินของทางราชการ

เมื่อวันที่ 18 ส.ค. ตำรวจแถลงยืนยันว่าอาวุธที่ใช้ในการควบคุมฝูงชนนั้นเป็นไปตามมาตรฐานสากลและ "ไม่ทำให้ถึงแก่ชีวิต"

วันเดียวกันนี้ พล.ต.ท. ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พร้อมด้วย พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลนำทีมร่วมทดสอบการยิงแก๊สน้ำตาที่สนามบุณยะจินดา สโมสรตำรวจ ถ. วิภาวดีรังสิต โดย พล.ต.ท. ภัคพงศ์ระบุว่าต้องการแสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้เครื่องมืออุปกรณ์ในการควบคุมฝูงชนเท่านั้นซึ่งเป็นเครื่องมือที่ได้รับอนุมัติตามมติ ครม. และทั้งแก๊สน้ำตาและกระสุนยางไม่ทำให้ถึงแก่ชีวิต

ตำรวจยิงแก๊สน้ำตา

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, เจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาลสาธิตการใช้ปืนยิงแก๊สน้ำตาให้สื่อมวลชนดู

พล.ต.ท. ภัคพงศ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ถ้าตำรวจไม่ใช้วิธีการปฏิบัติงานอย่างที่ใช้อยู่ในตอนนี้ อาจทำให้เกิดความรุนแรงมากกว่านี้

"สื่อมวลชนก็เห็นแล้วว่าผู้ชุมนุมบางส่วนมีอาวุธ ถ้ากองกำลังจะปะทะกันจริง ๆ มันอาจมีความเสียหายมากกว่านี้" ผบช.น. กล่าวและอธิบายเพิ่มเติมว่ากระสุนยางมีระยะปลอดภัยอยู่ที่ 15 เมตรขึ้นไป ส่วนแก๊สน้ำตามีทั้งแบบขว้างและแบบยิง

"ความรุนแรงที่เกิดขึ้นมันไม่ได้มาจากเจ้าหน้าที่ ตอนนี้เรามีหลักการในการเน้นการรักษาความสงบเรียบร้อยจริง ๆ ถ้าเราไม่มีความจำเป็นจริง ๆ เราก็ไม่ดำเนินการ เราก็พยายามจำกัดขอบเขตการชุมนุมหรือการทำกิจกรรมแล้วก็จัดเส้นทางเลี่ยง" พล.ต.ท. ภัคพงศ์กล่าว

เจ้าหน้าที่ได้นำอาวุธปืน กระสุนยางและแก๊สน้ำตามาแสดงต่อสื่อมวลชน พร้อมทั้งทำการยิงจริงเพื่อให้สื่อมวลชนดูลักษณะการยิง ระยะที่ยิง วิถีกระสุนและจุดที่กระสุนตก

"เราจะไม่ยิงใส่ผู้ชุมนุม เราจะยิงไปตกรอบ ๆ เพราะเราจะใช้ควันในการบังคับควบคุมกล่มผู้ชุมนุม อาวุธที่เราใช้ไม่ได้ทำอันตรายถึงชีวิต" เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ทำการสาธิตอธิบายและทดลองยิงแก๊สน้ำตาให้ดู

เขาอธิบายว่าน้ำหนักแก๊สทั้งลูกคือ 151 กรัม เมื่อใส่ปืนยิงแล้วจะออกมาเป็นแท่งสีน้ำเงินน้ำหนักประมาณ 102 กรัม เมื่อลอยไปจะเกิดการเผาไหม้และเกิดควันในเวลาไม่เกิน 1 นาที

ส่วนปลอกโลหะเมื่อยิงแล้วจะค้างในลำกล้องไม่ลอยไปด้วย ปืนสามารถยิงได้หลัก ๆ 3 ระยะคือ 50, 100 และ 150 เมตร จึงทำการสาธิตว่า แท่งแก๊สน้ำตาที่ยิงออกไปหาฝูงชนเป็นพลาสติกเท่านั้นไม่ใช่โลหะ

สำหรับความแม่นยำของปืนแก๊สน้ำตาจะไม่แม่นยำเหมือนปืนปกติทั่วไป เนื่องจากมีทิศทางลมเป็นปัจจัยหลักของวิถีกระสุน

จับผู้ต้องสงสัย

เกือบ 2 เดือนหลังจากเยาวชนชายวัย 15 ปี ถูกยิง ตำรวจได้แถลงข่าวจับกุมผู้ต้องหาร่วมก่อเหตุได้เมื่อวันที่ 30 ก.ย.

พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) แถลงความคืบหน้าสำคัญในคดีนี้ว่า ตำรวจระบุตัวผู้ต้องสงสัยร่วมก่อเหตุยิงเยาวชนชายอายุ 15 ปีรายนี้ได้แล้ว 3-4 คน จับกุมได้แล้ว 1 คน คือ นายชุติพงษ์ (สงวนนามสกุล) หรือแบงค์ อายุ 28 ปี โดยจับกุมได้ที่ จ.กาญจนบุรี

ล่าสุดนำตัวผู้ต้องหาส่งพนักงานสอบสวน สน.ดินแดง และตั้งข้อหาร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น มีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ยิงปืนในที่สาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควร

"เบื้องต้นผู้ต้องหาให้การปฏิเสธ แต่ยอมรับว่าเป็นบุคคลที่ปรากฏตามภาพในกล้องวงจรปิดจริง" พล.ต.ต.ปิยะระบุ และแสดงความมั่นใจว่าเจ้าหน้าที่มีพยายหลักฐานและประจักษ์พยานเพียงพอที่จะพิสูจน์การกระทำผิด

รอง ผบช.น. กล่าวเพิ่มเติมว่าการสวบสวนเบื้องต้นพบว่าเป็นการ "ยิงสุ่ม" เข้าไปในกลุ่มผู้ชุมนุม โดยคาดว่าแรงจูงใจก่อเหตุมาจากความไม่พอใจกลุ่มผู้ชุมนุมที่มารวมกันบริเวณแยกดินแดง ซึ่งเป็นย่านที่ผู้ต้องหาพักอาศัยอยู่