4 ปีรัฐประหาร: ความตายของ ชัยภูมิ ป่าแส สิทธิมนุษยชนยุคทหารที่ยังไร้คำตอบ

  • เรื่องโดย ธันยพร บัวทอง ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
  • วิดีโอโดย จิราพร คูหากาญจน์ ผู้สื่อข่าววิดีโอ
คำบรรยายวิดีโอ,

4 ปีรัฐประหาร ความตายของ ชัยภูมิ ป่าแส เยาวชนชาวลาหู่

"ตอนที่รู้ข่าวเป็นลมเลย ไม่รู้สึกอะไรเลย เสียใจมาก มีลูกชายคนเดียวก็มาเสียแบบนี้" นาปอย ป่าแส แม่ของนายชัยภูมิ ป่าแส เยาวชนนักกิจกรรมชาติพันธุ์ลาหู่ ซึ่งถูกทหารหน่วยร้อย ม.2 บก.ควบคุมที่ 1 ฉก.ม.5 ยิงเสียชีวิตที่ด่านตรวจถาวรบ้านรินหลวง ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เมื่อ 17 มี.ค. 2560 กล่าวกับบีบีซีไทยที่หมู่บ้านกองผักปิ้ง บ้านเกิดของชัยภูมิ

ในความรู้สึกของผู้เป็นแม่ น้ำตาแห่งความคิดถึงยังคงเอ่อล้นทุกครั้งเมื่อกล่าวถึงลูกชายที่อายุหยุดลงเพียง 17 ปี แม้เวลาผ่านมากว่าหนึ่งปี

เป็นหนึ่งปี ที่คดียังไร้ความกระจ่าง ด้วยเพราะภาพจากกล้องวงจรปิดในเหตุการณ์ที่ชัยภูมิถูกตรวจค้นรถยนต์จนกระทั่งถูกวิสามัญฆาตกรรม ยังไม่ถูกเปิดเผย มีเพียงแม่ทัพภาคที่ 3 และ ผู้บัญชาการทหารบก ระบุกับสื่อมวลชนว่า "เห็นภาพในกล้องวงจรปิดแล้ว"

เป็นหนึ่งปี ที่ไมตรี จำเริญสุขสกุล ผู้ทำหน้าที่ "ผู้ปกครอง" ของชัยภูมิต้องทิ้งบ้านที่ยังสร้างไม่เสร็จ ด้วยความรู้สึกไม่มั่นคงปลอดภัยนับแต่เยาวชนในความดูแล ถูกสังหาร

"คืนหนึ่งได้ยินเสียงแถว ๆ หน้าต่าง ก็มีคนมาเหยียบแกร๊ก เป็นกระเบื้องหรือเศษไม้อะไรสักอย่าง เราก็แง้มออกไปดูไม่มี แต่รู้ว่าต้องมีคนแน่ เลยช่วยกันควานหาจนมาเจอกระสุนปืนวางไว้ให้"

วงจรปิด ด่านบ้านรินหลวง

ที่มาของภาพ, ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น

คำบรรยายภาพ,

ทนายเผยว่า ในไต่สวนการตายชัยภูมิ ป่าแส นัดสุดท้ายเมื่อวันที่ 14 มี.ค.ที่ผ่านมา กองพิสูจน์หลักฐานไม่พบภาพกล้องวงจรปิดในวันเกิดเหตุ

"เจ้าหน้าที่ก็กลัวตายเหมือนกัน"

แม้การเสียชีวิตของเยาวชนลาหู่เกิดขึ้นในพื้นที่ตะเข็บชายแดนไทย-เมียนมา ทว่าได้ส่งผลสะเทือนมาถึงศูนย์กลางในการบริหารราชการแผ่นดิน ทำให้คนระดับรองนายกรัฐมนตรี อย่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ต้องออกมาแจงกับสื่อว่าเป็นการป้องกันตัวของเจ้าหน้าที่ เพราะ "เจ้าหน้าที่ก็กลัวตายเหมือนกัน"

"ตอนนั้นผมพยายามคิดว่าจะเอาเรื่องนี้ไปถึงนายกฯ อย่างไรเพื่อจะร้องขอความเป็นธรรมให้กับพวกผม ช่วยหน่อยว่าลูกน้องคุณที่เป็นทหารทำแบบนี้กับพวกเรา พยายามคิดและจะไปถึงตรงนั้น แต่ปรากฏว่าเรายังไม่ทันทำอะไรเลย เขาก็ออกมาพูดแล้วว่าพวกเราผิด เขาได้ดูคลิปแล้ว..." ไมตรี กล่าวกับบีบีซีไทย ในวันที่ชัยภูมิจากไปกว่าหนึ่งปี

บีบีซีไทย ย้อนทบทวนคดีวิสามัญเยาวชนลาหู่ ประเด็นสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในยุค คสช. กับเหตุการณ์ความรับผิดจากกองทัพที่สังคมเรียกร้อง

หนึ่งปีหลังความตายชัยภูมิ แต่ความทรงจำ 17 ปียังอยู่

ชัยภูมิ หรือ "จะอุ๊" ยังคงอยู่ในความระลึกนึกถึงของบรรดาคนที่รู้จัก และเพื่อนพี่น้องที่เขาคลุกคลีทำกิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรมให้เด็ก ๆ เยาวชน ผ่านดนตรี หนังสั้น และภาพยนตร์ ในนามกลุ่มรักษ์ลาหู่ เพื่อดึงเยาวชนให้ออกห่างจากยาเสพติดในพื้นที่

เขาเป็นที่รู้จักในกลุ่มเยาวชน ภาคประชาสังคม กลุ่มชนเผ่าพื้นเมือง จึงยากที่กลุ่มคนที่รู้จักชัยภูมิดีจะเชื่อได้ว่า เขาเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ตามที่เจ้าหน้าที่ทหารกล่าวอ้างเป็นเหตุที่นำมาสู่การตรวจค้นจนสิ้นสุดที่การวิสามัญฆาตกรรม

เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) ช่วงเดือน มี.ค. 2560 เรียกร้องให้เร่งตรวจสอบกรณีวิสามัญฆาตกรรมนายชัยภูมิ ป่าแส

ที่มาของภาพ, BBC Thai

คำบรรยายภาพ,

เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) ช่วงเดือน มี.ค. 2560 เรียกร้องให้เร่งตรวจสอบกรณีวิสามัญฆาตกรรมนายชัยภูมิ ป่าแส

เมื่อมีชีวิต ชัยภูมิเป็นกำลังหลักที่หาเลี้ยงทุกปากท้อง รับจ้างทุกอย่างที่ทำได้ ในวันหยุด เงินที่ได้มาก็เป็นทั้งค่าเล่าเรียนของตัวเอง เป็นค่ากินอยู่ให้แม่ และส่งเสียน้องชายต่างบิดาให้ได้เรียนหนังสือ

"มีลูกอีกคน เดินเที่ยวอยู่แถวนี้ 11 ขวบแล้ว ตอนที่พี่เขาไม่อยู่ นี่ไม่ไปโรงเรียนแล้ว เพราะว่าไม่มีค่าเรียนหนังสือ" นาปอย กล่าวกับบีบีซีไทย

หลังสูญเสียลูก นาปอย ย้ายมาอยู่ที่บ้านของ ไมตรี จำเริญสุขสกุล ผู้แลชัยภูมิ ที่ลูกชายของเขานับถือเหมือนญาติพี่น้อง "ไม่มีข้าวกิน ไม่มีงานทำ" คือเหตุผลที่เธอบอก

นาปอย ป่าแส

ที่มาของภาพ, Jiraporn Kuhakan/BBC Thai

คำบรรยายภาพ,

หลังสูญเสียลูกชาย นาปอย ป่าแส ย้ายมาอยู่ที่บ้านของไมตรี จำเริญสุขสกุล ผู้แลชัยภูมิ เนื่องด้วยความยากลำบากในการหารายได้เลี้ยงปากท้อง

ภาพวงจรปิด ข้อเท็จจริงที่สาบสูญ

ภายหลังการเสียชีวิต ครอบครัวและเพื่อนจึงออกมาทวงถามข้อสงสัยที่ว่าเจ้าหน้าที่กระทำการเกินกว่าเหตุหรือไม่ กับประเด็นเรื่องภาพจากกล้องวงจรปิด

พล.ท.วิจักขฐ์ สิริบรรสพ แม่ทัพภาคที่ 3 เจ้าของวลี "ถ้าเป็นผมในเวลานั้นอาจกดออโต้ไปแล้วก็ได้" กล่าวในวันที่ 27 มี.ค. ว่า ได้ส่งมอบภาพวงจรปิดในวันเกิดเหตุให้กับตำรวจเพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานในชั้นศาลแล้ว จึงไม่สามารถนำมาเผยแพร่ได้

17 เม.ย. 2560 หนึ่งเดือนหลังเกิดเหตุ บีบีซีไทย ได้ตรวจสอบกับหนึ่งในพนักงานสอบสวนพบว่า ตำรวจยังไม่ได้ภาพวงจรปิดจากทหาร

ผ่านมาจนถึงการไต่สวนการตายของชัยภูมินัดสุดท้ายในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ภาพวงจรปิดยังไม่ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะ

นายสุมิตรชัย หัตถสาร ทนายความศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น ทนายความของผู้ตาย เปิดเผยกับบีบีซีไทยถึงรายงานของกองพิสูจน์หลักฐานกลาง (พฐ.) ที่นำมาเปิดเผยในชั้นไต่สวน ระบุว่า "ไม่พบภาพวันเกิดเหตุในฮาร์ดดิสก์ แต่พบว่ามีการบันทึกสำเนาออกไป" เป็นภาพในช่วงเวลา 10 นาฬิกา ของวันที่ 17 มี.ค.2560

ตรรวจค้นรถชัยภูมิ

ที่มาของภาพ, facebook/OpSingleGateway

คำบรรยายภาพ,

เฟซบุ๊กเพจ พลเมืองต่อต้าน ซิงเกิล เกตเวย์เพื่อเสรีภาพ นำภาพทหารตรวจค้นรถยนต์ของหนุ่มลาหู่ ไม่มีภาพการต่อสู้ขัดขวางต้านก่อนถูกวิสามัญฯ มาเผยแพร่บนโลกออนไลน์

ย้อนกลับไปดูการให้สัมภาษณ์สื่อ จะมีก็แต่เพียง พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก และ พล.อ.พล.ท.วิจักขฐ์ สิริบรรสพ แม่ทัพภาคที่ 3 ที่ได้เห็นเหตุการณ์จากภาพในกล้องวงจรปิดแล้ว

"สิ่งที่เราเสียดายคือหลักฐานสำคัญไม่ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม" นายสุมิตรชัย กล่าว

ส่วนคำชี้แจงของ แม่ทัพภาคที่ 3 ยืนยันว่ากองทัพส่งหลักฐานทั้งหมดให้กับพนักงานสอบสวนแล้ว และพร้อมน้อมรับคำตัดสินของศาลยุติธรรม

"ตั้งแต่แรกเลยผมบอกว่า ผมไม่ได้แทรกแซงกระบวนการของฝ่ายตำรวจ พอเกิดเหตุการณ์ขึ้นมา มีประชาชนเสียชีวิต ก็เป็นเรื่องของฝ่ายตำรวจ จะใช้อำนาจของทหารเข้าไปไม่เหมาะที่จะกระทำ"

ศาลจังหวัดเชียงใหม่จะมีคำสั่งในคดีไต่สวนการตายในวันที่ 6 มิ.ย.นี้

หวนคืนมาตภูมิ

เดือน เม.ย. กิจกรรมเยาวชนที่ชัยภูมิหรือ "จะอุ๊" ของเพื่อนพี่น้อง เคยเป็นเรี่ยวแรงสำคัญกลับมาจัดขึ้นอีกครั้ง หลังการเสียชีวิตของเขา

นี่ยังเป็นครั้งแรกที่ ไมตรี ผู้ปกครองของชัยภูมิ ได้กลับมานอนบ้านของตัวเอง หลังจากต้องหนีออกไปจากหมู่บ้านด้วยความหวาดกลัวเรื่องความปลอดภัยในชีวิต ตั้งแต่วันที่ 29 พ.ค. 2560 ซึ่งเป็นวันที่น้องสะใภ้ และญาติของชัยภูมิ ถูกตำรวจมาบุกจับด้วยข้อหาเกี่ยวข้องยาเสพติด

กิจกรรม ชัยภูมิ

ที่มาของภาพ, Jiraporn Kuhakan/BBC Thai

คำบรรยายภาพ,

เยาวชนร่วมนำ "ดอกเสื้อ" สัญลักษณ์แทนความหวังว่าจะได้กลับมาเจอผู้ล่วงลับตามวัฒนธรรมของชาวลาหู่ มาวางบนหลุมศพของชัยภูมิ ป่าแส ในงานรำลึกการเสียชีวิตเมื่อเดือน เม.ย.

ก่อนหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่หน่วยปราบปรามยาเสพติด (ปปส.) จะสนธิกำลังมาที่หมู่บ้าน ไมตรีเผชิญกับภาวะที่ทำเขาไม่รู้สึกปลอดภัย ภายหลังชัยภูมิเสียชีวิต ทั้งเหตุการณ์ที่มีบุคคลขี่รถจักรยานยนต์วนเวียนละแวกบ้านเพื่อถ่ายรูป พบกระสุนปืนไม่ทราบที่มาวางไว้ข้างบ้าน

"เริ่มด้วยการถูกเรียกไปเจรจา โดยที่ไม่ให้มีทนาย พอไม่ไปสักพักก็มีคนมาถ่ายรูปบ้าน ขับมอเตอร์ไซค์มาวนตลอด เจอกระสุนปืนวางไว้ที่เสาข้างห้องน้ำ น้องชายหยิบมาแล้วบอกว่า เขาขู่แล้วนะ วางก็คือขู่ แต่อีกรอบคงไม่วางไว้ตรงนั้นแล้ว คงจะมาอยู่ในร่างกายของเราสักคนหนึ่ง" ไมตรีกล่าวกับบีบีซีไทย

บ้านไมตรี

ที่มาของภาพ, Jiraporn Kuhakan/BBC Thai

คำบรรยายภาพ,

ปีที่แล้ว ไมตรี จำเริญสุขสกุล ประธานกลุ่มรักษ์ลาหู่และผู้ดูแลชัยภูมิ ต้องเผชิญจากการคุกคามจนต้องย้ายออกไปจากหมู่บ้านกองผักปิ้ง

แม่ทัพภาคที่ 3 ปฏิเสธเรื่องนี้ และระบุว่าตรวจสอบไม่พบกรณีแบบนี้ พร้อมชี้ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐระวังตัว

"ผมว่าไม่ใครคิดทำอย่างนี้ ยิ่งมีเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นแล้วยังไปทำอะไรต่อให้ขัดข้องหมองใจมันเป็นไปไม่ได้ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องกระทำ มีอย่างเดียวคือเยียวยาให้ความช่วยเหลือ มากกว่าไปทำให้เกิดความคิดในเชิงลบกับรัฐ" พล.ท.วิจักขฐ์ ชี้แจงกับบีบีซีไทยทางโทรศัพท์

รัฐต้องปกป้องประชาชน

ย้อนกลับไปเมื่อปีที่แล้ว ไมตรีเคยคิดจะร้องขอความเป็นธรรมไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรัฐประหาร แต่การออกมาให้ข่าวของนายทหารในกองทัพหลายคน ทำให้เขาเปลี่ยนความคิด

"...ตอนนั้นในข่าวที่เขาบอกว่าเห็นคลิปที่บอกว่าน้องชัยภูมิจะปาระเบิด ผมเลยคุยกับพี่น้องเลยว่า เราก็ต้องทำใจแล้ว ถ้าคนของเราทำแบบนี้ก็คงเป็นอย่างนั้นจริง แต่พอสืบไปสืบมา กล้องไม่ยอมเปิดเผย ก็แสดงว่าไม่ใช่ เราก็เริ่มอยากเห็นมากขึ้น ว่าจริง ๆ แล้วน้องเราโดนกระทำเพราะอะไร…" ไมตรี กล่าวกับบีบีซีไทย

ไมตรีมองว่า รัฐบาลและผู้นำประเทศ มีหน้าที่ปกป้องความปลอดภัยในชีวิตแก่ประชาชน เขาแสดงผิดหวังต่อปฏิกิริยาในเชิงปกป้องของนายทหาร ทั้งที่ทหารควรเป็นที่พึ่งของประชาชนให้เห็นข้อเท็จจริงและความโปร่งใสที่ไม่ปกปิดจากกองทัพ

ไมตรี ประธานกลุ่มรักษ์ลาหู่

ที่มาของภาพ, Jiraporn Kuhakan/BBC Thai

คำบรรยายภาพ,

ข้อสงสัยต่อภาพเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุว่าเป็นอย่างไรยังเป็นสิ่งที่ไมตรีต้องการเห็น เขาระบุว่า ไม่ว่าเหตุการณ์จะเป็นอย่างไรเขาพร้อมยอมรับกับข้อเท็จจริงนั้น

"คุณต้องให้ความเป็นธรรมกับลูกทุกคน ไม่ใช่ว่าปกป้องเฉพาะลูกที่มีเครื่องแบบ ลูกที่แบกปืน พวกเราไม่มีปืนไม่มีอะไร ก็คือลูกของคุณเหมือนกัน"

"ผมคิดว่าทหารก็ทำผิดเป็น ไม่ใช่ว่าคนที่ใส่ชุดทหารแล้วทำผิดไม่เป็น แต่ในขณะเดียวกันทหารก็มีคนดีเยอะ เพื่อน ๆ (ทหาร) ที่ช่วยเหลือชาวบ้านก็เยอะ เพราะฉะนั้นเราไม่ได้เหมารวมทั้งหมดว่า ทหารทั้งหมดไม่ดี แต่สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นคือ ถ้าทหารทำผิด อย่าปกป้องได้ไหม... เราไม่ได้เกลียดทหารไม่ได้เกลียดเจ้าหน้าที่ แต่เกลียดความไม่เป็นธรรมที่คุณทำกับพวกเรา "

ไม่ใช่เพียงแต่คดีของชัยภูมิ แต่รวมถึงหลายเรื่องที่เกิดขึ้นกับคนเล็กคนน้อย ไมตรีมองว่า รัฐบาลจะสร้างความเชื่อใจแก่ประชาชนได้ ต่อเมื่อไม่มองข้ามกลุ่มคนเหล่านี้ และเชื่อว่าผู้นำมีอำนาจพอที่จะทำให้กรณีของชัยภูมิเกิดความเป็นธรรม

"เขาอาจจะมองว่า ถ้าหากทำให้พวกผมถูก ชื่อเสียงของทหารก็จะไม่ดี แต่ผมกลับมองตรงข้าม ถ้าเขาจัดการเรื่องนี้ให้เห็นได้ว่ายุติธรรมพอที่จะช่วยเหลือ มีความเป็นธรรมพอ ชาวบ้านก็จะรู้สึกว่าเขาเป็นฮีโร่ เขาคู่ควรกับตำแหน่ง เขาคือพ่อของเราจริง ๆ" ไมตรีกล่าว

กิจกรรม ชัยภูมิ

ที่มาของภาพ, Jiraporn Kuhakan/BBC Thai

ขณะที่การออกมาต่อสู้และเปิดเผยสิ่งที่ถูกคุกคามถูกมองจากบุคคลในอำนาจรัฐ ว่าเป็นอคติกับเจ้าหน้าที่ ไมตรียืนยันว่าสิ่งที่เขาทำไม่ได้เกิดจากเหตุแห่งความเกลียดชังทหาร แต่ทำเพื่อความยุติธรรม

"ผมอยากให้จบแบบยุติธรรม ถ้าเราผิดจริงก็ไม่เป็นไร เอาภาพออกมา เอาหลักฐานออกมาให้เห็นเลยว่าผิดจริง ถึงแม้ว่าจะทำใจยาก เราก็ต้องทำใจว่ามันคือความจริงใช่ไหม แต่ในขณะนี้เราไม่รู้ว่าความจริงที่คุณให้ มันใช่ไหม มันมีข้อน่าสงสัยหลายอย่าง ตั้งแต่ทุก ๆ กระบวนการ"

แม่ทัพภาคที่ 3

ที่มาของภาพ, ศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองทัพภาคที่ 3

คำบรรยายภาพ,

แม่ทัพภาคที่ 3 ระบุว่า กรณีที่ศาลไต่สวนการตายให้เป็นไปตามหลักฐานข้อเท็จจริง และพร้อมน้อมรับคำตัดสินของศาลยุติธรรม ที่จะให้ความเป็นธรรรมทั้งฝ่ายผู้ตายและเจ้าหน้าที่

แม่ทัพภาคที่ 3 ชี้แจงต่อกระแสสังคมที่มองการกระทำของทหารว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน และ ยืนยันให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายตามข้อเท็จจริง ถ้าทหารทำผิดก็ลงโทษตามกฎหมายบ้านเมือง ถ้าผู้ตายผิดพลาดไปก็ว่ากันตามกฎหมาย

"คนที่รู้ข้อเท็จจริงเขาจะมองได้ถูกต้อง แต่ถ้าคนฟังเขาเล่าก็อาจจะมองและเชื่อในข้อมูลบางด้าน" แม่ทัพภาคที่ 3 กล่าวกับบีบีซีไทย

องค์กรสิทธิมนุษยชน ชี้จำเป็นที่รัฐต้องทำความจริงให้ปรากฏ

กรณีที่เกิดขึ้นกับชัยภูมิถูกบรรจุลงรายงานขององค์กรด้านสิทธิมนุษยชนอย่างน้อย 2 องค์กร ทั้งในรายงานด้านสิทธิมนุษยชนทั่วโลก ประจำปี 2560 ของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ออกเมื่อ เม.ย. ว่าเป็นหนึ่งในการใช้กำลังเกินกว่าเหตุต่อผู้ต้องสงสัย ผู้กระทำผิด และเป็นการฆ่าโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

และรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลกของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประจำปี 2560-2561 ที่บันทึกให้กรณีวิสามัญชัยภูมิ เป็นหนึ่งในคดีละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการสังหารนอกกระบวนการกฎหมายของเจ้าหน้าที่

หมู่บ้านกองผักปิ้ง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่

ที่มาของภาพ, Jiraporn Kuhakan/BBC Thai

คำบรรยายภาพ,

หมู่บ้านกองผักปิ้ง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เป็นพื้นที่ตะเข็บชายแดนไทย-เมียนมา

สอดคล้องกับข้อค้นพบของฮิวแมนไรท์วอทช์ ที่ระบุในจดหมายเรียกร้องให้รัฐบาลไทยดำเนินการสอบสวนคดีชัยภูมิอย่างโปร่งใสว่า การปฏิบัติโดยมิชอบของเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจต่อการปราบปราบยาเสพติดยังคงเกิดขึ้นในรัฐบาลอื่น ๆ ภายหลังยุคสงครามยาเสพติด

"ผู้ถูกสังหารหลายคนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดทางภาคเหนือ ซึ่งมักมีข้อพิพาทกับเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่น เป็นเหตุให้พวกเขาถูกขึ้นบัญชีดำว่าเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีค้ายาเสพติด หลายคนถูกสังหารที่ด่านตรวจ หรือถูกสังหารไม่นานหลังจากกลับจากการถูกเรียกตัวให้ไปรายงานตัวที่ฐานทัพหรือโรงพักในพื้นที่เพื่อสอบปากคำ" ฮิวแมนไรท์วอทช์ ระบุ

ด้านนางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เสริมว่า

"เหตุวิสามัญชัยภูมิ ถือว่าเป็นอาชญากรรมของรัฐ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐต้องทำความจริงให้เกิดขึ้นที่ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกัน"

หมายเหตุ : ติดตามรายงานพิเศษชุด "4 ปีรัฐประหาร" ได้ตลอดสัปดาห์