วัดปรับตัวอย่างไรเมื่อต้องคุมมลพิษจากเตาเผาศพ

getty

ที่มาของภาพ, Getty Images

ราว 1 ชั่วโมง คือเวลาที่ใช้ในการเผาศพหนึ่งศพ ในเตาเผาของเมรุวัดราษฎร์นิยมธรรมหรือวัดหนองผักชี ในย่านสะพานใหม่ เขตสายไหม กรุงเทพฯ ที่พระครูปลัดสำราญ สุทันโต ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัด บอกกับบีบีซีไทย

อาจจะนานหรือเร็วกว่านี้ ขึ้นอยู่กับขนาดของร่างกายผู้เสียชีวิต และความเปียกความแห้งของศพ โดยสัปเหร่อจะ "อุ่นไฟ" ให้อุณหภูมิความร้อนได้ที่ในช่วงแรก เพื่อลดการเกิดควันจำนวนมาก ก่อนเร่งไฟให้สูงในช่วงหลัง

"ถ้าตัวใหญ่ต้องใช้เวลาหน่อย เพราะมันต้องรุมไฟ ไปเร่ง (ไฟ) ทีแรกก็ไม่ได้ ควันดำโขมงออกไปหมด เจ้าหน้าที่เขาก็ต้องรุม ๆ มัน"

หลวงพ่อพระครูปลัดสำราญ บอกกับเราว่า ที่วัดเปลี่ยนมาใช้แก๊ส (ก๊าซหุงต้ม) เผาศพมากว่า 30 ปีแล้ว เพราะมีความสะดวกและเป็นเชื้อเพลิงที่ราคาถูกกว่าน้ำมัน ช่วงหนึ่งทางวัดเคยใช้เตาเผาศพจากแก๊สที่มีระบบตั้งเวลาและควบคุมอุณหภูมิอัตโนมัติ แต่มีนักการเมืองเข้ามาแนะนำให้เปลี่ยนเพราะแบบอัตโนมัติค่าใช้จ่ายแพงกว่า ตอนนี้ทางวัดจึงใช้วิธีให้เจ้าหน้าที่คอยควบคุมระดับความร้อนของไฟที่ใช้เผา ค่อย ๆ เร่งไฟตามความชำนาญที่ทำมาหลายปี

"วันหนึ่งไม่ใช่แค่มีเผาศพเดียว เมื่อเผาหนึ่งศพแล้ว จะเผาอีกศพหนึ่งมันจะต้องใช้เวลารอให้อีกเตามันเย็น เพราะเตาอยู่ติดกันความร้อนจะมาก ต้องทิ้งห่างประมาณ 2 ชั่วโมง ไปแล้ว จึงจะเผาได้อีกศพ"

ต่อกรณีที่ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำหนดให้เตาเผาศพเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษต้องถูกควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสียออกสู่สิ่งแวดล้อม ที่ล่าสุดเพิ่งประกาศใช้ พระครูปลัดสำราญ บอกว่า เห็นด้วยกับการควบคุมมลพิษเช่นนี้ เพราะวัดก็อยู่ในชุมชนที่รายล้อมไปด้วยบ้านจัดสรรและโรงเรียน แต่การจะวัดว่ามีมลพิษออกไปเท่าไหร่ ทางวัดไม่มีอุปกรณ์ ต้องเป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ที่จะเข้ามาสนับสนุนและตรวจวัด

"วัดเราไม่มีอุปกรณ์หรอก แต่การควบคุมมลพิษอันนั้นเห็นด้วย วัดอยู่ใกล้กับโรงเรียน เราก็ต้องควบคุม" พระครูปลัดสำราญ กล่าวกับบีบีซีไทย

"ถ้าไม่มีผลกระทบเลย เป็นไปไม่ได้หรอกโยม... เอาง่าย ๆ แค่ไม่มีควันไป กลิ่นมันก็ไปแล้ว"

ประกาศกระทรวงทรัพยยากรฯ ฉบับใหม่ เรื่องเตาเผาศพ บอกว่าอย่างไร

ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำหนดให้เตาเผาศพเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษต้องถูกควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสียออกสู่สิ่งแวดล้อม ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2565 นั้นไม่ใช่กฎหมายใหม่ ทว่าเป็นการปรับปรุงจากประกาศฉบับเดิมที่ออกเมื่อปี 2546

แต่สิ่งที่เพิ่มเติมมา คือ ประกาศอีกฉบับที่ออกมาพร้อมกัน คือ ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องกำหนดมาตรฐานค่าความทึบแสงของเขม่าควัน จากปล่องเตาเผาศพปี 2565

ทั้ง 2 ฉบับ ลงนามโดยนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

สิ่งที่เปลี่ยนไปคือ รายละเอียดการควบคุมการปล่อยมลพิษด้วยการใช้มาตรฐานค่าความทึบแสงของเขม่าควัน ที่การควบคุมจำกัดเพดานของมลภาวะที่ปล่อยออกมามากกว่าเดิม

ประกาศเดิมปี 2546 (กำหนดค่ามาตรฐานความทึบแสง) เขม่าควันที่ปล่อยทิ้งจากปล่องเตาเผาศพ ต้องมีค่าความทึบแสงไม่เกินร้อยละ 10 เมื่อตรวจวัดด้วยแผนภูมิเขม่าควันของริงเกิลมานน์

ประกาศฉบับใหม่ปี 2565 กำหนดให้เตาเผาศพเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษ และประกาศกำหนดค่าความทึบแสงของเขม่าควัน ระบุว่า เขม่าควันที่ปล่อยทิ้งจากปล่องเตาเผาศพ ต้องมีค่าความทึบแสงไม่เกินร้อยละ 10 (ข้อ 3)

และเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับตั้งแต่วันที่ประกาศมีผลบังคับใช้ ให้เขม่าควันที่ปล่อยทิ้งจากปล่องเตาเผาศพตามข้อ 3 ต้องมีค่าความทึบแสงไม่เกินร้อยละ 7

การสังเกตค่าความทึบแสงของเขม่าควันจากปล่องเตาเผาศพ ให้ใช้เวลา 30 นาที

getty

ที่มาของภาพ, Getty Images

บังคับใช้ที่ไหนบ้าง

ประกาศนี้ให้ใช้บังคับกับเตาเผาศพในเขตพื้นที่ ดังต่อไปนี้

  • ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร เขตเมืองพัทยา เขตเทศบาลนครและเขตเทศบาลเมืองให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
  • ในเขตพื้นที่อื่นนอกเหนือจากนี้ ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 3 ปี นับแต่ออกราชกิจจานุเบกษา

เตาเผาศพในกรุงเทพฯ มีมาตรฐานแค่ไหน

เตาเผาศพตามวัดในปัจจุบัน มีทั้งประเภทดั้งเดิมที่ใช้ถ่าน ไม้ ฟืน เป็นเชื้อเพลิง และเป็นเตาเผาชนิด 1 ห้องเผา ส่วนที่มาตรฐานสูง ๆ จะเป็นเตาเผาที่มีอย่างน้อย 2 ห้องเผา ใช้น้ำมันดีเซล หรือก๊าซเป็นเชื้อเพลิง หรือไฟฟ้า มีการควบคุมอุณหภูมิและระยะเวลาในการเผา ทั้งนี้ระดับคุณภาพมาตรฐานของเตาเผาศพ ที่กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ กำหนด มี 4 ระดับ

สำหรับเตาเผาศพในกรุงเทพมหานคร กรมควบคุมมลพิษระบุข้อมูลล่าสุดเมื่อเดือน ก.ค. 2564 ว่า ส่วนใหญ่เป็นเตาเผาศพระดับที่ 3 มีประสิทธิภาพในการควบคุมมลพิษในระดับดีเยี่ยม

กรมควบคุมมลพิษ

ที่มาของภาพ, กรมควบคุมมลพิษ

จะตรวจสอบควบคุมได้อย่างไร

ด้านนายสนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย ให้ข้อมูลไว้ในเฟซบุ๊ก Sonthi Kotchawat ว่า หากเผาศพแล้วปล่อยควันดำที่ปลายปล่องมีค่าเกินร้อยละ10 ของแผ่นแผนภูมิริงเกิลมานน์ ถือว่าผิดกฎหมายพนักงานควบคุมมลพิษสั่งระงับให้หยุดเผาได้

วิธีการตรวจวัดทำโดยให้ผู้ตรวจวัดยืนห่างเมรุเผาศพประมาณ 3 เท่าของความสูงของปล่อง แต่ไม่เกิน 400 เมตร และให้สังเกตเขม่าควันที่ระบายจากปล่องด้วยสายตาและเปรียบเทียบค่าความทึบแสงที่เห็นกับแผน ภูมิเขม่าควันของริงเกิลมานน์ เป็นเวลา 30 นาที

หากค่าเฉลี่ยของค่าความทึบแสงเกินร้อยละ 10 ของแผนภูมิต้องถูกสั่งหยุดเตาเผาเพื่อปรับปรุงหรือเสียค่าปรับรายวันจำนวน 4 เท่าของค่าใช้จ่ายในการเดินระบบในแต่ละวัน

การจะตรวจสอบว่าเตาเผาศพปล่อยมลพิษทางอากาศเกินมาตรฐานหรือไม่ ต้องตรวจวัดขณะกำลังเผาศพ หากเกินค่าที่กำหนดต้องสั่งหยุดปรับปรุงทันที และถือเป็นความผิดซึ่งหน้า

มลพิษที่เกิดจากเตาเผาศพ เกิดขึ้นจากอะไร

  • การเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ ได้แก่ ฝุ่นละออง เขม่าควัน กลิ่นเหม็น ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ และก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์
  • การเผาไหม้วัสดุตกแต่งโลงศพ เช่น พวงหรีด พลาสติก สีทาโลง ซึ่งจะก่อให้เกิดโลหะหนัก เช่น แคดเมียม ตะกั่ว ปรอท และสารไดออกซินและฟิวแรน

คำแนะนำในการลดมลพิษจากเตาเผาศพเบื้องต้น

  • ใช้เตาเผาศพชนิด 2 ห้องเผา (ห้องเผาศพ, ห้องเผาควัน)
  • คัดแยกวัสดุที่ไม่ควรเผาออก ได้แก่ พวงหรีด โฟม พลาสติก วัสดุตกแต่งโลงศพต่างๆ
  • อุ่นห้องเผาควัน (ห้องเผาสุดท้าย) ก่อนติดไฟห้องเผาศพ และควบคุมอุณหภูมิไม่ให้ต่ำกว่า 850 องศาเซลเซียส
  • ควบคุมอุณหภูมิในห้องเผาศพ (ห้องเผาแรก) ไม่ให้ต่ำกว่า 800 องศาเซลเซียส
  • ตรวจสอบว่าเกิดการเผาไหม้สมบูรณ์หรือไม่ โดยสังเกตเขม่าควันที่ปลายปล่อง
  • หลังจากเผาศพเรียบร้อยแล้ว ให้ทำความสะอาดเตาเผาและกวาดเถ้าออกให้หมด
  • สวมใส่เสื้อผ้าที่มิดชิด แว่นตา รองเท้า ผ้าปิดจมูก ถุงมือ ตลอดระยะเวลาที่ทำงาน

ที่มา : กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ