โควิด-19: เปรียบเทียบวัคซีนของ 4 บริษัท

เอลิซา กรานาโต กำลังรับวัคซีน
คำบรรยายภาพ, เอลิซา กรานาโต เป็นหนึ่งในอาสาสมัครที่รับวัคซีนซึ่งกำลังได้รับการพัฒนาโดยมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด

บริษัทหลายแห่งกำลังเร่งพัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

ปัจจุบัน วัคซีนของ 4 บริษัท คือ อ็อกซ์ฟอร์ด-แอสตร้าเซนเนก้า (Oxford-Astrazeneca), ไฟเซอร์-ไบออนเทค (Pfizer-BioNTech), สปุตนิก (Sputnik) และโมเดอร์นา (Moderna) ล้วนถูกนำมาฉีดแล้วให้คนหลายสิบล้านทั่วโลก

วัคซีนของใครได้ผลดีที่สุด

อาสาสมัครมากกว่า 20,000 คน เข้าร่วมการทดลองวัคซีนขั้นที่ 3 ของอ็อกซ์ฟอร์ด ครึ่งหนึ่งอยู่ในสหราชอาณาจักรและที่เหลืออยู่ในบราซิล โดยมีการแบ่งกลุ่มอาสาสมัครเป็น 3 กลุ่ม เพื่อให้รับวัคซีน 1 โดส หรือ 2 โดส หรือวัคซีนหลอก จากนั้นจะมีการประเมินผลการตอบสนองในวันที่อาสาสมัครเหล่านี้รับวัคซีน และจะติดตามผลในอีก 1 สัปดาห์, 2 สัปดาห์ และ 4 สัปดาห์ หลังการรับวัคซีนทั้ง 2 โดส

นักวิจัยบอกว่า วัคซีนนี้ป้องกันการติดโรคโควิด-19 ได้ผล 70%

เมื่ออาสาสมัครได้รับวัคซีนในโดสที่ "สูง" สองโดส สามารถป้องกันการติดโรคได้ที่ 62% แต่ตัวเลขนี้จะสูงถึง 90% หากได้รับวัคซีนโดส "ต่ำ" หนึ่งครั้ง แล้วตามมาด้วยโดส "สูง" หนึ่งครั้ง แต่ยังไม่ทราบเหตุผลที่แน่ชัดว่าทำไมจึงให้ผลที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ยังพบการติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการในระดับที่ต่ำลงในกลุ่มที่รับวัคซีนโดสแรกต่ำและโดสหลังสูงอีกด้วย

คำบรรยายวิดีโอ, โควิด-19: วัคซีนจะพร้อมใช้งานได้เมื่อไหร่

เมื่อ พ.ย. ปีที่แล้ว บริษัทไฟเซอร์ (Pfizer) และไบออนเทค (BioNTech) ซึ่งเป็นผู้คิดค้นวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ประกาศว่า ผลการทดลองวัคซีนนี้กับคน 43,500 คน ใน 6 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ เยอรมนี บราซิล อาร์เจนตินา แอฟริกาใต้ และตุรกี โดยผู้เข้าร่วมการทดลองจะได้รับวัคซีน 2 โดส ในระยะเวลาห่างกัน 3 สัปดาห์ พบว่าทำให้คน 90% มีภูมิคุ้มกันจากโรคโควิด-19

ส่วนผลเบื้องต้นของการทดลองในขั้นที่สามของ โมเดอร์นา บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพและเวชภัณฑ์จากสหรัฐฯ บ่งชี้ว่า วัคซีนชนิดใหม่ของบริษัทมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้ เกือบ 95%

โมเดอร์นา ทดลองวัคซีนชนิดนี้กับอาสาสมัคร 30,000 คนในสหรัฐฯ โดยให้อาสาสมัครครึ่งหนึ่งได้รับวัคซีน 2 โดส โดยมีระยะเวลาการให้วัคซีนห่างกัน 4 สัปดาห์ ส่วนอาสาสมัครอีกครึ่งที่เหลือได้รับยาหลอกซึ่งไม่มีตัวยาจริง

ผลปรากฏว่า มีอาสาสมัครที่ได้รับวัคซีนจริงติดเชื้อโรคโควิด-19 เพียง 5 คน ส่วนกลุ่มที่ได้รับยาหลอกติดเชื้อไป 90 คน บริษัทระบุว่าวัคซีนตัวนี้สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 94.5%

นอกจากนี้ข้อมูลยังแสดงให้เห็นว่า ในการทดลองครั้งนี้มีผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 อาการรุนแรง 11 คน แต่ไม่ใช่คนในกลุ่มที่ได้รับวัคซีนจริง

ส่วนวัคซีนของบริษัทกามาเลยา (สปุตนิก วี) ซึ่งทราบผลเบื้องต้นในการทดลองขั้นที่ 3 แล้วเช่นกัน พบว่า ประสิทธิผลของวัคซีนอยู่ที่ 92%

ความท้าทายในการพัฒนาวัคซีนโควิดคือ การกระตุ้นให้ร่างกายต่อสู้กับเชื้อไวรัสได้ไม่ว่าผู้รับวัคซีนจะมีอายุมากเท่าใดก็ตาม

กราฟิก

ผู้ที่มีอายุมากกว่ามีระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอลง ทำให้วัคซีนหลายชนิดไม่ได้ผลดีเท่ากับผู้ที่มีอายุน้อยกว่า

ผลการทดลองเหล่านี้ของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ซึ่งผ่านการประเมินผลของผู้เชี่ยวชาญในวารสารแลนเซ็ต ระบุว่า เรื่องนี้อาจไม่เป็นปัญหา โดยผลการทดลองพบว่า ผู้ใหญ่ที่มีอายุ 56-69 ปี และมากกว่า 70 ปี มีการตอบสนองของภูมิคุ้มกันใกล้เคียงกับผู้ใหญ่ที่มีอายุ 18-55 ปี

การเก็บรักษาวัคซีน

แม้ผลการทดลองวัคซีนขั้นที่ 3 ของอ็อกซ์ฟอร์ดได้ผลน้อยกว่าของไฟเซอร์-ไบออนเทคและโมเดอร์นา แต่ในระยะยาว มีโอกาสวัคซีนตัวนี้อาจจะถูกนำไปใช้ได้ง่ายกว่า เพราะไม่จำเป็นต้องเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิเย็นจัด โดยสามารถเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิของตู้เย็นปกติ เช่นเดียวกับวัคซีนของบริษัทกามาเลยา (สปุตนิก วี)

ส่วนวัคซีนของไฟเซอร์-ไบแอนเทค ต้องเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิ -70 องศาเซลเซียส และสามารถเก็บไว้ในตู้เย็นธรรมดาได้เพียง 5 วัน และวัคซีนของบริษัทโมเดอร์นาต้องเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิ -20 องศาเซลเซียสเป็นเวลาไม่เกิน 6 เดือน และสามารถเก็บรักษาไว้ในตู้เย็นธรรมดาได้ 1 เดือน

คำบรรยายวิดีโอ, โควิด ติดซ้ำได้หรือไม่

ชนิดของวัคซีน

วัคซีนของอ็อกซ์ฟอร์ด ทำมาจากไวรัสไข้หวัดทั่วไป (หรือที่รู้จักกันในชื่อ อะดีโนไวรัส-adenovirus) ที่อ่อนแอ โดยได้นำเชื้อนี้มาจากลิงชิมแปนซีไปดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อที่เชื้อไวรัสนี้จะไม่สามารถขยายตัวในมนุษย์ได้ จากนั้นจะนำยีนที่ได้มาจากปุ่มโปรตีนของเชื้อไวรัสโคโรนาไปใส่ในไวรัสไข้หวัดที่อ่อนแอและไม่เป็นอันตรายต่อคนดังกล่าว

วัคซีนที่ได้จะถูกนำไปฉีดให้กับคนไข้ เซลล์ในร่างกายมนุษย์จะสร้างปุ่มโปรตีนไวรัสโคโรนาขึ้น เป็นการกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันสร้างแอนติบอดีหรือภูมิคุ้มกันขึ้น และกระตุ้นให้ที-เซลล์ทำลายเซลล์ที่ติดเชื้อ

เมื่อคนไข้ได้รับเชื้อไวรัสโคโรนาเข้าสู่ร่างกายจริง ๆ ภูมิคุ้มกันและทีเซลล์ก็จะถูกกระตุ้นให้ต่อสู้กับเชื้อไวรัส

โดยวัคซีนของบริษัทกามาเลยาของรัสเซียก็ใช้เชื้อไวรัสที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรมเป็นพาหะเช่นเดียวกัน

ส่วนวัคซีนของไฟเซอร์-ไบออนเทค และบริษัทโมเดอร์นา เรียกว่าวัคซีนอาร์เอ็นเอ ซึ่งผลิตจากชิ้นส่วนสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ เมื่อถูกฉีดเข้าไปในร่างกาย จะกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันของผู้รับวัคซีนสร้างแอนติบอดีที่ใช้ต่อสู้กับเชื้อไวรัสได้

ปัจจุบันไม่เคยมีวัคซีนอาร์เอ็นเอที่ได้รับการรับรองให้ใช้ในคนมาก่อน แต่แนวคิดในการพัฒนาวัคซีนด้วยวิธีนี้เคยมีการศึกษาวิจัยมาก่อนและเคยมีการทดลองทางคลินิกเพื่อใช้ป้องกันโรคอื่น ๆ

ข้าม YouTube โพสต์ , 1
ยินยอมรับเนื้อหาจาก Google YouTube

บทความนี้ประกอบด้วยเนื้อหาจาก Google YouTube เราขอความยินยอมจากคุณก่อนใช้คุกกี้ หรือเทคโนโลยีอื่น ๆ บันทึกอะไรลงไป คุณอาจต้องอ่านนโยบายคุกกี้ของ Google YouTube และนโยบายความเป็นส่วนตัวของ Google YouTube ก่อนให้ความยินยอม หากต้องการอ่านเนื้อหานี้ โปรดเลือก "ยินยอมและไปต่อ"

คำเตือน:เนื้อหาภายนอกอาจมีโฆษณา

สิ้นสุด YouTube โพสต์, 1