ฝุ่น PM 2.5 : คนเชียงราย-เชียงใหม่ ต่อสู้อย่างไร หลังฝุ่นพิษทำเสี่ยง "ตายผ่อนส่ง"

Panthipong Sirichokethanakul / BBC Thai

ที่มาของภาพ, Panthipong Sirichokethanakul / BBC Thai

วานนี้ 10 เม.ย. ที่ลานหน้าอนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งรายมหาราช ห้าแยกพ่อขุน อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย กลุ่มเยาวชนซึ่งใช้ชื่อว่า "ประชาชนชาวเชียงราย" ประมาณ 200 คน ประกอบด้วยคณะสงฆ์และสามเณรจากวัดพุทธอุทยานดอยอินทรีย์ กลุ่มแพทย์ใน จ.เชียงราย ภาคเอกชน เยาวชน องค์กรเอกชน ฯลฯ รวมตัวจัดกิจกรรมรณรงค์แก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5

กิจกรรมนี้มีชื่อว่า “ลูกหลานเชียงราย ไม่ยอมตายผ่อนส่ง” เกิดขึ้นหลังเชียงราย และอีกหลายจังหวัดภาคเหนือ เผชิญกับหมอกควันจากฝุ่น PM 2.5 มายาวนาน จนระดับคุณภาพอากาศต่ำจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

ทางกลุ่มได้ยื่นหนังสือต่อ นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย เพื่อขอทราบการแก้ไขปัญหาของจังหวัดทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว โดยมีการถือป้ายข้อความต่าง ๆ บางป้ายเขียนล้อคำขวัญประจำจังหวัด รวมทั้งเปิดให้ผู้คนเขียนข้อความแสดงความเห็นบนกระดาน ซึ่งล้วนมองว่า รัฐบาลและรัฐบาลท้องถิ่น ยังแก้ปัญหาฝุ่นได้ไม่ดีพอ

แพทย์หญิงที่เข้าร่วมกิจกรรม กล่าวว่าฝุ่น PM 2.5 มีผลกระทบต่อคนทุกเพศวัยโดยที่คนทั่วไปยังไม่ตื่นตระหนกว่ากรณีเด็กเล็กหากสูดเข้าไปจะส่งผลต่อพัฒนาการของเด็ก ส่วนผู้ใหญ่โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ ปอด จะกระทบหนัก และในระยะยาวจะทำให้ผู้คนที่อยู่ในพื้นที่นี้อายุสั้นลง 4 ปี ส่วนการป้องกันด้วยหน้ากากที่ใช้กันโดยทั่วไปจะไม่ได้ผลกับฝุ่นขนาดเล็กนี้แต่ต้องใช้หน้ากากแบบ M 95 ขึ้นไปเท่านั้น

นายพลวัต ตันศิริ อดีตประธานสภาอุตสาหกรรม จ.เชียงราย กล่าวว่าปัญหาฝุ่น PM 2.5 ควรจะเป็นปัญหาระดับภูมิภาคนี้เพราะไม่ได้มีแค่ จ.เชียงราย หรือประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบ, สปป.ลาว และเมียนมา ต่างเผชิญกับปัญหาเหมือนกัน

ดังนั้น ภาครัฐควรแก้ไขปัญหาระยะยาว เช่น กระทรวงพาณิชย์หารือกับประเทศเพื่อนบ้านเรื่องการรับซื้อผลผลิตทางการเกษตรจากประเทศเพื่อนบ้าน กระทรวงการต่างประเทศหารือเรื่องแนวนโยบายต่อปัญหานี้ร่วมกัน

ไม่เพียงเชียงราย ที่ภาคประชาชนลุกขึ้นมาประท้วงต่อต้าน แต่ภาคประชาชนในเชียงใหม่ ออกมาประท้วง รวมถึงยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรี ที่ล้มเหลวในการแก้ปัญหามลพิษ

เชียงใหม่ (ก็) ไม่ทน

ในวันเดียวกัน (10 เม.ย.) เครือข่ายประชาชนภาคเหนือ นักวิชาการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ สภาลมหายใจเชียงใหม่ สภาลมหายใจภาคเหนือ และประชาชน ได้ร่วมกันยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ รวมถึงคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) และคณะกรรมการกำกับตลาดทุน

เหตุผลในการฟ้อง คือ นายกฯ และหน่วยงานเหล่านี้ ไม่ได้ใช้มาตรการทางกฎหมาย กลไกทางสิทธิมนุษยชน นโยบาย และแผนที่มีอยู่ เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันและจัดทำแผนฉุกเฉินเพื่อแก้ไขสถานการณ์วิกฤตฝุ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Panthipong Sirichokethanakul / BBC Thai

ที่มาของภาพ, Panthipong Sirichokethanakul / BBC Thai

Keerati Wuttiskulchai

ที่มาของภาพ, Keerati Wuttiskulchai

ก่อนหน้านี้ กลุ่มองค์กรภาคประชาชนเปิดให้ประชาชนร่วมลงชื่อสนับสนุนการฟ้องตั้งแต่วันที่ 7-9 เม.บ. 2566 ซึ่งมีประชาชนมาร่วมลงชื่อที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่กว่า 727 คน และลงชื่อออนไลน์เพื่อสนับสนุนประเด็นการแก้ไขวิกฤตฝุ่นจากเกษตรพันธสัญญาจำนวนกว่า 980 คน และยังได้รับการสนับสนุนจากภาคประชาสังคมอื่น ๆ เช่น มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กลุ่มสม-ดุล เชียงใหม่ ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น และกรีนพีซ ประเทศไทย ฯลฯ

เหตุผลการฟ้อง

การฟ้องร้องครั้งนี้ มีข้อเรียกร้องสำคัญทางคดี 3 ประการ ได้แก่

  • ฟ้องนายกรัฐมนตรีให้ใช้อำนาจตามมาตรา 9 พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งเมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติอย่างร้ายแรงให้มีอำนาจสั่งการให้หน่วยงานทำหน้าที่อย่างเข้มงวด เนื่องจากนายกรัฐมนตรีไม่ได้ใช้อำนาจนี้จนการแก้ไขปัญหาวิกฤตฝุ่น PM2.5 มีความล่าช้า ไม่ทันต่อความร้ายแรงของเหตุการณ์
  • ฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ให้ปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ซึ่งรัฐบาลประกาศแผนนี้มาตั้งแต่ปี 2562 เนื่องจากในระยะเวลา 4 ปีในการใช้แผนนี้ แทบจะไม่เห็นความคืบหน้าและปัญหายังคงความรุนแรงอยู่ นี่คือความผิดปกติที่เราไม่อาจยอมรับ
  • ฟ้องคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล ซึ่งมีหน้าที่ครอบคลุมถึงพันธกรณีนอกอาณาเขต (Extraterritorial Obligations) ให้กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการจัดทำรายงานการเปิดเผยข้อมูลอย่างรอบด้าน เพิ่มในแบบรายงาน 56-1 One Report หรือแบบอื่น ๆ ในฐานะเอกสารสำคัญสำหรับการตรวจสอบข้อมูลตลอดห่วงโซ่อุปทานอันเกี่ยวเนื่องกับแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 ซึ่งส่งผลกระทบข้ามพรมแดนมายังประเทศไทย
Keerati Wuttiskulchai

ที่มาของภาพ, Keerati Wuttiskulchai

ผู้เข้าร่วมฟ้องคดีส่วนหนึ่งกล่าวถึงเหตุผลของการฟ้องร้องครั้งนี้ ดังนี้

รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์และหัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

“แผนฝุ่นแห่งชาติที่มีมาตั้งแต่ปี 2562 ไม่ได้ทำให้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปเลย ส่วนมาตรา 9 ของพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมฯ ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีแก้ไขปัญหานี้อย่างเต็มที่ แต่นายกฯ กลับไม่ได้ใช้อำนาจนี้ ปัญหาสำคัญคือกฎหมายและแผนที่มีอยู่ไม่ได้ถูกปฏิบัติอย่างเต็มที่ เราอยากเห็นการนำกฎหมายและแผนมาใช้ปฏิบัติการจริง ถ้ามันใช้ไม่ได้เราจะได้มีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้แก้ไขปัญหาได้จริงๆ”

นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ อาจารย์แพทย์โรคหัวใจศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

“ประชาชนในเมืองต้องเจอฝุ่นพิษ PM2.5 ระดับเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ต้องเผชิญกับความเสี่ยงมะเร็งปอดชนิด EGFR mutation [1] ที่มักพบในคนไม่สูบบุหรี่ เพิ่มขึ้น 7 เท่า รวมถึงเสี่ยงต่อโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และมีอายุเฉลี่ยสั้นลง 4-5 ปี เราต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายจากภาครัฐด้วยเจตจำนงค์ทางการเมืองที่แน่วแน่ ไม่เกรงใจกลุ่มทุน ซึ่งจะช่วยป้องกันการเจ็บป่วยและรักษาชีวิตคนได้นับล้าน”

แล้วผู้ว่าฯ เชียงรายว่าอย่างไร

ภายหลังได้รับหนังสือร้องเรียน ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย มอบหมายให้นายวราดิศร อ่อนนุช รองผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย นายชุติเดช กมนณชุตม์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ (สบอ.) ที่ 15 (เชียงราย) และนายสมเกียรติ ปูกา ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทสจ.) จ.เชียงราย เข้าชี้แจงต่อผู้ชุมนุม

นายวราดิศร ระบุว่าจังหวัดได้วางแผนทั้งระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว ส่วนไฟป่าในจังหวัดพบว่าเกิดขึ้นเฉพาะพื้นที่ป่าเขาสูงชันและผู้ก่อเหตุเกี่ยวข้องกับยาเสพติด เมื่อเจ้าหน้าที่เข้าไปดับไฟจุดใดได้แล้วก็จะย้ายไปเผาจุดใหม่อีก

ปัจจุบัน จึงใช้มาตรการเข้มข้นจับกุมได้แล้วหลายราย ด้านนายสมเกียรติ ประกาศต่อผู้ชุมนุมว่าเจ้าหน้าที่ได้จับกุมผู้ลักลอบเผาและทำลายป่าได้แล้ว 18 ราย

Panthipong Sirichokethanakul / BBC THai

ที่มาของภาพ, Panthipong Sirichokethanakul / BBC Thai

นายสราวุทธิ์ หรือเซียนแว่น กุลมธุรพจน์ แกนนำกลุ่มราษฎรเชียงราย ถามว่าเหตุใดจึงไม่มีการประกาศเขตภัยพิบัติจากฝุ่น PM 2.5 ทั้ง ๆ ที่ทาง พล.อ. อนุพงศ์ เผ่าจินดา รมว.กระทรวงมหาดไทย ประกาศให้อำนาจหน้าที่ผู้ว่าราชการจังหวัดอย่างเต็มที่

นายวราดิศร ชี้แจงว่าหากประกาศจะส่งผลกระทบด้านอื่นเพิ่มเติมมาด้วยและงบประมาณที่ใช้แก้ปัญหาในปัจจุบันยังถือว่าเพียงพออยู่

วันเดียวกันผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย ได้มีแถลงการณ์ว่าทางจังหวัดได้เตรียมการมาตั้งแต่เดือน ต.ค.2565-ก.พ.2566 จากนั้นวันที่ 15 ก.พ.-15 เม.ย.นี้ ได้ประกาศห้ามเผาโดยเด็ดขาดและจัดกำลัง รวมทั้งมีแผนจะฟื้นฟูในระหว่างวันที่ 16 เม.ย.-30 ก.ย.2566

ต่อมาเดือน มี.ค.เป็นต้นมาพบว่าค่าฝุ่น PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง มีผลกระทบต่อสุขภาพโดยเฉพาะวันที่ 27 มี.ค.กรมควบคุมมลพิษตรวจวัดที่ ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย ได้สูงถึง 546 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่ไม่ปรากฎจุดความร้อนหรือ Hot Spot ในพื้นที่แต่อย่างใด ดังนั้น ปัญหาจึงไม่ได้เกิดเฉพาะในประเทศเท่านั้น